xs
xsm
sm
md
lg

การสุมหัวรวมตัวของคนชั่วร้าย : สัประยุทธในเจ็ดก้าว(ศึกสายเลือด) 4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช

ผมเขียนถึง “สัประยุทธในเจ็ดก้าว” ผลงานของ “เซียงกัวเตี้ย” ที่เคยได้รับการแปลเป็นภาษาไทยภายใต้สำนวนของ “ว ณ เมืองลุง” ให้ชื่อว่า “ศึกสายเลือด” มาแล้วสามตอน ตอนนี้ผมจะขอพูดถึงประเด็นในนิยายจีนกำลังภายในดังกล่าวที่ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจและเป็นเรื่องสอนใจสำหรับสังคมได้ทุกยุคทุกสมัย และถือเป็นตอนสุดท้ายที่จะเขียนถึงเรื่องนี้

ในเรื่อง “สัประยุทธในเจ็ดก้าว” เรื่องนี้ มีมหันตภัยร้ายแรงที่เกี่ยวข้องทั้งภาพรวมของ “ราชอาณาจักร” และส่วนย่อยก็คือ “ยุทธจักร” ที่เกิดขึ้นและพาดพันกัน โดยมีตัวร้าย อันได้แก่ “เล่งง้วยก๊กจู้” ที่มีความต้องการจะยึดครองประเทศจีน และสองในสาม “ดารานภากาศ” คือ “เทียนคุ้ย” และ “เทียนคิ้ม” ที่ต้องการจะยึดครองบู๊ลิ้มตงง้วน

มีอยู่ตอนหนึ่งที่เล่าฉากตอนของการ “สุมหัวรวมตัวของคนชั่วร้าย” ทั้งสามคน ที่ผมประทับใจการบรรยาย “อุดมการณ์และแนวคิดของความชั่วร้าย” ซึ่ง “เซียงกัวเตี้ย” ได้เขียนเอาไว้ใน “สัประยุทธในเจ็ดก้าว” เรื่องนี้

ทั้งนี้เรื่องราวของ “คนชั่วร้าย” ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ล้วนแต่มีความคล้ายคลึงกัน เรื่องราวทำนองนี้ สามารถพบเห็นได้ในทุกยุคทุกสมัย ทั้งในชีวิตจริงหรือในนิยาย ไม่ว่าชาติใดภาษาใดหรือสังคมใด ล้วนมีเรื่องราวของการสุมหัวของคนชั่วร้ายให้เราเห็นอยู่เป็นนิจ

ครั้งที่ “เทียนคุ้ย” และ “เทียนคิ้ม” สองชั่วร้ายแห่งยุทธจักร ได้เจอะเจอ “เล่งง้วยก๊กจู้” และได้มีการทดสอบฝีมือด้วยการประลองคารวะสุรากัน ต่างยอมรับนับถือในฝีมือของแต่ละฝ่าย และต่างมีความแค้นและต้องการกำจัด “ตั้งคี้ซิม” เป็นจุดประสงค์เดียวกัน อยู่ดีๆ ระหว่างการสนทนา “เล่งง้วยก๊กจู้” ก็หัวเราะขึ้นดังๆ จนสองในสามดารานภากาศสงสัยใจยิ่งนัก

“อ้วงเอี๊ยมีเรื่องอันใดน่าหัวเราะถึงปานนี้ กล่าวให้พวกเราทั้งหลายได้ฟังบ้างเป็นไร”


“เล่งง้วยก๊กจู้” จึงกล่าวขึ้น

“เมื่อครู่ตอนมาถึงที่นี้ เล่าฮูพลันนึกถึงปัญหาหนึ่งขึ้นในระหว่างทาง...”

“ปัญหาอันใด” เทียนคิ้มสงสัย

“เล่าฮูต้องถามท่านทั้งสองสักคำก่อน บุคคลเช่นเล่าฮูนี้ พอจะนับเป็นคนเลวร้ายได้หรือไม่”

“เทียนคิ้ม” หัวร่อเสียงดังก้องแล้วตอบไป

“นั่นยังจะต้องบอกกล่าวหรือ เฒ่ากลอกกลิ้งเจ้าเล่ห์มีอุบายชั่วร้ายอำมหิต ไหนเลยจะนับเป็นคนดีงามได้”

“เล่งง้วยก๊กจู้” หัวร่อเสียงก้องกล่าวว่า

“ถูกต้อง อุนเฮียกล่าวถูกต้องยิ่ง แม้ตัวท่านทั้งสองก็เป็นตัวร้ายยิ่งใหญ่ที่ยากจะหาพบพานในโลก สำหรับข้อความนี้ คิดว่าท่านทั้งสองต้องไม่บ่ายเบี่ยงปฏิเสธกระมัง”

“เทียนคุ้ย” แค่นเสียงเย็นชาขึ้นว่า

“นั่นดูว่าท่านจะกล่าวเยี่ยงไร”

“เล่าฮูขอถามท่านอีกคำ ในโลกนี้มีคนดีงามมากกว่าหรือคนชั่วร้ายมากกว่า”


“เทียนคุ้ยงงงันไปวูบ จึงร้องโพล่งขึ้น

“ในความเห็นของข้าพเจ้า น่ากลัวคนดีงามมีมากกว่า”

“เล่งง้วยก๊กจู้” หัวร่อแล้วกล่าวขึ้น

“ถูกต้อง บุคคลที่มีความเลวร้ายระดับพวกเรานี้ ทั่วพิภพจบแดนน่ากลัวเฟ้นหาออกมาได้ไม่กี่คนเท่านั้น แต่มีข้อหนึ่งที่พึงต้องสนใจไว้ นับแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน คนดีไม่มีทางพิชิตคนเลวให้สยบไปหมดสิ้น คนเลวก็ไม่อาจทำลายคนดีให้พ่ายแพ้แหลกลาญ ใช่หรือไม่”

“ใช่แล้วเป็นไร”

“คนดีมีจำนวนมาก แต่กลับไม่อาจได้ชัยคนเลวร้ายโดยเด็ดขาด นี่เพราะเหตุใด เนื่องเพราะว่าคนดีต่างถือมติประจำตัว เกี่ยวข้องแต่เรื่องของตน อย่าได้กังวลถึงผู้อื่น แต่คนเลวเล่า มีคำว่า กลิ่นเหม็นเดียวกันร่วมสุมหัว นี่คือสาเหตุสำคัญนั่นเอง”


สองในสามดารานภากาศฟังคำกล่าวเห็นว่ามีเหตุผลสมจริง ถึงกับเหลียวมองหน้ากันแว่บหนึ่ง “เล่งง้วยก๊กจู้” จึงกล่าวสืบต่อว่า

“พวกเราสามคนนี้ น่ากลัวเป็นยอดของความเลวร้ายในแผ่นดินยุคนี้ได้เต็มภาคภูมิ แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่พวกเรายังไม่อาจนับว่าเป็นสุดยอดของความเลวร้าย...”

“ว่ากระไร”

“เนื่องจากพวกเรายังไม่เคยร่วมความเลวร้ายในปลักเดียวกัน และยังไม่ได้สุมหัวคบคิดก่อการร้ายด้วยกัน”


พอฟังดังนั้น “เทียนคุ้ย” และ “เทียนคิ้ม” จึงเกิดความเห็นพ้องกับวาจาของ “เล่งง้วยก๊กจู้” เกิดความหวั่นไหวใจจนอดไม่ได้ที่จะต้องไถ่ถามรายละเอียดว่าจิ้งจอกเฒ่าที่ชั่วร้ายผู้นี้คิดการอะไรอยู่ ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าคนชั่วร้ายในโลกจะไม่ชอบที่จะสุมหัวรวมกัน แต่มักจะมีสิ่งที่มากั้นขวางอุดมการณ์ปณิธานของการรวมหมู่แห่งความเลวร้าย นั่นก็คือสังคมของความเลวร้ายมักจะเกิด “ทรยศหักหลัง” และมักจะเกิดสถานการณ์เช่นนี้ก่อนที่ “ภารกิจเลวร้าย” จะสำเร็จเสร็จสิ้น

เมื่อพบเห็นจุดอ่อนแห่งความเลวร้ายเช่นนี้ ทั้งสามตัวชั่วร้ายจึงมีข้อตกลงที่จะร่วมมือกัน โดยสำแดงเจตนารมณ์ชัดเจนกันแต่ต้นว่า

“พวกเราสามัคคีร่วมแรงร่วมใจสยบสถานการณ์ใหญ่ในบู๊ลิ้มทั้งแผ่นดินให้อยู่ใต้อำนาจก่อน เมื่อจัดการกวาดล้างพวกศัตรูทั้งมวลหมดสิ้นแล้ว พวกเราค่อยมาหักล้างทำลายกันเอง พวกท่านเห็นเป็นเช่นไร”

“เทียนคุ้ย” และ “เทียนคิ้ม” สบตาและรับคำทันใด

“อ้วงเอี๊ยปากไวใจตรงเป็นที่สบอารมณ์ยิ่งนัก”

“เล่งง้วยก๊กจู้” อธิบายต่อว่า

“กล่าวให้น่าฟังกว่านี้ เป็นพวกเราร่วมแรงร่วมใจกันสร้างแผ่นดิน กล่าวให้เป็นที่ไม่น่าฟังก็คือ พวกเราสุมหัวก่อการร้ายหลอกใช้กันและกันนั่นเอง”

จากนั้นทั้งสามก็ตกลงกล่าวเรียกพี่เรียกน้อง พร้อมกล่าวคำสาบานจะไม่ทรยศหักหลังกันก่อนกิจการงานผลาญชาติจะสำเร็จเสร็จสิ้น

อย่างไรก็ดี “การสุมหัวรวมตัวของความเลวร้าย” นี้ ก็มิได้สำเร็จลุล่วงตามแบบฉบับนิยายจีนกำลังภายในที่เราคุ้นเคยกันดีกับจุดจบ “ธรรมย่อมชนะอธรรม” ในที่สุด “ยุทธจักร” ก็มีคนดีที่สามารถทำลายล้างแผนการชั่วร้ายและจัดการกับคนเลวทรามเหล่านี้เป็นผลสำเร็จ

“ธรรมย่อมชนะอธรรม” ในนิยายจีนกำลังภายในเป็นสิ่งสวยหรูและทำหน้าที่จรรโลงใจให้กับผู้อ่านอย่างสม่ำเสมอ

ในสังคมในชีวิตจริงนั้น ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นเช่นในนิยายเกิดขึ้นให้เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งระดับเล็กไปจนระดับมหึมา กระทบกลุ่มเล็กไปยังกระทบต่อประเทศชาติโดยรวม

ความชั่วร้ายต่างๆ เหล่านี้ จะเดินหน้าไปได้แค่ไหน จะสำเร็จลุล่วงไปได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยง่ายๆ ไม่กี่ประการ

ประการแรกก็คือ เราตระหนักเห็นความชั่วร้ายนั่นหรือไม่ และเราสามารถตัดขาดกับกิเลสในตัวไม่ให้เราไปเป็นส่วนหนึ่งของความชั่วร้ายนั้นได้หรือไม่

ประการต่อมาคือ มีคนดีที่จะหาญกล้าต่อสู้กับความชั่วร้ายหรือไม่ และเราสามารถที่จะร่วมสนับสนุนเชิดชู ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกับคนดีในการจัดการกับความชั่วร้ายนั้นได้หรือไม่

ประการสุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ “อดทนที่จะยืนหยัดเผชิญหน้าความชั่วร้าย” ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่า บางครั้งความชั่วร้ายกล้าแกร่ง และมีพลังมหาศาล รวมตลอดจนมีผู้หลงเข้าสุมหัวรวมตัวกับความชั่วร้ายมากมายเหลือคณา ความชั่วร้ายจึงแข็งแรง และสามารถดำเนินกิจการความชั่วร้ายได้อย่างมีระบบ มีประสิทธิภาพ และอย่างต่อเนื่องยาวนาน

เราจึงจะต้อง “อดทน” และอดกลั้นยืนหยัดในความดี ไม่หลงใหลมัวเมาไปกับความชั่วร้าย และจะไม่ต้องขลาดกลัวที่จะต่อสู้กับความชั่วร้าย แม้ว่าจะต้องอาศัยเวลาอันยาวนานในการต่อสู้ มีบาดเจ็บ มีล้มลุกคลุกคลาน และมีเหนื่อยท้อในจิตใจ

ชีวิตจริงนั้นไม่เหมือนนิยาย แต่ผมเชื่อว่า ไม่ว่าอย่างไร “ความดี” สามารถชนะ “ความชั่วร้าย” ได้แน่นอนและจีรังในบั้นปลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น