xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ”ชง“ยิ่งลักษณ์” “สรรหากสทช.”ไม่โปร่งใสเป็นคดีพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณีที่วุฒิสภาได้คัดเลือกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) ทั้ง 11 คนเรียบร้อยไปแล้ว เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมานั้น
ที่ทำเนียบรัฐบาลวานนี้ (6ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ ตนยังไม่ได้รับรายชื่อ คณะกรรมการ กสทช. ทั้ง 11 คน แต่อย่างใด ส่วนจะมีการตั้งกรรมการตรวจสอบทั้ง 11 คนก่อนเสนอชื่อทูลเกล้าฯหรือไม่นั้น ต้องขอดูรายละเอียดอีกครั้งก่อน ว่ามีการคัดค้านหรือไม่ ถ้าไม่มีการคัดค้านก็คงไม่มีประเด็นอะไร

**“สุรนันท์”อ้างศาลรับไต่สวนแล้ว
นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดได้รับคำฟ้องคดีที่ตนยื่นขอคุ้มครองฉุกเฉินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และศาลปกครองสูงสุดรับไต่สวนเมื่อวานนี้
นายสุรนันท์ ยื่นในประเด็นที่ศาลปกครองกลางยกฟ้องคดี เมื่อวันที่ 22 กันยายน กรณีที่ได้ฟ้องร้องว่า กระบวนการสรรหา กสทช.ไม่โปร่งใส นอกจากนี้ยังเห็นว่า คำแถลงคดีของตุลาการคดีนอกสำนวน และคำพิพากษายังแตกต่างกันอย่างชัดเจน สำหรับความต่อเนื่องจากผลการสรรหา กสทช.ทั้ง 11 คน
ด้านนายพนา ทองมีอาคม ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก แถลงกับสื่อมวลชน ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการมีความสนิทสนมกับ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้บริหารแกรมมี่ หรือมีส่วนเกี่ยวกับการติดสินบน ส.ว.84 ล้านบาทแต่อย่างใด

**ชงบอร์ดดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กล่าวว่า ในวันที่7 ก.ย. เวลา 10.00 น.จะเสนอผลสรุปการพิจารณาเรื่องกระบวนการสรรหา กสทช.ไม่โปร่งใส ให้ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ที่มี นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณา
ก่อนหน้านี้ ดีเอสไอสรุปผลเบื้องต้นพบว่า มีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น 7 ประเด็น เช่น ตำแหน่งที่มาของคณะกรรมการการสรรหา การเผาทำลายบัตรลงคะแนนของคณะกรรมการการสรรหา เป็นต้น ซึ่งประเด็นดังกล่าว สอดคล้องกับกรณีที่มีผู้สมัครต่างๆ เข้าฟ้องศาลปกครอง
รายงานข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 7 ก.ย. เวลา 10.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) นัดแรก เพื่อพิจารณารับคดีไว้สอบสวนตามพ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งดีเอสไอเตรียมเสนอให้บอร์ดกคพ.พิจารณารับคดีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ทั้งนี้ภายหลังนายพิชา วิจิตรศิลป์ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดีเอสไอสืบสวนกรณีการสรรหากสทช. คณะทำงานฯได้สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น พบข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่ากระบวนการสรรหากสทช.เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนี้
ประเด็นองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทักท้วงว่า ไม่อาจร่วมเป็นกรรมการสรรหาได้ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ แต่คณะกรรมการสรรหายังคงดำเนินการสรรหาต่อไป ส่งผลให้มติคัดเลือกซึ่งถือเป็นคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงกรณีที่ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ได้ลาออกโดยมีการประชุมคณะกรรมการสรรหาครั้งที่ 1 วันที่ 28 ม.ค. 2554 แต่ปรากฏว่าได้มีตัวแทนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์เข้าร่วมประชุมแทน ส่งผลให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้กรรมการสรรหาที่มาจากองค์กรซึ่งไม่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ส่งผลให้การทำหน้าที่ไม่ชอบตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
สำหรับประเด็นวิธีการสรรหาของคณะกรรมการสรรหากสทช.เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมายมีดังนี้ 1.ผู้สมัครที่เข้ารับเลือกเป็นกสทช. ยื่นใบสมัครโดยแสดงความประสงค์สมัครหลายด้านทั้งที่กฎหมายกำหนดให้องค์กรที่ขึ้นทะเบียนไว้สามารถเสนอชื่อบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นกสทช.ได้ ด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว 2.ผู้สมัครได้ยื่นใบสมัครแสดงความประสงค์สมัครหลายสาขาวิชาชีพ แต่วุฒิการศึกษาไม่ตรงกับสาขาอาชีพที่สมัคร 3.ผู้สมัครยื่นเอกสารและหลักฐานการสมัครไม่ครบถ้วนแล้วมายื่นเอกสารแสดงวิสัยทัศน์เพิ่มเติมทีหลัง โดยคณะกรรมการสรรหามีมติให้รับเอกสารดังกล่าวได้ จึงอาจเป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม
แหล่งข่าวเผยอีกว่า ในชั้นสืบสวนยังพบว่าคณะกรรมการสรรหามีมติให้ทำลายบัตรลงคะแนนโดยไม่มีกฎหมายหรือระเบียบให้ทำได้ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกและกรรมการสรรหาเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานที่ไม่ใช้คลื่นความถี่และคณะกรรมการเตรียมการยกร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ เคยเป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ความสัมพันธ์ดังกล่าวน่าจะถือว่ามีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้มีการพิจารณามติคัดเลือกไม่เป็นกลาง ดังนั้นดีเอสไอจึงเสนอให้บอร์ดกคพ.พิจารณา รับคดีกสทช.ไว้สอบสวนเพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากกสทช.มีอำนาจหน้าที่เป็นจำนวนมาก หากได้บุคคลที่ไม่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศ

**นักวิชาการแนะ แก้ กม.ให้สมบูรณ์
นายอนุภาพ ธีระลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า กสทช. ทั้ง 11 คน อาจทำงานได้ไม่ราบรื่น เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการเรียกคืนคลื่นความถี่ ซึ่งปัจจุบันถูกใช้งานไปเกือบหมด โดยบางส่วนถูกใช้งานไปโดยไม่มีผู้ควบคุมมาเป็นเวลานาน หากจะนำมาจัดสรรใหม่ อาจทำได้ยาก เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดเวลาในการเรียกคืน ประเด็นดังกล่าว อาจทำให้เกิดการฟ้องร้องกันมาก จึงแนะนำว่า ควรมีการแก้ไขกฎหมาย จากนั้น ควรจัดทำตารางความถี่วิทยุแห่งชาติให้แล้วเสร็จ ก่อนออกใบอนุญาต โดยจัดตารางความถี่แยกระหว่างวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม เนื่องจากวิทยุโทรทัศน์ถือเป็นปัญหาใหญ่ นอกจากการจัดสรรคลื่นความถี่แล้ว ยังควบคุมเนื้อหาที่ทำได้ยากเช่นกัน
ส่วนกิจการที่สามารถให้ใบอนุญาตได้โดยไม่มีปัญหา อาทิ ใบอนุญาตบริการอินเตอร์เน็ต ใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการเคเบิลทีวี รวมทั้งทีวีดาวเทียม ต้องเข้าไปควบคุมเนื้อหาด้วย

**เผย 2-3 คนเสนอตัวเป็นปธ.กสทช.
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าที่กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้เตรียมตัวที่จะลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการ กกต. แล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะก่อนวันที่ 19 ก.ย. นี้ เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดให้ลาออกจากตำแหน่งเดิมภายใน 15 วันก่อนเข้ารับตำแหน่ง กสทช. ส่วนงานที่ค้างอยู่ อาทิ การกลั่นกรองผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็น กกต.จังหวัด และการปรับปรุงโครงสร้างบางเรื่อง เช่น ค่าตอบแทนข้าราชการ ได้ดำเนินการส่งข้อมูลให้ กกต. เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการประชุม กสทช.เพื่อเลือกประธานและรองประธาน กสทช. นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารืออย่างไม่เป็นทางการ เพราะต้องรอเรื่องแจ้งมาจากวุฒิสภาก่อน ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า ว่าที่กสทช. ชุดใหม่เป็นคนของกองทัพนั้น ตนอยากให้พิจารณาในเรื่องความรู้และความชำนาญด้วย เพราะคนในเครื่องแบบหลายคนมีความชำนาญในเรื่องคมนาคม และการสื่อสาร อีกทั้งควรให้โอกาสทำงาน ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าสังคมคาดหวังต่อ กสทช.ชุดใหม่มาก
ผู้สื่อข่าวถามถึงคุณสมบัติผู้มาทำหน้าที่ประธาน กสทช. นายสุทธิพล กล่าวว่า ต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำขององค์กร และที่สำคัญยังต้องเป็นกรรมการของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะกองทุนนี้มีผลประโยชน์มากมาย และสังคมมีความคาดหวังต่อการใช้ประโยชน์จากกองทุนตรงนี้มากในด้านของการพัฒนากิจการโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง รวมทั้งด้านการโทรคมนาคม ดังนั้นในทุกเรื่องต้องคิดให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด และต้องรองรับตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
"ส่วนตัวมองว่าผู้ที่เป็นประธานต้องไม่เป็นเผด็จการ ต้องรับฟังความคิดเห็น ใจกว้างเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ และต้องรู้ว่าประธานไม่ได้มีอำนาจมาก ถือว่ามีเสียงเท่ากับกรรมการ เพียงแต่เป็นประมุขขององค์กร ที่หน้าที่เรียกประชุม รวมทั้งในเรื่องการดูแลสำนักงานต่างๆด้วย ส่วนเรื่องคดีความของแต่ละคนคงไม่ได้นำมาพิจารณา" นายสุทธิพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเสร็จ นายธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ได้เชิญนายสุทธิพลเข้าพบ เพื่อกล่าวแสดงความยินดี และแนะนำตัว โดยโอกาสนี้นายสุทธิพลได้มอบหนังสือ “ไม่ลองไม่เห็นธรรม” ที่เขียนขึ้นเอง เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ประธานวุฒิสภาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น