xs
xsm
sm
md
lg

การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย คือ เส้นทางสู่ความหายนะของประเทศ

เผยแพร่:   โดย: รองศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สุริยะมงคล

ช่วงนี้หลายประเทศในยุโรปและอเมริกา ต่างพากันมีปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจ เพราะในอดีตถึงปัจจุบันประเทศเหล่านี้ต่างใช้จ่ายเงินกันเกินตัว รัฐบาลสร้างหนี้สินสาธารณะกันมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นประเทศกรีซ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ อิตาลี และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้ดูรายการรอบบ้านเราใน ASTV ของคุณอุษณีย์ เอกอุษณีษ์ ซึ่งได้วิเคราะห์ปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศกรีซ ในบทความชื่อ “เส้นทางสู่ความหายนะของกรีซ” ทำให้ผมหูตาสว่างขึ้นและอดเป็นห่วงว่าประเทศไทยของเราก็กำลังเดินทางไปสู่ความหายนะเช่นเดียวกับที่ประเทศกรีซ และประเทศอื่นๆ ที่กล่าวข้างต้น กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ในเชิงการเปรียบเทียบกับประเทศกรีซแล้ว จะเห็นว่า การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็คือ รากเหง้าของปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเช่นเดียวกับระบบของกรีซ และคงไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่า นักการเมืองไทย ลงทุนซื้อทั้งนักการเมืองด้วยกันเองมาเข้าพรรคของตนและซื้อคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยไม่สนใจต่อเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความสุจริตเที่ยงธรรม และไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายของบ้านเมืองแต่อย่างใด (นักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่ผมเคยพูดคุยด้วย แทบทุกคนล้วนเชื่อว่าต้องใช้เงินซื้อเสียง จึงจะชนะการเลือกตั้ง ทำนองเดียวกับประชาชนที่ผมเคยพูดคุยด้วย ต่างชอบพูดติดตลกว่า “เงินไม่มา กาไม่เป็น” และเขาหมายความอย่างนั้นจริงๆ)

ในระบบของกรีซ นักการเมืองของเขาจะใช้นโยบายการจัดเก็บภาษีหรือการจัดสวัสดิการทางสังคมเป็นเครื่องมือในการหาเสียงเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง แล้วนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งก็เอาอำนาจที่ประชาชนมอบหมายไปหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการทำทุจริตคอร์รัปชัน ขณะที่ประชาชนก็ได้ประโยชน์จากนโยบายการจัดเก็บภาษีหรือการจัดสวัสดิการทางสังคม ทำนองเดียวกับนโยบายประชานิยมของเรา ทั้งสองฝ่ายจึงต่างสมประโยชน์ซึ่งกันและกัน

หันมาดูการเลือกตั้งของไทยเราบ้าง นักการเมืองไทยมีทั้งจ่ายตรงในรูปของการซื้อคะแนนเสียงด้วยเงินทุนของตนเองไปก่อน แล้วไปหาโอกาสถอนทุนคืนเอาข้างหน้า อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมกันในหมู่นักการเมืองและพรรคการเมืองไทยในขณะนี้ คือ การนำเสนอนโยบายประชานิยม ชนิดลดแลกแจกแถม โดยใช้เงินงบประมาณหรือการสร้างหนี้สาธารณะ เพื่อมาต่อรองให้ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งสองวิธีเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายทั้งสิ้น แต่นักการเมืองและพรรคการเมืองไทยก็ไม่เห็นเกรงกลัวแต่อย่างใด

และที่น่าเจ็บใจคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม แต่ก็ยังไม่เห็นจัดการอะไรกับนักการเมืองและพรรคการเมืองที่หาเสียงฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53 ซึ่งกำหนด “ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด” รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กกต.ไม่เพียงแต่ทำงานเชิงรับเท่านั้น กกต. ยังทำงานเชิงหลับสนิทอีกต่างหาก

เราลองมาพิจารณาป้ายโฆษณาหาเสียง หรือคำปราศรัยหาเสียงจำนวนหนึ่งของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในขณะนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นข้อความหรือถ้อยคำที่มีลักษณะสัญญาว่าจะให้ อันถือเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกตนเองหรือเลือกพรรคเพื่อไทย ดังนี้:

- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับเงินเพิ่ม 25%

- เพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านทุกตำบลๆ ละ 1 ล้านบาท

- พักหนี้สำหรับผู้มีหนี้ไม่เกินห้าแสนบาท ไม่น้อยกว่า 3 ปี ส่วนผู้ที่มีหนี้เกินห้าแสนบาท แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ให้ปรับโครงสร้างหนี้

- ลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23%

- จบปริญญาตรีทำงานมีเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท

- ให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท

- เบี้ยเพื่อไทยวัยสูงอายุตั้งแต่ 60 ปี ถึง 90 ปี จาก 600 - 1,000 บาทต่อเดือน

- คอมพิวเตอร์ราคาถูกแจกฟรีแก่นักเรียนคนละเครื่อง

- ออกบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกรนำไปซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธุ์

- เพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท

นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังโฆษณาหาเสียงที่เกินจริง เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน เช่น หาเสียงว่า “จะปราบยาเสพติดให้หมดใน 12 เดือน” “จะทำให้คนไทยหายจน ใน 4 ปี” เหล่านี้เป็นต้น ล้วนเป็นการทำผิดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ ดังกล่าวข้างต้น

และหากพรรคเพื่อไทยรวมทั้งพรรคการเมืองอื่นที่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลซึ่งก็มีนโยบายประชานิยม แบบลดแลกแจกแถมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพรรคเพื่อไทย ต่างนำนโยบายประชานิยมของตนไปดำเนินการจริง ก็คงต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือไม่ก็ต้องก่อหนี้สินสาธารณะขึ้นมาเป็นจำนวนมหาศาล ควบคู่ไปกับการถอนเงินทุนคืนของนักการเมืองในรูปของการทุจริตคอร์รัปชัน เช่นนี้แล้วการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็คงจะนำเราไปสู่เส้นทางแห่งความหายนะเป็นแน่แท้ เฉกเช่นที่ประเทศกรีซและประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ เพราะนักการเมืองไม่เพียงแต่จะส่งเสริมปลูกฝังสร้างนิสัย หรือพฤติกรรมที่มักง่ายและเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ในหมู่ประชาชน ด้วยการชี้ทางให้เขาเห็นว่า เขาสามารถลงคะแนนเสียงเลือกนโยบายประชานิยมของนักการเมืองที่จะส่งมอบสมบัติสาธารณะมาเป็นของตนอย่างง่ายดายเท่านั้น หากแต่ในขณะดำเนินนโยบายประชานิยมเหล่านั้น นักการเมืองก็ถือโอกาสหาประโยชน์โดยการทำคอร์รัปชันไปด้วย

ดังนั้น สังคมที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชันโดยมีผู้คนอยู่กันอย่างสุขสบายบนสมบัติสาธารณะหรือหนี้สาธารณะกองมหึมา ขณะที่ประเทศชาติอ่อนแอลงทุกวัน เพราะมีหนี้สินล้นพ้นตัว คงไม่นานเกินรอที่ประเทศชาติจะตกอยู่ในสภาพล้มละลาย

                   pisansuriyamongkol@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น