คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
ก่อนอื่น ผมขออนุญาตเท้าความถึงข้อเขียนตอนก่อนหน้าที่เขียนถึง “ดาบกระชากเลือด” นะครับ เรื่องของเรื่องก็คือ ช่วงนี้ผมได้อ่านนิยายจีนกำลังภายในรุ่นเก่าหลายเรื่อง จากการหาซื้อตามร้านหนังสือเก่าบ้าง จากร้านค้าในอินเตอร์เน็ตบ้าง และที่สำคัญก็คือจากการเอื้อเอ็นดูของท่านอาจารย์ น.นพรัตน์ที่กรุณาส่งนิยายจีนกำลังภายในของท่านที่เก็บไว้มาให้อ่าน จึงทำให้หยิบเอาหลายเรื่องมาเขียนถึงด้วยเหตุผลประการสำคัญคือ เป็นนิยายจีนกำลังภายในที่ทรงคุณค่า และมีข้อคิดเชิงปรัชญาสอนใจหลายๆ แง่มุม
โดยเฉพาะเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” ผลงานของ “ซีเบ๊เหล็ง” ที่เพิ่งเขียนจบไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมชื่นชอบมาก และกลายเป็นหนึ่งในนิยายจีนกำลังภายในติดอันดับส่วนตัวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แม้ว่าเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” นี้จะเป็นเรื่องที่นักอ่านนิยายจีนกำลังภายในอีกหลายคนอาจจะไม่คุ้นหู เนื่องจากหาอ่านยาก และไม่มีการตีพิมพ์ใหม่ อย่างไรก็ดี สาเหตุอีกประการที่ผมอดไม่ได้ที่จะหยิบยกมาเขียนก็คือ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการเกี่ยวพันกับ “หวงอี้” นักเขียนรุ่นใหม่ที่เป็นชื่นชอบของใครต่อใครในยุคนี้ พ.ศ.นี้ ดังที่ผมเขียนเล่าไปแล้วจากทั้งหมดสามตอนที่เขียนถึง
ล่าสุดผมได้รับคำบอกเล่าจากคุณ “สนธิ ลิ้มทองกุล” เพิ่มเติมว่า ที่ผมเขียนว่า “ดาบกระชากเลือด” นั้น เป็นแรงบันดาลใจที่นำมาสู่ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” นั้น จริงๆ แล้ว คุณสนธิบอกว่า หากพิจารณาจากโครงเรื่องพื้นฐาน ก็อาจจะกล่าวได้ว่า “ดาบกระชากเลือด” นั้น ส่งอิทธิพลไปถึงงานของ “หวงอี้” หลายเรื่อง ไม่เฉพาะเพียงแต่ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” เท่านั้น แต่ยังรวมทั้ง “เทพมารสะท้านภพ” ด้วย หากแต่ “หวงอี้” นั้นวางโครงเรื่องที่ใหญ่กว่า และเขียนลงไปในรายละเอียดทั้งด้านกว้างและด้านลึกอย่างมีมิติกว่า โดยเฉพาะ “หวงอี้” นั้น ล้ำลึกในปรัชญาพุทธและเต๋าค่อนข้างดีทีเดียว
ผมได้เล่าคำวิจารณ์ของคุณสนธิให้ท่านอาจารย์ น.นพรัตน์ ฟัง ท่านอาจารย์เห็นด้วยกับคำวิจารณ์ที่ว่า พร้อมทั้งกล่าวยืนยันว่า “หวงอี้” ชอบ “ซีเบ๊เหล็ง” มาก และมีการระบุสุดยอดนิยายจีนกำลังภายใน 3 เรื่องให้ท่านอาจารย์ น.นพรัตน์ได้ทราบ โดยที่ทั้งสามเรื่องนี้มีการแปลเป็นภาษาไทยเพียงเรื่องเดียว ก็คือเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” ส่วนอีกสองเรื่องท่านอาจารย์มีต้นฉบับภาษาจีนอยู่แล้วหนึ่งเรื่อง ส่วนอีกหนึ่งเรื่อง “หวงอี้” ได้ส่งมาให้ท่านอาจารย์ น.นพรัตน์ และท่านก็ได้ทำการถ่ายเอกสารเก็บไว้แล้ว
ผมยังได้กล่าวกับท่านอาจารย์ น.นพรัตน์ว่า หากท่านอาจารย์มีเวลา น่าจะแปลอีกสองเรื่องดังกล่าว ผมเชื่อว่าน่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากแฟนนักอ่านนิยายจีนกำลังภายในชาวไทย พร้อมกับนั้น ผมก็ได้เสนอแนะความเห็นไปยังทางสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊กส์ ว่าน่าจะหยิบเอานิยายจีนกำลังภายในของ “ซีเบ๊เหล็ง” มาจัดพิมพ์ใหม่ ซึ่งอันนี้ก็อาจจะเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากอยู่เหมือนกัน เพราะคงมีเรื่องลิขสิทธิ์และอีกหลายเรื่องที่ต้องจัดการ ก็ได้แต่วาดหวังว่าผลงานของ “ซีเบ๊เหล็ง” อาจจะได้รับการตีพิมพ์ใหม่ในอนาคตนะครับ
มีนักอ่านหลายท่านต่อว่ามาว่า “ดาบกระชากเลือด” นั้นหาอ่านได้ยากมาก ความจริงเรื่องนี้ถือเป็นเสน่ห์อีกอย่างของกระบวนการอ่านนิยายจีนกำลังภายในนะครับ การดั้นด้นค้นหา ก็เป็นอะไรคล้ายๆ กับการตามล่าหาวิทยายุทธในบู๊ลิ้มนั่นแหละ ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปหากมีความตั้งใจ 555
ย้อนกลับไปเรื่องที่ผมคุยกับท่านอาจารย์ น.นพรัตน์ ต่อ แม้ว่าท่านอาจารย์จะส่งงานของซีเบ๊เหล็งมาให้ผมอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง “เส้นทางของจอมยุทธ” ที่ผมก็ชอบอีกเช่นกัน อย่างไรก็ดี ท่านอาจารย์ น.นพรัตน์บอกว่า ให้ผมเบรกการอ่านของ “ซีเบ๊เหล็ง” บ้าง อย่าตะลุยอ่าน พร้อมทั้งแนะนำให้ดึงบางเรื่องมาคั่น ทั้งนี้ก็เพราะหากเรามุ่งมั่นอ่านสไตล์ใดสไตล์หนึ่งไปรวดเดียว มันอาจจะเบื่อ หรือไม่ได้ซึมซับอรรถรสในแต่ละเรื่องมากเท่าที่ควร ผมจึงตัดสินใจหยุดอ่าน “ซีเบ๊เหล็ง” สักระยะ และก็เลื่อนการเขียนถึง “เส้นทางของจอมยุทธ” ไปสัปดาห์หน้า เพื่อไม่ให้ติดกับ “ดาบกระชากเลือด” จนเกินไป และตอนนี้ก็ตัดสินใจหยิบเอาเรื่องค้างคาที่สัญญาไว้กับคุณ “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ว่าจะหยิบเอา “ศึกสายเลือด” ของ “เซียงกัวเตี้ย” ขึ้นมาอ่านใหม่ และหลังจากจบการอ่านก็จะมีการนัดจิบน้ำชาคุยนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้กันกับคุณก่อศักดิ์ และท่านอาจารย์ น.นพรัตน์ ซึ่งผมจะนำมาถ่ายทอดภายหลังในคอลัมน์นี้นะครับ
นอกจากนี้ ผมยังได้เกริ่นชักชวนท่านอาจารย์ น.นพรัตน์ กับคุณสนธิ มานั่งจิบน้ำชาถกเรื่องราว “ดาบกระชากเลือด” เอาไว้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งท่านทั้งสองก็ต่างตอบยินดี และผมก็จะหาโอกาสจัดวงเสวนาเรื่องนี้ในเร็ววันนะครับ (และจะนำมาถ่ายทอดผ่านคอลัมน์อีกเช่นกัน)
มีข่าวคราวในแวดวงนักอ่านนิยายจีนกำลังภายใน เดือนหน้าแล้วนะครับที่จะมีเรื่องใหม่ของค่ายสยามอินเตอร์บุ๊กส์ออกวางตลาด อย่างไรก็ดี จะว่าไปแล้ว “จอมอาคมผจญศึก” ที่ผมรออ่านและกำลังจะออกวางตลาดประมาณวันที่ 10 เดือนหน้า แม้ไม่ใช่ “นิยายจีนกำลังภายใน” ไม่เข้าข่าย "บู๊ลิ้ม" แต่ส่วนตัวผมเห็นว่า “คนชื่นชอบนิยายจีนกำลังภายในน่าจะชอบเรื่องนี้”
สาเหตุก็คือ ในช่วงหลัง ในตลาดนิยายจีนกำลังภายในแผ่นดินใหญ่นั้นเกิดนักเขียนเด่นๆ ขึ้นมามากมาย โดยก่อนหน้ายุครุ่งเรืองของนิยายจีนกำลังภายใน เริ่มจากไต้หวัน และฮ่องกง ปัจจุบันจีนแผ่นดินใหญ่มาแรงมาก มีบางประเด็นที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มคนอ่านนิยายนิยายจีนกำลังภายในชาวจีน นั่นก็คือมีการ ทาบซ้อนกันอยู่กับนิยาย “แนวแฟนตาซี” (แบบจีน) เรื่องนี้ท่านอาจารย์ น.นพรัตน์ เคยเล่าให้ผมฟังว่า ตอนที่ท่านเดินเข้าร้านหนังสือที่เมืองจีน ถามคนขายว่าเซ็คชั่นนิยายจีนกำลังภายในอยู่ตรงไหน คนขายยังพาไปโซนเรื่องพวกนี้เลยครับ
ช่วงหลังนักเขียนจีนที่เขียนกำลังภายในมีน้อยลง แต่กลับนิยมเขียนแนวแฟนตาซีมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะในช่วงหลัง มีการตั้งประเด็นคำถามกันมากว่า ทำไมชาวจีนถึงได้ชอบนิยายแฟนตาซีของฝรั่ง ทั้งๆ ที่ในสังคมจีนนั้นมีเรื่องราวแนวแฟนตาซีกว่าเยอะ แฟนตาซีกันมาตั้งแต่โบราณแล้ว ว่าแล้วนักเขียนจีนก็หยิบเอาเรื่องราวที่เป็นเรื่องกล่าวขานหรือเรื่องปรัมปราสมัยประวัติศาสตร์เอามาประกอบเรื่องราวของเขา อย่างเช่นกรณี "ฟานไห่จิง" ที่ "เฟิ่งเกอ" เอามาแต่งเป็นนิยายกำลังภายในผสมแนวแฟนตาซีอย่าง "ภูผามหานที" รวมทั้งอาคมในเชิงอภิญญา ที่ทำให้ "กระบี่อภิญญา" เป็นเรื่องสนุกสำหรับนักอ่านชาวไทย (ส่วนตัวผมว่าสำนวนของ "เจิ้งฟง" ไม่ถึงขั้นสุดยอด แต่เด่นตรงการนำเอา "อภิญญา" มาผสานในโครงเรื่องนี้แหละ)
ดังนั้น ส่วนตัวผมคิดว่า หากนักอ่านนิยายจีนกำลังภายในชอบ "ภูผามหานที" และ "กระบี่อภิญญา" แล้ว "จอมอาคมฯ" ที่แม้จะไม่ใช่บู๊ลิ้มเสียทีเดียว แต่นักอ่านบู๊ลิ้มก็ไม่ควรพลาด
“จอมอาคมฯ” เป็นงานเขียนของ “น่าหลันหยวนชู” แต่งเรื่องโดยสร้างตัวละครเอกที่เรียกว่า “ผู้นำทางสู่ยมโลก” ซึ่งเป็นตำนานของสถานะหนึ่งที่อาจกล่าวได้ว่าอยู่ระหว่างกลางของ “มนุษย์” และ “ปีศาจ” ตามความเชื่อของชาวจีนโบราณ “ผู้นำทางสู่ยมโลก” นี้จะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากอาจารย์สู่ศิษย์ ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างสองโลก พูดง่ายๆ ก็คือ “สร้างสมดุล” นั่นเอง ดังนั้นจึงมีการปราบปีศาจร้ายที่มาเยี่ยมกรายสร้างอันตรายต่อมนุษย์ เรื่องทำนองนี้ผมเคยอ่านงานเขียนของ “กิดเด้นส์” นักเขียนจีนชื่อดังฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่อีกคน ที่เขียน “ขมังเวทย์ล่าสังหาร” ซึ่งเป็นแนวคล้ายๆ กัน (ผู้ช่วย “ผู้นำทางสู่ยมโลก” ของ “ขมังเวทย์ล่าสังหาร” เป็น “แมวศักดิ์สิทธิ์” ส่วนผู้ช่วยของ “จอมอาคมผจญศึก” เป็น “หมาศักดิ์สิทธิ์”) แต่งานของ “กิดเด้นส์” จะเดินเรื่องคล้ายเราอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมากกว่าให้อารมณ์บู๊ลิ้ม (แต่ผมก็ชอบสไตล์นี้เช่นกันนะครับ)
เท่าที่ได้ทราบข้อมูลมาก็คือ “หอสะบั้นเศียรมังกร” ซึ่งมีเพียงเล่มเดียวจบนี้ ถือเป็นตอนนำทางให้รู้จักกับเรื่อง ส่วนตอนที่จะตามมาเป็นตอนที่สอง “ทำเนียบศาสตราอสูร” ที่มีสามเล่มจบ จะสนุกสนานตื่นเต้นกว่าอีก
นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์ด้านอื่นที่ผมว่ามันเป็นประเด็นที่นักอ่านนิยายจีนกำลังภายใน มีความชอบใจที่ทาบซ้อนกันอยู่ และมีปรากฎใน "จอมอาคมฯ" อย่างกรณีของ "มังกร" ใน “หอสะบั้นเศียรมังกร” ที่เป็น "สัตว์ประหลาดโบราณที่ถูกปลุกขึ้นมา" นั่นก็คือเป็นตำนานที่ "เว่ยจิง" เป็นคนประหาร “มังกร” ตามคำสั่งของ "หลี่ซื่อหมิน" ซึ่งตรงนี้นักอ่านบู๊ลิ้มก็คุ้นเคยกันอีกนั่นแหละ เรื่องสมัยของถังไทจงนี่ยังไงนักอ่านบู๊ลิ้มก็คุ้นเคยแน่นอนครับ โดยเฉพาะแฟนของ "หวงอี้" นักอ่านคุ้นเคยกับ "หลี่ซื่อหมิน" ดี และรู้ประวัติรวมถึงคาแรกเตอร์ของจอมทัพแผ่นดินจีนคนนี้ และเราก็รับรู้กันว่า แม้หลี่ซื่อหมินจะยิ่งใหญ่ แต่เขาก็มือเปื้อนเลือด ฆ่าคนเยอะมาก ด้วยเหตุนี้เอง หลี่ซื่อหมินจึงเจอปัญหาในบั้นปลายตามธรรมดาของคนที่ฆ่าคนมาเยอะ ก็คือ "กลัว” คือ “กลับที่จะโดนล้างแค้น"
“หลี่ซื่อหมิน” กลางคืนนอนหลับไม่ลง เพราะกลัวปีศาจของคนที่ตัวเองฆ่าตามมาล้างแค้น ก็เลยมีตำนานว่าต้องมีขุนพลสองคนยืนเฝ้าให้ตอนแกนอน และสองคนนี้ก็เป็นที่มาของการที่หารูปเหมือนมาตั้งเฝ้า เลยกลายมาเป็นรูปปั้นของเทพเจ้าสองคนที่ยืนรักษาประตูในเมืองจีนที่เห็นกันตามวัดวาในปัจจุบัน
พูดถึงเรื่อง “ความกลัว” ของ “หลี่ซื่อหมิน” นี่ก็นึกถึงผู้มีอำนาจทั้งหลายในสังคมไทย “นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่” หลายคน ที่ห่างไกล “ความยิ่งใหญ่” ชนิดที่คร้านจะไปเทียบกับจอมทัพสะท้านแผ่นดินอย่าง “หลี่ซื่อหมิน” แต่ผมก็เชื่อในปรัชญาเรื่อง “กรรม” ไม่ว่าคุณจะมีอำนาจ ยิ่งใหญ่มาก ยิ่งใหญ่น้อย หรือคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่สักแค่ไหน หากคนผู้นั้น “มื้อเปื้อนเลือด-เปื้อนคราบน้ำตาประชาชน-โกงกินชาติบ้านเมือง” ผู้นั้นย่อมจะตระหนักได้ดีถึง “ความกลัว” ที่จะต้องเผชิญกับสิ่งนี้แน่ๆ ในบั้นปลาย
“ผู้มีอำนาจที่ต่ำช้า” จะไม่มีวันหลับตาได้อย่างสนิทเวลานอน ประชาชนคนธรรมดาอย่างเราโชคดีกว่ามากนักยามเวลาหัวถึงหมอนแล้วนอนหลับอย่างมีความสุข อย่างไม่ต้องมีความกลัวกับกรรมชั่วใดๆ
ผู้ที่ชั่วช้าไม่เคยนอนหลับสนิทในตอนกลางคืน