xs
xsm
sm
md
lg

นิยายจีนกำลังภายในใหม่น่าจับตา : มาเฟียบู๊ลิ้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

วงการนิยายจีนกำลังภายในบ้านเรานั้น ในรอบสิบปีนี้ถือได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เกิดขึ้น นั่นก็คือ จากที่นักอ่านชาวไทยวนเวียนอยู่กับการอ่านเรื่องเก่าๆ ที่ออกวางตลาดเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว มาสู่การนำเอานิยายจีนกำลังภายในยุคใหม่ โดยนักเขียนรุ่นใหม่ นำมาแปลและวางตลาดในเมืองไทย นั่นก็คือการตีพิมพ์ “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” ของ “หวงอี้” ในปี พ.ศ.2543 (พิมพ์ครั้งแรก)

การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น นับว่าสร้างความสั่นสะเทือนในวงการนิยายจีนกำลังภายในบ้านเราในสองเรื่องหลักใหญ่ๆ ด้วยกัน เรื่องแรกก็คือ ในแวดวงของนักอ่าน ดังที่ผมกล่าวมาข้างต้นก็คือ ได้มีโอกาสสัมผัสกับเรื่องใหม่และนักเขียนใหม่ โดยที่ก่อนหน้าเราจะรู้จักแต่เรื่องราวและนักเขียนในยุคก่อนที่บางเรื่องก็แต่งขึ้นในสมัยที่นักอ่านหลายท่านยังไม่ทันลืมตาขึ้นมาบนโลกใบนี้เสียด้วยซ้ำ

อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของธุรกิจนิยายจีนกำลังภายในของบ้านเรา ปัจจุบันมีมีการบริหารจัดการอย่างถูกต้องตามระบบสากล มีการจัดการเรื่องลิขสิทธิ์และระบบการตลาด จนทำให้นิยายจีนกำลังภายในมีความกว้างขวางขึ้นในด้านปริมาณคนอ่าน จากนิยายจีนกำลังภายในแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นกลุ่มเฉพาะ ได้ขยายฐานอย่างกว้างขวาง เปิดรับนักอ่านรุ่นใหม่เข้าสู่แวดวงอย่างคึกคักกว่าที่ผ่านมาหลายเท่าตัว

นอกจากสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊ก และผู้แปลคือท่านอาจารย์ “น.นพรัตน์” แล้ว อีกผู้หนึ่งที่ขาดเสียไม่ได้ที่จะกล่าวถึงนั่นก็คือคุณ “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้นำเอา “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” มาจัดพิมพ์ จากตอนนั้นถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าคุณก่อศักดิ์ถือเป็นกลไกหลักผู้หนึ่งในการแนะนำเรื่องจากภาษาจีน ให้อาจารย์ “น.นพรัตน์” มาแปลเป็นภาษาไทย

ผมรู้จักคุณก่อศักดิ์เป็นการส่วนตัวเมื่อไม่นานมานี้ ครั้งที่ผมแนะนำตัวด้วยจดหมายส่งไปยังสำนักงาน CP ALL ที่คุณก่อศักดิ์นั่งบัญชาการอยู่ เนื่องจากผมอยากได้ผู้อาวุโสในแวดวงนิยายจีนกำลังภายในมาช่วยอ่านและเสนอแนะวิจารณ์หนังสือรวมเล่ม “รหัสลับบู๊ลิ้ม” ที่ผมได้ตีพิมพ์ผ่านทางสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ คุณก่อศักดิ์ได้ตอบรับให้ผมเข้าไปพูดคุยเป็นเวลาร่วมสองชั่วโมง ซึ่งเป็นสองชั่วโมงที่ช่วยเปิดกว้างทัศนะในการอ่านนิยายจีนกำลังภายในของผมมากขึ้นอย่างที่รู้สึกได้ในทันที

หลังจากนั้นคุณก่อศักดิ์และผมก็ได้เจอกันบ่อยขึ้น ทั้งจากการพบปะพูดคุยบนโต๊ะอาหารบ้าง วงกาแฟบ้าง และก็ทางโทรศัพท์บ้าง การได้รู้จักกับผู้อาวุโสอย่างคุณก่อศักดิ์นั้นส่งผลโดยตรงทันทีสองประการกับผม ก็คือ เรื่องแรก จากที่ผมเคยคิดว่าจะหยุดเขียนคอลัมน์เพราะว่าคิดว่าจะหมดมุขหมดประเด็นในอีกไม่ช้าไม่นาน กลายเป็นว่า เจอคลังข้อมูลที่สามารถเขียนต่อไปได้ (น่าจะอีกหลายปี ...555) นอกจากนี้ก็ยังได้พบเจอเพื่อนฝูงคอเดียวกันที่อยู่ในกลุ่มของคุณก่อศักดิ์อีกหลายคน รวมทั้งได้มีโอกาสพบเจอและพูดคุยกับคนที่แอบปลื้มมาตั้งแต่ยังเด็กอย่างอาจารย์ น.นพรัตน์ ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้กรุณาแนะนำนิยายจีนกำลังภายหลายเรื่อง รวมทั้งที่กรุณาส่งเรื่องที่หายากมากในท้องตลาดอย่าง “ยอดบุรุษเหล็ก” ของ “เซียวอิด” ที่ผมจะเขียนถึงในตอนถัดไป

ประการต่อมา เป็นเรื่องที่นอกเหนือไปจากเนื้อหาของนิยายจีนกำลังภายใน ที่คุณก่อศักดิ์เปิดทัศนะผมไปสู่มิติใหม่ในการรับรู้เรื่องราวของแวดวงนิยายจีนกำลังภายใน เป็นอรรถรสที่เพิ่มมากขึ้นกว่าแค่การสนุกกับเนื้อหาในหนังสือ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคนิกการอ่านให้สนุกที่ผมเคยเล่าไปคร่าวๆ บ้างแล้วอย่างเรื่องทฤษฎี “ลงแดง” ของการที่จะรออ่านระหว่างเล่มที่ออกมาแล้ว และทิ้งช่วงที่จะออกเล่มถัดไป ช่วงของการรอนี่ คุณก่อศักดิ์เรียกว่า “ช่วงลงแดง” คือการเฝ้ารออย่างหิวกระหายที่จะเสพย์เรื่องราวที่เรายังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น โดยที่ก่อนหน้านี้ ผมนิยมที่จะรออ่านแบบรวดเดียวจบ คือให้ออกมาครบก่อนแล้วค่อยอ่าน ซึ่งคุณก่อศักดิ์บอกว่า “อ่านแบบนี้แล้วจะไปสนุกอะไร” ดังนั้น ในช่วงที่ “กระบี่อภิญญา” ออกวางตลาด คุณก่อศักดิ์จึงสนุกสนานกับการโทรศัพท์มาเช็คว่าผมเริ่มอ่านหรือยัง อ่านไปถึงไหน อ่านจบหรือยัง ระหว่างรอเล่มใหม่รู้สึกอย่างไร แล้วก็มีการพูดคุยกันถึงเล่มที่ผมได้อ่านไปแล้ว รวมถึงหยอดแง่มุมบางอย่างเหมือนกับจะแกล้งให้อาการ “ลงแดง” ของผมเพิ่มดีกรีมากขึ้น (ซึ่งก็สำเร็จ 555)

แต่สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ การอ่านนิยายจีนกำลังภายในของผมสนุกขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มันมีจินตนาการถึงเรื่องราวที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างของการ “รอ” จนทำให้เวลาเล่มถัดไปได้มาถึงมือ อ่านแล้วก็เพิ่มอรรถรสมากขึ้น เนื่องจากเรามีจินตนาการคิดตามไปกับเรื่องราว อาจจะผิดความคาดหมายบ้าง หรืออาจอดไม่ได้ที่ต้องร้องออกมาดังๆ ว่า “ใช่แล้ว อย่างที่คิดไว้จริงๆ”

ล่าสุด ระหว่างที่กำลังจะลงมือเขียนเรื่อง “ยอดบุรุษเหล็ก” ของ “เซียวอิด” คุณก่อศักดิ์ก็โทรมาระหว่างที่ผมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ กำลังเคาะแป้นพิมพ์ “วันนี้กระบี่อภิญญาเล่ม4 จะออกแล้วนะ อย่าลืมไปร้านหนังสือ” แหม มีการแจ้งเตือนแบบไม่มีพลาดจังหวะ ให้อารมณ์คล้ายๆ กับเวลาจะจ่ายเงินที่เซเว่นแล้วพนักงานเตือนว่า “จะรับขนมจีบซาลาเปาเพิ่มไหมคะ” (พูดเล่นนะครับ 555)

จากนั้นก็มาแนวใหม่ ท่านผู้อาวุโสหยิบเอาเคล็ดวิทยายุทธกระบวนท่าใหม่มานำเสนอในทันที “นี่รู้ไหม ตอนนี้มันมีเรื่องน่าอ่านเรื่องใหม่ออกมาอีกแล้วนะ เรื่องนี้สุดยอดเลย”

ใช่แล้วครับ ผมนั้นไม่รู้ภาษาจีน การอ่านนิยายจีนกำลังภายในก็อ่านฉบับแปล แต่คุณก่อศักดิ์นั้น อ่านต้นฉบับภาษาจีน และยิ่งในยุคปัจจุบันด้วยแล้ว นักอ่านนิยายจีนกำลังภายในชาวจีนยังนิยมอ่านเรื่องกันผ่านทางอินเตอร์เน็ตอีกต่างหาก สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ ผมได้ข่าวก่อนว่ามีเรื่องใหม่อะไรที่สนุก แต่ต้องรอคิวเรื่องต่างๆ เหล่านั้นได้รับการแปลออกมาเป็นภาษาไทยจากอาจารย์ “น.นพรัตน์”

คุณก่อศักดิ์บอกว่า นอกจากจะให้ผมมีอาการ “ลงแดง” แล้ว จะเสริมด้วยการ “ฝันค้าง” คือรู้ว่าจะมีเรื่องอะไรเด็ดๆ ออกมาให้อ่านในอนาคต แต่ต้องค้างเติ่งเฝ้ารอกว่ามันจะได้รับการแปลออกมาเป็นภาษาไทย คุยไปก็เจ็บใจไป มาแกล้งกันอย่างนี้ได้อย่างไร ตอนนี้โรคก็เลยรุมเร้าซ้ำเติมทั้งอาการ “ลงแดง” และ “ฝันค้าง” ไปพร้อมๆ กัน (เฮ้อ)

อย่ากระนั้นเลย เอามาเล่าสู่กันฟังในหมู่นักอ่านนิยายจีนกำลังภายในชาวไทยที่ต้องรอคิวการแปลของอาจารย์ น.นพรัตน์ ดีกว่า จะได้มาเฝ้าฝันนับวันรอร่วมกัน อิอิ

ผมเคยเล่าให้ฟังไปแล้วถึงเรื่องที่จะมีคิวนิยายจีนกำลังภายในจากนักเขียนรุ่นใหม่ออกวางตลาดในปีนี้ เริ่มจากโปรเจกต์ “จอมขมังเวทย์” (ที่ชื่อหนังสือยังไม่ลงตัวนะครับ เรียกชื่อนี้กันระหว่างคุณก่อศักดิ์กับอาจารย์ น.นพรัตน์) ที่ผมชอบที่อยากจะเรียกว่า “ยุทธจักรจอมขมังเวทย์” เพราะดูเป็นชื่อที่ฟังเร้าใจ คนอ่านชาวไทยจะฟังแล้วนึกตามได้ทันทีถึงเรื่องราวของนักปราบผีแห่งบู๊ลิ้ม เรื่องนี้ฟังว่ามากันเป็นหมู่คณะหลากหลายเชื้อชาติเลยนะครับ นอกจากพล็อตเรื่องดีแล้ว แนวทางการเขียนยังจัดได้ว่าสร้างบรรยากาศได้น่าสะพรึงกลัวสมจริงสมจังมาก เรื่องนี้น่าจะมีคิวออกมาหลังจาก “กระบี่อภิญญา” ที่จบแล้ว 4 เล่ม ไม่น่านานเกินรอคงจะได้พบกัน

ถัดจากนั้น ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นคิวของเรื่องราวในประวัติศาสตร์ยุคเดียวกันกับ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” ที่แต่งโดย “จิ่วถู” (ยังไม่กำหนดชื่อเรื่องอีกเช่นกัน) ซึ่งที่ผมเคยเกริ่นไปแล้วว่าน่าติดตามเรื่องนั้นหรือเปล่า คุณก่อศักดิ์ถึงกับบอกว่า เรื่องนี้อาจจะทำให้ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” กลายเป็นเด็กๆ ไปเลยทีเดียว หรืออาจจะเป็นเรื่องเก่าที่ถือเป็นตำนานนิยายจีนกำลังภายในของ “กิมย้ง” เอามาปรับปรุงใหม่อย่าง “อุ้ยเสี่ยวป้อ” ที่อาจารย์ น.นพรัตน์บรรจงเรียบเรียงให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด

หลังจากนั้น จึงจะถึงคิวของเรื่องใหม่ล่าสุดที่คุณก่อศักดิ์ได้เล่าให้ฟังยั่วกิเลสของผม เรื่องนี้มีความพิเศษหลายประการด้วยกัน นั่นก็คือ เป็นเรื่องที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากในอินเตอร์เน็ต โดยผู้อ่านถึงกับแบ่งกันเป็นสองฝ่าย “ชอบมาก” กับ “ไม่ชอบเลย” (แต่ก็ติดตามอ่าน) ทั้งนี้ก็เพราะตามขนบนิยายจีนกำลังภายในดั้งเดิมนั้น ตัวเอกของเรื่องต้องมีความสูงส่งทั้งเรื่องวิทยายุทธและคุณธรรม แต่เรื่องนี้ไม่ใช่!

ผมเคยแอบนินทาพระเอกส่วนใหญ่ของนิยายจีนกำลังภายในไปแล้ว ก็คือพระเอกมักจะไม่รู้ว่าทำมาหากินอะไร รู้แต่ว่าเยี่ยมยุทธแล้วก็ยังรวยอีกต่างหาก ไม่ต้องทำมาหากินแต่มีตั๋วแลกเงินเป็นปึกๆ ดังนั้นเราก็จะไม่เห็นฉากของพระเอกทำมาหาเลี้ยงชีพเท่าไรนัก (แต่ก็มีบ้างอย่างบางเรื่องที่พระเอกเป็นเปาเปียวของสำนักคุ้มกันภัยเป็นต้น)

แต่พระเอกของเรื่องที่คุณก่อศักดิ์พูดถึงนี้ เป็น “มาเฟียบู๊ลิ้ม” ครับ

ดังที่กล่าวว่าข้างต้นว่า คนอ่านเรื่องนี้ จะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่เท่าๆ กันไปเลย คือ “ชอบ” และ “ไม่ชอบ” คงคล้ายๆ กับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรื่อง “อุ้ยเสี่ยวป้อ” ที่ตัวเอกของเรื่องนั้น ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานพระเอกตามแบบฉบับพระเอกในนิยายยุทธจักรบู๊ลิ้ม ตัวเอกของเรื่องนี้ ไม่รวยเหมือนพระเอกส่วนใหญ่ที่เราพบเจอในนิยายจีนกำลังภายในครับ เป็นตัวเอกที่ต้องทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพ และก็มีอาชีพในแวดวง “ธุรกิจมืด” เสียด้วยหน่ะสิ ดังนั้นตัวเอกในเรื่องนี้จึงไม่เป็น “สีขาว” ที่บริสุทธิ์น่ายกย่อง หากแต่เป็น “สีเทา” ที่บางครั้งก็ต้องพัวพันกับเรื่องเลวร้ายเพื่อความอยู่รอด (เพราะมีอาชีพเช่นนั้น)

ผมชอบชื่อนี้นะครับ “มาเฟียบู๊ลิ้ม” แม้ว่ายังไม่มีการตกลงกันว่าจะใช้ชื่อดังกล่าวนี้หรือไม่ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่เหมาะสม เพราะให้คำจำกัดความได้ดี และติดปากง่าย เหมาะแก่การทำตลาดเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อพูดถึงเรื่อง “บู๊ลิ้ม” แล้ว คุณก่อศักดิ์เล่าต่อด้วยว่า จริงๆ แล้ว ความหมายในภาษาไทยนั้น คำว่า “ยุทธจักร” มักจะสับสนกับคำว่า “กังโอ๊ว” จริงๆ แล้ว “กังโอ๊ว” นั้นน่าจะมีความหมายในเชิงของ “subset” ของ “ยุทธจักร” มากกว่า “กังโอ๊ว” จะสะท้อนภาพของยุทธจักรในเชิงการทำมาหากิน ในรูปแบบของ “ยุทธจักรที่มีการประกอบธุรกิจ” ส่วน “บู๊ลิ้ม” เป็นภาพรวม หรืออาจจะสะท้อนภาพของยุทธจักรแนวที่พระเอกเป็นลูกตระกูลใหญ่ร่ำรวยเงินทองไม่ต้องหาเลี้ยงชีพฝึกแต่วิทยายุทธให้เก่งเพียงอย่างเดียว เป็นเรื่องราวที่เน้นวิทยายุทธและการผดุงคุณธรรม

“กังโอ๊ว” จึงอาจที่จะกล่าวได้ว่า น่าจะสอดคล้องกับชีวิตจริงทางสังคมในการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากกว่า

น่าจะคุ้นหูกันบ้างกับคำว่า “กังโอ๊ว” นี้ เคยได้ยิน “เฉี่ยเหงากังโอ๊ว” กันบ้างใช่ไหมครับ เอ้า...ถ้าหากยังมีคนไม่คุ้นชื่อนี้ ลองฟังภาษาไทยดูนะครับ “เฉี่ย” แปลว่ายิ้มหัวเราะ “เหงา” แปลว่าหยิ่งผยอง ส่วน “กังโอ๊ว” นั้นรู้จักในภาษาไทยว่า “ยุทธจักร” ดังนั้นหากจะพูดว่า “ยิ้มเย้ยยุทธจักร” น่าจะมีคนร้อง “อ๋อ” และเอ่ยคำว่า “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ออกมาสักคนหล่ะน่า

จะเห็นได้ว่า “กังโอ๊ว” จะถูกแปลเหมารวมไปเลยว่า “ยุทธจักร” ดังที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น แต่สำหรับเรื่อง “มาเฟียบู๊ลิ้ม” นี้จะเป็นเรื่องราวที่สะท้อนภาพของคำว่า “กังโอ๊ว” ได้อย่างชัดตรงมากเรื่องหนึ่ง กล่าวคือเป็นเรื่องของ “ยุทธจักรที่มีการทำมาหากิน” เป็นตัวเอกที่ประกอบอาชีพ และอาชีพดังกล่าวก็เป็น “ธุรกิจมืด” เสียด้วย พูดง่ายๆ พระเอกของเรื่องนี้ก็คือหนึ่งใน “มาเฟีย” ที่เรารู้จักและนึกภาพออกกันนั่นแหละ

ฟังแล้วก็อยากอ่านเร็วๆ ครับ แต่คงรอคิวกันอีกระยะหนึ่ง ไล่เรียงไปจาก “ยุทธจักรจอมขมังเวทย์” ตามมาด้วยเรื่องท้าทายมังกรคู่สู้สิบทิศของ “จิ่วถู” คั่นกลางด้วยการหยิบตำนานเรื่องเก่ามาทำใหม่ให้สมบูรณ์อย่าง “อุ้ยเสี่ยวป้อ” กันก่อน จากนั้นจึงน่าจะถึงคิวของ “มาเฟียบู๊ลิ้ม” นะครับ (โฆษณาให้ขนาดนี้ พี่ระวิและพี่วิฑูรแห่งสยามอินเตอร์ฯ น่าจะส่งหนังสือมาให้แบบเร็วกว่ากว่าผมวิ่งหาเองตามแผงนะครับ 555)

ในแวดวงนิยายจีนกำลังภายในนั้น ใช่ว่ารุ่นใหม่จะมีแค่ “หวงอี้” หรือ “เฟิ่งเกอ” แต่เราเริ่มรู้จักเรื่องราวและนักเขียนใหม่ๆ อย่างเช่น “เจิ้งฟง” และหลังจากนี้จะมีเรื่องราวและนักเขียนรุ่นใหม่ที่ยอดยุทธเรียงหน้ากันมาเป็นทิวแถว

ยุทธจักรนิยายจีนกำลังภายในของไทยกำลังเร้าใจและลุ้นระทึก
กำลังโหลดความคิดเห็น