คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช
เมื่อตอนที่แล้วผมเกริ่นนำนิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” ที่เป็นผลงานของ “ซีเบ๊เหล็ง” ไปแล้ว ในประเด็นที่มีคอนิยายจีนกำลังภายในพูดถึง “ดาบกระชากเลือด” ในกรณีว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” โดยเฉพาะประเด็นที่เห็นชัดเจนในตัวละครเอก “ฉิ้งซึงปอ” แห่ง “หอฟังเสียงคลื่น” และ “ซือเฟยเซวียน” แห่ง “เรือนฌานเมตไตรย” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่ได้ลงรายละเอียดของเนื้อหาของเรื่องนี้เลย เอาเป็นว่า มาฟังเนื้อหาโดยย่อของ “ดาบกระชากเลือด” กันต่อ
“ซีเบ๊เหล็ง” เขียนนิยายจีนกำลังภายใน “ดาบกระชากเลือด” ตามสไตล์ของนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในดั้งเดิม นั่นก็คือ เริ่มด้วย “ความแค้น” และจบลงด้วยการ “ล้างแค้น” อย่างไรก็ดี รูปแบบของ “บุญคุณต้องทดแทน ความแค้นต้องชำระ” นี่ จะว่าไปแล้วมันก็เรียกได้ว่าเป็นแนว “คลาสสิก” นั่นก็คือ ดูเหมือนเป็นพล็อตสามัญประจำบ้านของนักเขียนนิยายจีนกำลังภายใน แต่ในความสามัญธรรมดาของมันนี่เอง ทำให้เป็น “ความยาก” ของนักเขียน ที่จะทำให้ “พล็อตสามัญประจำบ้าน” ออกมาได้สนุกสนานตื่นเต้นและเร้าใจ อีกทั้งหากทำให้มีข้อคิดเชิงปรัชญาสอนใจผู้คนตามแนว “บู๊เฮียบ” ด้วยแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการของนักเขียนนิยายจีนกำลังภายในแต่ละคนว่าจะสรรค์สร้างออกมาได้เด่นดีขนาดไหน
“นครเขียวเรืองโรจน์” จะเรียกว่าเป็นเมืองน้อยที่มีอาณาจักรของตัวเองก็ว่าได้ เพราะมีป้อมคูกำแพงเมือง มีผู้ปกครองอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ มีผู้คนนับพันคนในนคร อาจเรียกได้ว่าใหญ่โตในขนาดกว่าหมู่บ้านชนบทธรรมดาเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี “นครเขียวเรืองโรจน์” เป็นเมืองของชนชาวบู๊ลิ้ม กำเนิดเกิดจากผู้นำชนชาวยุทธจักรตระกูลล้อ นาม “ล้อนี้” ที่ก่อร่างสร้างตนจากธุรกิจสำนักประกันภัยที่มีเครือข่ายครอบคลุมบู๊ลิ้มตงง้วน ผู้นำตระกูลล้อรุ่นบุกได้ ได้เลือกทำเลแถบทะเลสาปอั้งเจ้กโอ้ว ก่อตั้งนครนี้ขึ้นมา ผู้คนนับพันในนครล้วนเป็นบริวารเครือญาติของตระกูลล้อผู้เหี้ยมหาญชาวยุทธจักรท่านนั้น
ดังนั้น จะว่าไปแล้ว “นครเขียวเรืองโรจน์” จะถือว่ามีสถานะความเป็น “เมือง” ที่มี “เจ้าเมืองผู้ครองนคร” ก็จะพอเรียกได้เช่นนั้นนะครับ
ต่อมาในสมัยที่ “ล้อฮีอู้” ขึ้นสืบทอดตำแหน่งผู้นำชุมชนของตระกูลล้อ อยู่มาวันหนึ่ง เกิดเพลิงไหม้โหมแรงขึ้นใน “นครเขียวเรืองโรจน์” เหตุปรากฏคือมีการบุกเพื่อหวังโค่นล้มทำลาย “นครเขียวเรืองโรจน์” โดยชนชั้นมีชื่อเสียงยุทธจักรฝ่ายมิจฉาชีพที่ก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่คู่คี่ “ล้อฮีอู้” ผู้นำในการบุกล้มล้างนครใหญ่มีนามว่า “เงี่ยมบ้ออุ้ย” ที่มีฉายา “ไม้เท้าเจ็ดสังหาร”
สถานการณ์ก็คือ ในฝ่ายมิจฉาชีพเกิด “เงี่ยมบ้ออุ้ย” ที่โดดเด่นขึ้นมา ต้องการจะวางแผนยึดครองบู๊ลิ้ม ทั้งนี้เป้าหมายก็คือการจัดการกับกองกำลังใหญ่อย่าง “นครเขียวเรืองโรจน์” จากนั้นฮุบควบคุมกิจการสำนักคุ้มกันภัยให้อยู่ในอุ้มมือ โดยก่อนหน้าที่จะบุกนครของตระกูลล้อ “เงี่ยมบ้ออุ้ย” ก็ได้วางแผนสร้างขุมกำลังโดยการรวมรวมยอดฝีมือและสำนักฝ่ายมิจฉาชีพเข้าเป็นพวก จากนั้นก็วางแผนรวมกำลัง และจัดการกวาดล้าง “นครเขียวเรืองโรจน์” และสถาปนา “หมู่ตึกเอกะ” ขึ้นมาเพื่อดำรงความยิ่งใหญ่ในบู๊ลิ้ม โดยที่ค่ายสำนักมาตรฐานไม่ว่าเส้าหลิน บู๊ตึ้ง หรือง้อไบ๊ ยังย่นระย่อต่อความยิ่งใหญ่ของ “หมู่ตึกเอกะ”
จะไว้ไปแล้ว การเผชิญหน้าระหว่าง “นครเขียวเรืองโรจน์” และ “หมู่ตึกเอกะ” จึงเปรียบได้เหมือนการประจันหน้าเผชิญศึกระหว่าง “เมือง” ไปพร้อมๆ กับการเผชิญหน้าในฐานะความเป็น “สำนักยุทธ” ภายใต้ยุทธจักรบู๊ลิ้ม
ในที่สุด “นครเขียวเรืองโรจน์” ภายใต้การนำของ “ล้อฮีอู้” ก็ล่มสลาย แต่อย่างไรก็ดี บุตรชายสืบตระกูลของ “ล้อฮีอู้” ที่มีนามว่า “ล้อเท้งเง็ก” พร้อมกับพลพรรคนครที่จงรักภักดีส่วนหนึ่งหลบหนีไปได้ ไปรวมตัวกันในทางลับ ซุ่มคอยจังหวะโอกาสอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งที่เป็นรังลับของตระกูลล้อ และ “ล้อเท้งเง็ก” ก็คร่ำเคร่งฝึกวิชาดาบ เพื่อก้าวขึ้นสู่มรรคา “จักรพรรดิดาบ” และกลับคืนยุทธจักรเพื่อล้างแค้นให้กับบิดา
ดังนั้น เนื้อเรื่องทั้งหมดในแนวทางยุทธจักรบู๊ลิ้ม จึงมีเนื้อหาใจความอยู่ในประเด็นที่ “ล้อเท้งเง็ก” จะต้องกลับไปจัดการล้างแค้นกับ “เงี่ยมบ้ออุ้ย” แห่งหมู่ตึกเอกะ เป็นประเด็นการเดินทางจากจุด A ไปสู่จุด B เกิดความแค้น และพระเอกมุ่งหน้าล้างแค้น ตามแนวทางนิยายจีนกำลังภายในคลาสสิก ส่วนที่เหลือก็อยู่ที่ผู้เขียนจะทำอย่างไรให้เกิดความสนุกสนานระหว่างการเดินทางจากจุด A ไปจุด B นั่นแหละ
ก่อนที่จะไปว่ากันถึงเรื่องราวระหว่างทางดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ในประเด็นการล่มสลายของ “นครเขียวเรืองโรจน์” นั้นมีจุดน่าสนใจเป็นประเด็นที่ทั้งคลาสสิกและไม่ตกสมัยในฐานะความล่มสลายขององค์กร ซึ่งเราอาจจะมองไปถึงแง่มุมองค์กรทางการเมือง หรือแม้แต่องค์กรทางธุรกิจก็พอจะว่าได้
นั่นคือ รุ่นบุกเบิกของตระกูลล้อ ผู้ก่อตั้งองค์กร “นครเขียวเรืองโรจน์” ขึ้นมานั้น นอกจากความยิ่งใหญ่เรื่องกองกำลัง ฝีมือยุทธ และภาคธุรกิจสำนักคุ้มกันภัย ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว สิ่งที่ผู้นำตระกูลล้อในยุคแรกก่อร่างสร้างขึ้นด้วยในเวลาเดียวกันก็คือ “คอนเน็คชั่น” นั่นก็คือ การแผ่ขยายองค์กรในการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับบู๊ลิ้มโดยรวม อาณาจักรยุคบุกเบิกของตระกูลล้อ จึงมิได้เพียงแข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านกองกำลังและกำลังทรัพย์ธุรกิจคุ้มกันภัย หากแต่ยังมี “เครือข่ายคอนเน็คชั่น” กับชนชาวยุทธจักร ซึ่งทำให้ “นครเขียวเรืองโรจน์” กลายเป็นอาณาจักรโดดเด่นและมั่นคงแข็งแรง
หากแต่ยุคสมัยต่อมาของ “ล้อฮีอู้” ในวาระสุดท้ายที่ “เงี่ยมบ้ออุ้ย” บุกเข้ามาล้มล้าง “ล้อฮีอู้” เองก็ได้ตระหนักถึงจุดอ่อนของตนเองในเรื่องนี้ ดังที่มีการบรรยายสถานการณ์กรณีนี้ไว้ใน “ดาบกระชากเลือด” ว่า
“ในนครมีประชากรหลายพันคน ล้วนแต่เป็นญาติมิตรของตระกูลล้อ ขณะที่ล้อนี้ผู้นำคนแรกถึงแก่กรรมเมื่อายุเจ็ดสิบเศษ ตัวนครมีการขยายต่อเติมไม่น้อย บุรุษในนครล้วนฝึกปรือวิทยายุทธ ถูกส่งไปประจำอยู่สำนักคุ้มภัยตามที่ต่างๆ ทุกบ้านช่องอยู่ดีมีสุข ไม่มีปัญหาเรื่องปากท้อง ล้อฮีอู้สืบทอดบารมีของบุพการี หลายปีมานี้รักษาเกียรติภูมิของนครเขียวเรืองโรจน์ไว้ได้ แต่ท่านมีนิสัยหุนหันวู่วาม ไม่คล้ายกับล้อนี้ที่ชมชอบคบหาผู้คนในยุทธจักร ด้านมนุษย์สัมพันธ์ไม่อาจเทียบเทียมบิดาได้”
ในขณะเดียวกัน การบรรยายฉาก “นครเขียวเรืองโรจน์” ถูกกองกำลังของ “เงี่ยมบ้ออุ้ย” โจมตี ก็สร้างความรู้สึกเหมือนการบรรยายฉากของหายนะที่เกิด “สงคราม” มากทีเดียว
“ค่ำคืนที่นครเขียวเรืองโรจน์เกิดเพลิงไหม้เป็นวันที่สองหลังจากเทศกาลตงชิว ลมชิวเทียนโหมแรงอัคคีแดงฉานลุมลามไปทั่วนครโดยเร็ว ยามนี้มีเพียงผู้สูงอายุไม่กี่คนทำการดับเพลิง ท้องถนนอันกว้างขวางบังเกิดเสียงโห่ร้องฆ่าฟันอึงคะนึง ปรากฏซากศพเกลื่อนกลาดอยู่ทุกหนทุกแห่ง กองกำลังที่รุกรานนครเป็นชายฉกรรจ์หลายร้อยคน ล้วนสวมชุดขาวรัดกุม ใต้แสงจันทร์ประกายเพลิง ทุกแห่งหนปรากฏเงาร่างสีขาวโลดแล่นไล่ล่า ขอเพียงพานพบผู้ไม่ได้สวมชุดขาว พวกมันจะสะบัดดาบฆ่าฟัน”
อ่านแล้วเหมือนความรู้สึก “เมืองแตก” ได้อย่างเห็นภาพเป็นที่สุด
ในด้านฝีมือยุทธเท่าเทียมกัน กองกำลังพอฟัดพอเหวี่ยงกัน และปัจจัยด้านการเงินไล่เลี่ยกัน ทั้ง “ล้อฮีอู้” และ “เงี่ยมบ้ออุ้ย” มีจุดที่ต่างกันก็คือ “เงี่ยมบ้ออุ้ย” ยังได้สะสมกำลังสร้าง “เครือข่าย” ในชุมชนชาวมิจฉาชีพให้เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ฝั่งของ “นครเขียวเรืองโรจน์” ภายใต้การนำของ “ล้อฮีอู้” กลับไม่พัฒนา และลดถอยในความแข็งแกร่งในองค์ประกอบด้านนี้
นี่คือจุดที่เหตุใด “เงี่ยมบ้ออุ้ย” จึงช่วงชิงชัยชนะจาก “ล้อฮีอู้” ได้เป็นผลสำเร็จ
(ยังไม่จบนะครับ โปรดอ่านต่อตอนหน้า)
หมายเหตุ : ปกติแล้ว ผมจะเขียนคอลัมน์แบบอ่านตอนเดียวจบประเด็นที่ต้องการนำเสนอ แต่กรณีของเรื่อง “บู๊ลิ้มรบทัพจับศึก : เงาที่ทาบซ้อนของ มังกรคู่สู้สิบทิศ และดาบกระชากเลือด” นี้ ผมเขียนในประเด็นเดียว แต่กินเนื้อหาค่อนข้างยาวเกินพื้นที่ของบทความ ดังนั้น ตอนที่ 2 และ 3 ที่ผมเขียนถึง “ดาบกระชากเลือด” ถือเป็นเนื้อหาเดียวกันและควรจะอ่านต่อเนื่องนะครับ