xs
xsm
sm
md
lg

เตือน“ปู”เอื้อพรรคพวกเชื่อมั่น“ปชต.”วูบแน่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

5 ปีรัฐประหาร ชาวบ้านชู “รัฐบาลรักษาประชาธิปไตย” เตือน“ปู”เอื้อพรรคพวกความเชื่อมั่นต่อ“ประชาธิปไตย”ลดวูบแน่ ด้าน“นักวิชาการแดง” ในนาม “นิติราษฎร์” เสนอล้มรธน.50 แก้ปัตราโทษม.112 ลบล้างผลพวง 19 ก.ย. ด้าน “สภาทนาย” เตือนคอ.นธ.อย่าทำงานใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ
 
วานนี้ (18ก.ย.) นายนพดล กรรณิกา ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวถึงผลวิจัยเชิงสำรวจ “วันครบรอบรัฐประหาร 19 กันยายน คนไทยคิดอย่างไรต่อประชาธิปไตย”ว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.2 มองว่าการมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ค่อนข้างดี ถึง ดีมาก ในขณะที่ร้อยละ 6.8 ระบุไม่ค่อยดี ถึง ไม่ดีเลย เมื่อถามถึงทัศนคติต่อแนวคิดที่ว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยดีกว่า การปกครองรูปแบบอื่น แม้จะมีปัญหามากมายทั้งในเรื่องการคอรัปชั่น และความไม่เป็นธรรมในสังคม คำตอบที่ได้รับจากประชาชนที่ถูกศึกษาครั้งนี้คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.2 เห็นด้วย ถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง ว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยดีกว่าการปกครองรูปแบบอื่นแม้มีปัญหามากมาย
นอกจากนี้ เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.7 ชอบถึงชอบมาก ในขณะที่ร้อยละ 11.3 ไม่ค่อยชอบถึงไม่ชอบเลย

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงทัศนคติต่อแนวคิดที่ระบุว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปในทิศทางที่แย่มาก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.7 ไม่เห็นด้วย ถึง ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อแนวคิดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 38.2 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง

เมื่อถามถึงทัศนคติต่อแนวคิดที่ว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยไม่เอื้อต่อการรักษาระเบียบวินัยของคนในชาติ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 ไม่เห็นด้วย ถึง ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ในขณะที่ร้อยละ 7.8 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง นอกจากนี้ เมื่อถามถึงทัศนคติต่อแนวคิดที่ว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยจะทำให้เกิดการชุมนุมและความวุ่นวายต่างๆ ในสังคม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.0 ไม่เห็นด้วย ถึง ไม่เห็นด้วยเลย ในขณะที่ร้อยละ 34.0 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ที่น่าเป็นห่วงคือ เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.9 ระบุความเชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยจะลดลง ถ้ารัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์เอื้อต่อผลประโยชน์เฉพาะคนและเฉพาะกลุ่ม ในขณะที่ร้อยละ 46.1 ระบุไม่ลดลง นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 51.9 ยังมองว่าความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นความพยายามจะทำเพื่อประโยชน์ของคนบางคน บางกลุ่ม ในขณะที่ร้อยละ 48.1 มองว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ผลสำรวจครั้งนี้ได้ค้นพบว่า คนไทยมีหัวใจรักประชาธิปไตยโดยยืนยันได้จากการพิสูจน์ด้วยคำถามทั้งทางบวกและทางลบ แต่ถ้ารัฐบาลทำงานเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางคนหรือคนเฉพาะกลุ่มก็จะกลายเป็นรัฐบาลที่ทำให้คนไทยจำนวนมากต้องอกหัก พักความเป็นประชาธิปไตยไปได้เช่นกัน จึงต้องระวังความรู้สึกของชาวบ้านบ้างว่าเวลา 1 เดือนมันจะนานเหมือน 1 ปี เพราะถ้าประชาชนอยู่อย่างเป็นทุกข์ประชาชนก็จะรู้สึกว่ายาวนานเกินไป

*นปช.จัดกิจกรรมรำลึก 5 ปี การก่อรัฐประหาร

วันเดียวกันตั้งแต่เวลา 13.00-24.00 น. ที่ลานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง จำนวนมาก ร่วมกิจกรรมครบรอบ 5 ปี การทำรัฐประหาร 19 ก.ย. โดยมีการปราศรัยของ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่เดินทางกลับจากกัมพูชา

ช่วงค่ำฝนได้ตกลงมาอย่างหนักทำให้คนเสื้อแดงบางส่วนเดินทางกลับ ขณะที่ ทางนครบาล คาดว่ามีผู้มาร่วมชุมนุมรำลึกประมาณ 30,000 คน

**“นักวิชาการแดง”แนะล้มรธน.50
 

อีกด้าน อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะนิติราษฎร์ ร่วมกันแถลงข้อเสนอทาง “วิชาการ” 4 ข้อ ในโอกาสครบรอบ “5 ปี รัฐประหาร” 1 ปี นิติราษฎร์ เพื่อล้มล้างรัฐประหาร โดย อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้กล่าวถึงข้อเสนอที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2550 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า จากการหารือของคณะนิติราษฎร์แล้ว มีความเห็นว่า ประเทศไทยควรที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง และรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับใช้ จากนั้น นำให้ประชาชนลงมติ เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยเห็นว่าการกระทำดังกล่าว จะทำให้รัฐธรรมนูญพ้นคราบภัยของความเป็นเผด็จการ

ทางด้าน อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้กล่าวถึงกรณีข้อเสนอที่ให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 19 ก.ย. ปี 2549 ว่า ทางกลุ่มมีความเห็นสมควรให้คำพิพากษาศาลคำสั่งที่เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหาร เสียเปล่า และถือว่าไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย ส่วนประเด็นที่ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น คณะนิติราษฎร์เห็นควรให้มีการแก้ไขให้สมกับอัตราโทษ
อย่างไรก็ตาม คณะนิติราษฎร์ยืนยันว่า ขอเสนอดังกล่าวไม่ได้ทำเพื่อช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ทำเพื่อประชาชนคนไทย

**สภาทนาย เตือนคอ.นธ.อย่าเบ็ดเสร็จ
 

อีกด้าน ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)ว่า ถ้าจะมองว่าการทำงานจะซ้ำซ้อน กับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มีอยู่แล้วซึ่งแต่งตั้งและมีกฎหมายรองรับ เห็นว่ายังมีข้อแตกต่างกันอยู่เมื่อพิจารณาที่มาที่ไปของ คอ.นธ.ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาโดยฝ่ายบริหารเพื่อศึกษาการบังคับใช้กฎหมายที่รัฐบาลเห็นว่ามีปัญหาเรื่องดับเบิ้ลสแตนดาร์ด ขณะที่ค่อนข้างชัดเจนว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีกฎหมายรองรับเหมือนชุดของนายคณิต ณ นคร ส่วนผลการศึกษานั้นสุดท้ายก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารต้องไปพิจารณาอีกครั้งว่านำไปดำเนินการได้อย่างไร หรือไม่ ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมีภาระหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจน

ส่วนความน่าเชื่อถือและการยอมรับผลการศึกษาคณะกรรมการ ฯ ชุดนายอุกฤษ จะมีหรือไม่ เพราะไม่มีกฎหมายรับรอง และกรรมการทั้ง 12 คนมาจากอดีตอธิการบดี คณบดี และนักวิชาการกฎหมาย ซึ่งไม่มีตัวแทนอื่น เช่น ภาคสังคม รัฐศาสตร์ นั้น ว่าที่ พ.ต.สมบัติ กล่าวว่า เมื่อลักษณะของ คอ.นธ. น่าจะศึกษาปัญหาต่าง ๆ ที่ฝ่ายบริหารเสนอมา แต่สุดท้ายการตัดสินใจว่าจะทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ฝ่ายบริหารก็ต้องพิจารณาเองโดยผลการศึกษาของ คอ.นธ.อาจจะสอดคล้องกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย หรือจะแตกต่างก็ได้

** แนะถามความเห็นภาคสังคม-ปชช.

ทั้งนี้ หน้าตาของคณะกรรมการ คอ.นธ. 12 คน ขณะนี้ยังไม่ทราบจะมีใครบ้างก็ต้องรอดู แต่เมื่อมีการแต่งตั้งเชื่อว่านายอุกฤษ จะต้องหาผู้ทีมีความตั้งใจมาทำงาน ส่วนที่ไม่มีตัวแทนภาคอื่นร่วมเป็นกรรมการ อาจเป็นเพราะมองว่าเมื่อมีปัญหาต้องศึกษาเกี่ยวกับการใช้กฎหมายก็ต้องให้นักกฎหมายดู แต่ตนเห็นว่าผลการศึกษาน่ายอมรับได้หรือไม่ ก็ควรต้องให้เห็นที่มา ที่ไป หรืออาจให้ประชาชน หรือภาคสังคมมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย แล้วจึงนำเสนอฝ่ายบริหาร หรือเสนอคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติ พิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อไป อันจะไม่ทำให้ผลการศึกษาของ คอ.นธ. เบ็ดเสร็จฝ่ายเดียว

“ระยะเวลาการดำเนินการของ คอ.นธ. ก็คงขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารเพราะถูกตั้งมาจากการเมือง ถ้าจะศึกษาการใช้กฎหมายทั้งระบบต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นผลการศึกษา คอ.นธ. จึงน่าจะเป็นการจุดประกายขึ้นมามากกว่า ส่วนที่จะส่งผลถึงแก้กฎหมายหรือไม่ คงไม่ง่ายเพราะยังมีคณะปฏิรูปกฎหมาย อีกทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องเกี่ยวข้อง ” โฆษกสภาทนายความ กล่าว

ส่วนที่หลายฝ่ายห่วงการแทรกแซงฝ่ายการเมือง ว่าที่ พ.ต.สมบัติ กล่าวว่า เมื่อชัดเจนว่า คอ.นธ. ถูกตั้งโดยฝ่ายบริหาร ส่วนตัวของคณะกรรมการแต่ละคนที่ถูกตั้งมาก็ต้องระวังอยู่แล้ว ขณะที่กรรมการแต่ละคนถ้าคิดว่าจะถูกแทรกแซงทางการเมืองก็สามารถถอนตัวได้ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าหากมีการแทรกแซงทางการเมืองยังมีภาคสังคมช่วยตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน

**ส.ว.ซัดตั้งซ้ำซ้อนองค์กรอิสระ

นายวันชัย สอนศิริ สว.สรรหาและอดีตเลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า น่าจะเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับองค์กรอิสระอื่นที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยเฉพาะองค์กร เพื่อการปฏิรูปกฎหมายและองค์กรเพื่อการปฏิรูปขบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 81 และองค์กรดังกล่าวก็มีคณะกรรมการผ่านการสรรหาและทำงานกันอยู่แล้ว ซึ่งมีความน่าเชื่อถือและมีความเป็นกลาง อีกทั้งมีกฎหมายรองรับ มีน้ำหนักที่น่าจะทำงานได้ดีกว่า คอ.นธ.ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยไม่มีกฎหมายใดๆ มารองรับ

ความจริงกระบวนการยุติธรรมการบังคับใช้กฎหมายและองค์กรอิสระต่างๆ นั้น ทำหน้าที่ดีอยู่แล้วแต่ที่ผ่านมา มีการเมืองเข้าไปแทรกแซง กดดัน สร้างสถานการณ์ และกล่าวหา จนทำให้องค์กรอิสระในกระบวนการยุติธรรมเสียหาย ดังนั้น หาก คอ.นธ.จะทำงานตรวจสอบแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ น่าจะพิจารณาและศึกษาก่อนว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกดดันอย่างอดีตที่ผ่านมา.
กำลังโหลดความคิดเห็น