xs
xsm
sm
md
lg

เก็บตก “วิญญูชนจอมปลอม” และ “สันดานเดิมๆ ของสำนักมาตรฐาน” : ดาบวงพระจันทร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

“ฟังเสียงฝนในหอน้อยเพียงเดียวดาย” เป็นประโยคไพเราะเพราะพริ้งราวบทกวีที่จารึกอยู่บน “ดาบโค้งวงพระจันทร์” อันเป็นเรื่องราวที่ประพันธ์ขึ้นโดย “โกวเล้ง” ได้รับการแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยโดยท่านอาจารย์ “น.นพรัตน์” ภายใต้ชื่อ “อินทรีผงาดฟ้า”

“ดาบ” แม้จะเยี่ยมยอดเพียงใด หากปราศจาก “คน” ย่อมมิอาจสร้างความระบือลั่น บุคคลผู้พกดาบโค้งวงพระจันทร์จารึกข้อความข้างต้นมีชื่อว่า “เต็งพ้ง” ผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวอันลือลั่นสะท้านยุทธจักร สุดยอดแห่งเพลงดาบอันรวดเร็วและยะเยียบเย็น เล่ห์เหลี่ยมและการหักหลัง ความแค้น ความรัก และฉากเสน่หาร้อนระอุปนวาบหวิว ทำให้เรื่องของ “ดาบ” ที่จารึกข้อความ “ฟังเสียงฝนในหอน้อยเพียงเดียวดาย” จึงสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ

เรื่องราวของชายหนุ่มผู้อยากสร้างชื่อระบือลั่นนาม “เต็งพ้ง” ผู้ได้รับสืบทอดวิชา “กระบี่” อันมีชื่อว่า “ดาวตกเหนือฟ้า” เขาต้องการออกมาโลดแล่นในยุทธจักรเพื่อสร้างชื่อเสียงให้ขจรขจาย “มีชื่อเลื่องลือทั่วบู๊ลิ้ม เป็นเอกเหนือแผ่นดิน” ด้วยสุดยอดท่ากระบี่ “ดาวตกเหนือฟ้า” ของเขา ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็โค่นสุดยอดมือกระบี่แห่งยุทธภพ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดยอด จนถูกกล่าวเทียบเคียง “นายน้อยที่สามแห่งหมู่บ้านกระบี่เทพเจ้า-เจี่ยเฮียวฮง”

ฉากแรกของเรื่อง “เต็งพ้ง” กำลังจะเดินทางไปท้าสู้กับสุดยอดมือกระบี่นามว่า “ลิ้วเยียกซ้ง” แห่งหมู่ตึกสนจีรัง “ลิ้วเยียกซ้ง” นี้ถือเป็นมือกระบี่อันดับต้นๆ ของแวดวงยุทธจักร ทั้งยังเป็นศิษย์ฆราวาสของปรมาจารย์นักบู๊แห่งสำนักมาตรฐาน “บู๊ตึ้ง” ดังนั้นหาก “เต็งพ้ง” สามารถโค่นมือกระบี่ผู้นี้ได้ เขาย่อมจะมีชื่อเสียงเลื่องลือไปอีกระดับ เข้าใกล้ความ “เป็นเอกเหนือแผ่นดิน” ที่ชายหนุ่มผู้นี้ต้องการมากยิ่งขึ้น

แม้ว่า “เต้งพ้ง” จะเตรียมเพื่อการนี้มาอย่างดี แต่เขากลับไปสายกว่ากำหนดนัด จนเป็นเหตุให้ “ลิ้วเยียกซ้ง” ไม่ยอมอยู่เจอและเลื่อนการประลอง ทั้งนี้ก็เพราะระหว่างทางไปหมู่ตึกสนจีรัง “เต็งพ้ง” ได้ช่วยเหลือสตรีนางหนึ่งให้พ้นจากเภทภัย และหลังจากเดินทางกลับจากหมู่ตึกสนจีรัง เขาก็พบกับสตรีนางนั้นอีกครั้ง และเกิดสัมพันธ์รักกันขึ้น ชนิดที่ว่า “เต็งพ้ง” ออกอาการ “ทุ่มหมดตัว” มอบคัมภีร์กระบี่ “ดาวตกเหนือฟ้า” เพื่อเป็นของขวัญสัมพันธ์รัก

หากแต่ มันเป็น “เล่ห์เหลี่ยมมารยาหญิง” ซึ่ง “ลิ้วเยียกซ้ง” ส่งฮูหยินของตัวเอง มาหลอกล่อคัมภีร์กระบี่ของเขา ในเวลาต่อมาเมื่อ “เต็งพ้ง” ไปประลองกระบี่ จึงตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ และถูกกล่าวหาว่า ขโมยววิชากระบี่ของ “ลิ้วเยียกซ้ง”

ความอ่อนด้อยในประสบการณ์ จึงทำให้ “เต็งพ้ง” พ่ายแพ้และสูญเสียชื่อเสียงหมดสิ้น

แต่ด้วยฟ้าบันดาลให้เขาพบเจอ “นางปีศาจจิ้งจอก” นามว่า “แชแช” ช่วยเหลือ และต่อมากลายเป็นรักแท้ ที่เขาได้รับสุดยอดวิชาฝีมือเชิงดาบ พร้อมกับสุดยอดแห่งดาบโค้งวงพระจันทร์ที่จารึกข้อความ “ฟังเสียงฝนในหอน้อยเดียวดาย” จนสามารถกลับมาล้างแค้นและสร้างชื่อระบือลั่น จนเทียบเคียง “ซาเซียวเอี้ย-เจี่ยเฮียวฮง” แห่ง “หมู่บ้านกระบี่เทพเจ้า” และกลายเป็นสหายต่างวัยกับจอมยุทธเชิงกระบี่ผู้นี้

เรื่อง “อินทรีผงาดฟ้า” นี้เป็นเรื่องอ่านสนุก วางโครงเรื่องได้น่าติดตามและมีจังหวะขั้นตอนที่สร้างความสนุกสนานไปตลอดเรื่อง มีการสร้างบรรยากาศแฟนตาซีแนวภูตเทพ และอารมณ์เสน่หาโรแมนติกวาบหวิว

หากจะมีข้อขัดใจอยู่บ้างสำหรับผม ก็คือ มีบางจุดที่อ่านแล้วมีเหตุผลที่ดูไม่เพียงพอ รู้สึกตะหงิดๆ ใจ อยู่กับเรื่องราวที่อยู่ดีๆ จาก “ชายหนุ่มด้อยประสบการณ์ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมผู้คน” กลับมาเป็น “ชายหนุ่มผู้ฉลาดปราดเปรื่องและรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมแทบทุกชนิดในบู๊ลิ้ม” อย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

แม้ว่า อาจจะมีเหตุผลเรื่อง การตกเป็นเหยื่อของเล่ห์กลแล้ว จึงเรียนรู้และไม่ยอมตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เช่นนั้นอีก แต่ผมก็รู้สึกว่า “เต็งพ้ง” หลังจากการกลับมาสู่บู๊ลิ้มใหม่ ช่างสุดยอดในการรับทุกเล่ห์จนแทบไม่น่าเชื่อ

ข้อขัดใจประการที่สองของผมก็คือ ผมว่าเรื่องนี้ “โกวเล้ง” เอาตัวละครในเรื่อง “ซาเซียวเอี้ย” มาเกี่ยวข้องมากจนเกินไป (ถ้าจำไม่ผิด เรื่องนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ “โกวเล้ง” เขียนต่อจาก “ซาเซียวเอี้ย”) จริงๆ แล้ว ผมว่าไม่จำเป็นมากนักที่จะต้องเอา “ลูกสาว” ของ “เจี่ยเฮียวฮง” มาวางบทเป็นตัวร้ายของเรื่อง อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องตอกย้ำความเก่งกาจของ “เต็งพ้ง” ด้วยฉากการประลองกับนายน้อยที่สามที่หมู่บ้านกระบี่เทพเจ้า จริงๆ แล้ว บ่อยครั้งที่ “โกวเล้ง” หรือแม้แต่ “กิมย้ง” นิยมที่จะพาดพัน มีการเอาตัวละครที่เด่นในเรื่องหนึ่ง มาโผล่อีกเรื่องหนึ่ง แต่เท่าที่เห็นก็โผล่แค่พอให้ระลึกในระดับแต่พอดี แต่เรื่อง “อินทรีผงาดฟ้า” นี้ จะมีมากหน่อย (แต่ตรงนี้ก็ถือเป็นข้อขัดใจส่วนตัวน้อยๆ เท่านั้นนะครับ)

อย่างไรก็ดี เมื่อชดเชยด้วยโครงเรื่องและการเดินเรื่องที่สนุกสนาน และการสอนใจเรื่อง “ผิดแล้วอย่าผิดซ้ำอีก” ก็ถือว่ารับได้

เหตุที่หยิบเรื่อง “ดาบโค้งวงพระจันทร์” และเรื่องราวของ “เต็งพ้ง” ขึ้นมาเขียนครั้งนี้ นอกจากชอบในความสนุกสนานในเรื่องราวของ “ดาบ” และ “คน” แล้ว ยังถือเป็นการ “เก็บตก” ในเรื่องของ “วิญญูชนจอมปลอม” ที่โดดเด่นอีกคนหนึ่งในนิยายจีนกำลังภายใน และเรื่องของ “สันดานชั่วๆ” ของ “สำนักมาตรฐาน” ที่ชอบแปะป้ายอ้าง “ธรรมะ” ที่แท้จริงแล้ว “จอมปลอม” ในยุทธจักรบู๊ลิ้ม ที่เรื่อง “อินทรีผงาดฟ้า” นี้ บ่งบอกเล่าเรื่องได้เตือนใจเป็นอย่างดียิ่ง

เรื่อง “อินทรีผงาดฟ้า” มีประเด็นที่ผมคุ้นเคยและถือเป็นสเน่ห์ที่ไม่เคยเบื่อสำหรับนิยายจีนกำลังภายใน ก็คือมีตัวละครอย่าง “ลิ้วเยียกซ้ง” ปรากฏขึ้นในฐานะบุคคลผู้เข้าข่าย “วิญญูชนจอมปลอม” โดย “ลิ้วเยียกซ้ง” นี้ถือเป็นผู้มีชื่อเสียงด้านทรงคุณธรรมในยุทธภพ อีกทั้งยังเป็นศิษย์ระดับสูงของ “สำนักมาตรฐานอันเก่าแก่และมีชื่อเสียง” อย่าง “บู๊ตึ้ง” อีกทั้งยังร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง “ลิ้วเยียกซ้ง” เนื่องจาก “กลัวแพ้” ถึงกับยอมทำทุกอย่าง แม้กระทั่งส่งมอบฮูหยินของตัวเองไปใช้เล่ห์มารยาหญิงขโมยวิชากระบี่ของคู่ประลอง

“ลิ้วเยียกซ้ง” ยังลีลาวิญญูชนจอมปลอมได้ร้ายกาจไปอีก โดยหลังจากที่ถูก “เต็งพ้ง” ใช้เพลงดาบโค่นจนพ่ายแพ้ “ลิ้วเยียกซ้ง” กลับคุกเข่าขอเป็นศิษย์ “เต็งพ้ง” เพื่อรักษาชีวิตและเฝ้ารอจังหวะก่อการร้าย โดยยึดหลักยอมเป็นบริวารใกล้ตัว

ต่อมา “ลิ้วเยียกซ้ง” จึงกลายเป็น “วอลเปเปอร์” แปะอยู่ข้างหลัง “เต็งพ้ง” ไปในท้องเรื่อง

อย่างไรก็ดี “วิญญูชนจอมปลอม” อย่าง “ลิ้วเยียกซ้ง” ก็มีจุดจบอย่างน่าอนาถ ซึ่งแนวทางเช่นนี้ ผมมักเจอบ่อยครั้งสำหรับ “ปั้นปลายของวิญญูชนจอมปลอม” ที่ลงเอยรูปแบบเดียวกันซ้ำๆ ซากๆ แต่ผมก็ไม่เคยเบื่อที่จจะอ่านจุดจบแนวทางเช่นนี้

ประเด็นคุ้นเคยที่ผมชอบอ่านประการต่อมาก็คือ การถูกตราหน้าจาก “ฝ่ายธรรมะ” ให้กับบุคคลที่อยู่ในส่วนของ “สำนักนอกสายตา” ที่ไม่คุ้นเคยว่าเป็น “สำนักมาตรฐาน” บังเอิญโดดเด่นขึ้นมาในยุทธภพ เลยโดนใส่ไฟและกล่าวหาจากเหล่า “สำนักมาตรฐานผู้ชอบอ้างคุณธรรม” ว่าเป็น “มาร” (และก็ต้องหนีไปกบดานรอวันกลับมาพิสูจน์ความจริง แอบแฝงเป็น “หมู่บ้านปีศาจจิ้งจอก” ดังที่เล่าถึงเมื่อข้างต้น)

เรื่องเช่นนี้ แม้ว่า มีการสร้างแนวทางบ่อยๆ และซ้ำๆ ในนิยายจีนกำลังภายใน แต่ผมก็ไม่เคยรู้สึกเบื่อ เพราะในชีวิตจริงนั้น ก็เจอเรื่องเช่นนี้บ่อยๆ ซ้ำๆ ในทางการเมืองนั้น ก็มี “สำนักมาตรฐาน” ที่มีภาพดี ดูมีคุณธรรม แต่เมื่อมีจังหวะโอกาส ก็ใช้สันดานเดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ ใส่ร้าย “สำนักเล็กๆ นอกสายตา” ที่บังเอิญโดดเด่นขึ้นมาจนเสียดแทงใจ “สำนักมาตรฐาน” ส่วนในชีวิตจริงของแต่ละคน ผมก็เชื่อว่า ก็ย่อมเจอประสบการณ์เช่นนี้เห็นเป็นประจำในชีวิตประจำวันเช่นกัน

นอกจากนี้ เรื่อง “อินทรีผงาดฟ้า” ของ “โกวเล้ง” เรื่องนี้ ยังมีฉากบรรยายความวาบหวามอีโรติก ซึ่งโดยปกติแล้ว ภาษาอันสวยงามและเปรียบเปรยด้วยสัญลักษณ์ มักจะถูกใช้เรียบเรียงประโยค เรามักจะคุ้นเคยกับ การเปรียบเปรยถึงฝนตกในห้องหอน้อยของชายหนุ่มกับหญิงสาว อาจจะมีว่ากล่าวในดีกรีขั้น พายุฝนฟ้าคะนองที่บ่งบอกถึงการโรมรันที่รุนแรง แต่ในเรื่องนี้จะมีบางช่วงบางตอนที่บรรยายฉากวาบหวามที่ตรงไปตรงมามากกว่าปกติเล็กน้อย

ผมขอจบเรื่องราวด้วยการกล่าวถึงบทสนทนาระหว่าง “เต็งพ้ง” กับ “เจี่ยเซี่ยวเง็ก” ลูกสาวของ “เจี่ยเฮียวฮง” ที่ถกกันถึงเรื่อง “ความผิด” ในการ “ฆ่าฟันผู้คน”

“เจี่ยเซี่ยวเง็ก” สงสัยว่า เหตุใดบิดาของตนเอง ก็ประหารฆ่าฟันผู้คนพอๆ กับตนเอง แต่เหตุใด “ความผิด” ในการประหารฆ่าฟัน จึงไม่เหมือนกัน คนหนึ่งถูกกล่าวขานเป็น “วีรบุรุษ” ส่วนอีกคนกลายเป็น “คนชั่วร้าย”

“เต็งพ้ง” อธิบายว่า “บิดาของท่าน ฆ่าคนเพื่อรักษาชีวิต แต่ท่านฆ่าคนเพื่อลาภยศเงินทอง”

“การกระทำ” ใดๆ ของผู้คน ต่างกันที่จุดมุ่งหมายและความดีงามของการกระทำนั้นๆ จึงทำให้ “วีรบุรุษ” หรือ “วีรสตรี” มีความต่างไปจาก “คนชั่วร้ายเลวทราม”

กำลังโหลดความคิดเห็น