xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อบู๊ลิ้ม “โหวตโน” : กระบี่อภิญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

พล็อตเรื่องที่พบบ่อยมากในยุทธจักรนิยายจีนกำลังภายใน นั่นก็คือ เมื่อยุทธภพตกอยู่ในมหันตภัยร้ายแรง “จอมมาร” ผู้เปี่ยมด้วยทั้งสุดยอดวรยุทธและขุมกำลังอันยิ่งใหญ่คิดการใหญ่หมายเข่นฆ่าคนดีงาม ล้างบางผู้ทรงคุณธรรม สถาปนาคนชั่วร้ายขึ้นครองยุทธภพ กวาดต้อนสมบัติของบู๊ลิ้มมาเป็นของหมู่คนเลว ยึดครองกิจการสำคัญของยุทธภพศิโรราปในเครือข่ายสายมาร ณ เวลานั้น บู๊ลิ้มตกอยู่ในอาการสะพรึงพรั่นหวาดกลัวไปทุกหัวระแหง เมื่อสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ทางออกจะเป็นเช่นไร?

โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนั้นขึ้น ผู้หน้าที่คลี่คลายมหันตภัยของยุทธภพก็คือ “พระเอก” (หรือตัวเอกหลายคน) ของเรื่องนั้นๆ ทั้งนี้จะมีอยู่สองกรณีด้วยกัน

หนึ่ง “พระเอก” (หรือหลายคน หรือสำนัก) ที่มีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ “เจ้าพ่อดาบเก่า” คิดจะยึดครองยุทธภพ “เล็กเซียวหงส์” ก็ทำหน้าที่คลี่คลายสถานการณ์ เป็นต้น

สอง “พระเอก” (หรือหลายคน หรือสำนัก) ถูกก่อร่างสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์ เป็นตัวละครที่ก่อกำเนิดขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจาก “สำนักมาตรฐาน” ใดสำนักหนึ่ง หรืออาจจะเป็นตัวเอกที่โผล่ขึ้นมาจากตัวละครที่เกี่ยวพันจากปมปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น “ฮุ้นปวยเอี้ยง” โผล่ขึ้นมาจากเด็กรับใช้ในสำนักบู๊ตึ้ง สำเร็จยอดวิชาไหมฟ้า มาคลี่คลายสถานการณ์ร้ายในยุทธภพ หรือ “เหล็งฮู้ชง” ที่โดดเด่นขึ้นมาจากสำนักฮั้วซัว เป็นต้น

“พระเอก” ในแนวทางที่สองนี้ คือตัวละครที่ถูกหล่อหลอมจากสถานการณ์ สร้างความโดดเด่นของตัวละครขึ้นในสถานการณ์ที่บีบคั้น ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวละครเอกขึ้นมา โดยมี “คัมภีร์ยอดวิชา” หรือ “ยอดคนซ่อนกาย” หรือแม้กระทั่ง “อาวุธวิเศษ” ต่างๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบเสริม

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ว่า เกิดสถานการณ์ที่ยุทธภพตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้าย การผุดขึ้นมาของ “จอมมาร” ผู้มีประสงค์ร้ายคิดยึดครองยุทธภพ มีกองกำลังกล้าแข็งยากต้านทาน เป็นการสร้างสร้างโจทย์ของ “ปัญหา” ขึ้นมา เพื่อให้มีการคิดคำนวณหา “ทางแก้” โดยมีหัวใจหลักที่สร้าง “พระเอก” เป็นตัวตอบโจทย์ดังที่กล่าวมาข้างต้น

นอกจากเรื่อง “ปัญหา” และ “คำตอบ” เรื่องน่าสนใจที่น่าเพ่งมองก็คือ “กระบวนการคิดคำนวณเพื่อแก้โจทย์” ที่เป็นกระบวนการระหว่างทางของ “ปัญหาและคำตอบ”

นิยายจีนกำลังภายในส่วนใหญ่นั้น มักจะเน้นเอาสิ่งที่คงอยู่แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นสำนักยุทธ เสียวลิ้มยี่ บู๊ตึ้ง ฯลฯ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “สำนักมาตรฐานเที่ยงธรรม” เป็นตัวรับหน้าที่ในการสู้ศึกกับ “จอมมารร้าย” ยามเกิดมหันตภัยบู๊ลิ้ม


อาจจะเพาะสร้าง “จอมยุทธคนใหม่” ขึ้นมา เช่นการที่นักเขียนนิยายกำลังภายในจีนอย่าง “ซีเบ๊จี่อิง” ในเรื่อง “กระบี่เหนือกระบี่” ได้มอบหมายให้ “บู๊ตึ้ง” เพราะสร้าง “เล่งฮุ้น” อดีตนักพรตอนาคตไกลถึงขั้นเป็นมือวางเจ้าสำนัก ต้องแบกภาระรับผิดชอบในการค้ำจุนยุทธจักรไม่ให้ล่มสลาย โชคชะตาพาให้ “เล่งฮุ้น” ต้องเปลี่ยนแปรจากนักพรตสู่วิถีคนธรรมดา ได้สำเร็จยอดวิชาต่างๆ มากมาย

หรือแม้แต่ “นักสู้ผู้พิชิต” หรืออีกชื่อ “บันทึกชำระกระบี่” ของ “โกวเล้ง” ที่บู๊ลิ้มถูกคุกคามจากภัยร้ายที่เกิดจากยอดฝีมือบุรุษชุดขาวที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแดนอาทิตย์อุทัย ชุมชนชาวยุทธจักรก็ได้ใช้เวลา 7 ปีอบรมบ่มเพาะ “ปึ้งป้อเง็ก” ขึ้นมาได้หนึ่งคน

มีอีกหลายเรื่องมากมาย ที่ล้วนแล้วแต่ใช้กระบวนการอาศัยสิ่งที่คงอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นสำนักยุทธ คัมภีร์ที่แอบซ่อน จอมยุทธเร้นกาย กระบี่วิเศษ ต่างๆ เหล่านี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อร่างสร้าง “พระเอก” ขึ้นมากู้ภัยให้ “บู๊ลิ้ม” เป็นมาตรฐานในการจัดการปัญหา เป็นสูตรสำเร็จ

ตัดภาพมาที่นิยายจีนกำลังภายในที่ผมเพิ่งอ่านจบ “กระบี่อภิญญา” ของ “เจิ้งฟง”

ก่อนอื่น เมื่อพูดถึง “กระบี่อภิญญา” หรือนิยายจีนกำลังภายในเรื่องอื่นๆ ที่เขียนโดยนักเขียนรุ่นใหม่ ผมมักจะได้รับฟังประโยคหลายๆ ประโยคที่พอสรุปได้ใจความประมาณที่ว่า “นักเขียนรุ่นใหม่สู้รุ่นเก่าอย่างกิมย้งหรือโกวเล้งไม่ได้” หรือ “นักเขียนรุ่นใหม่ มีเพียงหวงอี้เท่านั้นที่เข้าขั้น นอกนั้นไม่น่าอ่าน” อะไรต่างๆ เหล่านี้

จริงๆ แล้ว ผมเองก็ยอมรับว่า ผมชอบลีลาการเขียนของนักเขียนรุ่นเก่าอย่าง “กิมย้ง” หรือ “โกวเล้ง” หรืออีกหลายคน และสุดยอดของนักเขียนรุ่นใหม่นิยายจีนกำลังภายในก็คือ “หวงอี้” จริงดังว่า

แต่กระนั้นเลย ใช่ว่าเราจะยึดมั่น-ยึดติดที่จะอ่านแค่ “กิมย้ง” หรือ “โกวเล้ง” หรือแม้แต่ “หวงอี้” แต่เพียงเท่านั้น การอ่านหนังสือควรจะเปิดโลกใหม่ในการอ่าน ให้โอกาสทั้งกับนักเขียนรุ่นใหม่ และทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสกับตัวเราเองไปพร้อมๆ กัน บางครั้ง เมื่อเราชื่นชอบกับท้องทะเลที่กว้างใหญ่ แต่ใช่ว่าจะละเลยที่จะสัมผัสกับห้วย หนอง คลอง บึง น้ำตก หรือลำธาร ที่อาจจะไม่รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่เทียบเท่าท้องทะเลหรือมหาสมุทร แต่ก็เป็นอีกบรรยากาศที่น่าผจญภัยและพบเจอ

ดังนั้น เมื่อผมจะคุยถึงเรื่อง “กระบี่อภิญญา” ผมก็จะไม่บอกว่าเรื่องนี้ “ดี” หรือ “ไม่ดี” เพียงแต่ผมจะบอกถึงเรื่องที่ว่า ผมอ่านนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้แล้ว ชอบที่ตรงไหน ไม่ชอบที่ตรงไหน และมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจในความคิดของผม ทั้งนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะกันกับผู้อ่าน

“กระบี่อภิญญา” เป็นเรื่องราวของจอมยุทธ “หลิงเซียว” ที่ประสบภัยร้ายทั้งตระกูลตั้งแต่ครั้งตัวเองยังเด็ก เนื่องจากไปพัวพันกับ “จอมมาร” เจ้าสำนัก “นิกายอัคคี” ที่หมายจะคิดยึดครองบู๊ลิ้ม บ้านของ “หลิงเซียว” เป็นตระกูลเทพพยากรณ์ อธิบายง่ายๆ คือเป็นหมอดูผู้หยั่งรู้ชะตาบ้านเมือง ผู้คน ตลอดจนสถานการณ์รวมของบู๊ลิ้ม เมื่อ “จอมมารเทพอัคคี” ต้องการยึดครองยุทธจักรบู๊ลิ้ม กวาดล้างทุกค่ายสำนัก ผู้คนในยุทธจักรจำนวนหลายร้อยหลายพันต้องตกอยู่ในวังวนแห่งมหันตภัยบู๊ลิ้มครั้งนี้

“กระบี่อภิญญา” มีปรากฎการณ์ใหม่ในนิยายจีนกำลังภายใน คือเรื่องของ “พลังอภิญญา” ที่ “จอมมารร้าย” นอกจากจะเยี่ยมยุทธแล้วยังมีพลังดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้นการยึดครองบู๊ลิ้ม นอกจากจะใช้วิชาฝีมือตามครรลองวายร้ายในยุทธจักรแล้ว ยังประกอบด้วยการยึดครองด้วย “ความเชื่อ” ที่ต้องการให้ผู้คนเคารพบูชา ทั้งในเรื่องของวิทยายุทธที่เหนือกว่าผู้ใดในฐานะ “ยอดยุทธของบู๊ลิ้ม” และยังต้องการให้ผู้คน “ศรัทธา” และกราบไหว้ในฐานะ “เทพเจ้า” (ลักษณะ “เจ้าลัทธิ” ) อีกต่างหาก (เรื่องของการตั้งตนเป็น “เทพ” นี้ อาจจะพอคุ้นเคยกับเรื่องของ “เทวะ” ใน “ฟงอวิ๋น” แต่กรณีของ “เทพอัคคี” นี้จะมีลักษณะของ “เทพเจ้า” ในรูปแบบ “เจ้าลัทธิ” ซึ่งสมจริงและสามารถพบเจอในสังคมปัจจุบันมากกว่า)

“หลิงเซียว” เป็นพระเอกที่มี “พลังอภิญญา” เช่นเดียวกับ “จอมมาร” มีความสามารถในการอ่านใจผู้คนและหยั่งรู้อนาคต ซึ่งเรื่องของ “พลังอภิญญา” นี้ถือเป็นจุดเด่นของนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ “พลังอภิญญา” ไม่ใช่แค่เรื่องของ “หมอดู” แต่เป็นเรื่องของการอ่านใจผู้คน อ่านความคิด

คิดดูง่ายๆ ว่า เวลาประกระบวนท่าวิทยายุทธกัน ผู้มีพลังอภิญญาสามารถหยั่งรู้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะโจมตีมาด้วยกระบวนท่าอะไร นี่คือข้อได้เปรียบยิ่งใหญ่ที่ทำให้เหนือกว่าวิทยายุทธใดๆ

ถ้าถามเรื่อง “ความชอบ” ของผมกับนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ บอกตามตรงว่าไม่ได้ชื่นชอบมากนัก ส่วนตัวผมคิดว่า สองเล่มแรกสนุกมาก ส่วนสองเล่มหลังผมเฉยๆ แต่ก็ถือว่าตอนท้ายจบได้ดี ในความเห็นของผม สองเล่มหลังหากกระชับพื้นที่รวมกันเหลือแค่เล่มเดียวได้จะสมบูรณ์แบบกว่า (ย้ำอีกครั้ง ความเห็นส่วนตัวนะครับ)

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น นิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ จึงถูกใจผมในเรื่อง “ความแปลกใหม่” นอกจากนี้มีอีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผม อันเป็นที่มาของ “แนวทางการเกิดและการคลี่คลาย” ของ “มหันตภัยบู๊ลิ้ม” ที่ผมว่าไว้ตอนต้นของบทความชิ้นนี้

เมื่อ “บู๊ลิ้ม” ใน “กระบี่อภิญญา” เกิดมหันตภัยร้ายจากการคิดครอบครองยุทธจักรของ “นิกายอัคคี” ขึ้น โดยที่ “นิกายอัคคี” คิดยึดครองทุกสำนักในยุทธจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “หกสำนักใหญ่” ของบู๊ลิ้มในตอนนั้น

“จอมมาร” แห่ง “นิกายอัคคี” เปี่ยมไปด้วยเงินตรา กองกำลัง วิทยายุทธ ตลอดจนมนตราอภิญญา บู๊ลิ้มตกอยู่ในสถานการณ์ไฟแห่งหายนะลุกโชติช่วงแดงเพลิง “จอมมารเทพอัคคี” กำลังเดินหน้าเข้าครอบครอบบู๊ลิ้มให้จงได้

ผู้คนในบู๊ลิ้มจะมีวิธีรับมหันตภัยครั้งนี้อย่างไร

“หลิงเซียว” ได้รับการอธิบายสถานการณ์ว่า..

“ยุทธจักรความจริงประกอบด้วยเก้าสำนักใหญ่ ได้แก่ เส้าหลิน อู่ตัง(บู๊ตึ้ง – อู่ตังเป็นภาษาจีนกลาง) เอ๋อเหมย (ง้อไบ๊) หัวซาน ฉางชิง เตี่ยนชัง เซียะฟง ไท่ซาน ชิงซวง ก่อนที่นิกายอัคคีจะครองความเป็นใหญ่ สามสำนักแรกทรงเกียรติภูมิที่สุด เมื่อเจ็ดปีก่อน เส้าหลินพ่ายแพ้แก่นิกายอัคคี ผู้คนรับบาดเจ็บล้มตายสาหัส จึงกระจายกำลังออกหลบซ่อนตัวไว้ สำนักอู่ตังปิดสำนักห้ามศิษย์ออกท่องเที่ยว สำนักเอ๋อเหมยประกาศถอนตัวออกจากยุทธจักร เท่ากับว่าไม่มีค่ายสำนักนี้ดำรงอยู่ต่อไป”

หลิงเซียวผงกศรีษะครุ่นคิด “ที่แท้เก้าสำนักใหญ่กลายเป็นหกสำนักใหญ่ เรื่องราวเป็นเช่นนี้เอง”

สิ่งที่ “สามสำนักใหญ่” ในครั้งก่อนตัดสินใจก็คือ เมื่อรู้ว่าแพ้ก็ไม่สู้ ในเมื่อ “ไม่เกิดการต่อสู้ ก็ไม่รับความพ่ายแพ้” ดังนั้น เมื่อ “สามสำนักใหญ่” ดำเนินการ “สลายตัว” ก็ทำให้ไม่มี “ตัวตน” เมื่อไม่มีตัวตน ก็ไม่สามารถมีใครมา “ยึดครอง” ได้ เพราะ “เมื่อเราไร้ตัวตน เขาจึงไม่มีอะไรให้ครอบครอง”

“กระบี่อภิญญา” จึงนำเสนอความแปลกใหม่และดึงดูดใจต่อผม ในการนำเสนอประเด็นการเผชิญหน้ากับ “มหันตภัยบู๊ลิ้ม” ด้วยแนวทางใหม่ “สละตัวตน เพื่อปฏิเสธการครอบครอง” และ “ไม่ส่งนักมวยขึ้นเวที ก็ไม่มีการพ่ายแพ้”

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ผู้คนในบู๊ลิ้มไม่ได้ “หนีปัญหา” นะครับ แต่เป็นการ “อดทน” และ “รอเวลา” ด้วยการคิดคำนวณว่า เมื่อมี “มหันตภัยใหญ่” ที่สั่นสะเทือน “ระบบโครงสร้าง” ของ “บู๊ลิ้ม” เกิดขึ้น การที่จะ “วางเดิมพัน” กับ “การต่อสู้เฉพาะหน้า” ซึ่งหากอ่านสถานการณ์แล้วพอจะเดาได้ว่า “สู้ไปก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง” รังแต่จะสูญเสีย ผู้คนในบู๊ลิ้มจึงเลือกที่จะ “มองยาว” ด้วยการ “หาแนวทางใหม่ภายใต้กรอบโครงสร้างกติกา” เพราะหากเลือกที่จะสู้กันแบบ “ฝ่ายแดง-ฝ่ายน้ำเงิน” ก็จะเกิดการ “ผลัดกันแพ้-ผลัดกันชนะ” ไปเรื่อยๆ แต่ “โครงสร้างใหญ่” นั้นได้ถูกท้าทายที่จะก่อให้เกิดการ “เปลี่ยนแปลง”

ในนิยายจีนกำลังภายใน “กระบี่อภิญญา” นั้น ผู้คนในบู๊ลิ้มรอเวลา 27 ปีนะครับ กว่าที่จะ “ล้มระบบ-รื้อโครงสร้าง” จัดการกับ “นิกายอัคคี” เป็นผลสำเร็จ

ผมก็นึกเรื่อยเปื่อยมาถึง “สถานการณ์การเมืองประเทศไทย” ในขณะนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้แตกต่างจากในนิยายเรื่องนี้หรอกครับ เมื่อมีการรับรู้ถึงปัญหาใหญ่ที่เป็น “มหันตภัยของระบบการเมือง” การมุ่งหวังที่จะตัดสิน “แพ้-ชนะ” เฉพาะหน้าด้วยการส่ง “นักมวยมุมน้ำเงิน” ไปสู้กับ “นักมวยมุมแดง” ในระยะสั้น ผลที่ได้ก็คือการ “ผลัดกันแพ้-ผลัดกันชนะ” แต่ไม่ได้มีการพุ่งเป้าไป “ท้าทายปัญหาระดับโครงสร้าง” (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักมวยข้างที่เราถือหางนั้น “อ่อนซ้อม” เป็นอย่างยิ่งอีกต่างหาก)

บางครั้งการตัดสินใจที่จะ “ไม่สู้ จึงไม่แพ้” และ “สละตัวตน เพื่อไม่มีอะไรให้ครอบครอง” อาจจะเป็นประเด็นของการแสดงออกในการ “Vote No” ที่เป็นประเด็นใหม่ล่าสุดในการรณรงค์กับเทศกาลหาเสียงในขณะนี้ ทั้งนี้เป็นการแสดง “สัญลักษณ์” ที่ต้องการพุ่งเป้าไปที่ “แสดงออกถึงความไม่พอใจกับโครงสร้าง” ก็เหมือนกับที่ผู้คนและสำนักใหญ่สามสำนักใน “กระบี่อภิญญา” ที่ตัดสินใจ “สลายตัว-ปิดสำนัก” โดยไม่เลือกที่จะ “วางมวยระยะสั้น” แต่เป็นการเสี่ยงที่แม้จะไม่ชัดเจนใน “ผลลัพธ์” แต่มุ่งหวังที่จะเดินหน้า “แก้ปัญหาระยะยาว”

เขียนเรื่องนิยายจีนกำลังภายในอยู่ดีๆ มาจบเอาที่เรื่องการเมือง “โหวตโน” ได้ยังไง ก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น