xs
xsm
sm
md
lg

แค้นหนักเป็นกิโล แต่รักเบาหวิวแทบจะปลิวหาย : ธวัชล้ำฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สุมทวณิช

หากจะว่ากันตามจริงแล้ว นิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “ธวัชล้ำฟ้า” เป็นเรื่องที่ผมไม่ถูกใจนัก พูดเป็นภาษาง่ายๆ ก็คือ ผมคิดว่าเรื่องนี้อ่านไม่สนุกเท่าไร โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า เรื่อง “ธวัชล้ำฟ้า” นี้ มีโครงเรื่องที่คาบเกี่ยวในยุคที่ “โกวเล้ง” กำลังปรับพื้นฐานกำลังภายในด้านการเขียนของเขา (ดังที่ผมเคยเล่าไปบ้างแล้วในตอน “ศึกศรสวาท”) แต่ทั้งนี้ผมตัดสินใจที่จะต้องกล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะเหตุผลสำคัญสามประการด้วยกัน

ประการแรก เรื่องนี้ผมเห็นว่าเป็น ช่วงเปลี่ยนผ่านในการแสวงหามิติใหม่ในรูปแบบนิยายจีนกำลังภายในของ “โกวเล้ง” ส่วนตัวผมเห็นว่า “ศึกศรสวาท” คือจุดสุดท้ายของการเขียนตามขนบนิยายจีนกำลังภายในดั้งเดิม แต่ขณะเดียวกัน “โกวเล้ง” เองก็ได้ริเริ่มบางส่วนของแนวทางใหม่เอาไว้บ้าง ผมจึงได้กล่าวถึงในตอนที่แล้วว่า “ศึกศรสวาท” อาจถือเป็นเรื่องสุดท้ายตามโครงสร้างขนบนิยายจีนกำลังภายในแบบดั้งเดิม ก่อนที่ “โกวเล้ง” จะปรับแนวทางสู่การเขียนยุคใหม่ จนในที่สุด “ลี้น้อยมีดบิน” ก็ปรากฏขึ้นในยุทธจักรนิยายจีนกำลังภายใน

เหตุที่ผมอยากเขียนถึง “ธวัชล้ำฟ้า” ก็เพราะนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ ถือเป็น “ไฮบริด” ของสไตล์เก่ากับสไตล์ก้าวหน้าของมังกรโบราณผู้นี้ ในยุคเปลี่ยนผ่าน ผมมองว่า “ศึกศรสวาท” เป็นจุดสุดท้ายของรูปแบบดั้งเดิม และมีการเริ่มต้นสู่แนวทางใหม่ไปพร้อมๆ กัน โดยที่ “ธวัชล้ำฟ้า” นั้น ผมเห็นว่าเป็นลักษณะ “ลูกผสม” ที่มีความปะปนกันในสองสไตล์ แม้ยังไม่ราบรื่นลงตัว แต่ก็มีสเน่ห์บางประการในตัวเอง โดยที่ “ลูกปลาน้อย เซียวฮื้อยี้” เป็นเป็น “จุดลงตัว” ของ “โกวเล้ง” ที่ตอนท้ายของยุคเปลี่ยนผ่านของเขา

ประการต่อมา มีการพูดถึงกันมากสำหรับงานของ “โกวเล้ง” ในยุคเปลี่ยนจาก “แค้น” ที่เป็นแก่นแกนหลักของนิยายจีนกำลังภายใน ไปสู่ “รัก” ซึ่งเป็นหัวใจของงานเขียนในยุคหลังอันโด่งดังของเขา ในช่วงนี้ ผมจึงคัดเลือกเรื่องราวของ “แค้น” ในยุคเปลี่ยนผ่าน อันประกอบด้วย “ศึกศรสวาท” และ “ธวัชล้ำฟ้า” มาเขียนถึง โดยที่ผมได้เคยเขียนเกี่ยวกับ “ตัดแค้น จึงปลดทุกข์” ในเรื่อง “เซียวฮื้อยี้” มาแล้ว (ต่อจากนี้ จะมีตอนต่อเนื่องที่เกี่ยวกับแค้นตามมาอีกเรื่อง ก็คือ “แค้นสั่งฟ้า/ห่วงมากรัก” ที่ “โกวเล้ง” เขียนถึง “แค้น” ที่สื่อสารกับคนอ่านเพื่อจะให้เข้าใจถึง “อีกด้านหนึ่งของความแค้น” )

สำหรับเรื่อง “ธวัชล้ำฟ้า” นี้ แม้ว่าจะมีบางท่านกล่าวว่า เป็นความพยายามของ “โกวเล้ง” ที่จะเปลี่ยนแนวทางเรื่อง “แค้น” จาก “แค้นส่วนตัว” อันมักจะเกิดจากการเข่นฆ่าล้างตระกูล หรือแค้นจากการฆ่าบุพการี มาเป็นแค้นระหว่าง “สถาบัน” ระหว่างค่ายสำนัก “ธวัชล้ำฟ้า” กับ “ห้าตระกูล” ที่สั่งสมความแค้นกันมา อย่างไรก็ดี แม้จะมีความพยายามที่จะสร้างประเด็น “ความซับซ้อนแห่งจิตใจมนุษย์” เข้าไปบ้าง แต่ยังถือว่าเรื่องของ “แค้น” ก็ยังรับบทหนักเป็นแก่นแกนของเรื่องมากกว่า

นอกจากนี้ ในตอนท้ายของเรื่อง สำหรับประเด็นการคลี่คลายความแค้นนั้น “ทิตงทั้ง” ตัวเอกของเรื่อง จัดว่าไม่มีบทบาทเท่าไรนักสำหรับการใช้วิชาฝีมือเข้าคลี่คลาย โดยปล่อยให้ “ความแค้น” ที่ฝังอยู่ในจิตใจของแต่ละคน เข้าคลี่คลายประเด็นเรื่องราวกันเอง ซึ่งจุดนี้สำหรับผมถือว่าเป็นการพยายามที่จะสร้างแนวทางใหม่ในการ “คลายปมแค้น” แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าเป็นการขาดรสชาติอะไรบางอย่างสำหรับแนวทางนิยายจีนกำลังภายใน โดยที่ผมชอบแนวทางนำเสนอของ “แค้นสั่งฟ้า” ที่เป็นเรื่องราวของ “ห่วงมากรัก” หนึ่งในซีรีส์ชุด เจ็ดยอดศัตราวุธของ “โกวเล้ง” มากกว่า

แต่อย่างไรก็ดี ส่วนตัวผมคิดว่า “ธวัชล้ำฟ้า” เรื่องนี้ เป็นบทเริ่มต้นของ “โกวเล้ง” ในความพยายามที่จะเข้าใจกับเรื่องของ “รัก”

ประการสุดท้าย สำหรับประเด็นที่ต้องเขียนถึง “ธวัชล้ำฟ้า” ก็เพราะตัวเอกอย่าง “ทิตงทั้ง” นั่นเอง ตัวเอกคนนี้ของ “โกวเล้ง” ถือเป็นตัวเอกที่เก่งกล้าถือคุณธรรมที่น่ายกย่องคนหนึ่งในยุทธจักรนิยายจีนกำลังภายใน โดยที่ตัว “โกวเล้ง” เอง ถึงกับยกย่อง “ทิตงทั้ง” เป็นหนึ่งในสามตัวละครที่เขาได้สร้างขึ้นมาและชื่นชอบ นอกเหนือไปจาก “ลี้น้อยมีดบิน” และ “ก๊วยไต่โล่ว” แห่งวีรบุรุษสำราญ

ในเรื่อง “ธวัชล้ำฟ้า” นี้ ตัวเอกของเรื่องคือ “ทิตงทั้ง” มีความอาจหาญเที่ยงธรรม แบกรับความแค้นของสำนักของตัวเองที่สืบต่อกันมา (ทั้งๆ ที่เขาเองก็ไม่รู้ความนัยอันเป็นที่มาของความแค้นมากนัก) แต่อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า “ทิตงทั้ง” นั้น ในระหว่างการเดินเรื่อง แม้มีความแค้นแบกหนักอยู่บนบ่า แต่ก็มีการชั่งน้ำหนักระหว่าง “ความแค้น” กับ “น้ำใจ” ที่ได้รับระหว่างบุคคลต่างๆ ที่ได้พบเจอ แม้บุคคลเหล่านั้นบางคนจะอยู่ในฝ่าย “ศัตรู” เองก็ตาม และ “ทิตงทั้ง” เองก็ไม่ยอมรับ “กฎแห่งความแค้น” บางอย่างที่ไม่มีเหตุผล อย่างกรณีที่ “ฮุ้นเกียง” พี่ใหญ่ของรุ่นปัจจุบันแห่งสำนัก “ธวัชล้ำฟ้า” ไปหลงรักบุตรสาวของ “ป้อมมหากาฬ” หนึ่งในห้าตระกูลแค้นของสำนัก โดย “ทิตงทั้ง” รับหน้าที่เป็นผู้ลงทัณฑ์ แต่เขากลับลอบช่วยเหลือปล่อย “ฮุ้นเกียง” ให้เป็นอิสระ

ในเรื่องของการเผื่อแผ่ “น้ำใจ” ให้กับ “เพื่อนมนุษย์” นี้ “ทิตงทั้ง” ถือได้ว่าเป็นผู้ที่สมควรได้รับการยกย่อง เขาไม่แบ่งแยกฝักฝ่าย มิตร-ศัตรู แต่มองแต่ละคนเป็น “คน” ในขณะที่เขาทุ่มเทช่วยเหลือพี่น้องร่วมสำนักเท่าใด เขาก็ใส่ใจผู้อื่นไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ “ดาวอสูรตาบอด” หนึ่งในศิษย์ยอดฝีมือของ “มารดาปีศาจเก้าบุตร”

“ดาวอสูรตาบอด”
ผู้นี้ เป็นผู้เข็มแข็งทระนงตน จิตใจห้าวหาญเด็ดเดี่ยว เปี่ยมด้วยวิทยายุทธด้วยการฟังเสียง ที่เป็นจุดเด่นของความตาบอด ถือเป็นผู้เยี่ยมด้วยวรยุทธคนหนึ่งในยุทธภพ แต่ครั้งที่ “ดาวอสูรตาบอด” โสตประสาทได้รับการเสียหายทางหูเข้าไปอีก นอกเหนือจากอาการตาบอด จอมยุทธตาบอดผู้นี้จึงตกอยู่ในสภาวะย่ำแย่อาการหนัก ในขณะนั้น “ทิตงทั้ง” ก็อยู่ในสภาวะคับขันที่ต้องไล่ติดตาม “จุ้ยเล้งกวง” หญิงสาวคนรักที่ถูกชิงตัวไป หากไม่ติดตามก็ยากที่จะสืบเสาะค้นพบ “ทิตงทั้ง” กลับรั้งอยู่ข้างกาย “ดาวอสูรตาบอด” เพื่อจะเยียวยาทางจิตใจ

“ทิตงทั้ง” พูดกับอสูรตาบอดด้วยเสียงอันดังเนื่องจากอยู่ในระหว่างอาการเดือดเนื้อร้อนใจที่ “จุ้ยเล้งกวง” โดนชิงตัวไป

“ท่านไฉนไม่กล่าววาจา หรือ ...หรือว่า เราไม่ ...ไม่ได้ยิน” ดาวอสูรตาบอดกล่าว

ทิตงทั้งเห็นมันหน้าบิดเบี้ยวเกรี้ยวกราด ทั้งนี้เพราะหากมันหูหนวก ยังสร้างความปวดร้าวให้กับมันยิ่งกว่าฆ่าทิ้งเสียอีก

“หลายวันมานี้ ผู้น้องเหนื่อยตรากตรำ จนสุ้มเสียงแหบแห้ง”

ดาวอสูรตาบอดจึงยิ้มและกล่าวว่า

“บุรุษหนุ่มไม่อาจทนรับความลำบากจริงๆ เราผู้พี่ยังเข้มแข็งกว่าท่านมากนัก”

ทั้งสองร่วมทางกันจนถึงตอนที่ “ทิตงทั้ง” ได้รับรหัสขอความช่วยเหลือที่สลักบนใบไม้จาก “จุ้ยเล้งกวง” แต่เขาก็มิอาจทอดทิ้ง “ดาวอสูรตาบอด” ทั้งๆ ที่ชายตาบอดผู้นี้กลายเป็นภาระในการเร่งรีบกระทำการ

ทิตงทั้งยื่นมือประคองดาวอสูรตาบอด

ชายชราตาบอดจึงเอ่ยถามว่า “น้องเราคิดไปที่ใด ยังต้องการให้เราอยู่เป็นเพื่อนหรือ”

“ทิตงทั้ง” ครุ่นคิดว่า หากเขาร่วมทางกับเรา รังแต่เป็นภาระ แต่ตอนนี้ไหนเลยเราหักใจผละจากเขาไปได้ ดังนั้นจึงร้องดังๆ ว่า

“การไปครั้งนี้ลำบากยากเข็ญ ผู้น้องขาดประสบการณ์ หากท่านพี่ไม่มีเรื่องราวใด ขอให้ช่วยเหลือข้าพเจ้าอีกครั้ง”

สำหรับเรื่อง “ธวัชล้ำฟ้า” นี้ นอกจากจะกล่าวถึง “ทิตงทั้ง” แล้ว คงจะต้องเอ่ยถึงนางเอกของเรื่องที่มีชื่อว่า “จุ้ยเล้งกวง” ด้วย หญิงสาวผู้นี้ถือเป็นตัวละครนางเอกในนิยายจีนกำลังภายในที่มีสเน่ห์สำหรับผมอยู่ไม่น้อย “จุ้ยเล้งกวง” นี้เป็นหญิงสาวที่เติบโตมาอย่างโดดเดี่ยวกับมารดาผู้จมอยู่กับ “ความแค้น” หญิงสาวผู้นี้จึงกลายเป็น “คนติดอ่าง” เพราะขาดความมั่นใจ เวลาพูดอะไรกับใครจึงออกอาการติดอ่าง พูดจาตะกุกตะกัก แต่เมื่อ “จุ้ยเล้งกวง” ต้องการจะสื่อสารความรู้สึกของตนจากภายในให้ต่อเนื่องเข้าใจกับคนอื่น เธอผู้นี้จึงใช้วิธีการเรียบเรียงคำพูดออกมาเป็น “คำร้องทำนองเพลง” ซึ่งทำให้ “จุ้ยเล้งกวง” นางเอกนิยายจีนกำลังภายในผู้นี้ ถือเป็นนางเอกที่มีบุคลิกอันมีสเน่ห์ในอีกรูปแบบ

ตัวละครอย่าง “ทิตงทั้ง” และ “จุ้ยเล้งกวง” นี้ ถือว่าสอนเราในเรื่องของการมอบ “ความรัก-ความจริงใจ-ความเอื้ออาทร” ให้กับผู้คน โดยไม่ยึดติดอยู่ในกรอบกติกาหรือกฎเกณฑ์ใดๆ รวมทั้งการแสดงออกสำหรับความปรารถนาดีกับผู้คนนั้น เรื่องของกรอบกฎกติกา หรือแม้แต่รูปแบบในการสื่อถึงผู้คน แท้จริงคือการมอบให้จาก “ภายใน” โดยการชั่งน้ำหนักผิดชอบชั่วดี โดยปราศจากอคติและข้อกำหนดต่างๆ ทางสังคมจากสิ่งแวดล้อมภายนอก

“ดีชั่วจึงอยู่ที่ใจ” ไม่ใช่ปล่อยให้ปัจจัยภายนอกเป็นตัวกำหนด

บางครั้งเอา “ความแค้น” ขึ้นตาชั่ง หนักเป็นกิโล ส่วน “รัก” นั้นเบาหวิวแทบจะหลุดปลิวหาย แต่จิตใจที่ดีงามบางครั้งเลือกที่จะเก็บรักที่เบาบาง และวางความแค้นที่หนักอึ้งเอาไว้ชั่วคราว

กำลังโหลดความคิดเห็น