xs
xsm
sm
md
lg

เจ็ดก้าว สองพี่น้อง สามยอดยุทธ : สัปประยุทธในเจ็ดก้าว(ศึกสายเลือด) 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

ผมได้เขียนเล่าเรื่องราวของ “สัปประยุทธในเจ็ดก้าว” ของ “เซียงกัวเตี้ย” เพื่อเป็นการเกริ่นนำก่อนที่จะเขียนยาวๆ ถึงสุดยอดนิยายจีนกำลังภายในของเขาไปแล้วเมื่อตอนที่ผ่านมา และจะเขียนเล่าคร่าวๆ ถึงเรื่องโดยรวม และแง่มุมที่น่าสนใจของเรื่องนี้ในตอนนี้และอีกครั้งในตอนต่อไป ก่อนจะปิดท้ายเรื่องด้วยการเขียนถึงในเชิงปรัชญาแง่คิดที่ได้จากเรื่องดังกล่าว

“สัปประยุทธในเจ็ดก้าว” หรือที่แปลเป็นสำนวนไทยโดย “ว ณ เมืองลุง” ในชื่อ “ศึกสายเลือด” นี้ เป็นเรื่องของ “พี่น้องตระกูลตั้ง” ที่เป็นสองสุดยอดจอมยุทธ ในยุคของพวกเขา มีตำนานสุดยอดจอมยุทธเรียกขานรวมกันว่า “สามดารานภากาศ” และอีกหนึ่ง “มารพสุธา” โดยที่พี่คนโต “ตั้งบ้อคี้” ถือเป็นหนึ่งใน “สามดารานภากาศ” มีฉายา “เทียนเกี่ยม” หรืออาจะเรียกเป็นไทยวัยรุ่ยสมัยนี้ว่า “กระบี่เทพ” อะไรประมาณนั้น ส่วน “ตั้งบ้อกง” น้องชายก็คือ “มารพสุธา” เหตุที่ได้ชื่อฉายาเป็น “มาร” ก็เพราะโดนป้ายสีว่าเป็นคนชั่วในยุทธจักรที่ทำร้ายผู้คนมากมาย

สองพี่น้องตระกูลตั้งผิดใจกันด้วยเหตุต่างคนต่างเข้าใจว่าอีกฝ่ายเป็นผู้สังหารบิดาบังเกิดเกล้าของทั้งสองพี่น้องเอง จึงเป็นเหตุให้เกิด “ศึกสายเลือด” อันทำให้พี่น้องไม่ยินยอมอยู่ร่วมฟ้าเดียวกัน ต่างต่อสู้และประทะหักหาญจนบาดเจ็บเจียนตายทั้งสองฝ่าย และต่างก็แยกจากกันไป

เรื่องราวหลักของเรื่องเกิดขึ้นหลังจากเกริ่นความอาฆาต “ศึกสายเลือด” ไปในตอนต้น ตัวเอกที่แท้จริงนั้นคือ “ตั้งคี้ซิม” ที่เป็นลูกของ “ตั้งบ้อกง” ในขณะที่ก็จะมีพี่น้องร่วมสายเลือดตระกูลตั้งอีกคนคือ “ชีเทียนซิม” ที่เกิดจาก “ตั้งบ้อคี้” ที่ไปเปลี่ยนแซ่และบวชเป็นนักพรต กลายเป็นเรื่องราวประสบการณ์พี่น้องร่วมสายเลือดรุ่นสอง และประสบการณ์เดินเส้นทางในถนนยุทธจักรที่สนุกสนานตื่นเต้น ภายใต้โครงเรื่องค่อนข้างใหญ่และซับซ้อน อีกทั้งยังเต็มไปด้วยความลับดำมืด ตลอดจนสุดยอดวิชาอีกหลายแขนง

คอนเซปต์หลักของเรื่องนั้นมาจากการต่อสู้ระหว่าง “สายเลือดเดียวกัน” และชื่อเรื่อง “สัปประยุทธในเจ็ดก้าว” ก็มาจาก “บทกวีเจ็ดก้าว” ที่โด่งดังจาก “สามก๊ก” โดยที่บทกวีดังกล่าวแต่งโดย “โจสิด” ผู้ที่ปราดเปรื่องหลักแหลม มีความเฉลียวฉลาด และยังเชี่ยวชาญการด้านบทกวี ด้วยเหตุที่เป็นคนฉลาดเฉลียว “โจสิด” จึงได้รับรักใคร่เอ็นดูจากพระบิดาคือ “โจโฉ” และเป็นมือวางอันดับต้นๆ ที่จะรับสืบทอดอำนาจคู่กับ “โจผี”

อย่างไรก็ดี เมื่อ “โจโฉ” ตัดสินใจสละอำนาจให้ “โจผี” ขึ้นแทน ด้วยกลอุบายจากขุนนางที่ทำให้พระองค์ไม่พอใจ “โจสิด” (และ “โจสิด” เองก็ไม่อยากจะช่วงชิงอำนาจกับพี่ชาย) เมื่อขึ้นครองราชย์ “โจผี” ที่เกลียดชัง “โจสิด” อยู่เป็นทุนเดิม จึงวางแผนกำจัดน้องชายร่วมสายเลือด โดยสั่งให้ “โจสิด” เดินไป “เจ็ดก้าว” และแต่งบทกวีบทหนึ่งให้ทัน โดยเนื้อหาให้เกี่ยวกับพี่น้องที่ไม่อาจฆ่ากัน โดยห้ามมิให้มีคำว่าพี่-น้องอยู่ในนั้น

ใน “เจ็ดก้าว” เพียงเท่านั้น “โจสิด” ก็แต่งบทกวีขึ้นมาโดยกล่าวถึง “เคราะห์กรรมที่แสนคับแค้นของตระกูลถั่ว” ที่ “เถาถั่ว” ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการคั่วต้ม “เมล็ดถั่ว” ดังมีใจความว่า (มีหลายสำนวนนะครับ แต่ผมเลือกเอาสำนวนจาก “ศึกสายเลือด” แปลโดย “ว ณ เมืองลุง” มา ณ ที่นี้)

“ต้มถั่วใช้เถาถั่วเป็นเชื้อไฟ
ถั่วร่ำไห้ในน้ำเดือดพล่าน
ต่างก่อเกิดจากรากเหง้าเดียวกัน
ใยเผาผลาญร้อนรนจนปานนี้”


หลังจาก “โจผี” ได้ยินบทกวี คงสำนึกได้ จึงงดประหาร “โจสิด” แต่เนรเทศออกนอกเมือง และสุดท้ายบั้นปลายของชีวิต “โจสิด” ก็ตรอมใจตาย

นิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในแวดวงนิยายกำลังภายในของจีน มีโครงที่ใหญ่ มีฉากต่อสู้ที่ดุเดือด มียอดวิชา มีหลายฉากหลายบรรยากาศ และมีไกลไปถึงต่างแดน มีเรื่องที่เกี่ยวพันกับการช่วงชิงอำนาจของบ้านเมือง มีความสะเทือนใจแนวดราม่า มีพระเอกของเรื่องที่มีความเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีตัวเอกอื่นๆ ที่น่าสนใจ มีตัวนางเอกหลายคนต่างบุคลิก ดีทั้งบทบู๊ บทรัก บทสะเทือนใจ และมีลูกกุ๊กกิ๊กน่ารักสอดแทรก เต็มไปด้วยการแฝงปรัชญาคุณธรรม ตลอดจนสำนึกแห่งชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้ผมจะเขียนต่อเนื่องถึงภาพรวมในตอนถัดไป

ในเรื่องนี้มีประเด็นเล็กๆ หากแต่น่าสนใจ ที่ผมแอบสงสัย นั่นก็คือ อาจจะเป็นเพราะ “เซียงกัวเตี้ย” เป็น “สามพี่น้อง” หรือเปล่า แม้การต่อสู้ระหว่างสายเลือดเป็นเพียงสองพี่น้อง แต่มีการสร้าง “กลุ่ม3” ขึ้นมาหลายอย่างใน “สัปประยุทธในเจ็ดก้าว” เรื่องนี้ เช่น “เทียนจ้อซาแช” (สามดารานภากาศ) และก็ยังมี “สามปรมาจารย์” ที่เป็นรุ่นก่อนของ “เทียนจ้อซาแซ” และสุดยอดวิชา “จิ้นเทียนซาเส็ก” (สามท่าสะท้อนฟ้า) ที่เป็นหนึ่งใน “สามสุดยอดวิชา” อันประกอบไปด้วยอีกหนึ่งสุดยอดลมปราณ “พลังเทพสุริยัน” และสุดยอดท่าเท้า “เงามายาถลากลิ่น” ซึ่งในตอนหลัง “ตั้งคี้ซิม” หลอมรวมทั้งสามเข้าด้วยกัน

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังมี “สามของวิเศษ” จากลายแทงขุมทรัพย์ที่ช่วยให้ “ตั้งบ้อกง” ฟื้นคืนฝีมือ รวมตลอดจน “กลุ่ม3” ในรายละเอียดเล็กน้อยของเรื่อง เช่น “อี้ทังซาเกี่ยม” หรือ “สามกระบี่อี้ทัง” รวมตลอดถึงสุดยอดท่าวิชาที่ปรากฎขึ้นเป็น “ครั้งแรก” ในตอนเกริ่นนำของเรื่องระหว่างการต่อสู้ของ “จิวเจี๊ยะเล้ง” นักพรตเฒ่าแห่งบู๊ตึ้ง กับหลวงจีนชรา “ปวยเทียนยูไล” เคล็ดวิชาที่แสดงออกมาให้อ่านกันเป็น วรยุทธแรกของ “สัปประยุทธในเจ็ดก้าว” เรื่องนี้ก็คือ “บ้อเต๊กซาซิงเกี่ยม” หรือ “สามเทพกระบี่ไร้ผู้ต่อต้าน” แห่งสำนักบู๊ตึ้ง และเรื่องนี้ก็สืบสาวเรื่องราวตระกูลตั้งไปทั้งหมด “3 รุ่น” คือรุ่นปู่ รุ่นพ่อ และจบที่รุ่นลูก คือพระเอก “ตั้งคี้ซิม” กับลูกพี่ลูกน้อง “ชีเทียนซิม”

ผมจึงแอบเรียกนิยายจีนกำลังภายในเรื่องนี้เป็นส่วนตัวว่า “7-2-3” ได้แก่ “เจ็ดก้าว-สองพี่น้อง-สามยอดยุทธ”
กำลังโหลดความคิดเห็น