คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
เมื่อตอนที่แล้ว ผมได้เขียนถึงสไตล์การเขียนที่ต่างกันระหว่างนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในยุคเก่าและยุคใหม่ กล่าวโดยสรุปที่ผมพูดถึงจุดที่ต่างกันจนเห็นได้ชัดเจน ก็คือ การวางโครงเรื่อง จังหวะ และการเชื่อมโยงในโครงเรื่องสู่แก่นแกนของเรื่องราว
ผมมองว่านักเขียนนิยายจีนกำลังภายในยุคดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น “กิมย้ง” หรือ “โกวเล้ง” นั้น ล้วนแต่สร้างโครงเรื่อง แล้วเดินแก่นแกนไปตามโครงดังกล่าวเป็นเนื้อเดียวกัน ในขณะที่นักเขียนนิยายจีนกำลังภายในยุคใหม่ ที่ผมยกตัวอย่างผู้ที่เด่นจรัสอย่าง “หวงอี้” และจากนิยายจีนกำลังภายในเรื่องล่าสุดที่ผมอ่าน อย่าง “เจิ้งฟง” แนวทางการเขียนจะเปลี่ยนไปโดยจะเป็นแนวที่มีโครงเรื่องหลัก แต่การเดินเรื่องนั้น ไม่ได้เน้นที่จะต้องสอดประสานเข้ากับแก่นแกนมากนัก คล้ายเป็นวงเล็กๆ ที่ครอบคลุมอยู่รอบๆ ลักษณะเป็นเหมือนเน็ตเวิร์คกิ้ง ที่เชื่อมต่อกับจุดศูนย์กลาง
ซึ่งพูดถึงเรื่องนี้ ก็คงต้องเข้าใจว่า แนวทางการเขียนนั้นก็คงจะสอดคล้องกับรูปแบบสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบัน ที่มักจะคุ้นเคยอยู่กับระบบเน็ตเวิร์คกิ้งมากกว่าการยึดโยงอยู่กับโครงสร้างสถาบันใดๆ สถาบันเดียวอย่างสมัยก่อน ซึ่งในจุดนี้เมื่อตอนที่แล้ว ผมก็ยกตัวอย่างเช่นการบริหารงานทางธุรกิจ ซึ่งสมัยก่อนมักจะบริหารงานกันเป็นโครงสร้างเดียว ผลิตแปรงสีฟันก็ผลิตแปรงสีฟัน ขายขนมเปี๊ยะก็ขายขนมเปี๊ยะ แต่สมัยปัจจุบัน นักธุรกิจชอบบริหารงานแบบโฮลดิ้งคัมปะนี เป็นบริษัทแบบทำหลายอย่างแม้จะไม่ยึดโครงสร้างหลักเดิม แต่ขยายงานตามจังหวะและโอกาส และควบคุมการบริหารจัดการแบบเน็ตเวิร์คกิ้ง
นักอ่านนิยายจีนกำลังภายในผู้คร่ำหวอดในวงการบางคน จึงอาจมองว่า นักเขียนนิยายจีนกำลังภายในรุ่นใหม่ สู้รุ่นเก่าอย่าง “กิมย้ง” หรือ “โกวเล้ง” ไม่ได้ แต่ส่วนตัวผมกลับคิดว่า แนวทางการเขียนก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและวัฒนธรรมในยุคนั้นๆ ผมถือเป็นโอกาสที่จะได้อ่านงานแนวใหม่ๆ ซึ่งบางครั้งเราก็ควรเปิดใจ ไม่มัวแต่ยึดติดกับของเดิม เริ่มเข้าไปทำความรู้จักกับอะไรใหม่ๆ เพราะอย่างไร “การอ่าน” หนังสือใดๆ ก็ล้วนแต่มีประโยชน์อเนกอนันต์
งานเขียนของ “เจิ้งฟง” นั้น ผมเห็นว่าเป็นแนวทางการเขียนนิยายจีนกำลังภายในยุคใหม่ตามที่ผมว่ามาข้างต้น สไตล์การเขียนของ “เจิ้งฟง” นั้นน่าจะเหมือนกันแนวของ “หวงอี้” คือวางโครงเรื่อง แล้วเดินเรื่องเป็นวงๆ ล้อมอยู่รอบแก่นแกนหลัก โดยแต่ละวงเชื่อมต่อกันบ้าง ไม่เชื่อมต่อกันบ้าง แต่ทั้งหมดเชื่อมต่อกับโครงเรื่องหลักที่เป็นจุดศูนย์กลางเหมือนเซิฟเวอร์ใหญ่
อย่างไรก็ดี ผมมองว่า “จังหวะ” และ “การเชื่อมโยง” ระหว่างเน็ตเวิร์คกิ้ง ของ “เจิ้งฟง” ยังเทียบไม่เท่า “หวงอี้” สะท้อนจากจังหวะของตัวละครสองตัวหลัก ซึ่งทั้งคู่วางเอาไว้เป็นตัวเอกในการเดินโครงเรื่องนั้น กรณีของ “โค่วจง” กับ “ฉีจื่อหลิง” ใน “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ของ “หวงอี้” นั้น จะสอดประสานกันกับโครงหลักของเรื่องมากกว่า “จ้าวกวน” และ “เสี่ยวซันเอ๋อ” ของ “เจิ้งฟง”
การที่ “เจิ้งฟง” มีผู้เรียกขานว่า “กิมย้งหญิง” นั้น เหตุที่เธอผู้นี้ ถูกขนานนามเช่นนี้ น่าจะเป็นเพราะนักเขียนสาวผู้นี้ เป็นคนที่ชอบอ่านนิยายจีนกำลังภายในของ “กิมย้ง” มาตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยเหตุนี้เมื่อเธอมีนิยายจีนกำลังภายในของตนเองที่ได้รับการยอมรับว่าดีมีคุณภาพ และเธอเองก็เขียนถึงว่าได้แรงบันดาลใจจากการอ่านนิยายจีนกำลังภายในของ “กิมย้ง” ในสมัยเด็ก จึงมีผู้เรียกขานเธอว่า “กิมย้งหญิง”
แต่ในส่วนที่ “เจิ้งฟง” น่าจะได้รับอิทธิพลมาจาก “กิมย้ง” น่าจะเป็นเรื่องของนัยยะเชิงปรัชญาที่แฝงอยู่ในเรื่องของเธอ เมื่อผมอ่าน “พยัคฆ์คู่ผงาดฟ้า” จบลง ผมมองเห็นนัยยะในเชิงวัฒนธรรมที่สะท้อนภาพสังคมที่น่าจะได้อิทธิพลมาจาก “กิมย้ง” ที่เธอสะท้อนภาพของทั้ง “การเมือง” และ “สังคม” ได้เป็นอย่างดี เฉกเช่นกับที่ “กิมย้ง” สะท้อนภาพเช่นนี้ให้เราเห็นจาก “กระบี่เย้ยยุทธจักร”
ในจำนวนนิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “พยัคฆ์คู่ผงาดฟ้า” ทั้ง 6 เล่ม (ที่จัดพิมพ์เป็นภาษาไทยจากการแปลของท่านอาจารย์ น.นพรัตน์ ภายใต้การจัดพิมพ์ของสยามอินเตอร์บุคส์) ผมมองว่า 5 เล่มแรกคือการเดินเรื่องตามโครงสร้างคล้ายแนวทางนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในรุ่นใหม่ตามที่ว่าไว้ข้างต้น หากแต่เล่ม 6 เล่มสุดท้าย แต่เป็นการกลับคืนสู่แก่นแกนเรื่องหลัก ผมมองว่ามีแนวทางเดินตามแนวปรัชญาของ “กิมย้ง”
ยกตัวอย่างเช่น การสะท้อนภาพวัฒนธรรมและทัศนคติของ “ตึกพยัคฆ์คำรน” จากการลาออกจากประมุขอันสูงศักดิ์ของค่ายสำนักยิ่งใหญ่ คืนสู่ชีวิตอันเรียบง่ายของ “เสี่ยวซันเอ๋อ” กับ “เจิ้งเป่าอัน” นางเอกคู่ใจ ก็คือการสะท้อนภาพ “เสรีชน” ที่ “กิมย้ง” มักจะเน้นแนวทางนี้ หันไปมองตัวละครเด่นอย่าง “เหล็งฮู้ชง” ใน “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ก็จะพบภาพตัวอย่างที่ชัดเจน
“กิมย้ง” กล่าวถึง “ธรรมจริยา” ของผู้ยิ่งใหญ่ในยุทธภพมีอยู่สองประเภท คือผู้ที่กระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม กับผู้ที่พยายามช่วงชิงอำนาจเพื่อตัวเองครองความเป็นใหญ่ ในยุทธภพจึงมี “คนเลว” ที่พยายามจะ “ช่วงชิงอำนาจ และรักษาอำนาจ” กับกลุ่มผู้คนที่ต้องการ “เปลี่ยนแปลง” ให้ก่อเกิดชีวิตที่ดีเพื่อคนส่วนใหญ่ และในส่วนผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อส่วนรวมนี้ ก็ครอบคลุมไปถึง “ผู้สันโดษ” ที่ยึดแนวทาง ทำเพื่อส่วนรวม พอสำเร็จแล้ว “ถอนตัวเร้นกาย” ซึ่งก็เป็นที่ทราบดีว่า “กิมย้ง” เอง สนใจในปรัชญาของ “ขงจื้อ” ในเรื่องความสันโดษ ตัวละครและฉากโครงเรื่องของ “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ที่อิงกับนัยยะสะท้อนภาพทางการเมือง (ดังที่ผมเคยเขียนถึงไปแล้วในคอลัมน์นี้เกี่ยวกับ “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ในฐานะ “วรรณกรรมการเมือง”) จึงมีตัวแทนของ “มาร” ที่ฝักใฝ่ในอำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตน และ “ผู้สันโดษ” อย่าง “เหล็งฮู้ชง” ที่เป็นตัวเอกของเรื่อง
“ตึกพยัคฆคำรน” ในนิยายจีนกำลังภายในของ “เจิ้งฟง” จึงมีแนวทาง “ผู้สันโดษ” โดยมีคำสรุปถึงแนวทางของผู้กล้าแห่งตึกพยัคฆคำรนไว้ว่า “ไม่อวดอ้างผลงาน ไม่รับความดีความชอบ ที่พึงกระทำก็พึงกระทำ หลังจากเสร็จเรื่องถอนตัวเร้นกาย”
อีกประการหนึ่งที่ผมมีความเห็นว่า “เจิ้งฟง” ผู้ที่บางคนให้สมญาเธอว่า “กิมย้งหญิง” ผู้นี้ มีส่วนคล้ายคลึงกับ “กิมย้ง” อีกเรื่อง ก็คือการสะท้อนภาพการช่วงชิงในยุทธจักรบู๊ลิ้มและสะท้อนภาพการช่วงชิงผลประโยชน์และอำนาจในสังคมมนุษย์ที่เราๆ ท่านๆ เห็นกันได้อยู่ตลอดเวลาในปัจจุบัน โดยเฉพาะใน “แวดวงการเมือง”
ความชั่วร้ายอันเกิดมาจากการแก่งแย่งช่วงชิงกันในยุทธภพ ตลอดจนถึงเรื่องราวช่วงชิงอำนาจในราชสำนัก ทั้งในฝั่งของบู๊ลิ้ม และในฝากฝั่งของแดนอาทิตย์อุทัย ที่มีการเล่าขานในเรื่อง ล้วนมีต้นตอมาจาก “หงไท่ผิง” ซึ่งเป็นขันทีในราชสำนัก
“หงไท่ผิง” เป็นผู้บงการความชั่วร้ายโดยใช้ “สถาบันทางการเมือง” เป็นเครื่องมือ โดยที่ขันทีเฒ่าผู้นี้ มีจุดมุ่งหมายหลงใหลที่จะได้มาซึ่ง “ผลประโยชน์” ในเรื่อง “ทรัพย์สินเงินทอง” กล่าวคือ “บงการอยู่หลังฉาก-ชักเชิดผู้มีอำนาจ-กวาดต้อนทรัพย์ศฤงคาร” หากจะมองไปที่ตัวละคร “หงไท่ผิง” ถือว่ามีความล้ำสมัย เนื่องจากสะท้อนภาพสไตล์ใหม่ๆ ของ “นักการเมือง” ในยุคสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี ไม่เชื่อลองอ่านข่าวการเมืองในหนังสือพิมพ์เมืองไทย ก็จะเจอคนอย่าง “หงไท่ผิง” มากมาย
ตัวละครร้ายกาจในเรื่อง “พยัคฆ์คู่ผงาดฟ้า” อย่าง “เจ้าอสูร” ก็ถูก “หงไท่ผิง” หลอกใช้เพื่อกวาดต้อนผลประโยชน์ทางการเมือง และตอนท้ายของเรื่องนี้ ก็สะท้อนภาพให้เห็นความน่ากลัวของ “หงไท่ผิง” ที่ร้ายลึกน่าสะพรึงกว่า “เจ้าอสูร” เสียอีก
“หงไท่ผิง” ผู้นี้ มีความเป็นมาที่น่าสนใจ และสามารถสะท้อนความน่ากลัวของจิตใจชั่วร้ายในอีกรูปแบบหนึ่ง “หงไท่ผิง” มีประวัติกับสำนักมาตรฐานค่ายธรรมมะ “วัดเส้าหลิน” ในฐานะหลวงจีน มีสมญานามทางธรรมว่า “ชิงเสี่ยน” โดยที่ “หงไท่ผิง” ผู้นี้มีเล่ห์กลิ้งกลอกหลอกศึกษาคัมภีร์ต่างๆ มากมายจากเส้าหลิน ตลอดเวลาที่เดินสายค่ายสำนักธรรม แม้ว่าได้วิชาฝีมือเส้นหลินมาบ้าง หากแต่มุ่งหวังเพียง “ทรัพย์สินเงินทอง” ดังนั้น วิทยายุทธของ “หงไท่ผิง” จึงมิได้เหนือล้ำ ในที่สุดขันทีเฒ่าผู้นี้ก็ตกตายภายใต้ “ค่ายกลอรหันต์” ของสำนักเส้าหลิน
จะว่าไปแล้ว ก็อาจมองเชิงสัญลักษณ์ได้ว่า “ค่ายกลอรหันต์” นี้คือ การแสดงพลังของมวลชนนอกเหนือการช่วงชิงในโครงสร้างอำนาจที่ยึดมั่นในธรรมดีงาม ก่อร่างร่วมมือสร้างพลังฆ่าสังหาร “ความชั่วร้าย”
ก่อนถึงวาระสุดท้าย “หงไท่ผิง” ร่ำร้องว่า “เราสามารถให้เงินแก่พวกท่าน สามารถใช้หล่อเลี้ยงวัดเส้าหลินร้อยปี ขอเพียงท่านปล่อยตัวเราไป ท่านต้องการเงินเท่าใดก็ได้ เราขอใช้เงินทั้งหมดที่เรามี ซื้อชีวิตเรา” แต่สุดท้าย เจ้าสำนักเส้าหลินก็ฟาดฝ่ามือลงบนศรีษะของ “หงไท่ผิง” อดีตหลวงจีนนาม “ชิงเสี่ยน” กระอักโลหิต และจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ
สำหรับ “คุณค่าแห่งชีวิต” นั้น ใช่ว่าจะหาซื้อได้ด้วยทรัพย์สินเงินทองกองท่วมฟ้า
น่าเสียดายที่ “หงไท่ผิง” แม้เคยอยู่ภายใต้สำนักมาตรฐานทรงธรรมดีงาม แต่ขันทีเฒ่ากลับไม่ได้ “แก่นของความดีงาม” เก็บไว้ในตัวเลย กลับได้แต่เปลือกเอาไปหลอกล่อช่วงชิง “อำนาจ” และ “ผลประโยชน์”
คนอย่าง “หงไท่ผิง” นี้ คือตัวอย่างของผู้ที่อยู่ในวังวนแห่งอำนาจ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คิดว่า กลไกแห่งอำนาจที่ปกครองสังคมนั้น แท้จริงแล้วมีไว้เพื่อรังสรรค์ประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ มิใช่เพื่อคนหนึ่งคนใด ความเข้าผิดต่อ “โครงสร้างแห่งอำนาจและผลประโยชน์” เช่นนี้ มีให้เห็นเป็นประจำในทุกยุคทุกสมัยของแวดวงการเมืองของไทย
นิยายจีนกำลังภายใน มักจะมีตัวร้ายที่ชั่วช้าน่ากลัวในรูปโฉมและความประพฤติผิดจริยา อย่าง “เจ้าอสูร” และอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ต๊กโกวบ้อเต็ก” ในเรื่อง “กระบี่ไร้เทียมทาน” ที่ผมมักจะนำมาเป็นตัวอย่างในการแสดงออกทื่อๆ ซึ่งหน้าว่าอยากที่จะครอบครองยุทธภพ แต่ที่น่ากลัวกว่าบุคลิกลักษณะของตัวชั่วร้ายอย่างเจ้าอสูรนั้น ยังมีรูปแบบประเภทที่เคยชวนคุยให้ฟังแล้วถึง “วิญญูชนจอมปลอม” และที่น่ากลัวไม่แพ้กัน ก็คือ “มารร้ายหลังฉาก” อย่างเช่น “หงไท่ผิง” ผู้นี้
“เจิ้งเป่าอัน” กล่าวว่า “ผู้ใดคาดคิดว่า เจ้าอสูรที่ลึกซึ้งชั่วร้าย ที่หลังฉากยังมีคนลึกซึ้งชั่วร้ายยิ่งกว่า”
นิทานสั้นตามท้าย
มีผู้เคยแอบถาม “ก๊วยเจ๋ง” วีรบุรุษแห่งยุทธภพผู้เป็นที่ยอมรับว่ากล้าหาญและต่อสู้เพื่อส่วนรวม ว่า หากเดินไปเจอตัวชั่วร้ายสามคนพร้อมๆ กัน ได้แก่ “ต๊กโกวบ้อเต็ก” และก็ “งักปุกคุ้ง” ตามมาด้วย “หงไท่ผิง” อยากรู้ว่า “ก๊วยเจ๋ง” จะเลือกชักกระบี่จัดการใครก่อน
หลังจากที่ “ก๊วยเจ๋ง” หันไปถามความเห็นเมียคือ “อึ้งย้ง” (ตามแบบฉบับสามีที่ดี) “ก๊วยเจ๋ง” ก็หันหน้ามากระซิบข้างๆ หูคนอยากรู้ที่เอ่ยปากถามว่า “โยนระเบิดไปสักลูกนึงกลางวงแม่มเลย”