xs
xsm
sm
md
lg

งำประกายส่วนตน เจิดจำรัสเพื่อส่วนรวม : สัประยุทธในเจ็ดก้าว(ศึกสายเลือด) 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

ผมเขียนถึง “สัประยุทธในเจ็ดก้าว” หรือ “ศึกสายเลือด” ในสำนวนแปลของ “ว ณ เมืองลุง” ไปแล้วสองตอน เริ่มด้วยบอกเล่าเก้าสิบว่า เหตุใดนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ของ “เซียงกัวเตี้ย” ทำให้สามพี่น้องถูกยกย่องให้ขึ้นทำเนียบสุดยอดนักเขียนกำลังภายในเทียบเท่าปรมาจารย์อย่าง “กิมย้ง” หรือ “โกวเล้ง” จากนั้นก็บอกเล่าเรื่องราวบุญคุณความแค้นระหว่างสองพี่น้องตระกูลตั้งรุ่นพ่อ อันได้แก่ “ตั้งบ้อคี้” และ “ตั้งบ้อกง” อันเกิดจากความเข้าใจผิดเรื่องปมปริศนาสังหารบิดาของพวกเขาทั้งคู่

เรื่องราวบุญคุณความแค้น ที่ตามมาด้วยความลับดำมืดที่เกี่ยวพันทั้ง “ราชอาณาจักร” และ “ยุทธจักร” ที่ถูกขมวดเป็นปมลึกลับปมแล้วปมเล่า ก่อกวนเกิดเป็นมรสุมขึ้นในบู๊ลิ้มตงง้วนระลอกแล้วระลอกเล่า แถมยังแฝงเร้นด้วยภยันอันตรายอันเกิดจากการวางแผนรุนรานจากนอกประเทศ เกี่ยวพันถึงบุญคุณความแค้นส่วนตัว บุญคุณความแค้นของครอบครัว เกี่ยวโยงต่อเนื่องไปยังบุญคุณความแค้นของสำนักต่างๆ ในยุทธจักร ไล่เรียงไปถึงความขัดแย้งแห่งราชสำนัก

ผมจะขอไม่ลงรายละเอียดมากมายในการที่จะเขียนถึง “สัประยุทธในเจ็ดก้าว” เรื่องนี้ เนื่องจากดังที่ได้เกริ่นไปตั้งแต่แรกแล้วว่า เรื่องนี้จะได้รับการหยิบขึ้นมาจัดพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊กส์ที่ดำเนินการเรื่องลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของท่านอาจารย์ “น.นพรัตน์” ที่จะมอบหมายให้ทีมงานเป็นผู้แปลเรื่องนี้ และท่านอาจารย์จะเป็นขัดเกลาในร่างสุดท้าย จนออกมาเป็นหนังสือให้ปรากฏในบรรณพิภพอีกครั้ง ท่านที่รักใคร่ชอบพอในการอ่านนิยายจีนกำลังภายใน คงได้มีโอกาสดื่มด่ำกับเรื่องดีๆ เช่นนี้ในระยะเวลาอีกไม่นานเกินรอ

ผมเพียงจะยกประเด็นตัวเอกของเรื่องคือ “ตั้งคี้ซิม” ขึ้นมาพูดถึงการประพฤติตนของตัวละครผู้นี้ เนื่องจากรู้สึกว่า “ตั้งคี้ซิม” มีเอกลักษณ์โดดเด่นในฐานะ “พระเอก” ของนิยายจีนกำลังภายในจากหลายๆ เรื่องที่ได้อ่านมา

“สัประยุทธในเจ็ดก้าว” เริ่มต้นด้วย “ความแค้น” แต่การเดินเรื่องของตัวเอกนั้น ไม่ได้มุ่งแต่จะ “แก้แค้น” เพียงอย่างเดียว หากแต่ “ตั้งคี้ซิม” กลับมีบุคลิกที่ “อดกลั้น” และ “งำประกาย” กระทำการต่างๆ โดยยึดเรื่องของ “ส่วนรวม” เป็นหัวใจหลักในการประพฤติตน ซึ่งบุคลิกเช่นนี้หาได้ยากทั้งในนิยายจีนกำลังภายในทั่วไป ตลอดจนหาได้ยากยิ่งในชีวิตประจำวันของเราท่านๆ

“ตั้งคี้ซิม” แบกรับความกดดันนานัปการตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก บิดาของเขา “ตั้งบ้อกง” สูญเสียวิทยายุทธมาฝังตัวอยู่ในหมู่บ้านชนบท แบกรับความแค้นระหว่างพี่น้องร่วมสายโลหิต แถมยังมีชื่อเสียงอันเลวร้ายกระจายทั่วบู๊ลิ้ม ถูกให้ร้ายได้รับฉายา “มารพสุธา”

อย่างไรก็ดี บิดาของเขาให้ฝึกเขาให้เรียนวิชายุทธตั้งแต่เป็นเด็กทั้งด้านลมปราณและกระบวนท่าวิชา จนมีฝีมือกล้าแกร่ง แต่เขาก็มิอาจแสดงความสามารถใดๆ แม้กระทั่งถูกเด็กๆ ด้วยกันกลั่นแกล้งทุบตี เขาก็ยอมเจ็บสะบักสะบอม ด้วยการเก็บอารมณ์ความรู้สึกภายใน ทั้งเป็นการประพฤติตน “งำประกาย” เพราะบิดาได้อบรมสั่งสอนให้ยอม “เจ็บน้อย เพื่อรักษาประโยชน์ใหญ่” ด้วยเหตุนี้ “ตั้งคี้ซิม” จึงเติบโตมาด้วยการละกระทำตามใจส่วนตัว แต่มุ่งหมายดำรงไว้ซึ่งความดีงามส่วนรวม เพื่อหาทางคลี่คลายความลับดำมืดที่เกี่ยวพันกับยุทธจักร

แม้ว่า “ตั้งคี้ซิม” จะตอบโต้เด็กอันธพาลทั้งหลายที่มาระราน อย่างมากเพียงแค่สะบัดฝ่ามือเบาๆ พวกเด็กเหล่านั้นก็กระเด็นกระดอนไปคนละทิศคนละทาง แต่เขาจะทำเช่นนั้นก็ได้เพียงแค่ “ความสะใจ” แต่เพียงเท่านั้น แต่ย่อมเผยโฉมออกมาว่าเป็นเด็กหนุ่มเยี่ยมวรยุทธ ซึ่งรังแต่จะให้เป็นที่จับตา พลอยทำให้ถูกสืบหาว่าผู้ใดเป็นอาจารย์สอนสั่ง ทำให้สืบสาวมาถึงบิดาเขา “มารพสุธา” ทำให้เสียเวลาที่สู้อุตส่าห์ซ่อนตัวปิดโฉมบังกายมาเป็นเวลานาน

ช่วงแรกๆ ของเรื่องราว มีฉากตอนที่ผมรู้สึกว่าเป็นประเด็นสำคัญจุดแรกๆ ที่ทำให้เราทำความเข้าใจกับ “ตั้งคี้ซิม” และพฤติกรรมของเขา ก็คือตอนที่เขาถูกเด็กๆ ในหมู่บ้านกลั่นแกล้งทุบตีจนบาดเจ็บ พอดีมีเด็กหนุ่มชาติตระกูลร่ำรวยขี่ม้าผ่านมา เมื่อคุณชายน้อยร่ำรวยสูงศักดิ์เห็นเข้า จึงกล่าวกับเขาว่า “โดนรังแกหรือ แก้แค้นสิ” ซึ่งคุณชายน้อยคนดังกล่าวก็คือ “ชีเทียนซิม” ลูกพี่ลูกน้องกับเขา ที่โตขึ้นมาด้วยสภาพแวดล้อมที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง คือร่ำรวยและเปี่ยมวรยุทธที่ได้รับการสอนสั่ง “ตั้งบ้อคี้” บิดาของคุณชายน้อยผู้นั้น ที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดกับ “ตั้งบ้อกง” บิดาของ “ตั้งบ้อคี้” นั่นเอง (ในขณะที่ “ตั้งบ้อกง” บิดาของ “ตั้งคี้ซิม” ถูกเรียกขานว่าเป็น “มาร” ในส่วนของ “ชีเทียนซิม” ที่บิดาของเขา “ตั้งบ้อคี้” ที่เปลี่ยนแซ่เป็นแซ่ชีเพื่อบิดบังตนเอง กลับถูกเรียกขานเป็น “เทียนเกี่ยม” หรือ “กระบี่ฟ้า” แถมยังขุดค้นพบขุมทรัพย์มหาศาลให้ “ชีเทียนซิม” ใช้จ่ายไม่หมดไม่สิ้น)

รูปแบบดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลวิธีการเขียนของ “เซียงกัวเตี้ย” ที่ทำให้เราเห็นความโดดเด่นของ “ตั้งคี้ซิม” ชัดเจนมากขึ้น ก็ด้วยภาพลักษณ์ที่ขัดแย้งระหว่าง “คุณชายร่ำรวยสูงศักดิ์” ของ “ชีเทียนซิม” ที่มีความแตกต่างจากภาพลักษณ์ “งำประกาย” ของ “ตั้งบ้อคี้”

อย่างไรก็ดี “เซียงกัวเตี้ย” ก็ไม่ได้ให้ “ชีเทียนซิม” แตกต่างอย่างเลวร้าย เพียงแต่เป็นการสร้างบุคลิกอีกแบบหนึ่งที่มีรากฐานมาจากสภาพแวดล้อมในอีกรูปแบบ และส่วนตัว “ชีเทียนซิม” ก็มีอะไรน่ารักน่ายกย่องอยู่มากมาย ถือเป็น “คุณชายร่ำรวยไร้เดียงสา” มากกว่าที่จะเป็น “ตัวชั่วร้าย” และนับเป็นสุดยอดจอมยุทธหนุ่มในยุทธจักรได้เช่นกัน

พฤติกรรมของ “ตั้งบ้อคี้” นั้น ทำให้เราเห็นภาพของเด็กหนุ่มที่เติบโตเป็นชายหนุ่มผู้มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง เขาสามารถ “อดทน-อดกลั้น-งำประกาย” และยอมแบกรับทั้งบุญคุณความแค้นส่วนตัว บุญคุณความแค้นของตระกูล ตลอดจนบุญคุณความแค้นของยุทธจักรบู๊ลิ้ม ทั้งนี้ก็เพราะมองเห็น “ปัญหาที่ใหญ่กว่า” และเป็นปัญหาที่จะกระทบต่ออาณาประชาราษฎร์จำนวนมหาศาลกว่า

นิยายจีนกำลังภายใน “สัประยุทธในเจ็ดก้าว” นี้ ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งในหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว “ยุทธจักร” กับ “ราชอาณาจักร” เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก เรื่องราวของ “ยุทธจักร” ถือเป็นองค์ประกอบเล็กๆ ของภาพใหญ่ที่มีประเทศชาติบ้านเมืองเป็นหัวใจ สิ่งที่เกิดขึ้นกับบู๊ลิ้ม ก็ล้วนแล้วแต่มีเหตุมาจากความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง

“จอมยุทธ” ไม่ว่ายิ่งใหญ่เพียงใด ล้วนแต่เป็นเพียงเสี้ยวเศษธุลีของ “ประเทศชาติ” และปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้นในบู๊ลิ้มไม่ว่าจะใหญ่โตเพียงใด ก็เป็นเพียงจิบจ้อยเมื่อเทียบกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสที่เกิดกับ “ราษฎร” ยามบ้านเมืองมีกลียุค

ย้อนกลับไปที่คุณลักษณะ “อดทนเพื่อส่วนรวม” ของ “ตั้งคี้ซิม” ผมมองว่าการที่บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดจะปฏิบัติเช่นนี้ได้ ถือว่าผู้นั้นย่อมมีจิตใจที่ทั้งใสสะอาดและแข็งแกร่งถึงที่สุด

“ตั้งคี้ซิม” นั้นยินยอมที่จะ “งำประกาย” เพื่อทำตัวให้ตัวเองเล็กจ้อย มุ่งหวังในการค้นคว้าหาความลับที่เกิดขึ้นกับหายนะภัยของตระกูลตัวเอง ที่น่าจะเป็นความลับยิ่งใหญ่ที่กระทบต่อบู๊ลิ้มโดยรวม เนื่องจากตระกูลตั้งนั้น นับต่อเนื่องมาแต่ครั้งใดๆ ถือเป็นกองกำลังสำคัญของบู๊ลิ้ม เหตุที่เกิดขึ้นครั้งที่บิดาของ “ตั้งบ้อคี้” และ “ตั้งบ้อกง” ถูกสังหาร ย่อมไม่เพียงแค่เป็นปัญหาครอบครัวธรรมดา ดังนั้น “ตั้งคี้ซิม” ในเบื้องแรกจึง “งำประกาย” เพื่อพรางตัวเพื่อไม่ให้เป็นจุดเด่นให้ถูกจับตา แม้กระทั่งเขาโดนรังแกหรือถูกเหยียดหยาม ก็แบกรับได้อย่างไม่ปริปากบ่น

นอกจากอดกลั้นส่วนตัวแล้ว “ตั้งคี้ซิม” ยังอดกลั้นต่อความแค้นของตระกูล ในท้ายสุดเขายอมเสียสละหญิงสาวที่เขารัก และก็มีแนวโน้มที่จะรักเขา ให้กับลูกพี่ลูกน้องคือ “ชีเทียนซิม” เพื่อไม่อยากให้เกิดการบาดหมางในระหว่างพี่น้องจนเป็นศึกสายเลือดรอบสองในรุ่นของเขา

ในขณะเดียวกัน “ตั้งคี้ซิม” เมื่อได้ทราบความลับอันยิ่งใหญ่ที่มีผลต่อประเทศชาติที่จะโดนชนชาติอื่นวางแผนรุกราน เขาก็ยอมรับการถูกใส่ร้าย ยอมแบกรับความอัปยศในฐานะเป็นคนบาปของบู๊ลิ้ม เพื่อต้องการที่จะขัดปัญหาให้บ้านเมือง ซึ่งในส่วนนี้เอง ทำให้ “สัประยุทธในเจ็ดก้าว” มีความโดดเด่นในเชิงดราม่า ลึกซึ้งกินใจถือเป็นจุดเด่นสำคัญของนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ พร้อมกันนั้น มิตรภาพของ “เพื่อน” ก็ยังมีให้เห็นอยู่หลายช่วงหลายตอนอีกด้วย

คนอย่าง “ตั้งคี้ซิม” นี้ เป็นบุคคลหายากยิ่ง ในการปฏิบัติตน “งำประกายส่วนตน เจิดจำรัสเพื่อส่วนรวม” ส่วนตัวของผมนั้น ตัวเอกในนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ จึงติดอันดับพระเอกในดวงใจห้าอันดับแรกของผมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จะเห็นได้ว่า “ตั้งคี้ซิม” นั้นให้ความสำคัญกับภาพรวมและความเดือดร้อนของประเทศชาติก่อนอื่นใด จากนั้นค่อยให้ความสำคัญกับครอบครัวและเพื่อนฝูง จนสุดท้ายค่อยนึกถึงความต้องการของตัวเอง ตัวเอกเช่นนี้ ที่ถูกสร้างขึ้นโดย “เซียงกัวเตี้ย” ทำให้เรื่องราวของ “สัประยุทธในเจ็ดก้าว” กลายเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมเทียบเคียงกับนิยายจีนกำลังภายในของ “กิมย้ง” หรือนักเขียนใหญ่ท่านอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น