xs
xsm
sm
md
lg

เด็ดเดี่ยว-ซื่อตรง นั้นทรงพลังมหาศาล : ยอดบุรุษเหล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

นิยายจีนกำลังภายในบางเรื่อง ผมจะจำได้ลางเลือนว่าเคยอ่านตอนเด็กๆ มิใช่ว่าไม่ดี จึงไม่หามาอ่านซ้ำอีกครั้งเหมือนนิยายจีนกำลังภายในส่วนใหญ่ที่ผมมักจะอ่านซ้ำ บางเล่มก็หลายรอบ นิยายจีนกำลังภายในส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคย (รวมทั้งผม) ก็คือที่แต่งโดยสองนักเขียนขวัญใจ “กิมย้ง” และ “โกวเล้ง” ทั้งนี้ก็เพราะมีระบบการจัดพิมพ์ที่สามารถทำตลาดได้ในแวดวงธุรกิจหนังสือ พูดง่ายๆ ก็คือ พิมพ์แล้วไม่ขาดทุนนั่นแหละ นอกจากนั้นก็อาจจะเพราะผลงานของนักเขียนสองเจ้านี้ สามารถติดต่อกันได้ค่อนข้างสะดวกในทางลิขสิทธิ์ ต่างจากสมัยก่อนที่สมัยนี้ต้องมีการจัดการเรื่องดังกล่าวกันอย่างถูกต้อง

ครั้งเมื่อผมยังเด็กๆ จึงมีหลายเรื่องที่ผมยืมห้องสมุดมาอ่าน แล้วพอโตขึ้นอยากอ่านอีกแล้วค่อนข้างหายากในร้านหนังสือ คือไม่มีการพิมพ์ออกมาใหม่ ความพยายามในการตามหานิยายจีนกำลังภายในสมัยก่อน จึงเป็นการเดินหาตามงานหนังสือประจำปีที่จะมีร้านหนังสือเก่าเอามาออกร้าน และอีกทางหนึ่งก็คือไล่ล่าหากันทางร้านหนังสือออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต

จะว่าไปแล้ว คลังหนังสือจีนกำลังภายในใกล้ตัวผมมากที่สุด และน่าจะเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งสำหรับคลังสะสมนิยายจีนกำลังภายใน นั่นก็คือ คลังของคุณ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ผู้ที่ริเริ่มให้ผมเขียนคอลัมน์นี้นั่นแหละ แทบจะเรียกได้ว่า คลังของคุณสนธินั้นมีเกือบครบทุกเล่ม แต่เนื่องด้วยคุณสนธิเป็นคนรักในนิยายจีนกำลังภายในมาก แกจึงตั้งกฎเหล็กกับผมไว้ว่า “ยืมอ่านได้ แต่ต้องอ่านในบ้านนี้ ห้ามเอากลับบ้าน” จนแล้วจนรอดผมจึงไม่มีโอกาสอ่านเรื่องสมัยเก่าดีๆ เสียที ...เฮ้อ

ล่าสุดนี้ผมมีโอกาสพบปะกับนักอ่านนิยายจีนกำลังภายในอีกท่าน คือคุณ “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” รวมถึงได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับท่านอาจารย์ “น.นพรัตน์” มีนักเขียนท่านหนึ่งที่ทั้งคุณก่อศักดิ์และท่านอาจารย์น.นพรัตน์ ให้ความเห็นร่วมกันว่าผมน่าจะไปหามาอ่านก็คือ “เซียวอิด” ทั้งสองบอกกับผมว่า นักอ่านนิยายจีนกำลังภายในของไทยส่วนใหญ่ชื่นชมกันแต่ “กิมย้ง” และ “โกวเล้ง” แต่ในโลกนิยายจีนกำลังภายในนั้น แท้จริงแล้วนามของ “เซียวอิด” นั้นไม่ได้เป็นรองทั้ง “กิมย้ง” และ “โกวเล้ง” แม้แต่น้อย จากนั้นผมก็ได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์น.นพรัตน์ ส่ง “ยอดบุรุษเหล็ก” ที่เป็นชุดพิมพ์ครั้งแรก เล่มเล็กบาง จำนวน 12 เล่ม มาให้ผมได้มีโอกาสอ่านเรื่องนี้อีกครั้ง กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มา ณ ที่นี้อีกครั้งครับ

ชื่อเสียงของ “เซียวอิด” นั้น ถึงกับมีการยกขึ้นเทียบเคียงข้างกับ “กิมย้ง” สุดยอดปรมาจารย์นิยายจีนกำลังภายใน วงการนักอ่านนิยายจีนกำลังภายในของชาวจีน ถึงกับมีประโยคกล่าวถึง “เซียวอิดเหนือ กิมย้งใต้”

ในแวดวงนักอ่านนิยายจีนกำลังภายในชาวไทยนั้น น่าจะมีจำนวนน้อยที่ได้สัมผัสผลงานของ “เซียวอิด” มีการแปลเป็นภาษาไทยไม่ถึง 10 เรื่อง แต่ละเรื่องก็ได้รับการแปลโดยสองปรมาจารย์ “น.นพรัตน์” และ “ว ณ เมืองลุง” เรื่องที่ยังพอจะมีขายในท้องตลาดก็คือ “บัญชานางกาลี” ที่แปลโดย “ว ณ เมืองลุง” (น่าจะมีการตีพิมพ์ซ้ำจากที่เคยตีพิมพ์แล้วในครั้งแรก) ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้น จัดได้ว่าหาอ่านยาก และไม่มีการตีพิมพ์ซ้ำจากครั้งแรก

คุณก่อศักดิ์ เคยเล่าให้ผมฟังว่า “ยอดบุรุษเหล็ก” น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดของ “เซียวอิด” และหลังจากนั้นผมก็ได้รับการยืนยันจากอีกสองท่าน ก็คือท่านอาจารย์น.นพรัตน์ และคุณสนธิ เมื่อผมได้อ่าน “ยอดบุรุษเหล็ก” จนจบ ความรู้สึกก็ออกมาตรงกับที่ท่านผู้อาวุโสทั้งหลายได้แนะนำไว้ทั้งในเรื่อง “ควรอ่าน” และ “อ่านแล้วจะชอบ”

“เซียวอิด” นั้นมีสไตล์การเขียนที่แตกต่างออกไปจากสองนักเขียนที่ผมคุ้นเคยและชอบมากที่สุด ก็คือ “กิมย้ง” และ “โกวเล้ง” เป็นอีกสไตล์ของลีลาการเขียนนิยายจีนกำลังภายในที่ให้อรรถรสในการอ่านพร้อมทั้งให้ข้อคิดต่างๆ กับเรา

“ยอดบุรุษเหล็ก” นั้น ให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป และมีเอกลักษณ์ของ “เซียวอิด” ที่ผมสัมผัสได้ชัดเชน เรื่องแรกก็คือ โครงเรื่องที่กระชับ ไม่ยืดยาดเยิ่นเย้อ เป็นแนวดั้งเดิมของนิยายจีนกำลังภายในจริงๆ นั่นก็คือ จะเดินเรื่องจังหวะแบบ หนึ่ง สอง สาม สี่ ไปจนจบเรื่องเหมือนขั้นบันได สำหรับนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในยุคใหม่ เราอาจจะเห็นได้ถึงลีลาที่มีกลิ่นอายวรรณกรรมตะวันตกเข้ามาผสม ไม่ว่าจะเป็นการเดินเรื่องแบบตัดฉากเหมือนหนัง หรือแม้แต่การผูกเรื่องแบบมีเงื่อนงำซับซ้อนที่อ่านด่านที่หนึ่งยังไม่เข้าใจภาพรวม ต้องอ่านไปจนถึงด่านที่สี่ แล้วค่อยย้อนกลับมาทำความเข้าใจในส่วนอื่นๆ เพิ่ม ประกอบกันจนเข้าใจด่านที่หนึ่ง รวมตลอดถึงมีลีลาของการยูเทิร์นเรื่อง หักมุม สร้างโครงเรื่องแบบหลายๆ วง แล้วให้แต่ละวงต่อเชื่อมซึ่งกันและกัน จนอธิบายภาพใหญ่ ซึ่งนิยมเขียนแนวนี้กันมากในแนวทางของนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในยุคใหม่

โดยสรุปก็คือ โครงเรื่องของ “ยอดบุรุษเหล็ก” เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน จังหวะการเดินเรื่องเป็นสเต็ปต่อเนื่อง และไม่มีความสลับซับซ้อนในโครงสร้างมากมายนัก ไม่มีบทหักมุมเพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจในตอนท้ายๆ ไม่มีปริศนาซับซ้อนให้ตีความมากมาย

เปรียบได้กับแนวทางการเขียนแบบ 1+1 = 2

“โค่วเอ็งเกี๊ยก” เป็นพระเอกของเรื่องนี้ เปิดฉากด้วยการล่าสุดยอดอาชา ที่จัดเป็น “ม้าในม้า” บังเอิญได้ไปเจอยอดฝีมืออาวุโส รับสัมพันธ์ฉันท์อาจารย์ศิษย์ จนก้าวล่วงสู่วังวนฆ่าล้างแค้นในยุทธจักร รับภาระสำนักอาจารย์ ล้างแค้นฝ่ายตรงข้ามซึ่งก็ถือเป็นสุดยอดฝีมืออันดับต้นๆ ในยุทธจักร ที่คิดจะยึดครองบู๊ลิ้มโดยรวม จากส่วนตัวกลายเป็นส่วนรวม พอเจอหญิงสาว “ก๊วยไช่เล้ง” ผูกสมัครรักใคร่ เจอสุดยอดคัมภีร์ยุทธในตำนาน ได้รับการสั่งสอนจากยอดฝีมือเร้นกาย และกลับมาล้างแค้นจนสามารถยุติความวุ่นวายในยุทธภพ

“ยอดบุรุษเหล็ก” เดินแนวทางดั้งเดิม ก็คือ พระเอกตกอยู่ในสถานะโดนกระทำ ก่อเป็นความแค้น จากวิชาน้อยค่อยก้าวสู่ยอดวิชาโดยเจอทั้งคัมภีร์ในตำนานและอาจารย์ที่เป็นจอมยุทธซ่อนกาย จากนั้นกลับมาแก้แค้น สำเร็จเป้าหมาย และจบ

เรื่องอย่างนี้จะว่าแต่งง่ายก็ง่ายนะครับ แต่แต่งให้สนุกสนานตื่นเต้นนี่ ยากมาก

ต่อมาคือการเดินเรื่องที่มีสไตล์เฉพาะตัว “เกรี้ยวกราด ดุดัน เที่ยงตรง” โดยเฉพาะฉากการต่อสู้ หลายต่อหลายเรื่องของนิยายจีนกำลังภายใน มีฉากการต่อสู้ที่หลากหลายลีลาออกไป บางเรื่องบรรยายการปะกระบวนท่าที่สวยงามพริ้วพราย บางเรื่องสร้างความกดดันจากบรรยากาศแวดแล้วแล้วแพ้ชนะกันในพริบตา (อย่าง “ลี้น้อยมีดบิน)

แต่กรณีของ “ยอดบุรุษเหล็ก” ของ “เซียวอิด” นั้น ให้คำจำกัดความได้คำเดียวครับ “ดุดัน”

“เกรี้ยวกราด ดุดัน และเที่ยงตรง” นี่คือข้อสรุปของกระบวนยุทธของ “โค่วเอ็งเกี๊ยก” พระเอกของเรื่องครับ

“บุรุษในชุดเสื้อคลุมสีเหลือง พอเผชิญหน้ากับโค่วเอ็งเกี๊ยก พลันพุ่งดรรชนีใส่ดวงตา โค่วเอ็งเกี๊ยกพลันผลักฝ่ามือออก บุรุษหนุ่มไม่ทันสะอึกถึง รู้สึกชาวูบที่หัวใจและตับไต สิ้นใจตายทันที”

ไม่ต้องมีลีลาวิทยายุทธพลิ้วไหวอะไรมากมาย “โค่วเอ็งเกี๊ยก” นั้นถนัดในการที่เมื่อคู่ต่อสู้บุกเข้ามา ก็ตบ ฟาด ปาด แทง ฯลฯ ออกไป หยิบยื่นความตายที่ “ดุดัน สั้น กระชับ” ให้กับศัตรู คู่ต่อสู้ส่วนใหญ่ของเขานั้น กรณีที่ด้อยวรยุทธ ล้วนตายในกระบวนท่าเดียว ส่วนที่มากฝีมือหน่อย ก็สิ้นใจในเพียงไม่กี่กระบวนท่า (น้อยมากที่จะมีฉากบรรยายการต่อสู้ยืดยาวไปสามสี่หน้า) แม้แต่ฉากต่อสู้สุดท้ายท้ายเรื่อง ยังดุดัน สั้น กระชับ ผิดกับภาพที่ผมนึกว่าจะใส่ลีลาพรรณาวิทยายุทธมากกว่านี้

ยอดฝีมือหลายคนในยุทธจักรที่ผมอ่านเจอในแต่ละเรื่องนิยายจีนกำลังภายใน ในระหว่างการปะฝีมือ และวินาทีแห่งการตัดสินใจประหารฆ่าศัตรู ผมมักจะเห็นสิ่งที่ที่สอดแทรกอยู่ในนั้น นั่นก็คือ การพยายามที่จะ “ให้เหตุผลในการฆ่า” มันจะมีเสี้ยววินาทีของการอธิบายนะครับ ว่าสมควรตายเพราะอะไร มีการย้อนรำลึกบุญคุณความแค้น เหมือนกับว่าจะ “ช่วยเสริมเพิ่มความชอบธรรม” ให้กับพระเอก ถ้าให้เดาก็คงประมาณว่า “พระเอก” ก็ต้องครบถ้วนองค์ประกอบในความเป็นพระเอก พระเอกย่อมไม่ฆ่าคนโดยไม่มีเหตุผล หรือถ้าพลั้งมือฆ่าไปก็ต้องเสียใจ อะไรต่างๆ ประมาณนั้น

ในบ้างห้วงอารมณ์ ผมก็รู้สึกว่า “พระเอก” ของ “กิมย้ง” นั้นมากมายด้วย “เหตุผล” จนเกินไป และ “พระเอก” ของ “โกวเล้ง” ก็มากล้นด้วย “ปรัชญา” จนเกินไป แต่ “โค่วเอ็งเกี๊ยก” ของ “เซียวอิด” น่าสนใจในความ “ชัดเจน-เรียบง่าย”

กรณีของ “โค่วเอ็งเกี๊ยก” นั้น จะมีรูปแบบเฉพาะตัวอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นก็คือ “เกรี้ยวกราด ดุดัน เที่ยงตรง” ทั้งนี้ “เที่ยงตรง” ในที่นี้คือการ “ไม่คิดมาก” เวลาออกวิทยายุทธจะไม่กระบิดกระบวนมากมาย ฆ่าเป็นฆ่า ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง ไม่ต้องหาเหตุผลมากมายมาประกอบการกระทำ หากแต่ยึดมั่นหลักการเดียวของตัวเองคือ “มั่นใจว่าตนเองกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

“โค่วเอ็งเกี๊ยก” จึงมีเสน่ห์ในแบบฉบับของตัวเอง เป็นพระเอกที่ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและไม่ซับซ้อนทางความคิด

นอกจากนี้ มีคุณลักษณะที่เสริมเสน่ห์ให้ “โค่วเอ็งเกี๊ยก” มีความโดดเด่นแปลกแตกต่างจากจอมยุทธอื่นก็คือเขาผู้นี้มีรูปลักษณ์ “กำยำ-ล่ำสัน” ซึ่งผมว่าพระเอกส่วนใหญ่ในนิยายบู๊ลิ้มมักจะ “สะโอดสะอง-หล่อเหลา” ทั้งนี้เนื่องจากหลักการของวิทยายุทธส่วนใหญ่เป็นเรื่องของ “กำลังภายใน” ที่เพาะสร้าง “ลมปราณ” และ “เคล็ดวิชาวรยุทธ” ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีร่างกายฟิตแข็งแรงกล้ามใหญ่

พวกกล้ามใหญ่ในนิยายจีนกำลังภายในทั้งหลายล้วนแต่ได้รับการดูถูกด้วยซ้ำว่าเป็นพวกฝึกวรยุทธระดับสอง ต่างจากชั้นหนึ่งที่เน้น “ลมปราณ” และ “กระบวนท่า” หรืออย่างมากพวกกล้ามใหญ่ก็ได้แค่เป็นพระรองหรือผู้ช่วยพระเอก และมักมีคุณสมบัติที่ทื่อๆ ไม่หลักแหลม ไม่ฉลาดเฉลียว

นิยายจีนกำลังภายในมักไม่ให้ความสำคัญของความแข็งแรงของร่างกาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า สุดยอดฝีมืออย่าง “ลี้คิมฮวง” นั้นยังป่วยด้วยวัณโรคเรื้อรัง

“โค่วเอ็งเกี๊ยก” นั้นได้รับการฝึกจากยอดคนซ่อนกาย “จูคงเอ็ก” เป็นการเพาะสร้างร่างกายให้แข็งแรงก่อนที่จะถ่ายทอดเคล็ดวิทยายุทธให้ ทั้งนี้เรื่อง “ยอดบุรุษเหล็ก” นี้ ให้ความสำคัญกับยอดยุทธแนวค้นพบจาก “ธรรมชาติ” ดังนั้น “ธรรมชาติ” คือ “ร่างกายของคน” การพัฒนาประสิทธิภาพของร่างกายจึงต้องทำควบคู่ไปพร้อมกับทั้งเรื่อง “ความแข็งแรงของร่างกาย” และ “ลมปราณ-เคล็ดวิชา” ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าเป็นแนวคิดที่ “ทันสมัย” ทั้งๆ ที่เป็นนิยายกำลังภายในรุ่นเก่าขนบเดิม

“จูคงเอ็ก” คล้ายเป็น “Personal Trainer” ให้กับ “โค่วเอ็งเกี๊ยก” การฝึกฝนร่างกายก็คล้ายรูปแบบการเทรน “ไตรกรีฑา” มีการฝึกวิ่งระยะทางไกล วิ่งบนหาดทราย ปีนหน้าผา กระโดดโลดแล่นบนโขดหิน จากนั้นก็มีการฝึกกล้ามเนื้อร่างกายด้วยสายน้ำแรงและลมพายุ เพาะสร้างร่ายกายที่แข็งพร้อมกับสร้างเสริมลมปราณ จากนั้นค่อยถ่ายทอดเคล็ดวิชาวรยุทธ

“โค่วเอ็งเกี๊ยก” จึงเป็นจอมยุทธที่แปลกแตกต่างและโดดเด่นในสายตาของผม

โลกเราทุกวันนี้ บางครั้งความคิดที่ซับซ้อนหลากมิติเกินไป กลับฟุ่มเฟือยและทรงประสิทธิภาพไม่เท่า “ความเด็ดเดี่ยวและซื่อตรง”
กำลังโหลดความคิดเห็น