xs
xsm
sm
md
lg

ตัวละครยุค “หมิง” ในนิยายจีนกำลังภายในของ “กิมย้ง” : เพ็กฮ้วยเกี่ยม (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

เมื่อตอนที่แล้ว ผมได้เล่าว่า ผมได้มีโอกาสนั่งจับเข่าคุยเรื่องนิยายจีนกำลังภายในกับคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ และอาจารย์ น.นพรัตน์ และทิ้งประเด็นไว้ว่า ในบทสนทนาตอนหนึ่ง ได้มีการคุยถึง “ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง” ในช่วงสิ้นสุดราชวงศ์ที่เป็นยุคของ “ฮ่องเต้ฉงเจิน” ซึ่งคุณก่อศักดิ์ได้เล่าให้ฟังถึงการค้นคว้าของท่านที่ได้พบเจอ การตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับช่วงปลาย “ราชวงศ์หมิง” โดยนักศึกษาประวัติศาสตร์จีนรุ่นใหม่ ที่อาจจะไม่สอดคล้องกับการรับรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ได้ยินได้ฟังกัน เรื่องนี้ถือเป็นข้อถกเถียงที่น่าสนใจ ที่ผมจะกล่าวถึงรายละเอียดในภายหลัง

แต่ก่อนอื่นใด หากจะชวนพูดคุยกันถึงเรื่องนักเขียนนิยายกำลังภายในจีนที่นิยมสร้างโครงเรื่องโดยนำเอาประวัติศาสตร์ของจีนมาเป็นโครงหลัก และจินตนาการเรื่องราว สร้างตัวละคร โดยผูกโยงตัวละครจริงในประวัติศาสตร์ สำหรับแวดวงนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในยุคปัจจุบัน ก็มิอาจที่จะไม่กล่าวถึง “หวงอี้” แต่หากจะพูดถึงนักเขียนที่จัดเป็นตำนาน สำหรับเรื่องแนวนี้ก็คงจะต้องเป็น “กิมย้ง” เพชรน้ำเอกแห่งวงการนิยายจีนกำลังภายใน

“ยอดยุทธนักเขียน” ในแวดวงนิยายจีนกำลังภายในนั้น คุณสมบัติมาตรฐานนั้น แน่นอนว่า นอกจากเขียนได้อย่างสนุกสนานตามสไตล์นิยายกำลังภายในแล้ว สิ่งที่แตกต่างระหว่างนักเขียนธรรมดา กับ “นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่” ก็คือ การสร้างเรื่องที่แฝงความโดดเด่นด้านปรัชญาที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ได้ลึกซึ้ง แต่สำหรับความเด่นล้ำที่เพิ่มเติมเข้ามาของ “กิมย้ง” ก็คือ การนำเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาผสมผสานกับวิถีแห่งกำลังภายในได้อย่างกลมกลืน

“กิมย้ง” วางโครงเรื่องด้วยประวัติศาสตร์ แล้วทาบซ้อนด้วยโครงเรื่องตามจินตนาการนิยายจีนกำลังภายใน จากนั้นสร้างตัวละครหลักขึ้นมาสองกลุ่มเช่นกัน กลุ่มแรก คือกลุ่มที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์ โดยที่พยายามจะรักษาความสมจริงของตัวละครเอาไว้ โดยเสริมเพิ่มเติมจินตนาการไปพอเป็นสีสัน แต่ยังคงรูปลักษณ์หลักของตัวละครเอาไว้ อีกกลุ่มคือ ตัวละครที่สร้างขึ้นมาจากจินตนาการล้วนๆ กลุ่มนี้เป็นตัวเดินเรื่องได้ตามชอบใจตามครรลองแนวทางนิยายจีนกำลังภายใน แต่ทั้งนี้ก็พยายามไม่ให้หลุดกรอบเกินจริงในทางประวัติศาสตร์ มีความยึดโยงไว้บ้าง เป็นรูปแบบ “จินตนาการ” แล้วสอดแทรกความ “สมจริง” ที่ผกผันกับกลุ่มตัวละครอิงประวัติศาสตร์ในกลุ่มแรก ที่เน้น “สมจริง” แล้วจึงค่อยเติมแต้ม “จินตนาการ”

อย่างไรก็ดี ก็ลืมเสียไม่ได้ที่จะพูดถึงตัวละครกลุ่มพิเศษ ที่นอกเหนือจากสองกลุ่มที่กล่าวข้างต้น กลุ่มนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นตัวละครที่พยายามจะสร้างให้ “เสมือนจริง” คืออาจจะมีความเกี่ยวพันกับบุคคลในประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีตัวละครเช่นนั้นจริงหรือไม่ แล้วก็แต่งแต้มจินตนาการ (ที่สามารถให้น้ำหนักในส่วน “จินตนาการ” ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องยึดเรื่อง “สมจริง” มาก เหมือนตัวละครที่อิงประวัติศาสตร์ที่ผมพูดถึงในกลุ่มแรก) ยกตัวอย่างเช่น “อาเคอ” หญิงสาวของ “อุ้ยเสี่ยวป้อ” ซึ่งหญิงสาวผู้นี้นอกจากจะมีบทบาทสำคัญ มีความสวยงาม แถมยังคลอดลูกคนแรกให้กับ “อุ้ยเสี่ยวป้อ” แล้ว ยังมีประวัติความเป็นมาอิงกับตัวละครทางประวัติศาสตร์อีกด้วย กล่าวถือ นางได้รับบทบาทให้เป็นลูกสาวของ “เฉินหยวนหยวน” ที่สับสนว่ามีบิดาเป็นใครกันแน่ระหว่าง “หลี่จื้อเฉิง” ขุนโจรที่บุกยึดชิงอำนาจจาก “ฉงเจิน” หรือแม่ทัพ “อู๋ซานกุ้ย” ที่มีจารึกชื่อในประวัติศาสตร์ว่าชักศึกแมนจูเข้าบ้าน (เรื่องราวของ “ฉงเจิน-หลี่จื้อเฉิง-อู๋ซานกุ้ย” และ “หยวนฉงฮ่วน” จะพูดถึงต่อไปหลังจากนี้)

เมื่อพูดถึง “อาเคอ” แล้วก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงอีกหนึ่งกรณีที่เป็นตัวอย่างอันดีเกี่ยวกับแนวทางการสร้างตัวละครของ “กิมย้ง” นั่นก็คือเรื่องราวของ “องค์หญิงแขนขาด” ที่เป็นราชธิดาของ “ฉงเจิน” ที่โดนบิดาของตนเองฟันแขนขาด ดังที่มีจารึกในประวัติศาสตร์ “องค์หญิงฉางผิง” นี้ ได้รับการแต่งแต้มให้กลายเป็นปรมาจารย์ผู้เยี่ยมยุทธในเรื่อง “อุ้ยเสี่ยวป้อ” นี่เช่นกัน ตามท้องเรื่อง “องค์หญิงแขนขาด” กลายมาเป็น “จอมยุทธแม่ชี” ผู้ที่มีความแค้นกับ “อู๋ซานกุ้ย” ในฐานะตัวการในการชักนำแมนจูเข้าบ้านจนสิ้นราชวงศ์หมิง จึงจับตัวเอา “อาเคอ” ที่คิดว่าเป็นลูกสาวของ “อู๋ซานกุ้ย” (แต่ในเรื่องแต่งให้ออกมาในรูป ความจริง “อาเคอ” เป็นลูกของ “หลี่จื้อเฉิง” ที่เกิดกับ “เฉินหยวนหยวน” ตอนเข้ามาบุกยึดเมืองหลวง) จึงลักพาตัว “อาเคอ” ตั้งแต่ยังเด็กมาเป็นลูกศิษย์ถ่ายทอดวิชาเพื่อวางแผนให้ไปลอบสังหารบิดาของเธอเอง เป็นการล้างแค้นแบบเอาให้เจ็บแสบ

ซึ่งหากยกมือนับนิ้วทางประวัติศาสตร์ ก็เห็นจะพอพูดกันได้กับเรื่องช่วงของเวลา ที่ยุคสมัยที่ “กิมย้ง” ได้วางโครงเรื่อง “อุ้ยเสี่ยวป้อ” เอาไว้ ตัวเลขอายุของ “องค์หญิงแขนขาด” ก็น่าจะประมาณ 40 กว่าๆ ซึ่งพอจะก้าวขึ้นเป็นจอมยุทธระดับปรมาจารย์ได้ไม่น่าเกลียด (เรื่องราวตามบันทึกประวัติศาสตร์ไม่น่าจะมีรายละเอียดของ “องค์หญิงฉางผิง” มากนัก แต่ “กิมย้ง” จับเอาองค์หญิงผู้อาภัพท่านี้ มาเป็นตัวละครที่น่าสนใจคนหนึ่งทีเดียว)

จะเห็นได้ว่า “กิมย้ง” เอง ค่อนข้างจะเป็นผู้ที่ใส่ใจในเรื่องระยะเวลาในการวางตัวละคร ลงในโครงประวัติศาสตร์ในยุคนั้นๆ ที่ได้สร้างโครงเรื่องขึ้น แต่ขณะที่ “หวงอี้” จะเน้นเรื่องความสนุกสนานตื่นเต้น มีการจับตัวละครเด่นทางประวัติศาสตร์มาชนกันโดยไม่คำนึงถึงเรื่อง “ช่วงเวลา” เท่าใดนัก จะเห็นได้จากการนำ “ทัวปากุย” มาเจอะเจอกัน “หลิวอี้” เพื่อสร้างสีสันเร้าใจให้นิยายจีนกำลังภายใน “จอมคนแผ่นดินเดือด”

“กิมย้ง” ในฐานะนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในผู้ที่นิยมนำประวัติศาสตร์มาทาบทอกับจินตนาการนั้น เขามีผลงานประมาณ 10 กว่าเรื่อง เรื่องเด่นๆ จะมีการนำเอาประวัติศาสตร์ยุค “ซ้อง-หยวน-หมิง-ชิง” โดยความเห็นส่วนตัวของผม นิยายจีนกำลังภายในที่เด่นที่สุดของเขาแอบอิงอยู่กับ “ราชวงศ์ซ้อง” และตำนานอันยิ่งใหญ่ของ “มังกรหยก” (ภาคสุดท้ายของมังกรหยกอยู่ในช่วงราชวงศ์หยวน) รองลงมาก็ได้แก่ยุค “ราชวงศ์ชิง” จากเรื่องแรกในชีวิตนักประพันธ์ “จอมใจจอมยุทธ” ตามมาด้วย “จิ้งจอกภูเขาหิมะ-จิ้งจอกอหังการ์” ตบท้ายด้วยนิยายจีนกำลังภายในเรื่องสุดท้ายของเขา “อุ้ยเสี่ยวป้อ”

หากมีโอกาส ผมจะหาทางพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ “ซ้อง” และเรื่องราวของ “มังกรหยก” จากผู้รู้ และนำเรื่องราวมาพูดคุยกันในลำดับต่อไป

จะเห็นได้ว่า “ราชวงศ์หมิง” นั้นมีเพียงเรื่องเดียวที่เห็นเด่นชัดก็คือ “เพ็กฮ้วยเกี่ยม” (ส่วนอีกเรื่อง “กระบี่เย้ยยุทธจักร” ที่นับว่าอยู่ในช่วงเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้เน้นสาระประวัติศาสตร์มากนัก) อย่างไรก็ดี “เพ็กฮ่วยเกี่ยม” นั้น มีจุดเด่นที่น่าสนใจอยู่สองประการด้วยกัน เรื่องแรกก็คือ เรื่องนี้เป็นนิยายจีนกำลังภายในเรื่องที่สองของเขาต่อจาก “จอมใจจอมยุทธ” ตัวละครต่างๆ ในเรื่องนี้จะไปปรากฏอยู่ในอีกหลายเรื่องถัดจากนั้น ประการที่สองก็คือที่ผมกล่าวไว้แล้วข้างต้น ว่าเรื่องนี้ ถือเป็นนิยายจีนกำลังภายในที่หยิบเอาประวัติศาสตร์มาเป็นโครงหลักส่วนใหญ่ของเรื่อง โดยไม่ได้สร้างเสริมเติมต่อโครงให้มีหน้าตาเปลี่ยนไปให้มีสีสันแพรวพรายดังเช่นเรื่อง “มังกรหยก” ดังนั้นใช่ว่า “กิมย้ง” จะให้ความสำคัญประวัติศาสตร์ในยุคนี้น้อยกว่ายุคอื่นก็ไม่ถูกต้องนักที่จะพูดเช่นนั้น

ประวัติศาสตร์ยุคหมิง จึงเป็นช่วงที่น่าสนใจด้วยเหตุหลายประการ ในมุมมองของการอ่านนิยายจีนกำลังภายในสไตล์ “กิมย้ง” และหากมองจากเรื่องราวของ “เพ็กฮ้วยเกี่ยม” แล้ว เรื่องราวการท่องยุทธภพของ “อ้วงเซ้งจี่” (ตามที่ท่านอาจารย์ น.นพรัตน์ได้แปลไว้ ในสมัยที่นิยายจีนกำลังภายในยังนิยมใช้ชื่ออ่านตามภาษาแต้จิ๋ว โดยที่ แม่ทัพ “หยวนฉงฮ่วน” ในเรื่องนั้นเรียก “อ้วงชงฮ้วง” เป็นบิดาของ “อ้วงเซ้งจี่” พระเอกของเรื่อง ส่วนกษัตริย์ “ฉงเจิน” ในเรื่อง “เพ็กฮ้วยเกี่ยม” ก็คือ “ชงเจ็ง” ส่วน “อู๋ซานกุ้ย” คือ “โง้วซำกุ่ย” ) ก็เดินตามโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์เป็นหลัก โดยไม่ได้มีจินตนาการในส่วนของโครงเรื่องให้กลายเป็นโครงใหม่ เรียกได้ว่า หยิบเอาตำนานประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น แล้วแต้มเติมตัวละครลงไป โดยแค่มีประเด็น “เปิดเรื่อง” และ “ปิดเรื่อง” โดยบัณฑิตชาวจีนที่ไปเติบโตในต่างแดนแล้วต้องการกลับมาดินแดนบ้านเกิด (ตัวละครนี้มีฉากเกี่ยวข้องแค่ตอนต้นเรื่องกับปิดฉากเรื่องเท่านั้น) จากนั้นก็ไหลเข้าสู่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์เลย

เรื่องนี้คงต้องว่ากันยาว เนื้อที่ตอนนี้ไม่เพียงพอ ผมขอยกยอดไปต่อตอนหน้า จะได้เล่าแบบย่อๆ กับประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง และจะพูดถึงโครงเรื่องของนิยายจีนกำลังภายใน “เพ็กฮ้วยเกี่ยม” ฉายภาพให้เห็นลีลาของ “กิมย้ง” ในการนำเอาประวัติศาสตร์มาผูกโครงและจินตนาการเป็นเรื่องราว จากนั้น ผมจะนำเสนอมุมมองจากนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ที่ค้นข้อมูลและนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจสำหรับเรื่องราวของ “ราชวงศ์หมิง”

โดยประเด็นที่นำเสนอใหม่ก็จะเป็นเรื่องที่พูดถึง “ฉงเจิน” ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของหมิงในอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งเท่าที่ผ่านมา “ฉงเจิน” มีภาพลักษณ์ที่ถูกวางให้อยู่ในซีกของ “ผู้ร้าย” ในขณะที่ฝั่งตัวเอกคือ แม่ทัพ “หยวนฉงฮ่วน” (อ้วงชงฮ้วง) บิดาของ “อ้วงเซ้งจี่” ในนิยายจีนกำลังภายใน “เพ็กฮ้วยเกี่ยม”

“ฮ่องเต้ฉงเจิน” ที่ตกอยู่ในฐานะ “ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์” ในอีกมุมมองจะเป็นเช่นไร โปรดติดตามตอนต่อไป..

กำลังโหลดความคิดเห็น