xs
xsm
sm
md
lg

กระบี่ของคนรัก : “วาตะ-เมฆา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

เมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมาผมไม่ได้ไปเที่ยวไหน หลายปีมาแล้วในช่วงเทศกาลที่คนเมืองนิยมไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่ผมกลับพอใจที่จะหาความสงบอยู่ในกรุงเทพ หยุดยาวอยู่บ้าน นอนอ่านหนังสือ ฟังเพลง ทำอะไรต่ออะไรไปเรื่อย หากมีโอกาสก็เดินเที่ยวห้างบ้าง ชอบใจตรงที่การจราจรคล่องตัวมาก อยากไปไหนมาไหนก็สะดวกสบายไม่เหมือนสถานการณ์ปกติที่เคยเจอเป็นประจำทุกวัน

โชคดีเหลือเกินที่บ่ายแสนสบายวันหนึ่งในช่วงหยุดสงกรานต์ มีโอกาสได้ไปนั่งดื่มกาแฟ(ที่จริงควรจะเป็นจิบชานะ อิอิ) สนทนาเรื่องนิยายจีนกำลังภายในกับสองปรมาจารย์ด้านนี้ คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ กับคุณอำนวย ภิรมย์อนุกูล หรือ น.นพรัตน์ สองเสาหลักในแวดวงนิยายจีนกำลังภายในยุคปัจจุบัน

นอกจากได้รับคำแนะนำที่ช่วยสร้างสีสันให้กับการอ่านนิยายจีนกำลังภายในของผมอย่างมากมายแล้ว ยังได้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวงการนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในอีกด้วย จากเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังจากทั้งสองท่าน ผมมั่นใจว่าตลาดนิยายจีนกำลังภายในของเมืองไทยจะคึกคักขึ้นเรื่อยๆ หลังจากเรื่อง “กระบี่อภิญญา” ซึ่งกำลังเป็นที่ฮือฮาในความแปลกใหม่อยู่ขณะนี้ บอกได้เลยว่าจะมีความแปลกใหม่ที่แหวกกว่า ให้นักอ่านนิยายจีนกำลังภายในชาวไทยได้อ่านอีกหลายเรื่อง

คุณก่อฯและคุณ น.นพรัตน์ได้ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับนิยายจีนกำลังภายในกับผมมากมาย แถมยังให้การบ้านไปอ่านอีกหลายเรื่อง ทั้งที่ยังไม่เคยอ่าน และเคยอ่านแล้วแต่ควรจะกลับไปทำความเข้าใจอีกรอบ เพื่อการล้อมวงถกกันอย่างลงลึกในภายหลัง ซึ่งผมก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังผ่านทางคอลัมน์ “บู๊ลิ้ม” นี้ โดยเฉพาะเรื่องที่คุณก่อฯ คุยให้ฟังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง มีมุมมองที่น่าสนใจที่ผมขอกลับไปอ่าน “เพ็กฮ่วยเกี่ยม” ของ “กิมย้ง” อีกสักรอบ แล้วจะกลับไปขอรายละเอียดกับคุณก่อฯอีกครั้ง หากเป็นไปได้ สัปดาห์หน้าผมจะมาเล่าให้ฟังนะครับ

มีอยู่ตอนหนึ่ง คุณ น.นพรัตน์ บอกกับผมว่า นิยายจีนกำลังภายในยุคใหม่ที่เขียนได้ดีและสนุกเรื่องหนึ่งก็คือ “วาตะ-เมฆา” หรือ “ฟงอวิ๋น” พอดีกับที่ผมเพิ่งหยิบมาอ่านซ้ำไปไม่นานมานี้ และนำมาเขียนถึงไปแล้วหนึ่งตอน โดยตั้งใจว่าจะเขียนถึงเรื่องนี้อีกสักตอน

“วาตะ-เมฆา” เป็นเรื่องที่เขียนได้กระชับและมีโครงเรื่องที่สนุกสนานตื่นเต้น ให้ความรู้สึกของนิยายจีนกำลังภายในร่วมสมัย ที่การวางโครงเรื่องเป็นยุคใหม่ เดินเรื่องเป็นตอนๆ ฉึบฉับ ไม่ยืดเยื้อ แต่ก็ยังสามารถคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของนิยายจีนกำลังภายในได้เป็นอย่างดี

การเดินเรื่องของ “วาตะ-เมฆา” นั้น มีวิธีการเขียนด้วยการนำเอา “ตำนานเรื่องเล่าขานของจีน” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวีรบุรุษ ภูติ เทพ สถานที่ ตัวละคร หรือแม้กระทั่งบางส่วนของประวัติศาสตร์ มาแต้มแต่งด้วยแนวทางนิยายจีนกำลังภายใน

โครงใหญ่ในตอนหลักๆ ที่อ่านอย่างสนุกสนานกันมากก็คือ “นางพญางูขาว” และ “ตำนานงักฮุย”

และที่น่าสนใจสำหรับผม ก็คือการขึ้นต้นแต่ละบท เป็นลีลาของการอารัมภบทด้วยมุมมองของผู้เขียนเอง โดยเป็นลักษณะการมองและบรรยายจากการถอยออกมาอยู่นอกวงล้อมของเรื่องราว และมองไปยังตัวละครหรือสถานการณ์ต่างๆ และบ่งบอกบรรยายให้ฟัง ก่อนที่จะสานต่อเล่าเรื่องราวต่อในแต่ละช่วงตอน

ยกตัวอย่างเช่น ฉากเปิดตัวของ “มาร” ที่มีนามว่า “เจ้าคัมภีร์มาร” (ตามสำนวนของ “ธีรยา” แห่งสำนักพิมพ์บูรพัฒน์ที่ปัจจุบันถือลิขสิทธิ์จัดพิมพ์ “ฟงอวิ๋น” ส่วนในสำนวนดั้งเดิมของ “น.นพรัตน์” เรียกขานว่า “เจ้ามนต์มาร” ) ในตอน “หมู่มารลำพอง” ได้บรรยายไว้ว่า

“ในโลกหล้ามียอดฝีมือมากมายหลายประเภท ทั้งไร้ผู้ต่อต้าน ทั้งกำเริบเสิบสาน ทั้งพิทักษ์คุณธรรม ทั้งน่าหวาดหวั่น

แต่ยอดฝีมือผู้นี้ กลับเป็นยอดฝีมือพิเศษคนหนึ่ง

เขากำเริบเสิบสาน ไม่พิทักษ์คุณธรรม แต่อาจเป็นยอดฝีมือที่น่าหวาดหวั่นที่สุด”
(จากสำนวนของ น.นพรัตน์)

หรืออย่างการบรรยายฉากเปิดตัวของ “เทพ” ในตอน “หาญกล้าท้าเทวะ” ที่ว่า

“เทวะ เยี่ยงไรจึงเป็นเทวะ

เม่งจื้อเคยกล่าวไว้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่รู้ซึ้งกระจ่างเรียกว่าเทวะ

ในตำนานเล่าขานของชาวฮั่น เทวะเป็นมูลฐานของฟ้าดิน เป็นต้นกำเนิดสรรพสิ่ง ดังนั้นคนธรรมดาที่เกิดในใต้หล้า หากคิดตั้งตนเป็นเทวะ ต้องกอปรด้วยสติปัญญาและความหาญกล้าอันโดดเด่นเท่าใด ความเชื่อมั่นในตนเองเช่นไร และความทะเยอทะยานที่น่ากลัวเพียงไหน

ในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ ปรากฏพุทธะเทวะไม่น้อย และในยุทธจักรก็ปรากฎอัจฉริยบุรุษเทียบเทวะขึ้น”
(สำนวนของ น.นพรัตน์)

ในแต่ละบทแต่ละตอน มีการเปิดตัวด้วยมุมมองเช่นนี้ของผู้เขียน ซึ่งดังที่ผมกล่าวไว้แล้วว่า เป็นมุมมองจากด้านนอก คล้ายๆ ผู้กำกับละครถอยออกมาจากฉากเวทีมานั่งในหมู่ผู้ชม มองฉากละครของตัวเอง แล้วก็กล่าวเปิดเรื่องราวจากระยะไกล

นอกจากนี้ หลายครั้งในฉากเปิดแต่ละฉากตอนก็ยังมีการสะท้อนปรัชญา แนวคิด ประโยคคำคม รวมตลอดถึงหยิบเอาตำนานมาเป็นจุดเปิดประเด็นก่อนเข้าเรื่องราว เช่นฉากเปิดของการเล่าถึง “ยมบาลตำหนักสิบ” ที่หยิบเอาตำนานของ “เม้งง้วนส่วย” ที่เป็นตำนานของขุนนางบู๊ที่มีหน้าที่เป็นผู้คุมเรือนจำ มาเล่าให้เราฟัง

นอกจากแนวทางการเขียนแล้ว สิ่งที่ “ฟงอวิ๋น” หรือ “วาตะ-เมฆา” โดดเด่นไม่แพ้กันก็คือ การเอา “รากแก่น” ของ “มนุษย์” มาเป็นอารมณ์เรื่องราวของตัวละคร

ในเรื่อง “ฟงอวิ๋น” นั้นจะเต็มไปด้วยพื้นฐานของ “ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ” ที่ท่านอาจารย์น.นพรัตน์บอกผมว่า เป็นการวางฐานเรื่องด้วย “ธาตุแห่งมนุษย์”

“เนี่ยฟง” นั้นก็คือ “ลม” ส่วน “ปู่จิ้งอวิ๋น” ก็คือ “เมฆ” (ที่มีความเป็น “น้ำ” เพราะ “เมฆ” อันแปรปรวนก็กลายเป็น “ฝน”) แล้วก็ยังมี “ดิน” ที่เป็นอาวุธอย่าง “หิน” ในสถานะของ “บาตรปรมัตถ์” หรือ “ไฟ” ที่เป็นระเบิดทำลายล้างอันทำให้ “เทวะ” จบสิ้นลง โดยที่ “เทวะ” เองก็เป็น “ไฟ” ที่เต็มไปด้วยความทะยานอยากที่จะครอบครองมวลหมู่โลกมนุษย์ และหากอ่านดีๆ ก็จะมี “ตัวแทน” ของ “ธาตุแห่งมนุษย์” สอดแทรกอยู่ในตัวละครเรื่องนี้เต็มไปหมด

สำหรับฉากบู๊ในนิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “ฟงอวิ๋น” นี้ หวือหวาเร้าใจ ก็ด้วยการนำเอา “อารมณ์ความรู้สึก” ของมนุษย์ มาเป็นกระบวนท่า รวมตลอดถึงการบรรยายฉากต่อสู้ได้อย่างมีสีสันตื่นเต้น

ไม่ว่าจะเป็น “วิทยายุทธ” อันระบายจากอารมณ์ความรู้สึกอัน “คับแค้น” ของ “ปู่จิ้งอวิ๋น” ที่นำเอาความคับแค้นระบายออกเป็นท่ากระบี่ ท่ากระบี่ที่ทะมึนราวกับร่างแหที่คลี่คลุมยากที่จะรอดหลุดจากตาข่ายแห่งความคับแค้นอันกรรโชกรุนแรง

หรือสุดยอดวิทยายุทธแห่งแก่นอารมณ์ที่ผมยกให้เป็นเบอร์หนึ่งในดวงใจเป็นการส่วนตัว

“กระบี่น้ำตา”

จุดอ่อนของ “แป๊ะซู่เจ็ง” คือ “มากรัก” เมื่อมี “ความรัก” เมื่อเกิดโศกเสียใจสงสารอาดูรจึง “หลั่งน้ำตา” เมื่อศัตรูของ “นาง” ทำร้ายบุคคลที่นางรัก “เคล็ดวิชาย้ายฟ้า” ของ “นาง” จึงสำแดงออกมาซึ่ง “กระบี่น้ำตา”

“เมื่อนางร่ำไห้ น้ำตาสองสายไหลรินจากข้างแก้ม น้ำตาความจริงเป็นอาวุธของสตรี นางงอนิ้วดีดออก แปรความเศร้าเสียใจเป็นพลัง พริบตานั้น สายน้ำตาคล้ายกระบี่ ...กระบี่ของคนรัก

กระบี่รวดเร็วดุจประกายสายฟ้า แหวกพุ่งใส่หว่างคิ้วของศัตรู

รวดเร็วเกินไปแล้ว รวดเร็วจนผู้ใดไม่อาจหลบหลีกรอดพ้น”
(สำนวนของ “น.นพรัตน์” จากตอน “ท้าเทวะ”)

พลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนโลกใบนี้ คืออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความเศร้า ความโกรธ ความคับแค้น ความผิดหวัง ความเสียใจ ความกลัว ความวิตก อะไรต่างๆ เหล่านี้ ล้วนสามารถแปรเปลี่ยนเป็น “พลัง” ได้ทั้งสิ้น เพียงแต่ผู้คนจะหยิบเอา “อารมณ์ความรู้สึก” เหล่านั้น แปรเปลี่ยนในทางใด “ดี-ร้าย”

เพื่อทำร้ายคน หรือเพื่อช่วยเหลือคน

เพื่อส่วนตัว หรือเพื่อชาติบ้านเมือง

เพียงเกาะกุมไว้อย่างมหาศาล และปล่อยแปรอย่างเที่ยงแท้ดีงาม
กำลังโหลดความคิดเห็น