คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
ผมเขียนคอลัมน์นิยายจีนกำลังภายในผ่านคอลัมน์ “บู๊ลิ้ม” เริ่มจากความประทับใจที่ได้ “รหัสลับ” ในเชิงปรัชญาความคิดที่เราสามารถหยิบจับนำมาใช้เทียบเคียงได้กับสิ่งที่พบเจอในชีวิตจริง ในสังคมประจำวันที่เวียนว่ายให้เห็นกันอยู่ “รหัสลับบู๊ลิ้ม” ที่ผมประทับใจและทำให้อยากที่จะถ่ายทอดออกเป็นตัวอักษรนั้น ริเริ่มจากนิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ที่ผมคิดว่าเป็นนิยายจีนกำลังภายในที่ถือเป็นวรรณกรรมทางการเมืองเพชรน้ำเอก
“กระบี่เย้ยยุทธจักร” นี้เป็นนิยายจีนกำลังภายในที่สะท้อนภาพทางการเมืองได้อย่างชัดเจน และไม่เคยล้าสมัย
สำหรับผมแล้ว “กระบี่เย้ยยุทธจักร” เป็นนิยายจีนกำลังภายในที่ครบเครื่อง ทั้งในแง่มุมของความสนุกสนานแนว “บู๊และเฮียบ” นอกจากนั้นยังเต็มไปด้วยปรัชญาความคิดสอนใจที่สะท้อนภาพสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สะท้อนตัวตนของมนุษย์ในเรื่องการยึดติดซึ่ง “อำนาจ ลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทอง”
เด่นชัดในการสร้างสรรค์รูปแบบของตัวละครที่มีภาพลักษณ์ “วิญญูชนจอมปลอม”
ในแวดวงบู๊ลิ้มยุทธภพ ตัวแบบของ “ผู้ร้าย” ที่ผมชอบมีอยู่สองประเภทด้วยกัน ประเภทแรกเป็นพวกชั่วร้ายแบบเห็นจะจะ ประมาณว่าเป็นหัวหน้าพรรคมารผู้คิดยึดครองบู๊ลิ้ม ซึ่งผู้ร้ายแนวนี้ก็มีระดับความเลวร้ายต่างๆ กันไป ไล่ตั้งแต่เลวร้ายอันมีองค์ประกอบมาตรฐาน เป็นประเภทที่ว่า ฝึกวิทยายุทธชั่วร้ายสุดขีด สร้างกองกำลังพรรคมาร ในขณะเดียวกันก็หาทางล้มล้างค่ายสำนักธรรมมะให้สิ้นซาก
ยกตัวอย่าง “มารร้าย” ที่มีองค์ประกอบมาตรฐานก็อย่าง “ต๊กโกวบ้อเต็ก” ในนิยายจีนกำลังภายใน “กระบี่ไร้เทียมทาน” เป็นต้น
หรือหากมีพัฒนาการมากกว่าขั้นมาตรฐานมารร้ายประเภท “ต๊กโกวบ้อเต็ก” ไปหน่อย ก็อย่าง “เซียงกัวกิมฮ้ง” ใน “มีดบินไม่พลาดเป้า” เรื่องราวของ “ลี้คิมฮวง” หรือ “ตังฮึงปุกป่าย” ใน “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ซึ่งตัวละครเหล่านี้ผมเคยเขียนไปแล้วในคอลัมน์ “บู๊ลิ้ม” ตอนก่อนๆ หน้า
อย่างไรก็ดี “ตัวร้าย” หรือ “มารร้าย” ในนิยายจีนกำลังภายในประเภทแรก ยังไม่ชั่วช้าเท่ากับผู้ร้ายที่แฝงตัวอยู่ในคราบธรรมมะ อย่างที่เราเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า “วิญญูชนจอมปลอม”
พวก “วิญญูชนจอมปลอม” เหล่านี้จะแฝงตัวอยู่ในคราบนักบุญ สร้างภาพลักษณ์น่ายกย่องเลื่อมใส แต่ภายใต้บุคลิกภาพที่น่าเคารพนับถือ แท้จริงแล้วคือ “มารร้าย” ที่ร้ายยิ่งกว่าร้าย
หากจะทำการศึกษาทำความเข้าใจกับเหล่า “มารร้าย” ในคราบ “วิญญูชนจอมปลอม” บรรดานี้ อาจแบ่งลักษณะและวิเคราะห์คุณสมบัติออกเป็นข้อๆ เพื่อเข้าใจง่ายดังนี้
หนึ่ง ต้องมาดดี มีความชอบธรรม ทำอะไรรักษาหน้า รักษาภาพลักษณ์เป็นชีวิตจิตใจ
สอง ไม่ไปเกลือกกลั้วกับเรื่องไม่ดีงามหรือไร้สาระเล็กน้อย คิดแต่การใหญ่ๆ คุณธรรมค้ำฟ้า
สาม หากมีจังหวะหาโอกาสปรักปรำและโยนความไม่ดีให้คนอื่น โดยเฉพาะไอ้พวกจอมยุทธทื่อด้านไร้ลีลา ประมาณ “เหล็งฮู้ชง” หรือ “ฮุ้นปวยเอี้ยง” หรือไม่ก็พวกจิตใจดีงามอย่าง “ซิมลั้ง”
สี่ อย่าคิดอะไรชั้นเดียว ให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเข้าไว้
ห้า รักแต่ตัวเอง ไม่ต้องไปคำนึงถึงลูกเมียตลอดจนญาติสนิทมิตรสหายให้มากเรื่อง ชีวิตคนอื่นเป็นมดปลวก ชีวิตตนเองสำคัญเทียมฟ้า
หก ต้องรู้จักแจกเศษกระดูกให้คนอื่น ส่วนน้ำแกงตุ๋นซุปไก่ดำต้มโสมพันปี เก็บไว้กินเองในครัวที่บ้าน
เจ็ด เรียนรู้ที่จะเจรจาหวานปานน้ำผึ้ง เชี่ยวชาญในการตีสองหน้า และหาโอกาสแทงข้างหลังได้ทุกรูปแบบและวิธีการ
ผมได้จัดอันดับ “วิญญูชนจอมปลอม” จากนิยายจีนกำลังภายในที่ผมชื่นชอบไว้เป็นโดยคัดเลือก “มารร้าย” ที่เข้าข่าย “วิญญูชนจอมปลอม” ในรอบสุดท้ายจำนวนห้ารายด้วยกัน จากนั้นจึงพิจารณาตัดสิน สามรายที่ยกให้เป็น “สามสุดยอดวิญญูชนจอมปลอม” ไว้ดังนี้
รายแรกที่สามารถเข้ารอบห้าคนสุดท้ายมาได้ แน่นอนย่อมต้องเป็น “งักปุกคุ้ง” ผู้ที่อ้างตนว่าเป็น “สายธรรมมะ” ผู้ที่ดำเนินกระบวนการในการก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างมีลีลา โดยสร้างฉากร่วมกำจัดมาร ผ่านทาง “จ้อแนเซี้ยง” แล้วตลบหลังกินรวบ
“งักปุกคุ้ง” ชำนาญเชี่ยวชาญมากก็คือเรื่องของการใช้หน้าตาและภาพลักษณ์ภูมิฐานสง่างาม ดูดีมีชาติตระกูล แถมยังเปี่ยมลีลาของการเสแสร้งเป็นใจกว้าง อ่อนน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์ไม่คดโกง นอกจากนั้นยังมีความรักตัวเองสูงส่ง ยอมสละทิ้งลูกเมีย วางตัวลูกสาวให้แต่งงานเพื่อหวังฮุบคัมภีร์ยุทธจากลูกเขย แล้วก็ยอมสูญสิ้นความเป็นผู้ชายตอนตัวเองโดยไม่คำนึงถึงเมียเพราะต้องการฝึกคัมภีร์ยุทธนั้น
นอกจากนี้ “งักปุกคุ้ง” ยังมีความสามารถในการโยนความไม่ดีให้กับผู้อื่น โดยตัวเองรับแต่ความดีความชอบไว้แต่ผู้เดียว การกระทำทั้งหมดทั้งปวงข้างต้นทำให้ “งักปุกคุ้ง” สามารถเข้ารอบสุดท้าย “วิญญูชนจอมปลอม” ได้อย่างไม่มีข้อกังขา แถมยังถือเป็นตัวเต็งอันดับหนึ่งอีกต่างหาก
รายที่สองได้แก่ “บักเต้าหยิน” นักพรตผู้น่าเคารพยกย่องแห่งสำนักบู๊ตึ้ง ที่อีกฉากหนึ่งเฝ้าซุ่มซ่อนคิดการร้ายในบทบาทของ “เจ้าพ่อดาบเก่า” แห่ง “หมู่ตึกภูตพราย” ถือเป็นสุดยอดในการตีสองหน้าอย่างไม่มีใครเทียบ
“บักเต้าหยิน” นี้ถือว่าสร้างภาพลักษณ์ “วิญญูชนจอมปลอม” ได้แนบเนียนสูสีกับ “งักปุกคุ้ง” ตัวเต็งอันดับหนึ่ง รวมทั้งจัดพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อก้าวขึ้นเป็นเจ้าสำนักบู๊ตึ้งได้อย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนและแยบยล แถมยังโยนความผิดไปให้คนอื่นอีกต่างหาก โดยเฉพาะ “เล็กเซียวหงส์” ถึงกับหัวหมุนตกหลุมพรางอันแยบยลนี้
นอกจากนี้ “บักเต้าหยิน” นั้นเพื่อครองความเป็นใหญ่ในยุทธภพ ก็ยอมสละลูกเมียทิ้งไว้ในโลกใบเก่า ครองตนเป็น “เต้าหยินนักพรต” อย่างไม่อายฟ้าดิน
รายที่สามต่อมาคือ “โป่วเง็กจือ” ที่เข้ารอบสุดท้ายมาแบบฉิวเฉียด ด้วยลีลาการใช้เล่ห์เหลี่ยมเพทุบายหลอกล่อให้สำนักบู๊ตึ้งรับเป็นศิษย์ แล้วทยอยจัดการซือเฮียซือตี๋ตลอดจนซือแป๋ซือเจ็กร่วมสำนัก เพื่อต้องการครอบครองเป็นเจ้าสำนักบู๊ตึ้งนั้น จัดว่าเป็นการสร้างภาพ “วิญญูชนจอมปลอม” ใช้ได้เลยทีเดียว
“โป่วเง็กจือ” ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดแห่งการจัดฉากสร้างภาพดีงามแต่เบื้องหลังร้ายกาจ ละทิ้งความรักเพื่อเป้าหมายล่อลวงวิชาฝีมือ นอกจากนี้ ยังตีสองหน้าหลอกลวงแม้กระทั่งบุคคลที่ตนเองเรียกว่าเป็น “ซือแป๋” และยังชอบโยนความผิดให้กับ “ฮุ้นปวยเอี้ยง” อยู่เป็นประจำ
รายที่สี่ ได้แก่ “เลี่ยงเซียะเปียะ” ตัวละครในเรื่อง “จับอิดนึ้ง” ที่โดดเด่นที่สุดใน “หกวิญญูชน” ตามท้องเรื่อง ที่เป็นกลุ่มคนหนุ่มชาติตระกูลดี ฐานะดี ภาพลักษณ์ดี และเยี่ยมวรยุทธ
“เลี่ยงเซี๊ยะเปียะ” เมื่ออายุเพียงหกขวบก็ได้ฉายาเป็นทารกอัจฉริยะ สิบขวบเรียนรู้วิชากระบี่ เพียงสิบเอ็ดปีก็สามารถประมือสามร้อยกระบวนท่าโดยไม่พ่ายแพ้กับปรมาจารย์กระบี่เจ้าสำนักจากแดนอาทิตย์อุทัย (ญี่ปุ่น) มีบุคลิกหล่อเหลา นุ่มนวล สุภาพเรียบร้อย อ่อนโยน เปี่ยมด้วยการวางตัว จัดเป็นสุภาพบุรุษจอมยุทธทุกกระเบียดนิ้ว ถือเป็นสุดยอดแห่ง “จอมยุทธภาพดี”
แต่เบื้องหลังของ “เลี่ยงเซี๊ยะเปียะ” ไม่ใช่ดีงามตามหน้าตา เอาแต่ห่วงภาพรักษาหน้า จิตใจแท้จริงมิได้หล่อเลิศประเสริฐเหมือนใครอื่นคาดคิด แถมยังรายล้อมด้วยคนชั่วรอบตัวเต็มไปหมด
นอกจากนี้ “เลี่ยงเซี๊ยะเปียะ” ยังลีลาเนียนในการโยนความผิดให้กับ “จับอิดนึ้ง” เข้าข่าย “วิญญูชนจอมปลอม” ที่เชี่ยวชาญ “เอาดีเข้าตัว เอาชั่วใส่คนอื่น” เป็นยิ่งนัก
รายที่ห้ารายสุดท้ายที่เข้ารอบก็คือ “ฉ้าเง็กกวน” ผู้มีฉายาว่า “วีรบุรุษใจธรรม” จากนิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “ราชายุทธจักร” เขาผู้นี้หลอกจอมยุทธทั่วยุทธภพให้ไปเข่นฆ่าล้างโคตรกันที่ยอดเขากระเรียนวนบรรพตฮ่วงซัว โดยออกอุบายโฆษณาชวนเชื่อว่ามี “ตำราไร้เทียมทาน” ปรากฏขึ้น ณ.ที่แห่งนั้น
จอมยุทธทั้งฝ่ายธรรมมะและอธรรมร่วมสองร้อยคน แบ่งกลุ่มเป็นยี่สิบเจ็ดหน่วยเปิดฉากเข่นฆ่าล้างผลาญกันเป็นระยะเวลา 19 วัน เลือดนองฮ่วงซัว
“ฉ้าเง็กกวน” ทำตัวดีมีธรรมมะ คอยช่วยเหลือบุคคลผู้บาดเจ็บล้มตาย จากนั้นหอบเอาคัมภีร์ยุทธและทรัพย์สมบัติของผู้เสียหาย ปลิวเข้ากลีบเมฆไปราวกับสายลม
จากนั้น “ฉ้าเง็กกวน” จึงปรากฏตัวในอีกสิบกว่าปีต่อมา โดยกลายร่างเป็น “เทพเจ้าสำราญ” ผู้มากด้วยสมบัติบริวารและเปี่ยมยอดวิทยายุทธ มุ่งหมายที่จะยึดครองยุทธภพ
ในกรณีที่ผมต้องเลือก “สามสุดยอดวิญญูชนจอมปลอม” แค่เพียงสามคนเท่านั้น ผมตัดสินใจคัด “โป่วเง็กจือ” ตกรอบไปก่อน เนื่องจาก “โป่วเง็กจือ” แม้ว่าจะเข้าข่ายหลายอย่าง แต่ “โป่วเง็กจือ” นั้นทำไปเพราะความอาฆาตแค้นที่มาจากคนรุ่นก่อน โดยที่เขาเองก็ไม่ได้จัดเป็นหัวโจกใหญ่ในขบวนการ และ “โป่วเง็กจือ” เองก็ไม่ได้มีลีลาซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไรมากเท่ากับผู้เข้ารอบคนอื่นๆ นอกจากนี้ก็ไม่ได้สร้างภาพได้เนียนอะไรมากนัก
ผู้ที่ตกรอบคนต่อไปได้แก่ “เลี่ยงเซี๊ยะเปียะ” ทั้งนี้หลักใหญ่หัวใจอีกสำคัญก็เหมือนกันกรณีของ “โป่วเง็กจือ” ที่ “เลี่ยงเซี๊ยะเปียะ” เองก็ไม่ใช่หัวโจกใหญ่ แต่ความเลวร้ายของ “วิญญูชนจอมปลอม” ผู้นี้ ดำเนินไปภายใต้ขบวนการที่ควบคุมโดยมารร้ายผู้อื่น พูดง่ายๆ คือ “เลี่ยงเซี๊ยะเปี๊ยะ” ไม่ได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด
สำหรับอีก สามคนที่เหลือก็คือ “งักปุกคุ้ง-บักเต้าหยิน-ฉ้าเง็กกวน” ในความเห็นของผม ทั้งสามคนนี้ถือเป็น “สามสุดยอดวิญญูชนจอมปลอม” ในระดับพอๆ กัน ส่วนใครจะเป็นอันดับหนึ่งนั้น ผมไม่อาจจะตัดสินใจได้ระหว่าง “งักปุกคุ้ง” กับ “บักเต้าหยิน” ส่วน “ฉ้าเง็กกวน” นั้น คะแนนน้อยกว่าตรงที่ต้องใช้เวลาหายหน้าไปสิบกว่าปี อันนี้ถือว่ายังไม่เก่งด้านสร้างภาพแบบฉับพลันทันที คะแนนของ “ฉ้าเง็กกวน” จึงไม่อาจเทียบกับ “งักปุกคุ้ง” กับ “บักเต้าหยิน” ที่สร้างภาพ “คนดีมีคุณธรรม” ไปพร้อมๆ กับการ “ดำเนินแผนร้ายยึดครองยุทธภพ” ในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ถึงตอนท้ายนี้ ไม่ว่าอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น “วิญญูชนจอมปลอม” ที่เก่งกาจสร้างภาพหรือเยี่ยมวรยุทธสักเพียงไหน ล้วนแต่มีบทสรุปเฉกเช่นเดียวกันทุกคน
ล้วนแต่ล้มหายตายจากอย่างน่าอนาถทุกรายไป