xs
xsm
sm
md
lg

เงาที่ทาบซ้อนของ มังกรคู่สู้สิบทิศ และดาบกระชากเลือด (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

ในช่วงหลัง ผมได้เริ่มหยิบเอานิยายจีนกำลังภายในนอกกระแสขึ้นมาอ่านอยู่หลายเรื่อง ที่ว่านอกกระแสนี้ผมหมายถึงนิยายจีนกำลังภายในที่คอนิยายจีนกำลังภายในรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกันมากนัก ซึ่งก็อาจจะเพราะไม่ได้ถูกตีพิมพ์ใหม่และวางขายตามร้านหนังสือเหมือนกลุ่มนิยายจีนกำลังภายในของ “โกวเล้ง” หรือ “กิมย้ง” ตลอดจนนิยายจีนกำลังภายในของนักเขียนรุ่นใหม่อย่าง “หวงอี้”

ซึ่งจะว่าไปแล้ว ผมก็ค่อนข้างลืมเลือนนิยายจีนกำลังภายในรุ่นเก่าๆ ที่ไม่ได้มีการตีพิมพ์ใหม่อยู่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่สมัยเด็กๆ เคยอ่านเรื่องเหล่านี้ในห้องสมุดประชาชนปากซอยบ้านยายที่ผมใช้ชีวิตอยู่ตอนเด็กๆ ตอนนี้ผมก็ทะยอยหาซื้อหนังสือนิยายจีนกำลังภายในเหล่านี้จากในอินเตอร์เน็ตและร้านหนังสือเก่าที่พอจะมีหลงเหลือขายอยู่บ้าง บางเรื่องผมก็ได้เขียนถึงไปบ้าง อย่างเช่นเรื่อง “ยอดบุรุษเหล็ก” ของ “เซียวอิด”

อีกเรื่องหนึ่งที่เพิ่งอ่านจบ และจะเขียนถึงในตอนนี้ ก็คือเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” ของ “ซีเบ๊เหล็ง” ซึ่งผมมีความชอบเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” เรื่องนี้ไม่แพ้ที่ชื่นชอบนิยายจีนกำลังภายในของ “กิมย้ง-โกวเล้ง-หวงอี้” ด้วยเหตุผลหลายประการที่จะค่อยๆ แถลงไขให้ทราบต่อจากนี้

อย่างไรก็ดี ก่อนที่ผมจะหยิบเอา “ดาบกระชากเลือด” ขึ้นมาเขียนถึง ผมได้ตัดสินใจที่จะคั่นก่อนหน้าด้วยการหยิบเอา “ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่” ของ “โกวเล้ง” ขึ้นมาเขียน ทั้งนี้ก็เพราะมีบางเหตุผลที่เกี่ยวพันกัน ที่อยากจะแสดงเจตนารมณ์บางอย่างไว้ล่วงหน้า

ผมเขียนถึงเรื่อง “ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่” ซึ่งเป็นเรื่องที่นักอ่านนิยายจีนกำลังภายในคุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นผลงานของนักเขียนที่มีชื่อเสียงอย่าง “โกวเล้ง” เป็นเรื่องที่ส่วนใหญ่ก็ได้ทราบว่า ตัวละครเอก “เล่าแป๊ะ” นั้นได้รับแรงบันดาลใจจาก “เดอะ ก็อด ฟาเธอร์” วรรณกรรมตะวันตก

แต่อย่างไรก็ดี การได้รับแรงบันดาลใจและนำมาสร้างสรรค์ตัวละคร มิได้เป็นการ “ลอกเลียน” ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อหยิบยกบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาเป็นตัวตั้ง ผู้เขียนสามารถจินตนาการต่อยอดแตกแขนงก้านสาขาออกไปได้สวยงามเพียงใด และสามารถสร้างสิ่งใหม่มาจากแรงบันดาลใจได้อย่างไร

มังกรโบราณ “โกวเล้ง” เองก็ได้เคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

พเจ้าเขียนดาวตก ผีเสื้อ กระบี่ ได้รับผลสะท้อนจากเรื่องเดอะ ก็อด ฟาเธอร์มากที่สุด เล่าแป๊ะในดาวตก ผีเสื้อ กระบี่ เป็นเงาของก็อด ฟาเธอร์เอง เขาเป็นหัวหน้าแก๊งมาเฟีย แข็งกระด้างราวกับก้อนหิน แต่ก็กลอกกลิ้งดุจสุนัขจิ้งจอก ถึงแม้ว่าเขาทำชั่ว แต่ก็รักษาความเที่ยงธรรมและชอบช่วยเหลือผู้อื่น เขาไม่เคยโทษว่าฟ้าดินตำหนิคน ทั้งนี้เพราะเขารักชีวิต รักครอบครัว และผองเพื่อน เมื่อข้าพเจ้าพบเห็นตัวละครเช่นนี้ ขณะที่เขียนหนังสือ ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่อาจสลัดหลุดจากเงาของเขา แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมรับว่านี่คือการขโมยคัดลอก หากข้าพเจ้าสามารถจำตัวละครที่ยิ่งใหญ่ในงานเขียนของผู้อื่นมาบรรจุในนิยายกำลังภายในของตนเอง ต่อให้ถูกผู้อื่นเย้ยหยันไยไพ ข้าพเจ้าก็ยินยอมพร้อมใจ” อิงจาก บทความของโกวเล้ง ที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยในหนังสือ 25ปี โกวเล้ง มังกรเมรัย แปลโดย น.นพรัตน์ จัดพิมพ์โดยสยามอินเตอร์ บุ๊กส์)

นอกจากนั้น “โกวเล้ง” ก็ยังบอกอีกด้วยว่า งานเขียนสมัยแรกๆ ของเขาก็ลอกเลียนงานของนักเขียนผู้ที่เขาชื่นชอบอย่าง “กิมย้ง” และเขายังบอกอีกด้วยว่า ในบางช่วงตอนของงานเขียนหลายชิ้นของ “กิมย้ง” ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายต่างประเทศหลายเรื่อง แต่ก็แค่เอามาเป็นองค์ประกอบ โดยไม่ทำให้เอกลักษณ์ของตนเองสูญเสียเป็นสร้างสร้างบรรยากาศใหม่ที่ทำให้เรื่องราวเร้าใจมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้นที่กล่าวมา ก็เพื่อจะเกริ่นว่า ผมไม่ได้กำลังจะหมิ่น “หวงอี้”

ทั้งนี้เพราะผมกำลังจะเขียนถึงนิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” ของ “ซีเบ๊เหล็ง” ซึ่งคอนิยายจีนกำลังภายในหลายคนที่ได้อ่านรวมทั้งผมด้วย เห็นว่า “หวงอี้” ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” นี้ค่อนข้างมากอยู่ แต่ “หวงอี้” ก็สามารถนำไปเป็น “ส่วนหนึ่ง” และสามารถจินตนาการแตกแขนงไป สร้างนิยายจีนกำลังภายในระดับตำนาน “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ที่เรื่องนี้กล่าวได้ว่าถือเป็นหนึ่งในห้าสุดยอดนิยายจีนกำลังภายในของผมดังที่เคยได้เขียนถึงไปแล้วผ่านทางคอลัมน์ “บู๊ลิ้ม” นี้

ผมจะเขียนถึงเรื่องราวที่สนุกสนานของ “ดาบกระชากเลือด” ในตอนหน้านะครับ แต่ตอนนี้จะหยิบยกหัวข้อเฉพาะเรื่องที่ผมตั้งประเด็นว่า บางส่วนของ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ได้แรงบันดาลใจจาก “ดาบกระชากเลือด” อันนี้เป็นความเห็นของผมซึ่งข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไรไม่ทราบได้ แต่ก็ถือว่าเป็นการนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์สำหรับคนชอบอ่านนิยายจีนกำลังภายในก็แล้วกัน

ผมหานิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” มาได้ค่อนข้างยาก มีผู้กล่าวว่าเรื่องนี้ถือเป็นในนิยายจีนกำลังภายในหาอ่านยากมก็เห็นจริงตามนั้น โดยเฉพาะหนังสือที่อยู่ในสภาพดีนั้น เรียกว่าหาได้ยากจริงๆ ชุดที่ผมได้มา 4 เล่มจบ อยู่ในสภาพปกและเนื้อในค่อนข้างดี แต่มาในสภาพหลุดจากการเย็บไสกาว ร่อนเป็นแผ่นๆ พูดง่ายๆ ว่า กระบวนการอ่านจากสภาพนี้ทำได้ยาก ก็เลยจัดการเอาไปให้ร้านซ่อมหนังสือแถวท่าพระจันทร์ทำการเย็บเล่มให้ใหม่ พร้อมกันนี้ก็เคลือบปกด้วยพลาสติก เสร็จออกมาดูสวยเนียนกลับมาเป็นสภาพดูดีอ่านได้ในที่สุด

เมื่ออ่านจบก็นึกทบทวนที่เคยได้ยินนักอ่านนิยายจีนกำลังภายในเคยพูดถึงเรื่องแรงบันดาลใจของ “หวงอี้” ที่มีต่อตัวละคร ตลอดจนถึงแนวทางการเขียนของ “ซีเบ๊เหล็ง” กับเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” นี้ นั่นก็หมายถึงว่า เรื่องนี้มิใช่ประเด็นใหม่ หากแต่มีการพูดถึงในหมู่นักอ่านนิยายจีนกำลังภายในมาพอสมควรแล้ว ส่วนตัวผมยังไม่ชัดเจนนักถึง ตัวละครเอกของเรื่อง “ล้อเท้งเง็ก” ที่มีฉายา “จักรพรรดิดาบ” ว่า “โค่วจง” ผู้ชำชองเพลงดาบอันลือลั่น เจ้าของ “ดาบจันทร์ในบ่อ” จะได้แรงบันเดาลใจจาก “ล้อเท้งเง็ก” หรือไม่ แต่ก็ถือว่า บางครั้งเมื่อย้อนอ่านลีลาท่าทางของ “โค่วจง” ก็ออกมาจะเงาร่างลางๆ ของ “ล้อเท้งเง็ก” อยู่เหมือนกัน

ส่วนฉากการต่อสู้สัปประยุทธต่างๆ ใน “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ผมมองว่าไปได้ไกลกว่า “ดาบกระชากเลือด” ในด้านการเพิ่มสีสรรจินตนาการและแตกกิ่งก้านสาขา แต่ก็ถือว่า ฉากการต่อสู้สัปประยุทธใน “ดาบกระชากเลือด” ก็แสนจะเร้าใจและดำเนินกลยุทธเชิง “ยุทธศาสตร์สงคราม” เป็นแก่นแกน ซึ่งนับว่า “ดาบกระชากเลือด” นั้น เอาการต่อสู้ของชนชาวยุทธจักรผสมผสานกับ “การวางกลยุทธทางการทหาร” ได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งผมจะเล่าในรายละเอียดในตอนหน้าถึง ความสนุกสานของ “กลยุทธวางการรบทางทหาร” ผสานการต่อสู้ใน “ยุทธจักรบู๊ลิ้ม” ของ “ดาบกระชากเลือด” ให้อ่านกันนะครับ

แต่ที่ผมค่อนข้างชัดเจน ราวกับเห็นเงาของ “ก็อด ฟาเธอร์” ทาบซ้อนอยู่กับ “เล่าแป๊ะ” ใน “ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่” ของ “โกวเล้ง” ก็คือตัวละครฝ่ายหญิง

ใน “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ของ “หวงอี้” มี “เรือนฌานเมตไตรย” และศิษย์เอกคือ “ซือเฟยเซวียน” สำหรับ “ดาบกระชากเลือด” นั้นมี “หอฟังเสียงคลื่น” และ “ฉิ้งซึงปอ” เจ้าของฉายา “ราชินีกระบี่”

ผมขออนุญาตหยิบเอา คำอธิบายถึง “เรือนฌานเมตไตรย” จากวิกิพีเดียนะครับ ว่าไว้เช่นนี้

“สำนักเรือนฌาณเมตไตรย เป็นผู้นำฝ่ายสงฆ์ และถูกขนานนามเป็นผู้นำฝ่ายธรรมะ รวมกับฝ่ายเต๋าของหนิงเต้าฉี สถานที่ตั้งอยู่บนเขาที่ลึกลับ ที่ซุ้มทางเข้า มีคำจารึกว่า " บ้านอยู่เขาลูกนี้ ลึกลับในม่านเมฆ " ลูกศิษย์ในสำนักทุกคนเป็นหญิงสาว ไว้ผมถือบวช เคล็ดวิชาของเรือนฌาณเมตไตรย คือเคล็ดกระบี่ ที่ถูกบัญญัติโดยแม่ชีปฐพีผู้ก่อตั้งเรือนฌาณเมตไตรย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสี่เคล็ดสุดยอดในจักรวาล รวมกับ ตำราอสูรฟ้า6เล่ม เคล็ดวิชาอมตะ และ ม้วนภาพเทพประยุทธ์ รุ่นที่ผ่านมา มีศิษย์สาวที่โดดเด่นสองคน คือ ปี้ซิ่วซิน และฝ่านชิงฮุ้ย โดยทั้งคู่เป็นสาวงาม ปัจจุบันฝ่านชิงฮุ้ยคือเจ้าสำนัก มีศิษย์เอกคือ ซือเฟยเซวียน เรือนฌานเมตไตรยถือฝ่ายอธรรมเป็นศัตรูโดยเฉพาะสำนักทศเย็น”

“หอฟังเสียงคลื่น” ตั้งอยู่บนยอดเขาโพวท้อ ไม่ได้เหยียบย่างเข้ายุทธจักรร่วมสองร้อยปี มีคำร่ำลือ หากสำนักนี้ส่งศิษย์ออกเหยียบย่างยุทธจักร นั่นหมายถึง การเดินเข้าสู่บู๊ลิ้มเพื่อบำเพ็ญใจฝึกวิชาเพื่อให้ถึงขอบเขต “ราชีนีกระบี่” และเมื่อคนผู้นี้ปรากฏกายขึ้น ยุทธจักรจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สถานที่ตั้งของ “หอฟังเสียงคลื่น” นั้นแสนจะลึกลับ ยากนักที่จะมีคนดั้นด้นไปถึง หอตั้งอยู่บนหน้าผาอันตรายหลังเขา หันหน้าออกทะเลใหญ่ พักอาศัยด้วยสตรีร้อยกว่านาง จำนวนหนึ่งในนั้นถือเป็นศิษย์สำนักที่เยี่ยมวรยุทธ อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของประมุขหอฟังเสียงคลื่นที่เป็นสตรีซึ่งสืบต่อมาสามรุ่น

วิทยายุทธสุดยอดของ “หอฟังเสียงคลื่น” คือ “คัมภีร์กระบี่” ซึ่งหากบรรลุถึงจุดสูงสุดก็จะก้าวเข้าสู่ขั้นความเป็น “ราชินีกระบี่” ทั้งนี้ “ฉิ้งซึงปอ” เดินทางลงจากเขาเพื่อบำเพ็ญเพียร โดยยึดหลักการสำคัญคือ “ควบคุมจิตใจให้กระจ่างแจ้ง” ไม่ยึดติดกับ “ความรักความผูกพัน” เมื่อพบชายหนุ่มที่น่าสนใจ “ฉิ้งซึงปอ” จะรีบขจัดภาพของเขาออกไปจากใจในเร็วพลัน ดังตอนหนึ่งใน “ดาบกระชากเลือด” เขียนไว้ว่า

“นางเป็นผู้ฝึกปรือเพลงกระบี่ชั้นสูง ความทรงจำภายนอกทุกประการไม่อาจประทับอยู่ในจิตใจ จิตสำนึกของนางเฉกเช่นโขดหินแกร่งกลางสายน้ำ มาตรว่าในสายธารมีบุปผาใบ้ไม้ร่วงผ่านแต่ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ นี่จึงเป็นขอบเขตขั้นสูงสุด ดังนั้นนางใช้ปฏิกิริยาเฉยเมยต่อบุคคลและวัตถุที่อาจประทับอยู่ในความทรงจำของนาง ใช้พลังลมปราณชะล้างจิตสำนึก ดังนั้นนางจึงกล่าวว่า เราเป็นผู้ฝึกปรือเพลงกระบี่ขั้นสูง ต้องหลุดพ้นจากสรรพสิ่งในโลกหล้า”

ในระหว่างการชิงดีชิงเด่นในยุทธจักรของเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” ปรากฏหญิงสาว “ฉิ้งซึงปอ” โดดเด่นขึ้นท่ามกลางจอมยุทธสองฝ่ายที่กำลังห้ำหั่น หญิงสาวนางนี้ ถูกมองว่า หากถือหางข้างใด ข้างนั้นจะชิงเป็นฝ่ายมีเปรียบ ดังคำกล่าวขานว่า “หากมีศิษย์ของหอฟังเสียงคลื่นเหยียบย่างสู่บู๊ลิ้ม เมื่อนั้นยุทธจักรจะเกิดการเปลี่ยนแปลง”

“ฉิ้งซึงปอ” คือศิษย์เอกของ “หอฟังเสียงคลื่น” ผู้นั้น ในเรื่องราวของ “ดาบกระชากเลือด” นั้น หาก “ฉิ้งซึงปอ” เลือกคบหาถือหางข้างใด ระหว่าง “จอมยุทธหนุ่ม” ผู้ถูกวางตัวจากสองฝั่งเมื่อใด ด้านนั้นจะชิงมีเปรียบในทันที โดยที่ฝีมือของ “ฉิ้งซึงปอ” ถึงขึ้นแผ่รังสีกระบี่

ในขณะที่ “ซือเฟยเซวียน” ศิษย์ของ “เรือนฌาณเมตไตรย” ก็เช่นกัน หญิงสาวอายุไม่ถึง20ปี สามารถสำเร็จเคล็ดกระบี่ได้เกือบถึงขั้นสูงสุด “กระบี่ใจกระจ่างแจ้ง” ลงเขามาตามคำสั่งอาจารย์เพื่อเป็นการบำเพ็ญและสรรหาผู้เหมาะสมที่จะครอบครองแผ่นดิน

อย่างไรก็ดี เมื่อโฉมงามสู่ยุทธจักรก็ย่อมต้องรู้จักจอมยุทธหนุ่ม และเกิดสัมพันธ์รักลึกซึ้งในใจ “ซือเฟยเซวียน” ก็ผูกสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ “ฉีจื่อหลิง” โดยนางกล่าวว่า “ท่านเป็นจุดอ่อนเพียงหนึ่งเดียวของข้าพเจ้า” นั่นก็หมายถึง “ฉีจื่อหลิง” เป็นชายหนุ่มที่สร้างรอยกระเพื่อมในจิตใจอันเป็นอุปสรรคต่อ “กระบี่ใจกระจ่างแจ้ง” และท้ายสุด “ซือเฟยเซวียน” ก็เลือกมรรคากระบี่ และ “ฉีจื่อหลิง” ก็ไปลงเอยกับหญิงสาวอีกนางคือ “สือชิงเสวียน” ในท้ายสุด

สำหรับกรณี “ราชินีกระบี่” นาม “ฉิ้งซึงปอ” จะลงเอยอย่างไรเมื่อนางพบกับตัวเอกของเรื่อง “ล้อเท้งเง็ก” ผู้ที่กำลังก้าวสู่มรรคา “จักรพรรดิดาบ” และนอกจากนี้ ก็จะมีตัวละครเอกที่ผมยังไม่ได้พูดถึงในตอนนี้ ที่โดดเด่นไม่แพ้กับ “จักรพรรดิดาบ” และ “ราชินีกระบี่” ก็ว่าได้

มากไปกว่านั้น ยังมีประเด็นสำคัญของ “ดาบกระชากเลือด” ในฐานะนิยายยุทธจักรบู๊ลิ้มที่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินเรื่องที่มีลีลามากกว่าการประลองกระบวนท่ากันในหมู่ชนชาวยุทธแห่งบู๊ลิ้มแบบปกติธรรมดา แต่เป็นการเขียนในรูปแบบที่มากไปกว่า ที่สะท้อนภาพของการต่อสู้เชิงกลยุทธวางหมากชนิดที่เรียกว่า “รบทัพจับศึก” กระนั้นเลยทีเดียว

ก็เพราะแนวทางการเดินเรื่องของ “ดาบกระชากเลือด” ที่ให้อารมณ์ความรู้สึกของการ “รบทัพจับศึก” นี่เอง ที่เป็นส่วนหนึ่งของการให้ความเห็นถึงเรื่องที่ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ถูกมองว่าได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ ไม่มากก็น้อย

รอติดตามในตอนหน้าแล้วกันนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น