xs
xsm
sm
md
lg

บู๊ลิ้มรบทัพจับศึก : เงาที่ทาบซ้อนของ มังกรคู่สู้สิบทิศ และดาบกระชากเลือด(3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

หมายเหตุก่อนอ่านบทความ : ปกติแล้ว ผมจะเขียนคอลัมน์แบบอ่านตอนเดียวจบประเด็นที่ต้องการนำเสนอ แต่กรณีของเรื่อง “บู๊ลิ้มรบทัพจับศึก : เงาที่ทาบซ้อนของ มังกรคู่สู้สิบทิศ และดาบกระชากเลือด” นี้ ผมเขียนในประเด็นเดียว แต่กินเนื้อหาค่อนข้างยาวเกินพื้นที่ของบทความ ดังนั้น ตอนที่ 2 และ 3 ที่ผมเขียนถึง “ดาบกระชากเลือด” ถือเป็นเนื้อหาเดียวกันและควรจะอ่านต่อเนื่องนะครับ

เมื่อตอนที่แล้ว ผมได้กล่าวในท้ายบทถึงการดำรงอยู่ของ “องค์กร” ใดๆ ที่จะเข้มแข็งอยู่ในสังคม นอกจากกองกำลัง ผู้คน หรือความสมบูรณ์ทางทรัพย์สินแล้ว เรื่องของ “เครือข่ายคอนเน็คชั่น” ก็เป็นเรื่องสำคัญ กรณีดังกล่าวถือเป็นหลักการสำคัญในการจัดการดำรงไว้ซึ่ง “องค์กร” ไม่ล้าสมัยแม้ในโลกสมัยใหม่ปัจจุบัน

กลับมาที่ในระหว่างการเดินเรื่องที่ผมเรียกว่า “บู๊ลิ้มรบทัพจับศึก” ภายใต้การรจนาของ “ซีเบ๊เหล็ง” ใน “ดาบกระชากเลือด” เรื่องนี้ อย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นว่า แนวทางของนิยายจีนกำลังภายในแนวคลาสสิก ระหว่างการเดินทางจากจุด A ไปจุด B นั้น ก่อร่างสร้างให้เรื่องสนุกได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวางพล็อตง่ายให้มีความเกี่ยวโยงและคลี่คลายอย่างลงตัวเพียงใด และอีกทั้งยังมีองค์ประกอบในเรื่องสีสรรและจินตนาการประกอบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยายุทธ ตัวละครทั้งฝั่งพระเอก นางเอก กองกำลังของพระเอก ฝั่งผู้ร้าย และตัวละครที่รายลอบ

ในเรื่องของวิทยายุทธในภาพความเป็น “ซีเบ๊เหล็ง” ได้สร้างสิ่งที่เร้าใจเป็นสัญลักษณ์ชูโรง นั่นก็คือการกล่าวถึง “จักรพรรดิดาบ” และ “ราชินีกระบี่” โดยที่เป้าหมายการก้าวสู่จักรพรรดิดาบ ดำเนินโดยตัวพระเอกคือ “ล้อเท้งเง็ก” ส่วนฝั่งราชินีกระบี่นั้นเป็นเรื่องของฝั่งนางเอกก็คือ “ฉิ้งซึงปอ” และนอกจากนี้ก็สร้างสีสันของ “หอฟังเสียงคลื่น” ค่ายสำนักลึกลับและเยี่ยมยุทธขึ้นมาหนึ่งองค์กร ซึ่งผมได้เล่าถึงเรื่องของ “หอฟังเสียงคลื่น” นี้ไปในตอนแรก

นอกจากนี้ก็มีตัวละครจากค่ายสำนักมาตรฐานต่างๆ เข้ามาเกี่ยวพันระหว่างทางของการเดินเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งหลวงจีน นักพรต และจอมยุทธจากค่ายสำนักต่างๆ ตลอดจน “กองกำลังผสมต่างชาติ” ที่นำโดย “ราชครูซอเล็ก” เข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่างหาก

นอกจากนี้ ยังมีตัวละครโฉมงามที่สำคัญ อาจพูดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนางเอกคู่ “ล้อเท้งเง็ก” เคียงกันไปกับราชินีกระบี่ “ฉิ้งซึงปอ” เผลอๆ ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม โฉมงามหนึ่งในนางเอกคนนี้ที่ชื่อว่า “ตวนบักพู้” นั้น ออกจะโดดเด่นกว่าทั้งพระเอก “ล้อเท้งเง็ก” และราชินีกระบี่ “ฉิ้งซึงปอ” เสียด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ด้านวรยุทธนั้น “ตวนบักพู้” เทียบไม่ได้เลยกับ “จักรพรรดิดาบ” และ “ราชินีกระบี่”

นั่นก็เพราะ “ตวนบักพู้” แม้ไม่เยี่ยมยุทธ แต่มีคาแรกเตอร์ “โฉมงาม-ลึกลับ-ฉลาดหลักแหลม” และเป็นคนที่มี “ภาวะผู้นำ” สูง รวมถึงรับบทบาทในการ “วางยุทธศาสตร์การรบ” ด้วยวิธีทางเหมือนวางหมากการรบแบบ “เสนาธิการทหาร”

และบทบาทของ “ตวนบักพู้” นี่เอง ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรยายกาศ “รบทัพจับศึก” ให้กับนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ในความคิดของผม “ดาบกระชากเลือด” มีความโดดเด่นในฉากการประกระบวนยุทธต่อสู้ระหว่างยอดฝีมือที่แปลกกว่านิยายจีนกำลังภายในเรื่องอื่น นั่นก็คือ การประกระบวนยุทธครั้งใหญ่ๆ สำคัญๆ ไม่ได้เน้นเรื่องยอดวิชาฝีมือประทะกันสำคัญกว่า “ยุทธศาสตร์การวางกำลังรบ” ทั้งนี้ “เสนาธิการทหาร” ที่เป็นหลักของฝ่ายที่คนอ่านเอาใจช่วย ก็คือ “ตวนบักพู้” นั่นเอง (ในตอนแรก “ตวนบักพู้” เองก็ยังไม่เลือกข้าง “ล้อเท้งเง็ก”)

ฉากการประกระบวนยุทธที่เร้าใจแบบไม่มีใครเขียนเช่นนี้บ่อย ก็คือ ฉากการต่อสู้ระหว่าง “ฝ่ายบู๊ลิ้มตงง้วน” กับ “กองกำลังผสมต่างชาติ” ของ “ราชครูซอเล็ก” ที่เป็นการต่อสู้กันสามวันสามรอบ รอบละเป็นจำนวนมากมายถึง 12 คน โดยเปลี่ยนหน้าจอมยุทธแต่ละฝ่ายเข้ามาปะทะฝีมือกันบนเวทีกลางน้ำ ถือเป็นการประลองศึกใหญ่จริงๆ ที่หาอ่านได้ยากมากไม่ว่าจากนิยายจีนกำลังภายในเรื่องใด โดยที่เราก็อ่านไปและจะเห็นได้ว่า นอกจากฝีมือแล้ว ในการจัดกำลังทัพประกบคู่นั้น “ผู้วางแผนการรบ” ที่เป็นคนเดินหมากด้วยสมอง มีความโดดเด่นเทียบเคียงกับยอดฝีมือที่มีวิยายุทธสูงส่งเลยก็ว่าได้

ลีลาการต่อสู้เช่นนี้ ผมขอคารวะให้ “ซีเบ๊เหล็ง” สามจอก

เรื่องราวของ “ดาบกระชากเลือด” โดยทางพล็อตของเรื่องราว แม้ว่าจะเดินตามแนวคลาสสิกของนิยายจีนกำลังภายใน แต่เอาเข้าจริง “ซีเบ๊เหล็ง” ก็จัดให้มีความซับซ้อนเป็นวงในที่เพิ่มขึ้นในพล็อตหลัก โดยมีเรื่องราวของ “ตวนบักพู้” แห่งตระกูลตวนบัก ที่ก็มีความลึกลับที่เกี่ยวพันกับ “ความแค้น” และ “การล้างแค้น” ซ้อนเข้ามา

และในตอนท้ายวงต่างๆ ก็ขมวดเข้าสู่ใจกลางของความคลี่คลายได้อย่างเรียบเนียนและพอดี ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป เป็นความไม่ธรรมดาที่สอดแทรกในความธรรมดาของโครงเรื่องอย่างไร้ที่ติ

สิ่งที่ผมพูดถึงไปแล้วเมื่อตอนก่อนหน้า ถึงแรงบันดาลใจของ “ดาบกระชากเลือด” ที่มีต่อ “มังกรคู่สู้สิบทิศ” จะว่าไปแล้วนอกจากด้านตัวละคร สำนักยุทธ ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ลีลาการเขียนนิยายจีนกำลังภายในแบบ “ยุทธศาสตร์การทหาร” ก็อาจจะทำให้เราอ่านสุดยอดนิยายของ “ซีเบ๊เหล็ง” และ “หวงอี้” จึงมีกลิ่นคล้ายๆ กันในบางจังหวะ

นิยายจีนกำลังภายใน “ดาบกระชากเลือด” นี้ จะว่าไปแล้วก็เป็นนิยายจีนกำลังภายในที่ให้ความสำคัญกับการ “วางหมากในการรบแบบศึกสงคราม” พอๆ กับ “กระบวนท่าวิทยายุทธ” และให้ความสำคัญกับ “เสนาธิการ” พอๆ กับ “จอมยุทธยอดฝีมือ”

ดังนั้น ที่ผมกล่าวมาข้างต้น ของการที่ “ล้อเท้งเง็ก” ต้องการจะกลับคืนสู่ยุทธจักรเพื่อการล้างแค้นให้บิดาและสถาปนา “นครเขียวเรืองโรจน์” ขึ้นมาใหม่ ในระหว่างการเดินเรื่อง สิ่งที่ “ล้อเท้งเง็ก” นอกจากจะต้องก้าวสู่มรรคา “จักรพรรดิดาบ” แล้ว “ล้อเท้งเง็ก” ยังต้องเดินเกมสร้าง “เครือข่ายคอนเน็กชั่น” ในเชิง “หมากกลสงคราม” ไปพร้อมๆ กัน

จะว่าไปแล้ว ในบางห้วงบางอารมณ์ ขณะที่ผมอ่านเรื่องราวของ “ล้อเท้งเง็ก” ก็มีภาพของ “โค่วจง” ขึ้นมาเป็นเงาลางเลือนอยู่ไกลๆ ในสายหมอกอันเบาบาง (แม้ในบางครั้ง เวลามองไปยัง “ตวนบักพู้” ก็อาจจะนึกถึง “โค่วจง” ในภาคผู้หญิง)

ในขณะที่ “หมู่ตึกเอกะ” และ “นครเขียวเรืองโรจน์” ตั้งประจันหน้าชิง เปรียบเหมือน สองเมืองสองอาณาจักรรบพุ่งช่วงชิงเพื่อครอบครองความเป็นใหญ่ ยุทธศาสตร์การทหารที่จะต้องจัดการคือ วางยุทธศาสตร์ที่สร้างหมากเพื่อล้อมอีกฝ่ายให้ถึงจุดอับ ตีเมืองสำคัญเพื่อสร้างตำแหน่งได้เปรียบในการเดินทัพ

เมืองสำคัญที่สุดที่ต้องตีให้แตกในเรื่องนี้ก็คือ “หอฟังเสียงคลื่น” ภายใต้ตัวแทนคือ “ฉิ้งซึงปอ” โดยที่ทางฝั่งของ “เงี่ยมบ้ออุ้ย” เองก็วางตัวศิษย์ลับ ได้แก่ “จงซ้วง” เป็นสายลับแอบแฝงเข้ามาทำหน้าที่กุมหัวใจ “ฉิ้งซึงปอ” ให้อยู่ และคว้านางมาเป็นพวกให้จงได้

นอกจากนี้ “ตวนบักพู้” ก็เป็นอีกฝ่ายที่สำคัญ ที่สองฝั่งต้องแย่งชิงสตรีนางนี้เข้าเป็นพวกให้จงได้ เพราะ “ตวนบักพู้” ถือเป็น “เสนาธิการทหาร” ที่เด่นที่สุด โอกาสชนะมีสูงมากหากได้นางเป็นพวก (หมู่ตึกเอกะได้นางไปก่อน แต่ภายหลังจึงเข้าฝ่ายกับล้อเท้งเง็ก)

ฝ่ายค่ายสำนักมาตรฐานต่างๆ ก็อีกเช่นกันที่ “ล้อเท้งเง็ก” ต้องได้รับการสนับสนุนจากบรรดาสำนักมาตรฐานเหล่านี้ นอกจากนั้นก็มีกองกำลังอีกฝ่ายที่โผล่ขึ้นมา ก็คือ “กองกำลังผสมต่างชาติ” ของ “ราชครูซอเล็ก” ซึ่งหากหันไปอิงกับข้างใด ข้างนั้นก็จะแกร่งกล้าขึ้นในทันใด (แต่อย่างไรก็ดี การจับมือกับ “ราชครูซอเล็ก” ก็ถือว่าเป็นอีกยุทธศาสตร์ที่ต้องบริหารจัดการ เพราะขุมกำลังนี้ถือเป็น “กองกำลังผสมต่างชาติ” ซึ่งก็ต้องบริหารจัดการอีกแบบ ในฐานะต่างชาติ)

ในตอนขมวดท้าย ชัยชนะของ “ล้อเท้งเง็ก” จึงขึ้นอยู่กับ “การวางกลยุทธทางการศึก” มากกว่าการฝึกปรือให้ก้าวสู่สุดยอดวิทยายุทธ “จักรพรรดิดาบ” เสียด้วยซ้ำ

นิยายจีนกำลังภายในเรื่อง “ดาบกระชากเลือด” เรื่องนี้ ความเห็นของผมจึงสรุปได้ว่า ไม่ได้เป็นแค่นิยายการต่อสู้วิทยายุทธในบู๊ลิ้มธรรมดาๆ แต่เข้าขั้นที่เป็นนิยายจีนกำลังภายในแนวอิงแนวทาง “รบทัพจับศึกทำสงคราม” เพียงแต่มิได้นำเอาประวัติศาสตร์การรบพุ่งชิงดินแดนหรือการต่อสู้กันระหว่างราชวงศ์ของชาวจีนสมัยก่อนมาเป็นตัวละครของเรื่องเท่านั้นเอง

เป็นนิยายจีนกำลังภายในที่ไม่ธรรมดา
กำลังโหลดความคิดเห็น