คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
ในชุดอาวุธทั้งเจ็ดของ “โกวเล้ง” ผมเคยเขียนถึงไปแล้ว 2 เรื่อง “ห่วงมากรัก” และ “ตาขอจำพราก” นั่นคือสองเรื่องที่ชอบมากที่สุดในเจ็ดเล่มเจ็ดตอนของซีรีย์ดังกล่าว ทั้งสองมีประเด็นที่เป็นเรื่องสอนใจเราให้เข้าใจระหว่าง “ความแค้น” และ “ความรัก” ได้เป็นอย่างดี
อีกเรื่องหนึ่งในซีรีส์อาวุธทั้งเจ็ดที่ผมอยากจะเขียนถึง ก็คือเรื่อง “ดาบมรกต” ความรู้สึกแรกที่ผมสัมผัสแล้วรู้สึกสนุกในการอ่านในเรื่องนี้ก็คือ ในตอนต้นเรื่อง “โกวเล้ง” ได้ทำบทสรุปจำนวน 7 ข้อ ที่เป็นบัญญัติเจ็ดประการสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการพาตัวเองเข้าไปสู่ความวุ่นวายในยุทธภพ พูดง่ายๆ ก็คือ หากไม่ต้องการแกว่งเท้าไปหาเสี้ยน ก็ควรจะระมัดระวังความประพฤติใดบ้าง
บทบัญญัติเจ็ดประการสำหรับจอมยุทธที่ไม่อยากแกว่งเท้าไปหาเสี้ยนนี้ เป็นคำสอนที่บิดาของ “ตวนเง็ก” พระเอกของเรื่อง ได้สั่งสอนให้ลูกชายท่องจำ เนื่องจาก “ตวนเง็ก” ได้รับมอบหมายจาก “นายผู้เฒ่าแซ่ตวน” ให้ออกมาโลดแล่นในยุทธจักร โดยมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติภารกิจเดินทางไปอวยพรวันเกิด “วีรบุรุษแคว้นกังหนำ” ที่มีนามว่า “จูคัวะ” ที่เป็นพี่น้องร่วมสาบานของ “นายผู้เฒ่าแซ่ตวน” โดยมอบดาบวิเศษ “ดาบมรกต” ที่เป็นของวิเศษประจำตระกูลตวนเป็นของขวัญวันเกิด
ซึ่งจริงๆ แล้วการนำของวิเศษประจำตระกูลตวนไปมอบให้ “ตระกูลจู” ก็เพื่อต้องการเกี่ยวดองกันระหว่างสองตระกูล เนื่องจากตระกูลจูมีลูกสาวคนสวยที่เป็นทั้งหญิงงามและเจ้าปัญญา ครบคุณสมบัติ “กุลสตรีบู๊ลิ้ม” ที่ชาวยุทธใฝ่หา นั่นหมายถึงอีกภารกิจแอบแฝงก็คือ “ตวนเง็ก” ต้องจีบสาวเพื่อแต่งเข้าตระกูลตวนให้สำเร็จ
อย่างไรก็ดี จุดสำคัญของเรื่องนี้นอกจากภารกิจดำเนินการผูกสัมพันธ์ระหว่างสองตระกูลตามธรรมเนียมประเพณีบู๊ลิ้มแล้ว อีกเรื่องที่เป็นภาระหนักอึ้งที่ “ตวนเง็ก” ต้องแบกรับก็คือ นัยยะสำคัญของ “ของวิเศษ” ที่มีชื่อว่า “ดาบมรกต” ชิ้นนี้
“ดาบมรกต” นอกจากเป็นศาตราวุธเลิศล้ำแล้วยังมีตำนานที่เล่าขานว่า “ดาบมรกต” ยังซ่อนความลับยิ่งใหญ่ประการหนึ่ง ซึ่งตำนานเล่าขานของอาวุธที่แอบซ่อนความลับ ไม่ว่าจะเป็นขุมสมบัติ หรือยอดวิชานั้น เราก็จะเห็นปรากฎบ่อยๆ ในนิยายจีนกำลังภายในหลายเรื่อง
“ดาบมรกต” จึงถือเป็น “ของร้อน” เนื่องจากพอออกจากถ้ำเสือตระกูลตวนที่ยิ่งใหญ่ ออกมาสู่ยุทธจักรโลกกว้าง ย่อมจะมีผู้ที่หมายปองช่วงชิงของวิเศษล้ำค่าชิ้นนี้
“นายผู้เฒ่าแซ่ตวน” ได้กล่าวกับบุตรชายว่า “ด้วยความฉลาดปราดเปรื่องและพลังฝีมือของเจ้า นับว่าพอท่องเที่ยวในยุทธจักรได้ แต่มีเรื่องหลายประการที่เจ้าไม่อาจกระทำเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นเรากล้าประกันว่า เจ้าจะตอแยความยุ่งยากใส่ตัวในบัดดล”
ว่าแล้ว “ตวนเง็ก” ก็ได้รับคำสั่งให้ท่องจำ “บัญญัติทั้งเจ็ดประการ” ที่ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ตอแยความยุ่งยากในยุทธจักร อันได้แก่
หนึ่ง ไม่อาจยุ่งเกี่ยวกับเรื่องไร้สาระ
สอง ห้ามไม่ให้คบหาสหายแปลกหน้า
สาม ห้ามไม่ให้เล่นพนันกับคนแปลกหน้า
สี่อย่าได้สร้างศัตรูกับ หลวงจีน นักพรต และขอทาน
ห้า อย่าอวดรวยต่อสาธารณชน
หก อย่าเชื่อคำพูดของคนอื่นโดยง่าย
เจ็ด ห้ามคบหากับสตรีแปลกหน้า ซึ่งข้อนี้ถือว่าสำคัญที่สุด
หากมองถึงเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า “ตวนเง็ก” แม้จะมีพลังฝีมือและสติปัญญาที่กล่าวได้ว่า พอจะท่องยุทธจักรได้ แต่สิ่งที่ “ตวนเง็ก” คุณชายจากตระกูลใหญ่ขาดคุณสมบัติที่จะวางใจได้ในการท่องยุทธจักรก็คือ “ประสบการณ์”
สิ่งจำเป็นสำหรับออกท่องยุทธภพนั้น ใช่ว่าจะเพียงแค่มีฝีมือหรือเฉลียวฉลาด แต่ยอดคนต่างๆ ย่อมเผชิญกับเล่ห์เหลี่ยมของคนในยุทธจักร ซึ่งเป็นข้อระวังที่จะทำให้เพลี่ยงพล้ำเสียทีได้โดยง่าย
มาดูกันทีละข้อของ “บัญญัติข้อควรระวังทั้งเจ็ดประการ” กันดีกว่า ข้อหนึ่ง สอง สาม ห้า หก นั้น จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่ควรระวังในชีวิตประจำวันของคน ซึ่งอ่านแล้วก็เข้าใจได้ทันที อย่างเช่นห้ามอวดรวยก็เพราะมิจฉาชีพจะเห็นแล้วก็จะดักปล้นเอา ส่วนบ่อนการพนันจะนำมาซึ่งเสียทรัพย์และหน้ามืดตามัวจนสูญเสียความนึกคิดรอบคอบ และบ่อนพนันก็เป็นแหล่งรวมของชนชาวมิจฉาชีพมากมาย
ส่วนกรณีข้อหกนั้น ก็เป็นเรื่องที่ หลวงจีน นักพรต และขอทาน เป็นกลุ่มคนที่ยากตอแย หากหลวงจีน-นักพรต อยู่ในฝ่ายร้ายกาจและเป็นมิจฉาชีพที่แอบแฝงอยู่ในคราบธรรมมะย่อมเป็นอะไรที่น่ากลัวเหนือมิจฉาชีพธรรมดา ขอทานนั้นก็เช่นกัน ขอทานมักจะเป็นบุคคลที่เราวางใจเนื่องจากจะอยู่ในคราบของคนน่าสงสารน่าเห็นใจมากกว่าอยู่ในข่ายบุคคลที่น่าหวาดระแวง อย่างไรก็ดี ในโลกบู๊ลิ้มเราจะเห็นว่า “ขอทาน” เป็นหน่วยงานที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยลูกเล่น จอมยุทธใดไปมีปัญหากับขอทานในบู๊ลิ้ม บอกได้คำเดียวว่า เหนื่อย อีกทั้ง หลวงจีน นักพรต และขอทาน ยังเป็นค่ายสำนักใหญ่ที่มีเครือข่ายจำนวนมหาศาล เป็นสถาบันที่มากด้วยปริมาณคนอีกด้วย
ส่วนข้อเจ็ดที่เป็นข้อสุดท้ายและสำคัญที่สุดคือ “ระวังสตรีแปลกหน้า” นั้นก็เป็นคำสอนในเรื่องระวังสตรี ที่สตรีชาวยุทธน่ากลัวตรงที่มี “มารยา” ในแบบที่ชาวยุทธทั่วไปมักเพลี่ยงพล้ำ ในความน่ากลัวและร้ายกาจในยุทธจักรนั้น จะว่าไปแล้ว “มารยาหญิง” จัดว่าน่ากลัวในอันดับต้นๆ
ซึ่งประเด็นนี้ เราก็จะเห็นบ่อยครั้งเกี่ยวกับทัศนคติของ “โกวเล้ง” ที่มีต่อสตรีที่มีสองภาพซ้อนกัน “น่า(ที่จะ)รัก” และ “น่ากลัว” ในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ หากว่ากันตามจริงแล้ว บัญญัติอีกหนึ่งข้อที่ควรจะมีการบัญญัติไว้ นั่นก็คือ ความยุ่งยากหากจอมยุทธพาตัวเองขึ้นสู่ “เหลาสุรา” อันครึกครึ้น เหตุที่ “เหลาสุรา” มักเป็นสถานที่ที่นำมาซึ่งความวุ่นวาย จอมยุทธทุกผู้นาม ทั้งฝ่ายธรรมมะและฝ่ายมิจฉาชีพ มักจะไม่ลังเลที่จะมุ่งเข้าหาเหลาสุราที่ครึกครื้น เหลาสุราอาจเป็นสถานที่อันตรายยิ่งกว่า “บ่อนการพนัน” ในบทบัญญัติที่สามเสียอีก
อย่างไรก็ดี ชีวิตจริงของ “โกวเล้ง” จัดเป็น “ปีศาจสุรา” อันดับต้นๆ ในวงการ ดังนั้น “เหลาสุรา” จึงถูกขยิบตาข้างหนึ่งที่จะมองไม่เห็นและไม่บรรจุไว้ในสถานที่อโคจรในนิยายจีนกำลังภายในของเขา
อย่างไรก็ดี เพียงไม่กี่วันที่ “ตวนเง็ก” ออกจากบ้านท่องยุทธจักร ก็ได้ละเมิดบทบัญญัติที่บิดาสั่งห้ามไปหลายต่อหลายข้อ ดังนั้น “ตวนเง็ก” จึงพาตัวเข้าไปพัวพันกับเรื่องวุ่นๆ วายๆ ในยุทธจักร และนำพาเราไปสู่เรื่องราวที่สนุกสนาน และคดีอันลึกลับซ่อนเงื่อนที่น่าติดตามไปกับเรื่อง “ดาบมรกต” เล่มนี้
สุดท้ายของจบเรื่อง “ดาบมรกต” นั้น “ตวนเง็ก” พาตัวผ่านมรสุมทั้งหลายทั้งปวง ผ่านเล่ห์เหลี่ยมของมิจฉาชีพในแผ่นดิน ลงเอยด้วยการคลี่คลายเรื่องลึกลับซ่อนเงื่อน และพิชิตใจหญิงงาม ด้วยเหตุที่เขาใช้ “สัตย์ซื่อถือคุณธรรม” เข้าหักหาญกับ “เล่ห์เหลี่ยมอันร้ายกาจ” ทั้งหลายทั้งปวง
นิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “ดาบมรกต” ที่เป็นพฤติกรรมการออกท่องยุทธจักรของ “ตวนเง็ก” เรื่องนี้ ยังมีลีลาเฉพาะตัวของ “โกวเล้ง” ที่แฝง “ปรัชญา” สอนใจเรา ผ่านการเปรียบเปรยจากสิ่งละอันพันละน้อยอีกเช่นเคยตามสไตล์ของมังกรโบราณผู้นี้
ซาลาเปาของร้าน “อิ้วเจ่กซึง” มีชื่อเสียงเลื่องลือและราคาแพงกว่าซาลาเปาในเหลาใดๆ ก็เนื่องจากมันมีรสชาติแสนอร่อย ดังนั้น ผู้คนจึงไม่ตัดพ้อตำหนิที่ซาลาเปาเจ้าหนี้แพงกว่าเจ้าอื่นก็ด้วยความอร่อยที่หากินที่ไหนไม่ได้ของมัน
ระหว่างที่ “ตวนเง็ก” ขบเคี้ยวซาลาเปาที่ปล่อยทิ้งไว้จนเย็นชืดของร้าน “อิ้วเจ่กซึง” พลันพบเหตุผลที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
หากรอให้สุดยอดซาลาเปาเย็นชืดแล้วค่อยรับประทาน รสชาติก็ไม่นับเป็นอย่างไร ถึงกับสู้ซาลาเปาร้อนจากร้านทั่วไปไม่ได้ เขาพบว่า ในโลกไม่มีเรื่องใดที่ “แน่นอน” เด็ดขาด ในโลกนี้ไม่มีซาลาเปาที่ “อร่อยแน่นอน” ประการสำคัญอยู่ที่ท่านจะรับประทานซาลาเปาในเวลาที่มันร้อนน่ารับประทานหรือปล่อยทิ้งไว้จนเย็นชืด
“ตวนเง็ก” กำลังนึกถึงเรื่องของ “Time & Space” หรือ “กาละและเทศะ” ที่ทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเปลี่ยนไปไม่แน่นอน วัตถุเยี่ยงเดียวกัน หากเปลี่ยนเวลา เปลี่ยนจากแง่มุมอื่น อาจเปลี่ยนเป็นผิดแผกแตกต่าง
และอีกประการก็สอนเตือนให้เราจะปล่อยให้กิจสำคัญสายเกินการณ์ โดยผ่านการละเลยด้วยการผัดวันประกันพรุ่ง
ประเด็นนี้ที่ “ตวนเง็ก” ตระหนัก จึงเป็นองค์ประกอบเล็กๆ อันหนึ่งที่สำคัญของเรื่องราว ที่ทำให้ภาพใหญ่ของเรื่องนี้ดังที่พูดถึงก่อนหน้าเด่นชัดขึ้น
“ซาลาเปา” นั้นไม่จริงแท้แน่นอน แต่ “ความสัตย์ซื่อถือคุณธรรม” ต่างหากที่แท้และจีรัง