xs
xsm
sm
md
lg

5 ปี 19 กันยาฯ

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

แน่นอนว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เมื่อมองย้อนหลังไปจากวันนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ได้ไม่คุ้มเสีย สร้างปัญหาใหม่เข้าไปผสมผสานกับปัญหาเดิมที่ยังคงดำรงอยู่ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่มหาวิกฤตบนเส้นทางที่จะนำไปสู่ยุคใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไปจากปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความถูกต้องชอบธรรมขึ้นมา

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับ “ระบอบทักษิณ” เป็นคนละเรื่องกัน
ต่างมีความดีความเลวความถูกความผิดในตัวของตัวเอง ความเลวความผิดของสิ่งหนึ่งไม่อาจทำให้อีกสิ่งหนึ่งเป็นความดีความถูกขึ้นมาได้

ภาพลักษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือ นักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ มีสายตาแหลมคมในการทำธุรกิจ เมื่อมาเป็นนักการเมืองก็สามารถใช้อำนาจรัฐอย่างแยบยล เล่นกับอำนาจและทรัพยากรเป็น แถมยังสามารถใช้นโยบายทางเศรษฐกิจสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนกลุ่มด้อยโอกาส โดยเฉพาะในภาคอีสานที่เป็นฐานใหญ่รองรับการขึ้นสู่อำนาจของนักการเมืองทุกยุคทุกสมัย ในยุคเรืองอำนาจ ผู้นำอาเซียนชาติอื่นๆ ก็จับจ้องอยู่ บางคนอาจจะชอบบางคนไม่ชอบ

คำว่า “ทักษิโณมิกส์” ที่เราท่านคุ้นกันดีปรากฏเป็นครั้งแรกโดย นางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในสุนทรพจน์งานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) เมื่อปี 2546 นัยว่าเพื่อยกย่องให้เกียรตินายกรัฐมนตรีไทย

แต่คำยกย่องในงานเลี้ยง กับความเป็นจริงที่คนไทยสัมผัสแตกต่างกัน

มีนักวิชาการหลายคนแจกแจงลักษณะของ “ทักษิโณมิกส์” หรือ “ระบอบทักษิณ” ได้ลุ่มลึกชัดเจน แต่ขออ้างคำอธิบายของนายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร.ผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญ 2540

ท่านบอกว่า “ทักษิโณมิกส์” มีลักษณะ 10 ประการ โดยบัญญัติศัพท์เรียกว่า “ทศลักษณ์ทักษิโณมิกส์” ในหนังสือ “รัฐธรรมนูญตายแล้ว” ตีพิมพ์ในราวปี 2547 โดยสำนักพิมพ์ของดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่เริ่มจัดพิมพ์หนังสือ “รู้ทันทักษิณ” ขึ้นมาเป็นเล่มแรกในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน ทั้งสองเป็นปรากฏการณ์ก่อนเกิด “ปรากฏการณ์สนธิ” ประมาณ 1 ปี และก่อนเกิด “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เกือบ 2 ปี คำว่า “รัฐธรรมนูญตายแล้ว” ในความหมายนี้คือ...

“รัฐธรรมนูญ 2540 ตายแล้ว - ตายโดยการกระทำในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร”

จะไม่ขอนำมาอธิบายต่อทั้งหมด เกรงจะยาวเกินไป ขอเพียงยกที่สำคัญๆ แต่เพียงหัวข้อ เช่น

- การบริหารประเทศไปด้วย ขยายอาณาจักรทางธุรกิจของครอบครัวและพวกพ้องของตนไปด้วย,

- แปลงรัฐธรรมนูญให้เป็นเครื่องมือของเผด็จการรูปแบบใหม่ หรือเผด็จการสายพันธุ์ใหม่ เพื่อนำพาประเทศให้เป็นเสมือนการปกครองในระบบประธานาธิบดี,

- การใช้การตลาด การโฆษณาชวนเชื่อ และ “เงิน” เป็นกลไกหลักในการบริหารประเทศ,

- เป็นผู้นำประเภท “5 เร็ว” คือ คิดเร็ว พูดเร็ว ทำเร็ว เปลี่ยนเร็ว ลืมเร็ว,

- การเล่นพรรคเล่นพวก การเลือกปฏิบัติ

- การครอบงำกลไกการตรวจสอบทั้งวุฒิสภาและองค์กรอิสระ

ไล่เรื่อยมาถึงประการสุดท้ายประการที่ 10 คือ...

- สร้างนวัตกรรมทางการเมืองใหม่ ภายใต้การกำกับดูแลของอาณาจักรทางธุรกิจ พยายามทำให้ตนเองและครอบครัวเป็นศูนย์กลางของระบอบ โดยทำพรรคการเมืองให้เป็นเหมือน “เปลือกหอยที่ห่อหุ้มอาณาจักรชิน” ใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือเข้ายึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จ ตัดตอนการตรวจสอบถ่วงดุล จากนั้น ใช้ครอบครัวและวงศ์วานว่านเครือเป็นศูนย์กลางคอยใช้อำนาจและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน

ทั้งหมดผมไม่ได้ว่าเองนะครับ คัดมาจากหนังสือเล่มนี้ที่ควรกลับไปอ่านอีกครั้งทั้งนั้น

จะว่าไปแล้วการเกิดขึ้นของ “ระบอบทักษิณ” ก็ไม่ใช่ไร้ที่มาที่ไป

ความล้มเหลวของระบอบการเมืองเดิมที่มีความเป็นประชาธิปไตยแค่รูปแบบ รูปแบบที่มีการเลือกตั้ง มีสภา และมีวาทกรรมต่างๆ ที่เสมือนเป็นประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยเป็นปุ๋ยบำรุงพืชพันธุ์ “ระบอบทักษิณ” ในช่วงต้นๆ

หรือพูดให้แคบลงมาก็ต้องบอกว่า ความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ช่วยให้ “ระบอบทักษิณ” เกิดและเติบโต

ตั้งแต่ปลายปี 2551 จนถึงกลางปี 2554 แม้ประเทศนี้ไม่มี “ระบอบทักษิณ” แต่สังคมไทยก็ย้อนกลับไปสู่จุดเดิมของระบอบการเมืองที่ล้มเหลว จึงไม่แปลกที่หลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา “ระบอบทักษิณ” จะกลับมาอีก

จริงๆ แล้ววันนี้ประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง จะเรียกว่าการปฏิรูปใหญ่ หรือการปฏิวัติ ก็สุดแท้แต่!

ประเทศไทยมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในระดับปฏิวัติมาครั้งหนึ่งในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 อาจจะถือตลอดรัชสมัยของพระองค์ หรือจะถือปีปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ในปี 2435 ก็ได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างชนิดเกือบจะรอบด้าน จากนั้นก็มีการรัฐประหารของข้าราชการทหารพลเรือนที่มีลักษณะปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่จากนั้นเพียงไม่ถึง 1 ปีก็เกิดการรัฐประหารเงียบ แล้วก็รัฐประหารกลับ และเกิดการต่อสู้กันในหมู่คณะที่ก่อการมาด้วยกันจนเกิดการรัฐประหารครั้งสำคัญในปี 2490 ประชาธิปไตยที่ได้มาจึงมีเพียงรูปแบบ ทั้งครึ่งๆ กลางๆ และลุ่มๆ ดอนๆ ต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2500 ก็เกิดการรัฐประหารพลิกประเทศกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหารเสียเกือบ 20 ปี การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ จึงกลับมาอีกครั้งแต่ก็ไม่ยั่งยืน

สภาพทางเศรษฐกิจประเทศไทยก้าวไปไกลบนหนทางทุนนิยมเสรี แต่สภาพทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยยังพิกลพิการ

ลักษณะขัดแย้งกันเช่นนี้คือบ่อเกิดแห่งความรุนแรงที่คุกรุ่นมาโดยตลอด

หลังการนองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535 เราพูดกันมากถึงการปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์ ผลที่ได้ล่าช้าและเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์เดิม รัฐธรรมนูญ 2540 แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี แต่ก็ถูกนายทุนที่มั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งของประเทศที่เข้ามาแสวงอำนาจทางการเมืองอาศัยช่องว่างบิดเบือนจนตายไปก่อนที่จะถูกฉีกในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ต่ำกว่า 2 ปี และตั้งแต่ปลายปี 2551 จนถึงกลางปี 2554 เรามีการนองเลือดถึง 2 ครั้งในเดือนเมษายน 2553 และเดือนพฤษภาคม 2553 แต่รัฐบาลก็ไม่ใช้โอกาสนั้นดำเนินการปฏิรูปใหญ่

หากถามว่าแล้วเหตุการณ์จะพัฒนาไปอย่างไร? ระบอบทักษิณที่กลับมาจะชนะหรือไม่? สังคมไทยทำอะไรไม่ได้เลยหรือ? เมื่อไรความสงบสุขที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้น?

ผมตอบไม่ได้

เพียงแต่รู้สึกอยู่ลึกๆ ในใจว่าความสงบสุขที่แท้จริงนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องมีชัยเด็ดขาด และตามมาด้วยฝ่ายที่มีชัยเด็ดขาดนั้นต้องเปลี่ยนแปลงประเทศโดยเสียสละตนเองอย่างใหญ่หลวง

เป็น 2 เงื่อนไขที่จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้!
กำลังโหลดความคิดเห็น