xs
xsm
sm
md
lg

ปริศนาการตายของ “หยวนฉงฮ่วน” : เพ็กฮ้วยเกี่ยม (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

เมื่อตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึงเรื่องของ “กิมย้ง” เกี่ยวกับการนำเอาประวัติศาสตร์มาวางโครงเรื่องสร้างเป็นนิยายจีนกำลังภายใน “เพ็กฮ้วยเกี่ยม” หรือที่ให้ชื่อเป็นภาษาไทยโดยท่านอาจารย์ “น.นพรัตน์” ว่า “กระบี่เลือดเขียว” ซึ่งมีความหมายถึง “ความกล้าหาญ” ทั้งนี้ความกล้าหาญในความหมายดังกล่าวก็คือ ความกล้าหาญที่จะกระทำเพื่อส่วนรวมเพื่อประเทศชาติอย่างไม่ลังเลแม้จะเผชิญกับความยากลำบากหรือแม้กระทั่ง “ความตาย”

โดยตัวละครเอกในเรื่องนั้นก็คือ “อ้วงเซ้งจี่” (ตามที่ท่านอาจารย์ น.นพรัตน์ได้แปลไว้ ในสมัยที่นิยายจีนกำลังภายในยังนิยมใช้ชื่ออ่านตามภาษาแต้จิ๋ว) เป็นลูกชายของ “อ้วงชงฮ้วง” (จีนกลางคือ “หยวนฉงฮ่วน” ) ที่เป็นแม่ทัพแห่งราชวงศ์หมิงที่ถูกฮ่องเต้ “หมิงซือจง” สั่งประหาร “อ้วงเซ้งจี่” นี้เป็นตัวละครกล้าหาญและถือคุณธรรมเป็นที่ตั้ง ตัวละครเอกของนิยายจีนกำลังภายใน “เพ็กฮ้วยเกี่ยม” ที่เป็นนิยายจีนกำลังภายในเรื่องที่สองของ “กิมย้ง” ผู้นี้ เคยได้รับการกล่าวขานว่า เป็นพระเอกที่มีบุคลิกผสมผสานระหว่าง “ตั้งแกลก” ตัวเอกใน “จอมใจจอมยุทธ” ที่เป็นเรื่องแรกของ “กิมย้ง” และ “ก๊วยเจ๋ง” ที่เป็นมหากาพย์ที่สร้างชื่อเสียงให้ “กิมย้ง” โด่งดังในโลกนิยายจีนกำลังภายใน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่า “เพ็กฮ้วยเกี่ยม” นี้ มีพระเอกตามท้องเรื่องคือ “อ้วงเซ้งจี่” แต่ในเชิงโครงสร้างทางประวัติศาสตร์ที่ให้คนรุ่นหลังตระหนักในความ “กล้าหาญและเสียสละ” ของวีรชนในอดีต เราจะพบว่าเมื่ออ่าน “เพ็กฮ้วยเกี่ยม” แล้ว “พระเอก” ที่แฝงอยู่ในเรื่องของความเป็นตัวแทนของ “เลือดเขียว” ที่สะท้อนถึงความหาญกล้ากระทำเพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาตินั้น ก็คือบิดาของ “อ้วงเซ้งจี่” ก็คือ “หยวนฉงฮ่วน” ที่แม้ไม่ปรากฏบทบาทในเรื่อง แต่ก็ได้รับคำยกย่องให้เป็น “วีรบุรุษพระเอก” ทางประวัติศาสตร์ได้เต็มภาคภูมิเมื่ออ่านนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้จบลง

เรามักจะเห็น “พระเอกซ้อนพระเอก” อยู่บ่อยครั้งในนิยายจีนกำลังภายในที่อาศัยโครงจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของ “กิมย้ง”

สำหรับ “หยวนฉงฮ่วน” นั้น ในประวัติศาสตร์คือแม่ทัพกล้าหาญชาญศึกของราชวงศ์หมิง ซึ่งต่อท้านทัพแมนจูที่นำโดย “หวงไท่จี๋” หลายครั้งหลายครา แต่ครั้งที่ “หวงไท่จี๋” ยกทัพมาประชิดเมืองหลวง “หยวนฉงฮ่วน” กลับถูกเล่ห์เพทุบายใส่ไคล้จากขันทีจนโดน “ฮ่องเต้หมิงซือจง” สั่งประหารชีวิต ในทางประวัติศาสตร์ หลังจากสิ้นแม่ทัพชาญศึกอย่าง “หยวนฉงฮ่วน” บ้านเมืองก็ระส่ำระสายจากทัพแมนจู พร้อมกันนั้นก็มีศึกภายในที่มี “กองทัพประชาชน” กลุ่มต่างๆ ลุกฮือต่อต้าน “ฮ่องเต้หมิงซือจง” ในที่สุดราชวงศ์หมิงก็ถูกล้มล้างโดย “กองทัพประชาชน” ของ “หลี่จื้อเฉิง” และ “ฮ่องเต้หมิงซือจง” ก็หนีออกไปผูกคอตายเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์หมิงนับแต่นั้น อย่างไรก็ดีสุดท้าย “กองทัพแมนจู” ก็บุกเข้ามาได้สำเร็จและ “หวงไท่จี๋” ก็สถาปนา “ราชวงศ์ชิง” และปกครองประเทศจีนสืบต่อจาก “ราชวงศ์หมิง”

“หยวนฉงฮ่วน” จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระเอก” ในขณะที่ “หมิงซือจง” ถูกมองเป็น “ผู้ร้าย” แต่ในความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ มีข้อมูลที่วิเคราะห์โดยนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมามองในอีกแง่มุม โดยที่ผมได้รับฟังเรื่องราวดังกล่าวจากคุณ “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ผู้ที่ทั้งนิยมชมชอบในการอ่านและศึกษา “นิยายจีนกำลังภายใน” ควบคู่ไปกับ “เรื่องราวทางประวัติศาสตร์” และผมเห็นว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ จึงถือโอกาสนำเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง

ทั้งนี้ ก่อนอื่น มีคำถามที่ควรตั้งไว้เป็นประเด็น และถือว่าน่าพิเคราะห์พิจารณา นั่นคือ “หมิงซือจง” ตัดสินใจที่จะสั่งประหาร “หยวนฉงฮ่วน” เนื่องเพราะการยุยงโดยขันที จริงหรือไม่?

ซึ่งหากมองว่าเป็นตามนั้นจริง “หมิงซือจง” ก็น่าจะถูกมองเป็น “ฮ่องเต้โฉดเขลา” ที่เชื่อคำยุแหย่จนทำให้สูญสิ้นประเทศชาติสิ้นสุดราชวงศ์หมิง

แต่หากมองในประเด็นนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปดูข้อมูลในประวัติศาสตร์อีกเช่นกันว่า เมื่อสมัยต้นรัชกาลของ “หมิงซือจง” นั้น ฮ่องเต้ผู้นี้ขึ้นมาสู่ตำแหน่งเมื่อวัยเพียง 17 พรรษา ท่ามกลางสถานการณ์ที่ “ขันทีเว่ยจงเสียน” เรืองอำนาจมาตั้งแต่ฮ่องเต้องค์ก่อน ในยุคต้นของ “หมิงซือจง” คือการต่อสู้ที่จะโค่นล้มอำนาจของขันที เพื่อช่วงชิงอำนาจในการปกครองกลับคืนมา การต่อสู้กับขันทีเรืองอำนาจโดยฮ่องเต้หนุ่ม และจบลงด้วยชัยชนะของ “หมิงซือจง” ที่สามารถโค่นล้ม “เว่ยจงเสียน” ได้อย่างราบคาบ ก็ต้องถือว่า “หมิงซือจง” นั้นไม่ธรรมดา ไฉนเลยในช่วงที่เติบใหญ่ขึ้นมาจะไปอ่านเกมการยุแหย่ของขันทีที่เป็นเศษเดนที่หลงเหลือจาก “เว่ยจงเสียน” ไม่ออกกระนั้นหรือ?

ถ้ามองในอีกแง่มุมหนึ่งว่า “หมิงซือจง” ผู้ที่เคยต่อสู้ทางอำนาจกับ “ซูเปอร์ขันที” มาตลอดทั้งชีวิต เหตุใดจึงตัดสินใจประหาร “หยวนฉงฮ่วน” เล่า? หากไม่ใช่ประเด็น “หลงเชื่อขันที” แล้วเหตุใด “หยวนฉงฮ่วน” จึงโดนสั่งประหาร?

มีอยู่สองประเด็นที่ต้องตั้งเป็น “ธง” ขึ้นมาพิจารณา

ประเด็นแรก คือ สถานการณ์ที่ล้อมรอบ “หมิงซือจง” ในขณะนั้น

ประเด็นที่สอง คือ การตัดสินใจในสถานะ “ฮ่องเต้” ที่จะต้องยึดโครงสร้างทางอำนาจในการบริหารงานแบบ “เจ้าแผ่นดิน” ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อประเทศชาติบ้านเมือง

มาดูประเด็นแรกกันก่อน สถานการณ์ที่ล้อมรอบตัวของ “หมิงซือจง” ในขณะนั้นได้แก่

หนึ่ง ศึกสงครามที่รอบด้าน ทั้งศึกนอกอย่าง “ทัพแมนจู” และศึกในอย่าง “กองทัพประชาชน” กลุ่มต่างๆ อีกทั้งยังมี “เกมการเมืองในวัง” ที่ยังมีกลุ่มของ “อำนาจเก่า” ของขันที “เว่ยจงเสียน” ที่ยังหลงเหลืออยู่

สอง ปัญหาความอดอยากของประชาชนที่เกิดจากภัยธรรมชาติจากดินฟ้าอากาศ ซึ่งทำให้ “บ้านเมืองอยู่ในสถานะระส่ำระสาย”

ดังนั้น มาสู่ประเด็นที่สอง หากมองอย่างคนที่อยู่ในสถานะผู้รับผิดชอบต่อบ้านเมืองอย่าง “ฮ่องเต้” ในขณะนั้น หลักการสำคัญที่ต้องทำคือต้องกุมอำนาจสูงสุดอย่าง “เบ็ดเสร็จ” และ “เด็ดขาด”

หันมาดูที่สถานะของ “หยวนฉงฮ่วน” กันบ้าง แม่ทัพผู้นี้นั้นมีบุคลิกของแม่ทัพชาญศึกผู้มีความกล้าหาญและเชื่อมั่นในฝีมือการรบของตนเอง ในขณะเดียวกันก็มีบุคลิกของ “นักเลง” ที่มากน้ำใจ

ว่ากันตามจริงแล้ว ในเบื้องแรกนั้น “หมิงซือจง” ต้องการเรียกตัวอาจารย์ของ “หยวนฉงฮ่วน” ที่มีนามว่า “ซุนเฉิงจง” ที่เป็นผู้อาวุโสแกร่งประสบการณ์มาช่วยเหลือในการนำทัพต่อต้าน “แมนจู” มากกว่า แต่ “ซุนเฉิงจง” นั้นส่งศิษย์เอกที่เป็นคนหนุ่มฉกรรจ์อย่าง “หยวนฉงฮ่วน” มารับใช้แทน (แม้จะอายุห่างกันแค่เพียงประมาณ 10 กว่าปี แต่ในด้านประสบการณ์นั้น “ซุนเฉิงจง” เหนือกว่า “หยวนฉงฮ่วน” มากนัก ในประวัติศาสตร์นั้น การตายของ “ซุนเฉิงจง” ก็ยิ่งใหญ่และน่านับถือ เขาสิ้นชีวิตตอนอายุ 70 กว่าปี จากการโดนทหารราชวงศ์ชิงจับตัว และไม่ยอมทรยศสวามิภักดิ์)

แม่ทัพหนุ่มอย่าง “หยวนฉงฮ่วน” นั้น แกร่ง กล้าศึก และห้าวหาญ อีกทั้งยังมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง มีคนมอง “หยวนฉงฮ่วน” ในมุมด้านลบว่ามีบุคลิก “ห่ามและขี้โม้” เสียด้วยซ้ำ จากการที่เขาพอก้าวขึ้นมารับหน้าที่แม่ทัพ ก็ประกาศก้องว่าจะจัดการเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถึงกับขีดเส้นตายให้ตัวเองด้วยซ้ำว่าจะ “เผด็จศึกภายใน 5 ปี” ซึ่งตรงนี้ดูจะแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในตัวเองจนเกินไป และขณะเดียวกันก็อาจมองได้ว่า “ปรามาสข้าศึก” จนเกินไป จึงในลำดับชั้นของผู้กุมอำนาจสูงกว่าในฐานะผู้บังคับบัญชาของเขาอย่าง “ฮ่องเต้” ก็อาจมองได้เช่นกันว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญในสองเรื่องดังกล่าวคือเรื่อง “ขีดเส้นตายให้ตัวเอง” และ “ดูถูกข้าศึก” ซึ่งสองเรื่องนี้ สามารถเป็น “จุดอ่อน” ของ “แม่ทัพ” ที่อาจจะนำพาประเทศชาติพ่ายแพ้สงคราม

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นก่อนหน้าที่ “หยวนฉงฮ่วน” ไปฆ่า “เหมาเหวินหลง” บุคคลที่กุมกลไกการค้าขายอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการพาณิชย์ “เหมาเหวินหลง” ผู้นี้มีกองทัพเป็นของตัวเองในฐานะที่เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ติดต่อการค้ากับต่างแดนซึ่งสมัยก่อนกระทำกันทางทะเล ในกรณีของ “เหมาเหวินหลง” นี้ก็ใช่ว่าจะเป็นคนดีบริสุทธิ์ผุดผ่อง อาจจะกล่าวได้ว่าเขาผู้นี้ก็เป็นหนึ่งในข้าราชการที่มีภาพ “คอร์รัปชั่น” ซึ่งเป็นจุดด่างพร้อยของ “ราชวงศ์หมิง” เช่นกัน

“เหมาเหวินหลง” ที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งคาบสมุทรเหลียวตงนั้น ไม่ยอมลงให้กับ “หยวนฉงฮ่วน” และในที่สุดก็โดน “หยวนฉงฮ่วน” ฆ่าตาย ทั้งๆ ที่ อาจจะกล่าวได้ว่า ในระดับฐานะของ “หยวนฉงฮ่วน” กับ “เหมาเหวินหลง” นั้น อยู่ในระนาบเดียวกันที่ขึ้นตรงต่อ “ฮ่องเต้หมิงซือจง” ด้วยกัน แต่ “หยวนฉงฮ่วน” กลับสังหาร “เหมาเหวินหลง” ทิ้ง ทั้งๆ ที่ไม่มีประกาศิตการรับมอบอำนาจจาก “หมิงซือจง” ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดผู้เดียวที่จะมีราชโองการสั่งใครให้ไปฆ่าใคร (อย่างไรก็ดี จุดนี้ก็มีการถกเถียงกันถึงประเด็นที่ว่า “หยวนฉงฮ่วน” ได้รับมอบกระบี่อาญาสิทธิ์ในความหมายที่ “ฆ่าก่อนรายงานทีหลัง” จาก “หมิงซือจง” หรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ให้ความเห็นว่า ตำแหน่งสำคัญอย่าง “เหมาเหวินหลง” ถึงอย่างไรก็สามารถจับกุมตัวไว้ แล้วสามารถถามฮ่องเต้ว่าจะให้ประหารหรือไม่ก่อนได้)

เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ หากมองจากมุมยอดโครงสร้างของอำนาจแล้ว “หยวนฉงฮ่วน” จึงเป็นทั้ง “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” ต่อประเทศชาติ ในสายตาของผู้บริหารสูงสุดอย่าง “หมิงซือจง” ได้ในเวลาพร้อมๆ กัน

ส่วนในกรณีที่ “หวงไท่จี๋” ที่เดินทัพอ้อมเส้นทางมาตีปักกิ่งนั้น ในประวัติศาสตร์ถูกเขียนไว้ว่า “หยวนฉงฮ่วน” เร่งทัพมาต้านรับ จนมาต่อสู้กันที่ชานเมืองปักกิ่ง จนในที่สุดทัพของ “หวงไท่จี๋” ก็ถอยร่นกลับไป แต่ “หยวนฉงฮ่วน” กลับถูก “หมิงซือจง” สั่งประหารหลังจากนั้นเพราะถูกขันทียุแหย่ว่า “หยวนฉงฮ่วน” สบคบคิดกับ “หวงไท่จี๋”

แต่อีกแง่มุมหนึ่ง ก็มีการมองว่า การยอมให้ทัพแมนจูมาประชิดถึงชานเมืองปักกิ่ง เป็นยุทธศาสตร์การรบของ “หยวนฉงฮ่วน” ที่เชื่อมั่นในตนเองสูง โดยไม่คำนึงถึง “ความเสี่ยง” ที่มีทัพมาประชิดเมืองหลวง (ซึ่งเหตุการณ์นั้นทรัพย์สินชานเมืองก็วินาศฉิบหายไปเยอะ) โดยที่ “หยวนฉงฮ่วน” ใช้ยุทธศาสตร์ชิงจังหวะยอมให้ทัพแมนจูมาประชิด โดยคะเนการเหนื่อยล้าจากการเดินทัพอ้อมทาง ซึ่งความจริงมีการวิเคราะห์กันว่า หากจะยันกันในรัศมีที่ไกลกว่านั้นก็ทำได้ เพราะทัพหมิงมีเส้นทางที่สั้นกว่า ตรงนี้คงไม่ต้องพูดถึงผลการตัดสินใจว่า ยุทธศาสตร์นี้สร้างชัยชนะในครั้งนี้ แต่ “ความเสี่ยง” เช่นนี้ ในฐานะผู้รับผิดชอบบ้านเมืองโดยรวมอย่าง “ฮ่องเต้” แล้วนั้น “หมิงซือจง” น่าจะทำใจลำบาก ครั้งนี้ชนะ แล้วหากครั้งหน้าเกิดแพ้ขึ้นมาเล่า

ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จึงมีการประเมินโดยนักวิชาการทางประวัติศาสตร์รุ่นใหม่บางคน ที่มองว่า การตายของ “หยวนฉงฮ่วน” อาจจะไม่ใช่การสั่งประหารโดย “ฮ่องเต้โฉดเขลาที่เชื่อคำยุยงของขันที” แต่เป็นการตัดสินใจทางการเมืองอย่างรอบคอบที่พิเคราะห์และชั่งน้ำหนักแล้วในระดับหนึ่งของ “หมิงซือจง” มากกว่า

อย่างไรก็ดี ข้อสรุปปิดท้ายของผมสำหรับเรื่องนี้ เห็นจะเป็นสัจธรรมที่ว่า แต่ไหนแต่ไรมา “บันทึกประวัติศาสตร์” นั้น มักจะถูกสร้างมาเพื่อรับใช้ “การเมือง” อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
กำลังโหลดความคิดเห็น