คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
ผู้ที่ได้อ่าน “ดาบกระชากเลือด” ของ “ซีเบ๊เหล็ง” และได้อ่านนิยายจีนกำลังภายในเรื่องอื่นๆ ของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งไต้หวันผู้นี้ จะพบว่า รูปแบบการเขียนของ “ซีเบ๊เหล็ง” ผู้นี้ มีแนวทางที่หลากหลายจนน่าแปลกใจ ส่วนตัวผมเอง เวลาอ่านนิยายจีนกำลังภายในของนักเขียนท่านต่างๆ จะพบว่า แนวทางและรูปแบบการเขียนจะมีรูปแบบที่ชัดเจนและสะท้อนตัวตนของนักเขียนแต่ละคนออกมา จะมีการเปลี่ยนแปลงก็ในเชิงของพัฒนาการจากยุคแรกๆ ไปสู่ยุคหลัง ยกตัวอย่างงานของ “โกวเล้ง” ก็จะเห็นชัดเจนในจุดนี้
สำหรับกรณีของ “ซีเบ๊เหล็ง” นั้น หลังจากผมได้อ่าน “ดาบกระชากเลือด” จบลง ด้วยความประทับใจในลีลาการเขียนของนักเขียนผู้นี้ ผมจึงได้หยิบเอา “เส้นทางของจอมยุทธ” ขึ้นมาอ่านต่อเนื่อง หลังจากอ่านจบ ผมได้บอกกับตัวเอง พร้อมได้โทรไปพูดคุยกับอาจารย์ “น.นพรัตน์” ผู้ที่กรุณาส่ง “เส้นทางของจอมยุทธ” มาให้ ต่างเห็นตรงกันว่า “ดาบกระชากเลือด” นั้นดีกว่าอยู่ระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า “เส้นทางของจอมยุทธ” นั้น ก็มิได้ด้อยจนถึงกับจะบอกว่าห่างชั้นกับเรื่องที่น่าจะดีที่สุด(ในความเห็นของผม)ของ “ซีเบ๊เหล็ง” ก็คือ “ดาบกระชากเลือด” (หรือบางคนอาจจะชอบ “ธรณีประลัย” หรือ “วีรบุรุษผู้พิฆาต” อย่างไรก็ดี “วีรบุรุษผู้พิฆาต” นั้น หาอ่านได้ยากมาก และผู้ที่มีโอกาสได้อ่านก็บอกผมว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีของ “ซีเบ๊เหล็ง” เช่นกัน) แต่อย่างใด ข้อคิดเห็นประการหนึ่งของผมก็คือ “ซีเบ๊เหล็ง” นั้น ช่างมีสไตล์การเขียนที่หลากหลายมาก ดังนั้นในบางมุมของคนที่ชื่นชอบอีกแนวทาง ก็อาจจะตัดสินใจไม่ได้ที่จะตัดสินความชอบใจระหว่าง “ดาบกระชากเลือด” และ “เส้นทางของจอมยุทธ”
และบางท่านก็อาจจะบอกว่า “เส้นทางของจอมยุทธ” นั้นเป็นงานเขียนยุคหลังของ “ซีเบ๊เหล็ง” อาจจะเป็นการนำเสนอแนวทางที่แปลกใหม่ ซึ่งอาจจะว่าเช่นนั้นได้เหมือนกัน
จุดเด่นของ “เส้นทางของจอมยุทธ” เป็นรูปแบบการเขียนที่กล่าวถึงจอมยุทธที่มีความเป็นมาเป็นไปแตกต่างกันหลายคน แต่ละคนมีคาแรกเตอร์เฉพาะที่น่าสนใจจนเกือบที่จะเอาไปแต่งเป็นพระเอกเรื่องใหม่ได้เลยทีเดียว
แต่ละตัวละครเด่นใน “เส้นทางของจอมยุทธ” มีความเป็นมาที่แตกต่างกันออกไป ภูมิหลังที่หล่อหลอมแต่ละคนมีความแตกกันออกไป ดังนั้นแต่ละคนจึงเลือกทางชีวิตของตัวเองที่ยึดมั่นอยู่กับ “ความเชื่อ” ของตัวเอง แต่ทั้งหมดมีจุดหมายเดียวกันก็คือการก้าวขึ้นสู่ความเป็น “จอมยุทธ” สุดยอดในบู๊ลิ้ม
หาก “เส้นทางของจอมยุทธ” จะต้องมีพระเอกสักคน บุคคลผู้นั้นก็คือ “ซิมอู” ผู้ที่มีพื้นฐานวิชาฝีมือเรียนรู้จากค่ายสำนักมาตรฐานที่สุดยอดของยุทธภพ ชายหนุ่มผู้นี้แบกรักความแค้นในปมปริศนาของบิดาที่เป็นจอมยุทธเที่ยงธรรม ผู้ที่ซึ่งเสียสติและสังหารพี่น้องร่วมสาบาน ถูกตราหน้าว่าเป็นบาปของบู๊ลิ้ม ทำให้ “ซิมอู” ต้องแบกรับภาระการตกเป็นคนบาปของบู๊ลิ้มไปด้วย
มิเพียงแต่เท่านั้น เรื่องพัวพันซับซ้อนมากกว่านั้นเนื่องด้วยพี่น้องร่วมสาบานของบิดาของ “ซิมอู” ที่โดนฆ่าสังหาร มีบุตรสาวคือ “เหี่ยนิ้ม” ที่อาจถือได้ว่าเป็นรักแรกของ “ซิมอู” โดยที่ “เหี่ยนิ้ม” นี่เอง ที่เดินทางตามล่าสังหาร “ซิมอู” ผู้ที่มีใจผูกพันกันมาตั้งแต่ยังเด็ก และ “ซิมอู” ก็หลบหนีการล่าสังหารของสาวคนรัก แต่ทั้งนี้มิใช่เพราะเขาขลาดเขลากลัวตาย แต่ลึกๆ ในจิตใจของ “ซิมอู” เองก็ต้องการคลายปมปริศนาว่าบิดาเขานั้นเป็นคนบาปของบู๊ลิ้มจริงหรือไม่
“เหี่ยนิ้ม” ผู้นี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งคนที่อยากจะก้าวสู่ “เส้นทางของจอมยุทธ” ก็เนื่องด้วยการแบกภาระที่จะต้องไล่ล่าสังหาร “ซิมอู” ที่ผูกพันกันตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อล้างแค้นแทนบิดา และต่อมา “เหี่ยนิ้ม” ก็บังเอิญได้พบเจอกับ “ลี้เซี้ย” อีกหนึ่งตัวละครเด่น ที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นพระเอกคู่กับ “ซิมอู” ในนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้
“ลี้เซี้ย” เป็นสุดยอดของจอมดาบที่ฝีมือสูงส่ง ชีวิตของเขามอบให้จุดมุ่งหมายจอมยุทธอันดับหนึ่งของบู๊ลิ้ม ซึ่งจริงๆ แล้วในด้านลึกของเขาก็คือการใฝ่หาความเป็น “สุดยอดแห่งดาบ” การต่อสู้ของเขาเพื่อจะเอาชนะจอมยุทธคนอื่นๆ ก็คือการท้าทายตัวเองในด้าน “สุดยอดแห่งดาบ” นั่นเอง
เมื่อ “ลี้เซี้ย” พบเจอจอมยุทธที่มีฝีมือ “ลี้เซี้ย” จะไม่ลังเลที่จะท้าสู้และประหารฆ่าอย่างเลือดเย็น โดยไม่สนใจอะไรนอกจาก “ฆ่าเพื่อสุดยอดแห่งดาบ” ซึ่งแนวทางที่จะขัดกับหลักการบู๊ลิ้มที่หากจะก้าวสู่จุดยอดใน “เส้นทางของจอมยุทธ” ซึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญก็คือ “ความเที่ยงธรรม”
สำหรับกรณีของ “ลี้เซี้ย” นี่เอง ที่ “ซีเบ๊เหล็ง” สร้างตัวละครได้สุดยอดในการตั้งคำถามถึง “ธรรมมะ” และ “มาร” ว่าเส้นแบ่งที่อยู่ระหว่างนั้นมันคืออะไรกันแน่ จะว่าไปแล้ว “ลี้เซี้ย” นั้น เมื่อเราติดตามคนผู้นี้ไปในท้องเรื่อง จากภาพของ “มารร้าย” ในแรกเริ่ม ในเวลาต่อมาก็อาจจะมองได้ในฐานะ “พระเอก” อีกคนหนึ่งได้เช่นกัน จุดนี้ผมถือว่าเป็นสุดยอดของการเขียนเรื่องหนึ่งของ “ซีเบ๊เหล็ง”
เมื่อพูดถึง “เส้นทางของจอมยุทธ” ของ “ลี้เซี้ย” ที่ให้ความหมายกับ “สุดยอดแห่งดาบ” โดยไม่คำนึงถึงความเที่ยงธรรมในการประหารผลาญชีวิต และ “เหี่ยนิ้ม” ที่มุ่งหมายล้างแค้นให้บิดา จนกระทั่งยอมเอาตัวเข้าไปสร้างจิตใจผูกสัมพันธ์กับ “ลี้เซี้ย” เนื่องจากเห็นว่าชายผู้นี้ตอบสนองเป้าหมายในการสังหารฆ่าคู่แค้นคือ “ซิมอู” ได้ ก็ต้องย้อนกลับมาพูดถึงบุคลิกลักษณะเด่นของ “ซิมอู” ในเรื่อง “เส้นทางของจอมยุทธ” กันอีกรอบ
คาแรกเตอร์ของ “ซิมอู” เป็นคาแรกเตอร์ของจอมยุทธในบู๊ลิ้มที่แปลกและโดดเด่นมากในสายตาของผม ทั้งนี้ก็เนื่องจาก “ซิมอู” จะมีลักษณะของยอดฝีมือที่ดูจากภายนอกเหมือนว่าเต็มไปด้วยความรันทัดหดหู่และหมดอาลัยตายอยาก
พูดง่ายๆ คือ “ซิมอู” พร้อมที่จะ “ตาย” โดยไม่คิดต่อสู้ เพราะแบกรับความแค้นของบิดาที่เป็นบาปของบู๊ลิ้ม แต่ในขณะเดียวกัน “ซิมอู” ก็มีความขัดแย้งในจิตใจที่จะ “ตายไม่ได้” เนื่องจากยังมีความสงสัยในเงื่อนงำและปมปริศนาของบิดาอยู่
ดังนั้น “ซิมอู” จึงเลือกทางเดินอีกทางหนึ่งของ “เส้นทางจอมยุทธ” ที่อาจจะผิดแผกไปจาก “มรรคาที่คุ้นเคยกันในระบบโครงสร้างของบู๊ลิ้ม” เป็นเส้นทางที่ “ซิมอู” ได้เลือกเดินและทำความเข้าใจกับเส้นทางนั้น โดยที่ผู้ที่มองจากภายนอกอาจจะรู้สึกแปลกแยกบ้างในบางขณะ
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า เสน่ห์อันเร้าใจของเรื่องนี้ก็คือ “ลี้เซี้ย” ที่ต้องการเพาะอำมหิตโหดร้ายในจิตใจเพื่อก้าวสู่ “สุดยอดแห่งดาบ” ใช้ “ซิมอู” เป็นเครื่องมือในการเคี่ยวกรำ เนื่องจากจริงๆ แล้ว “ลี้เซี้ย” เมื่อเจอสุดยอดฝีมือเช่น “ซิมอู” เขาสามารถฆ่า “ซิมอู” ได้ตั้งแต่ประมาณไม่ถึงครึ่งเล่มของเล่มหนึ่ง (จากสี่เล่มจบ) แต่ “ซิมอูผู้ท้อแท้รันทดและหมดอาลัยตายอยากในชีวิต” กลับทำให้ “ลี้เซี้ย” สร้างสัมพันธ์กับ “ซิมอู” ในการตามล่าและหาทางให้ “ซิมอู” ปลุกชีวิตจิตใจของตนเอง และต่อสู้กันอย่างทุ่มเทจิตใจ เพื่อตอบสนองการก้าวขึ้นสู่ “สุดยอดแห่งดาบ” ของเขา
ถึงตอนนี้ ผมจะไม่พูดถึงว่าในตอนท้าย “ดาบของซิมอู” หรือ “ดาบของลี้เซี้ย” ดาบใดจะเยี่ยมยุทธกว่ากัน เพราะถึงตอนท้ายเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างทางของแต่ละตัวละครที่มีที่มาที่ไปต่างกันไป รูปแบบของ “หลายชีวิต” เช่นนี้ เดินเรื่องได้สนุกสนานและสร้าง “ปรัชญาแห่งชีวิต” ได้อย่างสุดยอดจนผสมกลมกลืมกับ “ดาบ”
ในรูปแบบของ “หลายชีวิต” ยังมีตัวละครอีกมากมาย ที่ต่างมีภูมิหลังต่างกันไป และมี “เส้นทางของจอมยุทธ” ที่ต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น “โอ้วเง็กจิน-ตั้งเยียกน้ำ-แชเนี้ยซือไถ่-เจี่ยซิ้ง-เจี่ยฮูหยิน” ซึ่งตัวละครอีกห้าคนที่ผมพูดถึงนี้ ผมมองว่าแต่ละคนมี “คาแรกเตอร์” ที่น่าสนใจ และมีแนวคิดในเรื่อง “เส้นทางของจอมยุทธ” ที่ตอบสนองความต้องการต่างๆ กันไป หากแต่พื้นที่ตอนนี้ไม่พอ ขอยกยอดไปเล่าต่อในตอนสองนะครับ
และในตอนหน้า ผมก็จะสรุปถึงความเยี่ยมยุทธของ “ซีเบ๊เหล็ง” ที่สร้าง “เส้นทางของจอมยุทธ” มีรูปแบบการต่อสู้ในรูปแบบที่น่าสนใจ เรียกว่าไม่แพ้การต่อสู้แนว “รบทัพจับศึก” ของ “ดาบกระชากเลือด” เลยทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องราวของ “ตั้งเยียกน้ำ” ที่เป็นตัวละครหญิงในบู๊ลิ้มที่ผมชอบมากๆ ไม่แพ้ตัวละครอย่าง “ซิมอู” หรือ “ลี้เซี้ย” ในเรื่องเดียวกันนี้
ระหว่างการเขียนถึง “เส้นทางจอมยุทธ” ของ “ซีเบ๊เหล็ง” นี้ ผมก็ย้อนนึกไปถึงเรื่องราวของ “คน” แต่ละผู้คนในสังคมนั้น ต่างก็มีความคิด ความเชื่อ ประสบการณ์ ภูมิหลัง และความเข้าใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่างกันไป แม้บางครั้ง การจะบรรลุสู่ “จุดหมายที่เหมือนกัน” ก็ย่อมต่างกันใน “วิถีทาง” และ “รูปแบบ” ในการต่อสู้ที่ต่างกันออกไปตาม “ความเชื่อ” ของแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มคน
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญก็คือ “การเคารพซึ่งกันและกัน” ในแต่ละ “ความเชื่อที่ต่างกัน” หากมีเป้าหมายที่ถูกต้องเที่ยงธรรม หากแต่มีวิธีการและอุดมการณ์ที่ต่างกัน เหตุใยเล่า จึงต้องตั้งหน้าตั้งตาด่าทอและท้าทายกันในทางความเชื่อ ละเลยซึ่งการ “ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน” และ “เคารพในความเชื่อที่ต่างกัน” โดยมีหลักยึดในเรื่อง “ความเที่ยงธรรม” เป็นแก่นแกน
หากอ่าน “เส้นทางของจอมยุทธ” จนจบ เราก็จะเห็นการหล่อหลอมรวมพลังระหว่าง “ซิมอู” กับ “ลี้เซี้ย” ที่ก่อเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่เพียงพอแก่การประหาร “มารร้ายตัวจริง” ในบั้นปลาย
“ดาบของซิมอู” หรือ “ดาบของลี้เซี้ย” ต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพียงแต่วิถีและความเชื่อนั้นต่างกัน
สุดท้าย ผมรู้สึกประทับใจกับคำพูดของ “แชเนี้ยซือไถ่” ที่มีบทสนทนากับ “ซิมอู” ในตอนหนึ่งที่ทั้งสองพักค้างแรมด้วยกันสองคนในคืนหนึ่ง
ทั้งสองนั่งอยู่ในความมืดครูใหญ่ “แชเนี้ยซือไถ่” กล่าวขึ้นมาท่ามกลางความเงียบ
“ซิมอู ท่านยังตื่นอยู่หรือไม่”
“ข้าพเจ้ายังตื่นอยู่”
“เราสัมผัสกับกลิ่นอายของโรงเตี๊ยมนี้ รู้สึกแปลกประหลาดยิ่ง”
“ท่านสามารถบอกออกมาฟังดูหรือไม่”
แชเนี้ยซือไถ่จึงกล่าวว่า
“เราพลันครุ่นคิด ก่อนที่พวกเราจะมายังที่นี้ ห้องพักเล็กๆ หลังนี้เคยพักไว้ด้วยผู้คนไม่น้อย แต่ละคนมีโชคชะตาที่ผิดแผก อารมณ์ที่เปลี่ยนผัน สู่อนาคตคนละทาง ผลสุดท้ายคือมีความแตกต่างกันอย่างใหญ่หลวง ลองนึกดู ไยมิใช่คล้ายดอกไม้ไฟหลายสี ชั่วพริบตาดับสูญไปสิ้น”