คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
หลังจากที่ผมหยิบเอา “ห่วงมากรัก” หรือที่มีชื่อเดิมว่า “แค้นสั่งฟ้า” ที่เป็นหนึ่งในซีรีส์ชุดเจ็ดสุดยอดศัตราวุธของ “โกวเล้ง” ขึ้นมาอ่าน และเขียนเรื่องราวที่ชอบใจต่อนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ไปในตอนที่แล้ว ด้วยเหตุผลที่ “ห่วงมากรัก” เป็นเรื่องสั้นๆ เพียงเล่มเดียวจบ ผมรู้สึกถึงความสุขของการอ่านแบบรวดเดียวเช่นที่อ่านกับนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ จึงอดไม่ได้ที่จะหยิบเอาอีกเรื่องของ “โกวเล้ง” ซึ่งเป็นเล่มเดียวจบเหมือนกัน และยังอยู่ในซีรีส์เจ็ดสุดยอดศัตราวุธของ “โกวเล้ง” อีกต่างหาก
นิยายจีนกำลังภายในเรื่องที่กำลังจะพูดถึงนี้ก็คือ “ตาขอจำพราก” จุดเด่นของเรื่องนี้ก็คือ นอกจากจะเป็นเรื่องไม่ยาวเล่มเดียวจบแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ “โกวเล้ง” เขียนแบบไม่ทยอยลงตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์เหมือนนิยายจีนกำลังภายในเรื่องอื่นๆ แต่เป็นการเขียนรวดเดียวจบแล้วค่อยตีพิมพ์ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการนำเสนอนิยายจีนกำลังภายในในยุคนั้น
จุดเด่นที่ผมชอบใจอีกอย่างของเรื่องนี้ ก็คือตัวเอก “เอี้ยเจ็ง” เป็นตัวละครที่สะท้อนภาพของคนที่ยึดมั่นในความเที่ยงธรรม มีความมั่นใจต่อการกระทำที่ “พึงกระทำ” และ “ไม่พึงกระทำ” โดยยึดหลักการของความถูกต้อง ถือคุณธรรมเป็นที่ตั้ง พูดง่ายๆ คือ เลือกข้าง “ขาว” หรือ “ดำ” ชัดเจน และทำเพื่อผดุงความถูกต้องแบบทุ่มเททั้งกายใจแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเรื่องนี้จะว่าไปแล้ว หาได้ยากยิ่งในระบบการตัดสินใจของมนุษย์ในยุคปัจจุบันที่บางหมู่เหล่าไม่กล้าตัดสินใจที่จะ “เลือกข้าง” อันเป็นที่มาของศัพท์ใหม่ในแวดวงสังคมไทยดังที่มีผู้กล่าวถึงกรณีนี้และบัญญัติศัพท์แพร่หลายว่า “กลางกลวง” นั่นแล
อีกเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจสำหรับเรื่องนี้ ก็คือตัวละครเอก “เอี้ยเจ็ง” ที่มีอาชีพเป็น “ข้าราชการ” เป็น “มือปราบ” ของทางการที่มีหน้าที่จับกุมคนชั่วร้าย และคลี่คลายคดีชั่วร้ายที่คุกคามความสงบสุขของสังคม “เอี้ยเจ็ง” นี้มีความเด็ดเดี่ยวเที่ยงธรรม ไม่แยแสอามิสสินจ้างเงินทอง อธิบายง่ายๆ คือเป็น “ข้าราชการที่ไม่คอรัปชั่น” มีวิถีที่ยึดหลักยอมตายเพื่อรักษาความถูกต้อง ดังนั้นแนวทางการต่อสู้กับคนชั่วร้ายของ “เอี้ยเจ็ง” จึงห้าวหาญและน่าเร้าใจเป็นอย่างยิ่ง
“เอี้ยเจ็ง” หาญกล้าที่จะจับกุมคนร้ายที่มีฝีมือสูงกว่า โดยกระบวนท่าที่ “พึงกระทำ” เพื่อรักษาความถูกต้อง แม้ว่ากระบวนท่าวรยุทธนั้น จะไม่อยู่ภายใต้ครรลองของวิถีชาวยุทธที่ใช้กัน
“นี่เป็นวิชาฝีมือใด” คนชั่วร้ายถามเอี้ยเจ็ง
“นี่ไม่นับเป็นวิชาฝีมือ ข้าพเจ้าความจริงไม่รู้จักอันใดเรียกว่าวิชาฝีมือ ข้าพเจ้ารู้จักเพียงทำอย่างไรจึงสามารถโค่นล้มผู้คนล้มลง” เอี้ยเจ็งกล่าว
“กระบวนท่าที่ไม่จัดอยู่ในสารบบเช่นนี้ เหล่านักบู๊ในยุทธจักรยินยอมตายก็ไม่ยินยอมใช้ออกมา”
เอี้ยเจ็งตัดบทว่า
“ข้าพเจ้าไม่ใช่นักบู๊ในยุทธจักร ข้าพเจ้าก็ไม่คิดตาย ข้าพเจ้าเพียงคิดจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย ขอเพียงจับกุมท่าน ไม่ว่าเป็นวิธีใดข้าพเจ้าล้วนใช้ออกได้”
เอี้ยเจ็งกล่าวต่อว่า
“ท่านรู้จักวิชาฝีมือ ข้าพเจ้าไม่รู้จัก ท่านเป็นนักบู๊เลื่องชื่อในยุทธจักร ข้าพเจ้าไม่ใช่ ในมือท่านมีอาวุธ ข้าพเจ้าไม่มี น่าเสียดายที่ท่านไม่มีกำลังขวัญ ขอเพียงท่านกล้าขยับเคลื่อนไหว ข้าพเจ้าจะให้ท่านนอนอยู่บนเตียงสามเดือน กระทั่งลุกยังลุกไม่ขึ้น ท่านเชื่อหรือไม่”
จากนั้น “เอี้ยเจ็ง” ก็เดินเข้าหาผู้เยี่ยมยุทธกว่าที่ชั่วร้าย แล้วก็สวมกุญแจมือฉับเข้าให้ลงบนข้อมือของมัน
จะเห็นได้กว่า ไม่มีสิ่งใดเลยที่ “เอี้ยเจ็ง” ทัดเทียมคู่ต่อสู้ที่เป็นองค์ประกอบที่จะชนะได้ เขายึดมั่นอย่างเดียวคือ “สิ่งที่พึงกระทำ” และยึดมั่นในสิ่งนั้นว่าเป็นสิ่งที่เที่ยงธรรม และไม่ละอายที่จะกระทำ ดังนั้น “เอี้ยเจ็ง” จึงประสบชัยชนะในการต่อสู้
หากคนเรายึดมั่นในสิ่งที่ “พึงกระทำ” และไม่ละอายต่อสิ่งนั้น เพียงเพราะนั่นคือความถูกต้องเที่ยงธรรม สิ่งนั้นคือความกล้าหาญที่จะต่อสู้ไม่ว่าจะรูปแบบใด ในเรื่องนี้ “โกวเล้ง” ได้บรรยายไว้อย่างเห็นภาพ “ข้าพเจ้าไม่ใช่วิญญูชน และก็ไม่ใช่คนต่ำช้า เพียงแต่บางครั้งข้าพเจ้าดำเนินเล่ห์อุบายจริง เวลาที่สมควรใช้ ข้าพเจ้าก็จะใช้ เวลาที่สามารถใช้ ข้าพเจ้าก็จะใช้”
ผู้ชั่วร้ายถามเอี้ยเจ็งว่า “หากไม่สามารถใช้ ท่านจะทำอย่างไร”
เอี้ยเจ็งตอบว่า “หากไม่สามารถใช้ ข้าพเจ้าได้แต่เสี่ยงชีวิต”
“ตาขอจำพราก” คือกระบี่ตาขอ อาวุธแปลกไปจากอาวุธทั่วไปในสารบบบู๊ลิ้ม อาวุธนี้ “เอี้ยเจ็ง” ได้สืบทอดมาจากบิดา สำหรับ “ตาขอจำพราก” นี้ กล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบเชิง “สัญลักษณ์” ที่ “โกวเล้ง” บรรจงสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นตอบสนองปรัชญาบางอย่าง
“ตาขอจำพราก” นี้ ไม่ว่าเกี่ยวถูกวัตถุใดล้วนแต่เกิดการจากพราก ซึ่งหมายถึง “ความตาย” ของผู้คนที่โดน “ตาขอ” เกี่ยวให้จากพรากไปจากการมีชีวิต
แต่ในขณะเดียวกัน “ตาขอจำพราก” นี้ ก็สะท้อนภาพของการ “ผลาญชีวิต” เพื่อ “รักษาชีวิต” เป็นสะท้อนภาพของการ “อยู่ร่วมของความดีงาม” จำต้อง “จำพรากสิ่งชั่วร้าย” ให้หมดไป
“ตาขอจำพราก” เรื่องนี้ เต็มไปด้วยรูปแบบการเขียนแฝงปรัชญาที่สร้าง “สัญลักษณ์” เพื่อให้คนทำความเข้าใจ โดยใช้รูปแบบของ “ขั้วตรงข้าม”
สร้างสัญลักษณ์ที่ตรงข้าม สร้างสถานการณ์ที่ตรงข้าม สร้างตัวละครที่ตรงข้าม รวมถึงรายละเอียดของการเขียนที่สร้างรูปประโยคที่ตรงข้ามให้เห็นอยู่มากมายในเรื่องนี้
นอกจาก “สัญลักษณ์” ที่จัดวางโชว์ในรูป “ตาขอ” ที่ให้เห็นถึงปรัชญาการ “อยู่ร่วม-จำพราก” แล้ว “โกวเล้ง” ยังได้สร้างตัวละครมากมายที่อยู่ร่วมสถานการณ์เดียวกัน แต่มีบุคลิกที่ขัดแย้งกัน ให้คนอ่านจะต้อง “เลือก” ที่จะเอาใจช่วยระหว่าง “สองขั้ว” ที่ขัดแย้ง อย่างเช่น “กงจื้อร่ำรวย-มือปราบยากจน”
หรือการสร้างภาพของสองฝ่ายที่ขัดแย้ง และต่างก็มีวิถีทางที่ต้องเป็นไปตามครรลองให้คนอ่านและพิเคราะห์ตาม อย่างเช่น “พ่อโจร-ลูกมือปราบ” หรือ “หญิงชาวบ้านเรียบร้อย-โสเภณีระดับซีเนียร์” ที่ต่างก็เป็นหญิงสาวที่ผูกสัมพันธ์รักกับ “เอี้ยเจ็ง” ตัวละครเอก
กลวิธีการเขียนนี้ถือเป็นเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้โครงเรื่องที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน เรียกได้ว่า “เรียบง่ายภายนอก-ซับซ้อนภายใน”
อย่างบางคำที่ปรากฏให้เห็นในการบรรยาย เช่น “ใบไม้ร่วง-ใบไม้ผลิ” ที่ “โกวเล้ง” พรรณาบรรยากาศสวยงามของฤดูชิวเทียนว่า
รุ่งอรุณ ในดงไม้เต็มไปด้วยความหอมจรุงของใบไม้ที่ใสสดและเปียกชื้น ในดินโคลนยังหมักหมมด้วยใบไม้ร่วงของฤดูชิวเทียนเมื่อปีกลาย
แต่ตอนนี้ใบไม้งอกเงยอีกแล้ว ต้นไม้ที่เก่าแก่ชุบชีวิตใหม่ขึ้นอีกครั้ง
...หากไม่มีใบไม้ร่วง ไหนเลยเกิดใบใหม่ได้
นอกจากนี้ ในการบรรยายความเยี่ยมยอดของกระบี่ตาขอที่พลิกแพลงซับซ้อน แต่เมื่อไม่ว่า พลิกแพลง อย่างไร ก็ไม่อาจเอาชนะได้ “เอี้ยเจ็ง” เห็นว่า เพราะคนคุ้นเคยกับท่ากระบี่ของตัวเองมากเกินไปแล้ว อันเหตุจากความพยายามที่การทำความเข้าใจกับ “ความพลิกแพลง” จนช่ำชอง ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจที่จะ “ไม่พลิกแพลงแล้ว”
“เอี้ยเจ็ง” ใช้วิธี “เสี่ยงชีวิต” ซึ่งการนี้คือการเสี่ยงตายแบบ “ทื่อด้าน” ใช้ความทื่อด้านเอาชนะความพลิกแพลง
“กับผู้คนก็เช่นกัน คนที่หักหลังท่าน มักเป็นสหายที่ท่านคุ้นเคยเป็นที่สุด เนื่องเพราะท่านไม่คิดถึงว่ามันจะหักหลังท่าน การคิดไม่ถึงมักจะเกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้”
นอกเหนือไปจากนั้น อีกหนึ่งลีลาที่ผมชอบใจ คือมุกตลกแนวเสียดสี ที่ผมขอเอามาตบท้ายในที่นี้ เป็นฉากตอนที่ “เอี้ยเจ็ง” ไปสืบความลับเพื่อคลี่คลายคดี เขาไปเยี่ยมเยือน “ดาบไวปึงเซ้ง” กลางดึก ปลุกคนผู้นี้ให้ตื่นขึ้นมาเพื่อสอบสวนคดี “เอี้ยเจ็ง” กล่าวประโยคสั้นๆ ก่อนจากไปว่า
“ขอบคุณท่าน ขอภัย ลาก่อน”
“ท่านหมายความกว่ากระไร” ดาบไวปึงเซ้งสงสัยที่อยู่ดีๆ เอี้ยเจ็งก็ตัดบทจะจากไป
“ที่ขอบคุณท่านก็เพราะท่านบอกเรื่องราวมากมายกับข้าพเจ้า ที่ขออภัยเนื่องจากข้าพเจ้าปลุกท่านตื่นขึ้น และลาก่อนก็เพราะข้าพเจ้าคิดจากไปแล้ว”
“ดาบไวปึงเซ้ง” ปั้นหน้าเครียด และกล่าวว่า “ท่านไม่อาจไป และไม่อาจไปเด็ดขาด”
“เพราะเหตุใด” เอี้ยเจ็งถาม
“เนื่องเพราะท่านปลุกเราตื่นขึ้น เรานอนไม่หลับแล้ว อย่างไรท่านต้องดื่มเป็นเพื่อนเราสองจอกค่อยไปได้”
“เราคิดดื่มกินกับท่านมื้อหนึ่งจริงๆ น่าเสียดายที่มีคนผู้หนึ่งไม่ยอมรับปาก”
“ผู้ใดไม่ยอมรับปาก” ดาบไวปึงเซ้งถามเอี้ยเจ็ง
“คือคนที่หลบซ่อนอยู่หลังต้นไม้ใหญ่นั้น”
“ท่านกลัวมันหรือ”
“กลัวอยู่เล็กน้อย อาจบางทีเพียงไม่เล็กน้อยเท่านั้น”
ดาบไวปึงเซ้งไม่ยินยอมอย่างยิ่ง พลันถามต่อว่า
“ท่านใยต้องกลัวมัน มันคือใคร เป็นอะไรกับท่าน”
“นางไม่เป็นอะไรกับข้าพเจ้า เป็นเพียงภรรยาของข้าพเจ้า”
ดาบไวปึงเซ้งยืนนิ่งงันกับที่ จับจ้องอยู่พักใหญ่ พลันประสานมือกล่าวว่า
“ขอบคุณท่าน ขออภัย ลาก่อน”
เอี้ยเจ็งฟังดังนั้น อดถามไม่ได้ว่า “ท่านหมายความว่ากระไร”
ดาบไวปึงเซ้งกลั่นหัวร่อ ปั้นสีหน้าเคร่งเครียดกล่าวว่า
“ที่ขอบคุณท่าน เนื่องเพราะท่านยอมบอกกล่าวเรื่องเสื่อมเสียหน้าเช่นนี้ต่อเรา ที่ขออภัยเนื่องเพราะเรายินยอมนอนไม่หลับไม่ยินยอมเหนี่ยวรั้งคนที่กลัวภรรยาอยู่เป็นเพื่อนดื่มสุรา ความหมายของการลาก่อนคือ ...ท่านเชิญเถอะ”
เอี้ยเจ็งหัวร่อดังๆ ออกมา นี่เป็นครั้งแรกในหลายวันที่มันหัวร่ออย่างเบิกบานใจ
บทสนทนาข้างต้นนั้น อาจกล่าวได้ว่า สะท้อนตัวตนของคนเขียนคือ “โกวเล้ง” ได้เป็นอย่างดีในเรื่องโปรดปรานของ “ร่ำสุรา” และ “หญิงสาว” และอาจกล่าวได้ว่า เรื่องนี้ก็สะท้อนรูปแบบสัญลักษณ์เชิง “ขั้วตรงข้าม” เช่นกัน ในความหมายที่เสียดสีในสิ่งที่ว่า “อยากจะได้ อยากจะให้เป็นเช่นนั้น แต่มีข้อติดขัดที่ไม่อาจเป็นไปได้จริง”
เป็นเรื่องสิ่งที่เราอยากจะให้เป็นเช่นนั้น มันมีความรู้สึกว่า มันน่าจะเป็นเช่นนั้น แต่มันเป็นได้แค่เพียง “ความฝัน”
ผมนึกถึง หากมีโอกาสเจอะเจอ “นักการเมืองเที่ยงธรรม” สักคน ผมจะกล่าวกับคนผู้นั้นว่า “ขอบคุณ ขอภัย ลาก่อน”
ขอบคุณ ...ที่ท่านทำเพื่อชาติ ประพฤติตนเป็นแบบอย่าง และไม่คอรัปชั่น
ขออภัย ...ที่ก่อนหน้าข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่าจะมีนักการเมืองที่ดีเช่นท่านมาก่อน
และลาก่อน ...เพราะนาฬิกาปลุกข้างเตียงข้าพเจ้าดังขึ้นแล้ว