xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

วันศิลป์ พีระศรี 15 กันยายน 2554

เผยแพร่:   โดย: ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต

“ศิลปะ...มุ่งหมายเพื่อยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้ขึ้นสู่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง” ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ให้คำจำกัดความของความหมายศิลปะอย่างสั้นๆ แต่มีความหมายเฉกเช่นเดียวกันกับการศึกษาทางธรรม

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นชาวอิตาลี ชื่อเดิม Corrado Feroci เกิดในเขต San Goivanni เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่สำคัญของโลก เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2435 ในครอบครัวของพ่อค้า บิดาชื่อ Artudo Feroci มารดาชื่อ Santina Feroci นับถือคริสต์ศาสนา ท่านจบการศึกษาทางด้านศิลปะในราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ ขณะที่มีอายุ 23 ปี และสอบได้เป็นที่ 1 ของรุ่น ได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้น ช่างเขียน ต่อมาได้สอบคัดเลือกเป็นศาสตราจารย์ โดยได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มีความรอบรู้เป็นพิเศษด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์ และปรัชญา โดยเข้าสอนประจำที่สถาบันดังกล่าวในปี พ.ศ. 2448 ผลงานของท่านได้รับการยกย่องและสร้างชื่อเสียงโด่งดังในฐานะของศิลปินยอดเยี่ยม ชนะการประกวดออกแบบอนุสาวรีย์หลายครั้ง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเป็นความเจริญก้าวหน้าทางศิลปะของประเทศทางตะวันตก ทรงมีพระราชประสงค์จะหาช่างปั้นเพื่อเข้ารับราชการในการก่อสร้างอนุสาวรีย์ในประเทศไทย และฝึกฝนถ่ายทอดวิชาความรู้เพื่อให้คนไทยสามารถปั้นและวาดรูปอย่างชาวตะวันตก ได้ติดต่อกับรัฐบาลประเทศอิตาลีเพื่อคัดเลือกประติมากรที่มีชื่อเสียงเข้ารับราชการกับรัฐบาลไทย

ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรซี ได้เข้าร่วมแข่งขันกับศิลปินอิตาเลียนจำนวน 200 คนและได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลอิตาลีให้กับรัฐบาลไทย โดยรัฐบาลไทยได้รับเข้าเป็นราชการในตำแหน่งช่างปั้น ของกรมศิลปากร เมื่อ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 ท่านได้เดินทางเข้ามาพำนักในประเทศไทยพร้อมด้วยภรรยา (นางแฟนนี่) และบุตรสาว (อิซาเบลา) ได้รับเงินเดือน 800 บาทกับค่าเช่าบ้านอีก 80 บาท

ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรซี ได้ริเริ่มวางหลักสูตรการศึกษาทางด้านศิลป์ ในช่วงปี พ.ศ. 2477 โดยวางรากฐานการศึกษาให้มีมาตรฐานเดียวกับโรงเรียนศิลปะในทวีปยุโรป ใช้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” โดยท่านเป็นผู้อำนวยการการสอน มีครูอาจารย์และศิษย์รุ่นแรกช่วยสอนนักเรียนในรุ่นต่อๆ มา นักเรียนในสมัยนั้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง”

พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และตราพระราชบัญญัติยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” มีคณะจิตรกรรมประติมากรรม เป็นคณะวิชาแรกเปิดสอน 2 สาขา คือจิตรกรรม และประติมากรรม มีศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรซี เป็นคณบดีคนแรกของคณะ มีการนำผลงานของนักศึกษาจัดแสดงแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในการฉลองรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2480 หลังสงครามโลกครั้งที่สองอิตาลีแพ้สงคราม ชาวอิตาเลียนในไทยต้องตกเป็นเชลยของเยอรมนีและญี่ปุ่น รัฐบาลไทยได้ขอควบคุมตัวศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรซีไว้เอง หลวงวิจิตรวาทการทำเรื่องขอโอนสัญชาติเป็นคนไทย โดยเปลี่ยนชื่อท่านเป็น “นายศิลป์ พีระศรี”

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อยู่ประเทศไทยด้วยความลำบากและอดทนในช่วงหลังสงคราม แต่ด้วยความรักในศิลปวัฒนธรรมไทยและเชื่อมั่นในความสามารถในการสั่งสอนอบรมลูกศิษย์ และจัดให้มีการประกวดผลงานศิลปะ และจัดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 นอกจากนี้ท่านยังได้นำผลงานศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยออกไปสู่สายตานานาชาติ และมีการแลกเปลี่ยนทางศิลปะระหว่างศิลปินไทยกับศิลปินต่างประเทศ จนทำให้ชื่อเสียงของศิลปินไทยและประเทศไทยเป็นที่รู้จักไปสู่นานาอารยประเทศ ผลงานตลอดระยะเวลา 40 ปีที่อยู่ในประเทศไทยมีมากมาย เช่น อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เชิงสะพานพุทธ อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระศรีศากยะทศพลญาณ พระประธานในพุทธมณฑล ฯลฯ นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างศิลปินระดับชาติมากมายให้กับแผ่นดินนี้

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้แต่งงานกับคุณมาลินี ไม่มีบุตรด้วยกัน ท่านใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะในประเทศไทย โดยละทิ้งเกียรติยศชื่อเสียง และทรัพย์สินที่ท่านจะได้รับ หากตัดสินใจเดินทางกลับประเทศอิตาลีวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 ขณะอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 24 วัน ท่านได้ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช

นอกจากผลงานชิ้นเยี่ยมมากมายที่ท่านได้มอบไว้ให้กับประเทศไทย ท่านยังได้สร้างบุคลากรทางด้านศิลปะ และศิลปินชั้นนำของประเทศไทยไว้เป็นจำนวนมาก ท่านเป็นผู้บุกเบิกแนวทางให้กับศิลปะร่วมสมัย และเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ท่านได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย ลูกศิษย์ของท่านรุ่นแรกๆ และต่อมามีชื่อเสียงมากมาย เช่น เฟื้อ หริพิทักษ์ สวัสดิ์ ตันติสุข ทวี นันทขว้าง ดำรง วงศ์อุปราช จำรัส เกียรติก้อง ประสงค์ ปัทมานุช พิชัย นิรันต์ ชลูด นิ่มเสมอ มานิตย์ ภู่อารีย์ และสันติ สาขากรบริรักษ์ เหล่านี้เป็นต้น

15 กันยายน 2554 ครบรอบชาตกาล 119 ปี ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดงานรำลึกขึ้นบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร (ท่าพระ) โดยศิษย์รุ่นอาวุโสและปัจจุบันได้มีโอกาสมาพบปะกัน โดยใช้ชื่อวันนี้ว่า “วันศิลป์ พีระศรี” และเพื่อเป็นการบูชาคุณของครูผู้บุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น