คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
เมื่อตอนที่แล้ว ผมได้เขียนถึงเรื่องความสนุกในการอ่านนิยายจีนกำลังภายใน ทั้งนี้ ในทัศนคติส่วนตัวของผม และได้ชวนคุยรวมถึงตั้งประเด็นเอาไว้ว่า มีอยู่สามสิ่งสำคัญที่จะเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้นิยายจีนกำลังภายในเรื่องใดๆ อ่านแล้วสนุกถูกใจ โดยกล่าวถึงองค์ประกอบทั้งสามสิ่ง อันได้แก่ “โครงเรื่อง” ตามมาด้วย “ตัวละคร” และสุดท้ายก็คือ “กลวิธีการเขียน”
อย่างไรก็ดี มีสิ่งละอันพันละน้อย ซึ่งไม่ได้มีความสำคัญน้อย ที่เป็นสิ่งที่เกาะติดและเกี่ยวพันไปกับองค์ประกอบทั้งสามที่ผมว่าไว้ข้างต้น ก็คือ การลงไปในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่ายสำนัก คุณธรรมน้ำมิตร ยอดวิทยายุทธ อาวุธเลิศล้ำ มหันตภัยร้าย ความลึกลับ การล้างแค้น การกอบกู้ การช่วงชิง การหักหลัง วิญญูชนจอมปลอม สาวงาม ขุมทรัพย์ หรืออื่นๆ ต่างๆ เหล่านี้ เป็นส่วนประกอบอันสำคัญที่จะทำให้นิยายจีนกำลังภายในเรื่องใดๆ กลายเป็นรูปแบบสมบูรณ์ที่ทำให้นิยายจีนกำลังภายในเรื่องนั้นสนุกสนานชวนติดตามอ่าน
นอกจากนี้ มีอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้เช่นกันสำหรับนิยายจีนกำลังภายใน ก็คือการเดินเรื่องแต่ละช่วงตอน สามารถทำอย่างมีจังหวะจะโคน และต่อเนื่องเกี่ยวกระหวัดกันอย่างมีนัยยะ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการสร้างปม และค่อยๆ คลี่คลายทีละเปาะ หรือการผูกปมใหม่ในแต่ละจังหวะการเดินเรื่อง แล้วค่อยร้อยเรียงทั้งหมดเข้าหากันสู่แกนใหญ่ภายใต้โครงสร้างเรื่อง นิยายเรื่องนั้นก็จะสนุกและถูกใจมหาชนผู้อ่าน
เหตุที่ผมหยิบเอาเรื่อง “จังหวะ” และการ “เชื่อมโยง” ของการเดินเรื่องขึ้นมาพูดก็เพราะนิยายจีนกำลังภายในส่วนใหญ่นั้น จะทยอยตีพิมพ์ให้อ่านกันเป็นตอนๆ ไม่ใช่เขียนรวดเดียวจบแล้วออกมาให้อ่านแบบเบ็ดเสร็จ ดังนั้น การสร้างสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้อ่าน” กับ “เรื่อง” จึงเป็นสิ่งที่ต้องอาศัย “จังหวะ” ที่ชวนให้สนุกสนานน่าติดตามเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจละเลย
จะเห็นได้ว่า นิยายจีนกำลังภายในยอดนิยมทั้งหลาย โดยเฉพาะภายใต้ฝีมือเขียนของ “กิมย้ง” และ “โกวเล้ง” ต่างทำได้ดีตามทั้งหมดที่ว่ามานี้ และนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในยุคหลัง อย่าง “หวงอี้” ก็ถือเป็นสุดยอดเช่นกัน
ผมเพิ่งจะจบการอ่านอย่างสนุกสนาน เรื่อง “พยัคฆ์คู่ผงาดฟ้า” ของ “เจิ้งฟง” เมื่อไม่นานมานี้ เมื่ออ่านจบและย้อนระลึกถึงงานนิยายจีนกำลังภายในยุคใหม่ โดยเฉพาะ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ที่เมื่อสัมผัส “จ้าวกวน” และ “เสี่ยวซันเอ๋อ” ผ่าน “พยัคฆ์คู่ผงาดฟ้า” แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะทำให้ผมนึกถึงความหลังที่ได้พบปะ “โค่วจง” และ “ฉีจื่อหลิง”
สำหรับ “พยัคฆ์คู่ผงาดฟ้า” นั้น ผมคิดว่าสิ่งที่เด่นที่สุดก็คือ การสร้างตัวละครสองตัว คือ “จ้าวกวน” และ “เสี่ยวซันเอ๋อ” โดยมีเรื่องราวต่างๆ หมุนวนอยู่รอบตัวละครทั้งสองตัวนี้ สองตัวละครนี้ มีบุคลิกเฉพาะตัวที่มีเสน่ห์ที่ชวนให้ติดตาม โครงเรื่องของนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ ก็เป็นโครงเรื่องที่หมุนรอบโดยมีสองตัวละครเป็นแก่นกลาง
ระหว่างสองตัวละคร ผมชอบ “จ้าวกวน” มากกว่า ตัวละครนี้เป็นคาแรกเตอร์ของตัวละครที่เป็นเสรีชน มีทัศนคติอิสระ แม้ว่าบางมุมจะถูกมองว่า “เสเพล” แต่จริงๆ แล้ว มีภาพสะท้อนที่อ่านได้เหมือนกันถึง “ความคิดเสรีไม่ยึดติดกรอบ” ตัวละครนี้ผมอ่านแล้วรู้สึกชอบเหมือนกับที่ผมชอบ “เหล็งฮู้ชง” ใน “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ที่มีคาแรกเตอร์คล้ายๆ กัน
ที่มาของตัวละคร “จ้าวกวน” ก็หวือหวาและมีสีสัน ชายหนุ่มถือกำเนิดจากหอนางโลม ซึ่งเป็นสาขาของสำนักร้อยบุปผา สำนักที่ดำเนินกิจการโดยสตรี มีความชำนาญในเชิง “มายาและยาพิษ” มีกิจกรรมในการช่วยเหลือสังคมเน้นไปที่เด็กและสตรี คล้ายๆ มูลนิธีปวีณา อะไรประมาณนั้น นอกจากนี้ก็มีประวัติความเป็นมาที่ผูกพันกับบุญคุณความแค้นในยุทธภพซึ่งส่งผลให้ “จ้าวกวน” ต้องไหลลอยไปตามกระแสบุญคุณความแค้นนั้น
นอกจากนี้ มารดาของ “จ้าวกวน” คือ “หัวหน้าหอนางโลม” ที่มีสีสันแพรวพราว มีสัมพันธ์รักใคร่กับชายสามคนอย่างลับๆ แต่ละคนล้วนเป็นบุคคลมีชื่อเสียงและฐานะในยุทธภพทั้งสิ้น โดยที่แต่ละคนก็มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัวและมีวิถีชีวิตที่ต่างกันออกไป และ “จ้าวกวน” เองก็ตามหาว่า ใครคือบิดาที่แท้จริงของตน
เรื่องของ “จ้าวกวน” จุดนี้ ก็พ้องกับละครเวทีที่ผมชอบมากเรื่อง “Mamma Mia” ที่นำเอาเพลงของวง “ABBA” มาร้อยเรียงเล่าเรื่องราว แต่เปลี่ยนเป็นสาวน้อย ที่อยู่กับแม่ที่ทำรีสอร์ตอยู่บนเกาะ กำลังจะแต่งงาน อยากจะมีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ โดยอาจจะมีปมที่ไม่มีพ่อ เมื่อเธอจะแต่งงาน เธออยากจะได้พ่อที่แท้จริงมาร่วมพิธีกรรมแห่งสมรสสมรัก นำมาซึ่งเรื่องราวของชายสามคนที่กลับมายังสถานที่ที่ตัวเองเคยมาพบรักเมื่อยังหนุ่ม ลงท้ายด้วยในที่สุดก็สะท้อนให้เห็นภาพที่แท้จริงว่า “ความรัก” แท้แล้วมีหน้าตาเช่นไร ละครเวทีเรื่องนี้ผมชอบมากทั้งโครงเรื่องและเพลงของ ABBA เป็นละครเพลงที่ผมดูซ้ำบ่อยที่สุดถึง 4 รอบ
กลับมาที่นิยายจีนกำลังภายใน “พยัคฆ์คู่ผงาดฟ้า” มีช่วงประโยคคำพูดช่วงหนึ่งที่อธิบายบุคลิกที่ผมคิดว่าชัดเจนมากในการอธิบายตัวตนของ “จ้าวกวน”
ตัวละครตัวหนึ่งในเรื่อง “อิขะ นาทาคะ” พูดถึง “จ้าวกวน” ไว้ว่า “เจ้ากระทำถูกต้อง เข้มแข็งกระจ่างแจ้ง ไร้ขอบเขตจำกัด ด้านวิชากำลังภายใน สมควรเดินแนวทางเช่นเจ้า ส่วนเราเดินทางผิดไป เจ้าใช้พิษแต่ไม่ชั่วช้า ถนัดในการปลอมแปลงโฉม แต่ไม่แสร้งมารยา นับว่าหายากยิ่ง”
ส่วนกรณีของ “เสี่ยวซันเอ๋อ” นั้น ก็เด่นในเรื่องการวางตัวแบบผู้มีหลักการ ยึดมั่นในหลักการ ไม่ว่าจะเป็นการวางตัวหรือแม้กระทั่งความรัก “เสี่ยวซันเอ๋อ” หรือชื่อจริงว่า “หลิงเฮ่าเทียน” ผู้นี้ มีฝีมือเลิศล้ำ ปัญญาสูงส่ง แต่อย่างไรก็ดี เขาขาดองค์ประกอบในการสร้างสัมพันธ์กับผู้คน ดังนั้น “เสี่ยวซันเอ๋อ” จึงสนุกในการติดตามด้านแง่มุมของ “ความซับซ้อนในจิตใจ” ของตัวละคร ถือเป็นเสน่ห์ที่เป็นบุคลิกขัดแย้งระหว่างสองตัวเอกที่ “เจิ้งฟง” วางแบบแปลนไว้อย่างมีเสน่ห์
ส่วนตัวผมนั้น คิดว่า นักอ่านเพศชายส่วนใหญ่จะชอบ “จ้าวกวน” มากกว่า “เสี่ยวซันเอ๋อ” แต่นักอ่านผู้นิยมนิยายจีนกำลังภายในผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ผมรู้จัก พวกเธอหลงเสน่ห์ของ “เสี่ยวซันเอ๋อ” มากกว่า
การเขียนที่ผลัดให้ “จ้าวกวน” และ “เสี่ยวซันเอ๋อ” ผลัดกันเดินเรื่อง เป็นลักษณะคล้ายคลึงกับรูปแบบแนวทางของ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ที่ให้โลกหมุนวนอยู่รอบสองตัวละคร “โค่วจง” กับ “ฉี่จื่อหลิง”
อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างในกลวิธีการเขียนที่ผมได้พูดถึง “จังหวะ” และการ “เชื่อมโยง” นั้น ในความเห็นส่วนตัวของผม “หวงอี้” นั้น เหนือชั้นกว่า “เจิ้งฟง” อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจาก ทั้ง “จังหวะ” และการ “เชื่อมโยง” ระหว่างสองตัวละครหลัก ของ “มังกรคู่สู่สิบทิศ” ผสานเป็นเนื้อเดียวกัน และการผสานของสองตัวละครนี้ ทำให้เรื่องราว “มังกรคู่สู้สิบทิศ” มีความ “เป็นเอกภาพ เด่นชัดในทิศทาง” และมีพลัง ในขณะที่ผมกลับรู้สึกว่า แนวทางของสองตัวละคร “จ้าวกวน” กับ “เสี่ยวซันเอ๋อ” นั้น ดูจะเป็นสองโครงเรื่องที่แยกกัน โดยมีการเชื่อมโยงและจังหวะในการสอดประสานยังไม่เป็นเอกภาพเท่าไรนัก
พูดง่ายๆ ก็คือ “พยัคฆ์คู่ผงาดฟ้า” ดูเหมือนจะมีสองโครงเรื่อง รวมกันอยู่ภายในนิยายจีนกำลังภายในเรื่องเดียว ซึ่งตรงนี้จะทำให้ขาดเอกภาพและไม่ทรงพลังเท่าที่ควร ในความเห็นของผม บางตอนของตัวละครหนึ่งไม่ว่าจะเป็น “จ้าวกวน” หรือ “เสี่ยวซันเอ๋อ” ที่ออกมาโลดแล่น หากเราตัดออกไป ก็ไม่ทำให้ขาดความเข้าใจถึงตัวละครอีกคน ในขณะที่เมื่ออ่าน “มังกรคู่สู้สิบทิศ” หากเราขาดการเข้าใจเวลาตัวละครใด ไม่ว่าจะเป็น “โค่วจง” หรือ “ฉีจื่อหลิง” ออกมาโลดแล่น ก็จะทำให้ไม่เข้าใจโครงเรื่องหลัก หรือแม้แต่ไม่เข้าใจพฤติกรรมของตัวละครอีกคน ซึ่งเรื่องของ “จังหวะ” และการ “เชื่อมโยง” ของพฤติกรรมของ “โค่วจง” และ “ฉีจื่อหลิง” ถือว่าเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นและส่งเสริมซึ่งกันและกัน
แม้ว่าจุดดังกล่าวนี้ “เจิ้งฟง” จะด้อยกว่า “หวงอี้” แต่ก็ถือว่าแนวทางของ “พยัคฆ์คู่ผงาดฟ้า” สนุกไปอีกแบบในการอ่านนิยายจีนกำลังภายในที่มีสองโครงเรื่องรวมอยู่ในเรื่องเดียวกัน
เมื่อผมมีประสบการณ์กับรูปแบบของนิยายจีนกำลังภายในยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น “พยัคฆ์คู่ผงาดฟ้า” ของ “เจิ้งฟง” หรือ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” และ “จอมคนแผ่นดินเดือด” ของ “หวงอี้” ทำให้รู้สึกว่า แนวทางการวางโครงเรื่องของนิยายจีนกำลังภายในยุคเก่า กับยุคใหม่ นั้นมีอะไรที่ทั้งคล้ายและต่างกันในมุมที่น่าสนใจหลายเรื่อง
ในความเห็นส่วนตัว ผมมองว่าประเด็นของ “จังหวะ” และ “การเชื่อมโยง” ของแนวการเขียนเรื่องราวให้เข้าสู่ “แก่นแกน” ของนิยายจีนกำลังภายใน สไตล์ของ “นักเขียนยุคดั้งเดิม” กับ “นักเขียนยุคใหม่” นั้น มีสไตล์มีความแตกต่างกันในรูปแบบอย่างชัดเจน
สไตล์ของการผสาน “โครงเรื่อง-จังหวะ-การเชื่อมโยง” ของนักเขียนยุคเก่านั้น จะมีรูปแบบเปรียบได้กับ “บริษัทโครงสร้างเดี่ยว” ทำกิจการอะไรก็ทำอย่างเดียว โครงสร้างการเดินเรื่องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโครงใหญ่แค่ไหน ก็จะยึดโยงอยู่แก่นแกนเดียว ขายอาหารก็ขายอาหาร ขายจักรยานก็ขายจักรยาน อาจจะมีการขยายไลน์ แต่ก็เป็นบายโปรดักส์ เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่นเหลาอาหารจีน แต่ก็มีการผลิตขนมไหว้พระจันทร์ออกจำหน่ายในบางเทศกาล
แต่สไตล์ของนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในรุ่นใหม่ อย่าง “หวงอี้” หรือ “เจิ้งฟง” นั้น จะมีสไตล์ของ “บริษัทโฮลดิ้ง” ที่เป็นสำนักงานที่ทำกิจการหลายอย่างหลายเรื่อง แต่อยู่ภายใต้สำนักงานที่บริหารแบบโฮลดิ้งคัมปะนี ที่บริหารด้วยทีมงานเดียวแต่ทำธุรกิจหลายประเภท เรื่องราวก็จะมีลักษณะนำเสนอหลายอย่าง แต่ร้อยเรียงผูกโยงด้วยคอนเน็คชั่นอันหนึ่งอันเดียว ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารแบบสมัยใหม่ที่นิยมกันในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทผลิตกระดาษ แต่ก็มีกิจการรีสอร์ตไปด้วยพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้ เรื่องดังๆ ของนักเขียนยุคใหม่ที่กล่าวขานกันเป็นมหากาพย์ อย่าง “มังกรคู่สู้สิบทิศ” หรือ “จอมคนแผ่นดินเดือด” จึงเป็นเรื่องยาวและโครงใหญ่ นักเขียนอย่าง “หวงอี้” สร้างคอนเน็คชั่นแต่ละส่วนในเชิงรูปแบบ “โฮลดิ้งคัมปะนี” ได้ดี
เนื้อที่ในคอลัมน์มีไม่มากพอที่จะกล่าวถึง “พยัคฆ์คู่ผงาดฟ้า” ของ “เจิ้งฟง” จนหมดสิ้นกระบวนที่อยากจะคุยถึง ผมขอยกไปเขียนตอนจบในสัปดาห์หน้านะครับ
++++
หมายเหตุ : จริงๆ คอลัมน์ “บู๊ลิ้ม” นี้ เป็นคอลัมน์ที่ผมตั้งใจจะชวนคุยในเรื่องที่ว่า ผมอ่านนิยายจีนกำลังภายในแต่ละเรื่องแล้วได้อะไรสะท้อนออกมาสอนใจให้กับชีวิตประจำวัน ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นการวิพากษ์ในเชิงวรรณกรรม แต่ช่วงนี้ ตั้งแต่ตอนที่แล้ว ตอนปัจจุบัน และอีกหนึ่งครั้งในตอนหน้า ผมได้นำเสนอความเห็นส่วนตัวอันเป็นเรื่องที่สนใจอยู่ในประเด็นของ “โครงเรื่อง” ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ช่วงนี้ จึงผิดไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิมของคอลัมน์ แต่อย่างไรก็ดี ยังยึดหลักอยู่ในเรื่องของการชวนคุยเกี่ยวกับนิยายจีนกำลังภายใน และการแสดงทัศนะส่วนตัวซึ่งบอกไว้ตั้งแต่เริ่มคอลัมน์นี้แล้วว่า อาจจะผิด-ถูก แต่ก็ถือเป็นการชวนคุยและนำเสนอความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ