คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
ผมเพิ่งได้มีโอกาสได้รับความกรุณาจากคุณ “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ให้เข้าไปร่วมรับประทานอาหาร พร้อมกับตั้งวงสนทนาเกี่ยวกับความสนุกสนานที่ได้จากนิยายจีนกำลังภายใน หลังจากมื้ออาหารที่อร่อยและการสนทนาอันตื่นเต้นเร้าใจภายใต้การหัวข้อพูดคุยเกี่ยวกับนิยายจีนกำลังภายในเป็นระยะเวลาร่วม 2 ชั่วโมง ผมก็รู้สึกว่าตัวเองได้เพิ่มพูนประสบการณ์ที่สามารถสร้างเสริมจินตนาการในการอ่านเรื่องราวประเภทนี้ได้ดียิ่งขึ้น
เหมือนกับว่า ท่านจอมยุทธอาวุโสแห่งบู๊ลิ้มได้แนะนำเคล็ดวิชามากหลาย พร้อมทั้งได้ใช้กำลังภายในช่วยคลายจุดหยิมและต๊กของผม ลมปราณที่เคยติดขัดก็ทะลุปรุโปร่ง ช่วงหลายสัปดาห์มานี้ ผมจึงอ่านนิยายจีนกำลังภายในได้อย่างมากมิติในการพิจารณาเรื่องราวขึ้นอีกส่วนหนึ่ง
ผมได้บันทึกเรื่องราวของการสนทนากับคุณก่อศักดิ์ใส่ไว้ในหนังสือ “รหัสลับบู๊ลิ้ม” ที่เป็นการรวบรวมบทความจากคอลัมน์ “บู๊ลิ้ม” นี้ และกำลังจะออกวางตลาดในช่วงงานหนังสือปลายเดือนมีนาคมนี้ มีหลากหลายประเด็นที่คุณก่อศักดิ์ได้พูดถึง และเป็นสิ่งที่นักอ่านนิยายจีนกำลังภายในไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง
จำได้ว่า หลายครั้งหลายคราเวลาที่คุณก่อศักดิ์จะเอ่ยชมนิยายจีนกำลังภายในเรื่องใด มักจะมีคำที่ว่า “โครงเรื่องใหญ่” ปรากฏขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าผมจะไม่มีโอกาสได้เน้นประเด็นในเรื่องนี้มากนัก แต่เท่าที่ผมจับประเด็นได้ก็คือ นิยายจีนกำลังภายในนั้น “โครงเรื่อง” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นิยายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สนุกสนานและน่าติดตาม
นอกจากนั้น สิ่งที่คุณก่อศักดิ์ได้เอ่ยเน้นอีกประการ ก็คือเรื่อง “รูปแบบการเขียน” ซึ่งคุณก่อศักดิ์บอกกับผมว่า เรื่องที่ดีนั้น จะต้องเขียนบรรยายได้อย่างเห็นภาพ ให้อารมณ์ความรู้สึก โดยไม่จำเป็นต้องพูดถึงตรงๆ อย่างเช่นการบรรยายว่าโกวเนี้ยนางหนึ่งรู้สึกเศร้าใจ ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนโต้งๆ ว่า เธอร้องไห้เสียใจ แต่ใช้การบรรยายให้เห็นบรรยากาศแห่งความเศร้าโดยให้คนอ่านสัมผัสได้เอง เรียกได้ว่าใช้วิธี “Show and don’t tell” รายละเอียดเรื่องนี้ลองติดตามได้ในหนังสือ “รหัสลับบู๊ลิ้ม” นะครับ (ถือโอกาสโฆษณาใหญ่เลย 555)
องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการก็คือเรื่องของ “ตัวละคร” ที่ทั้ง “ตัวเอก” ตลอดจนตัวละครอื่นๆ จะต้องถูกสร้างขึ้นให้มีเอกลักษณ์และคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจ และมีเสน่ห์ดึงดูดให้เราสัมผัสได้ การสร้างสรรค์ตัวละครแต่ละตัว ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะให้เรื่องดำเนินไปได้อย่างน่าติดตาม นิยายจีนกำลังภายในส่วนใหญ่นั้น “ตัวเอก” ของเรื่อง แทบจะเรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักในการเดินเรื่องราว ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนจุดคลี่คลายท้ายสุด บางเรื่องตัวเอกก็อาจจะมีคนเดียว บางเรื่องมีเป็นคู่ และบางเรื่องก็อาจจะมากันเป็นหมู่คณะ และบางเรื่อง ตัวเอกที่เป็นฝ่ายร้าย ก็อาจจะมีความสำคัญในการเดินเรื่องไม่แพ้กับตัวเอกที่เป็นคนดีเลยทีเดียว
ในความเห็นของผม ประเด็นที่ผมเอ่ยถึงสามสิ่งนี้ คือเรื่อง “โครงเรื่อง” ตามมาด้วย “ตัวละคร” และ “กลวิธีการเขียน” ถือเป็นสิ่งสำคัญของเรื่องราวทุกประเภทที่จะทำให้หนังสือสร้างองค์ประกอบที่อ่านสนุกและน่าอ่าน สำหรับนิยายจีนกำลังในภายในนั้น การวางโครงเรื่อง และวางรูปแบบในการเดินเรื่องราว ตลอดจนการบรรยายเนื้อหาตั้งแต่ต้นจนจบ หากครบองค์ประกอบที่เป็นโครงสร้างหลักเช่นนี้ ย่อมจะทำให้นิยายจีนกำลังภายในเรื่องดังกล่าวมีชัยไปกว่าครึ่ง
นอกเหนือจากนั้น ก็จะได้แก่การลงไปในรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่ายสำนัก คุณธรรมน้ำมิตร ยอดวิทยายุทธ อาวุธเลิศล้ำ มหันตภัยร้าย ความลึกลับ การล้างแค้น การกอบกู้ การช่วงชิง การหักหลัง วิญญูชนจอมปลอม สาวงาม ขุมทรัพย์ หรืออื่นๆ อีกมากมาย ล้วนแต่เป็นการสร้างสรรค์ลงไปในรายละเอียดของสามประการข้างต้น จนกลายเป็นรูปแบบสมบูรณ์ที่ทำให้นิยายจีนกำลังภายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งสนุกสนานชวนติดตามอ่าน
ดังนั้น หากนิยายจีนกำลังภายในเรื่องใด มีครบทั้งสามองค์ประกอบหลัก คือ วางโครงเรื่องดี สร้างตัวละครมีเสน่ห์น่าสนใจ และเขียนบรรยายได้อย่างเห็นภาพและยามสัมผัสแล้วสะเทือนอารมณ์ บวกกับองค์ประกอบเสริมที่ขาดไม่ได้ในรายละเอียดดังที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกันสำหรับนิยายจีนกำลังภายใน ก็คือการเดินเรื่องแต่ละช่วงตอน สามารถทำอย่างมีจังหวะจะโคน และต่อเนื่องเกี่ยวกระหวัดกันอย่างมีนัย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการสร้างปม และค่อยๆ คลี่คลายทีละเปาะ หรือการผูกปมใหม่ในแต่ละจังหวะการเดินเรื่อง แล้วค่อยร้อยเรียงทั้งหมดเข้าหากันสู่แกนใหญ่ภายใต้โครงสร้างเรื่อง นิยายเรื่องนั้นก็จะสนุกและถูกใจมหาชนผู้อ่าน
นิยายจีนกำลังภายในยอดนิยมทั้งหลาย โดยเฉพาะภายใต้ฝีมือเขียนของ “กิมย้ง” และ “โกวเล้ง” ต่างทำได้ดีตามทั้งหมดที่ว่ามานี้ และนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในยุคหลัง อย่าง “หวงอี้” ก็ถือเป็นสุดยอดเช่นกัน
มีนิยายจีนกำลังภายในอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “กระบี่เหนือกระบี่” ของ “ซีเบ๊จี่อิง” ที่ผมรู้สึกว่ามีการพยายามวางโครงเรื่องใหญ่ มีตัวละครที่น่าสนใจ และมีองค์ประกอบอื่นๆ ครบครัน แต่น่าเสียดายที่ผมรู้สึกว่า เรื่องดังกล่าวขาด “จังหวะ” และขาด “เอกภาพในการเชื่อมโยง” เรื่องราวต่างๆ เข้าสู่แก่นแกน
“กระบี่เหนือกระบี่” มีโครงเรื่องอยู่ที่เกิดมหันตภัยร้ายแรงขึ้นในยุทธจักรบู๊ลิ้ม และฟ้าดลบันดาลให้ตัวเอกคือ “เล่งฮุ้น” อดีตนักพรตอนาคตไกลถึงขั้นเป็นมือวางเจ้าสำนักแห่ง “บู๊ตึ๊ง” ต้องแบกภาระรับผิดชอบในการค้ำจุนยุทธจักรไม่ให้ล่มสลาย โชคชะตาพาให้ “เล่งฮุ้น” ต้องเปลี่ยนแปรจากนักพรตสู่วิถีคนธรรมดา ได้สำเร็จยอดวิชาต่างๆ มากมาย
“กระบี่เหนือกระบี่” มีความน่าสนใจหลายประการ เรียกว่า “รวมมิตร” ความสนุกสนานที่จะพึงมีได้ในยุทธจักรนิยายจีนกำลังภายในเลยทีเดียว ไล่ตั้งแต่ มีความเกี่ยวข้องกับความอยู่รอดของยุทธภพ มีเรื่องราวของสำนักใหญ่ๆ ที่เป็นสำนักมาตรฐานไล่เรียงไปถึงพรรคกระยาจก มีอาวุธวิเศษ มีสุดยอดคัมภีร์ มีตัวร้ายลึกลับ มีหญิงงามชาญฉลาดเป็นนางเอก มีหญิงงามแดนอาทิตย์อุทัยเป็นนางมารร้าย มีการประลองเพื่อช่วงชิงเจ้ายุทธภพ มีวิชายุทธจากต่างแดน ทั้งซามูไรและแนวนินจา มีการเดินทางไปตะลุยต่างแดน แถมยังเอาเรื่องการแก่งแย่งช่วงชิงบังลังก์ฮ่องเต้เข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่างหาก (มีทั้งองค์ชายสี่ องค์ชายใหญ่ องค์ชายรอง องค์ชายเจ็ด มีขันที มีอำมาตย์ ฯลฯ) สำหรับผมแล้ว เรื่องนี้เรียกได้ว่าเป็นแนว “นิยายจีนกำลังภายสไตล์อัลบั้มรวมฮิต” ก็ว่าได้
คิดดูง่ายๆ ว่า แค่เอาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ “รวมฮิต” เสียขนาดนั้น มาใส่เป็นประเด็นแก่นแกนแค่ประเด็นเดียวก็สนุกจะแย่อยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น “วิชายุทธแดนอาทิตย์อุทัย” ที่ถูกหยิบมาเป็นแก่นเรื่องของ “บันทึกชำระกระบี่” หรือชื่อเดิม “นักสู้ผู้พิชิต” ที่จอมยุทธชุดขาว เดินทางมาจากญี่ปุ่น มาท้าประลองยุทธจักรตงง้วน จนพ่ายแพ้กับ “เจ้าภูษาม่วง” เจ้าของเรือใบห้าสี ที่เป็นสุดยอดยุทธแห่งบู๊ลิ้ม แพ้กันกระบวนท่าเดียว แต่เจ้าภูษาม่วงเด๊ดสะมอเร่ซี้แหง จอมยุทธชุดขาวกลับไปฝึกฝีมืออีกเจ็ดปี แล้วจะกลับมา บู๊ลิ้มเลยต้องหาสุดยอดมาเพื่อแบกรับภาระศึกใหญ่ในอีกเจ็ดปีข้างหน้า เรื่องนี้โครงเรื่องง่ายๆ แต่ก็ตื่นตาตื่นใจกับการเดินเรื่องของระหว่างการรอจอมยุทธชุดขาวที่จะกลับมา ระยะเวลาเจ็ดปีเพาะสร้างยอดยุทธ “ปึ้งป้อเง็ก” ขึ้นมาได้หนึ่งคน
“นิยายจีนกำลังภายในรวมฮิต” อย่าง “กระบี่เหนือกระบี่” กลับสร้างความรู้สึกให้กับผมไม่อ่านสนุกร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่ “รวมฮิต” ขนาดนั้น แต่กลับมากมายเกินไป ฟุ่มเฟือยเกินไป และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “จังหวะ” และ “การเชื่อมโยง” แต่ละฉากตอนเข้าสู่แก่นแกนทำได้ไม่ดีนักในความเห็นของผม
นิยายจีนกำลังภายในที่เดินเรื่องสนุกน่าจะเหมือนการเสิร์ฟแบบโต๊ะจีน คือมีจานอาหารหลากชนิด ค่อยๆ ทยอยเสิร์ฟแบบมีจังหวะจะโคน ไล่ตั้งแต่เรียกน้ำย่อย ไปถึงอิ่มตบท้าย และล้างปากด้วยขนมหวานรสล้ำ แต่
“กระบี่เหนือกระบี่” นั้น เสิร์ฟมั่วไปหมด (เช่น นึกอยากจะไปญี่ปุ่นก็ไปแบบไม่ค่อยมีเหตุผล องค์ชายต่างๆ ก็ไล่ฆ่าฟันราวกับนักบู๊กลางตลาด ฯลฯ) เป็นการเชื่อมโยงที่ไม่เนียนและเรียบรื่นสักเท่าใดนัก แต่แม้กระนั้น นิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ก็สนุกในสไตล์ของมันนะครับ
อย่างไรก็ดี สำหรับนิยายจีนกำลังภายใน “กระบี่เหนือกระบี่” เรื่องนี้ ก็มีข้อคิดสอนใจอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ นั่นก็คือเรื่องราวของการ “แก่งแย่งช่วงชิง” สิ่งที่เป็น “สัญลักษณ์แห่งการถือครองอำนาจ” ของ “พรรคกระยาจก” ก็คือ “ประกาศิตบาตรเหล็ก” ที่เป็นบาตรแตกที่จารึก “บันทึกยอดวิชาพลังพิสดาร” (เรื่องนี้ไม้เท้าตีสุนัขไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไร)
“พรรคกระยาจก” จะมีสัญลักษณ์เป็นประกาศิตบาตรเหล็กเพื่อแสดงถึงอำนาจที่จะควบคุมและบริหารสถาบันพรรคกระยาจก แต่สัญลักษณ์นี้ยิ่งกว่าเครื่องหมายหัวหน้าธรรมดา เพราะมันมีบันทึกวิชาพลังพิสดารอยู่ ถือเป็นสุดยอดยุทธที่ใครๆ ก็อยากแย่งชิง จนเกิดการชุลมุนยิ่งกว่าหมากัดกัน
คงเฉกเช่นเดียวกับ “สถาบันทางการเมืองของไทย” ที่บรรดา “นักการเมือง” เพ่งเล็งไปที่ “ผลประโยชน์แห่งอำนาจ” มากกว่าเห็นความสำคัญของการทำงานในจุดนั้นตำแหน่งนั้น
แต่ถึงสุดท้าย “เล่งฮุ้น” ผู้ได้รับสืบทอดตำแหน่งเจ้าสำนัก กลับใช้ความกล้าหาญในฐานะผู้นำ ทำลายเคล็ดวิชาบันทึกพลังพิสดารนี้ทิ้งไป หลังจากที่ประกาศิตบาตรเหล็กถูกขูดลบจารึกทิ้งและมีการลอบพิมพ์ลงไปในม้วนแพร “เล้งฮุ้น” โยนม้วนแพรเข้ากองไฟอย่างไม่เสียดาย เหลือคงไว้แต่ประกาศิตบาตรเหล็กที่เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ไม่มีจารึกยอดวิชา
บางคนมองเป็นเพียง เศษบาตรเหล็กเก่าๆ ที่ไร้ค่า
แท้จริงแล้ว “ประกาศิตบาตรเหล็ก” เหมาะสมที่จะเป็นเพียงสัญลักษณ์สำหรับ “เจ้าสำนักที่ถือธรรม” และปกครองอย่างเที่ยงธรรม หาใช่ยอดวิชาที่จารึกเป็นแก่นสำคัญของการครองอำนาจไม่ การแก่งแย่งยอดวิชาในประกาศิตบาตรเหล็กรังแต่จะทำให้ “พรรคกระยาจก” เกิดความสูญเสียไม่รู้จักจบจากสิ้น
“ความเที่ยงธรรม” ต่างหากเล่า จึงสามารถทำให้ “สถาบัน” หรือ “องค์กร” ใดๆ ยืนอยู่ได้อย่างจริงแท้มั่นคง
เหลียวซ้ายและขวาที่ระบบการเมืองไทย เมื่อไรที่เราจะหาผู้นำทางการเมืองที่กล้าหาญองอาจ อย่าง “เล่งฮุ้น” ให้ได้สักคน