ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - คณาอาจารย์และนักศึกษา โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ ม.ราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกันจัดงาน“วันศิลป์ พีระศรี” เพื่อรำลึกถึงพระคุณครู “ศ.ศิลป์ พีระศรี” ผู้นำพาศิลปะสมัยใหม่เข้ามาเผยแผ่อย่างแพร่หลายในประเทศไทย
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา คณาอาจารย์ และนักศึกษา โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ร่วมกันจัดงาน “วันศิลป์ พีระศรี” 15 กันยายน 2554 เพื่อรำลึกถึงพระคุณครูผู้นำพาศิลปะสมัยใหม่เข้ามาเผยแผ่อย่างแพร่หลายในประเทศไทย ที่อาคารโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ทั้งนี้ ในวันคล้ายวันเกิด 15 ก.ย. ของทุกปีพี่น้องชาวศิลปะ ครูบาอาจารย์ ด้านศิลปะต่างน้อมรำลึกถึงคุณูประการของ “ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี” หรือ คอร์ราโด เฟโรจี Corrado Feroci ชาวอิตาลี สัญชาติไทย ซึ่ง เกิดวันที่ 15 กันยายน 2435
ภายในงานมีจัดกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย การแสดงดนตรีรำลึกพระคุณครูของนักศึกษา โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์, การเสวนาจิตสาธารณะกับก้าวที่กล้าในการนำพาโคราชยั่งยืนโดย นายธนิตศักดิ์ หล่อธาราประเสริฐ (ตี๋น้อย), การกล่าวสุนทรพจน์ ของ อาจารย์ทวี รัชนีกร “ศิลป์ พีระศรี กับทวี รัชนีกร” , การกล่าวสุนทรพจน์ ของ ผศ.ดร.สามารถ จับโจร “สุนทรียภาพกับมหากาพย์ของการสร้างสรรค์” , การประมูลผลงานของ ผศ.ดร.สามารถ จับโจร หัวหน้าโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ เพื่อสมทบทุนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารของโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ การจุดเทียนรำลึกถึงพระคุณครู โดย อาจารย์ทวี รัชนีกร เป็นประธานพิธี
อนึ่ง ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ประเทศอิตาลี บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อนาง Santina Feroci เมื่ออายุ 23 ปี สามารถสอบผ่านเป็นศาสตราจารย์ จากราชวิทยาลัยศิลปแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence) ปี พ.ศ. 2441 ได้เข้าศึกษาในระดับชั้นประถม หลักสูตร 5 ปี หลังจากจบหลักสูตร จึงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนระดับมัธยมอีก 5 ปี
หลังจากนั้นจึงเข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะ แห่งนครฟลอเรนซ์จบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปีในขณะที่มีอายุ 23 ปีและได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ซึ่งต่อมาได้สอบคัดเลือกรับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์วิจารณ์ศิลป์และปรัชญาโดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะ แขนงประติมากรรมและจิตรกรรม
ปี พ.ศ. 2466 ได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรปด้วยเหตุนี้จึงเดินทางสู่แผ่นดินสยามเพื่อเข้ามารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากร สถานแห่งราชบัณฑิตสภา
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2485 ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ชาวอิตาเลียนในประเทศไทยตกเป็นเชลยของ ประเทศเยอรมนี กับ ญี่ปุ่นแต่รัฐบาลไทยขอควบคุมตัวศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรจี ไว้เอง และ หลวงวิจิตรวาทการ ได้ดำเนินการทำเรื่องราวขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย โดยเปลี่ยนชื่อให้มาเป็น “นายศิลป์ พีระศรี” เพื่อคุ้มครองท่านไว้ไม่ต้องถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกให้สร้างทางรถไฟสายมรณะ และ สะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เริ่มวางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นในระยะเริ่มแรกชื่อ “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง” และใน ปี พ.ศ. 2485 กรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวงศึกษาธิการไป ขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในขณะนั้นโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและ ตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” มีคณะจิตรกรรมประติมากรรม เป็นคณะวิชาเดียวของมหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดสอนเพียง 2 สาขาวิชา คือ สาขา จิตรกรรม และสาขาประติมากรรม โดยมี ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีเป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดี คนแรก
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระราชนุสาวรีย์ และ อนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทย โดยการปั้นต้นแบบสำหรับพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 - 2477 ,อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พ.ศ. 2484 , พระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี และ การออกแบบ พระพุทธรูปปางลีลา ประธานพุทธมณฑล
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 รวมสิริอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน
ผศ.ดร.สามารถ จับโจร หัวหน้าโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า ถึงแม้อาจารย์ศิลป์ พีระศรี จะจากโลกไปตามวัฏจักรแห่งกฎเกณฑ์การเปลี่ยนผ่านของธรรมชาติไปแล้วก็ตามแต่บรรดาครูบาอาจารย์ นิสิตนักศึกษาที่มีศิลปะอยู่ในหัวใจไม่เคยลืมเลือนต่ออาจารย์ฝรั่งที่เป็นแบบอย่างที่ดีในวัตรปฏิบัติที่งดงามในการสรรสร้างผลงานศิลปะ และยังคงระลึกถึงพระคุณครูของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ด้วยจิตอันศรัทธาต่อบูรพคณาจารย์ท่านนี้อย่างไม่เสื่อมคลาย