xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอชี้กระบวนการสรรหา กสทช.ไม่ชอบ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยันกระบวนการสรรหา กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมายในหลายกรณี เตรียมส่ง ป.ป.ช.ฟันกรรมการสรรหาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แนะนายกฯยังไม่ควรนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

วันนี้ (17 ส.ค.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารบี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ รองอธิบดีดีเอสไอ และ พ.ต.ท.พะเยาว์ ทองเสน ผบ.สำนักคดีอาญา 3 ดีเอสไอ แถลงข่าวกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

โดย พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าวว่า ดีเอสไอได้ดำเนินการสืบสวนเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง และเอกสารต่างๆ พบว่า กระบวนการสรรหาอาจจะเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในหลายประเด็น คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กสทช.เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น กรณีที่ 1.ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทักท้วงว่าไม่อาจเป็นกรรมการสรรหา กสทช.ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการสรรหาฯ ยังคงดำเนินการสรรหาต่อไปจนมีมติคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช.โดยไม่ได้แก้ไขปัญหาข้อขัดข้องตามที่ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทักท้วงแต่อย่างใด การมีมติคัดเลือกดังกล่าว จึงอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการออกคำสั่งทางปกครอง ส่งผลให้มติคัดเลือกซึ่งถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า กรณีที่ 2.คือ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ลาออกก่อนมีการประชุมคณะกรรมการสรรหา กสทช.ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 ม.ค.54 แต่ปรากฏว่า ได้มีตัวแทนสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งขณะนั้นยังมิได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเข้าร่วมประชุมแทน จึงเป็นการกระทำที่ส่งผลให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ กรณีที่ 3.กรรมการสรรหาตามมาตรา 14(11), (13), (14) และ (15) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาจากองค์กรที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จึงไม่อาจทราบถึงสถานะขององค์กรและสถานภาพของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน หรือนายกขององค์กรแล้วไปเป็นกรรมการสรรหาตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น สถานะขององค์กรและสถานภาพของบุคคลที่เป็นกรรมการสรรหาตามมาตราดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 คือ วิธีการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา กสทช.เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น กรณีที่ 1.มีผู้สมัครเข้ารับการเลือกเป็น กสทช.ยื่นใบสมัครโดยแสดงความประสงค์สมัครหลายด้าน ซึ่งเดิมคณะกรรมการสรรหาฯ เคยมีมติให้ถอนชื่อผู้สมัครหลายด้านเพื่อความเท่าเทียมกัน แต่ต่อมากลับมีมติยกเลิกโดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายใดจำกัดสิทธิผู้สมัครที่จะสมัครหลายด้าน และให้กรรมการสรรหาลงมติเลือกผู้สมัครหลายด้านได้เพียง 1 เสียง โดยให้มีการตรวจสอบบัตรลงคะแนนแต่ต่อมากลับมีมติให้ทำลายบัตรลงคะแนน ดังนั้น แม้กฎหมายจะกำหนดไว้ไม่ชัดเจนว่าจะสมัครหลายด้านได้หรือไม่ เมื่อพิจารณาเทียบเคียงการสรรหาโดยวิธีการคัดเลือกกันเองแล้ว จะเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดให้องค์กรที่ขึ้นทะเบียนไว้สามารถเสนอชื่อบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็น กสทช.ได้ด้านใดด้านหนึ่ง เพียงด้านเดียวเท่านั้น ดังนั้น การสรรหาโดยวิธีการสรรหาจึงควรให้ผู้สมัครแสดงความประสงค์สมัครได้เพียงด้านเดียวเท่านั้นตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ เคยมีมติในครั้งแรก การที่คณะกรรมการสรรหาฯ เพิกถอนมติเดิมและมีมติใหม่ดังกล่าวโดยไม่มีเกณฑ์กำหนดไว้อย่างชัดเจนและปราศจากเหตุผล จึงน่าจะเป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า กรณีที่ 2.มีผู้สมัครเข้ารับการเลือกเป็น กสทช.ได้ยื่นใบสมัครแสดงความประสงค์สมัครหลายสาขาวิชาชีพ แต่มีวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับสาขาอาชีพที่ตนสมัคร กรณีที่ 3.ผู้สมัครได้ยื่นเอกสารและหลักฐานการสมัครไม่ครบถ้วนถูกต้องตามระเบียบ มีการยื่นเพิ่มเติมภายหลัง จึงไม่ชอบด้วยระเบียบและเป็นการสมัครที่ถูกต้องโดยไม่มีอำนาจ และไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สมัครคนอื่น เข้าข่ายเป็นการผิดกฎหมาย กรณีที่ 4. คณะกรรมการสรรหาฯ มีมติเลือกผู้สมัครเข้ารับการเลือกเป็น กสทช.ซึ่งขาดคุณสมบัติ และต่อมาได้เพิกถอน และมีมติคัดเลือกลงคะแนนผู้สมัครในด้านนั้นใหม่ โดยมิได้เลื่อนผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดในลำดับถัดไปขึ้นมาแทนที่ ซึ่งถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางที่เคยมีมติไว้ ก็เข้าข่ายปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เข้าข่ายเป็นการผิดกฎหมาย กรณีที่ 5.คณะกรรมการสรรหาฯ มีมติให้ทำลายบัตรลงคะแนนโดยมิได้มีกฎหมายหรือระเบียบกำหนดให้ทำได้ จึงเป็นการปฏิบัติที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ กรณีที่ 6 กรรมการสรรหาฯ มีความสัมพันธ์กับผู้ที่ได้รับเลือกเป็น กสทช.เคยมีความสัมพันธ์ในสถานะเคยร่วมเป็นคณะทำงานตามกฎหมาย เคยมีความสัมพันธ์ในสถานะเคยเป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชากันมาก่อน ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวน่าจะถือได้ว่าเป็นกรณีมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้ การพิจารณามีมติคัดเลือกไม่เป็นกลาง และส่งผลให้มติของคณะกรรมการสรรหาฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวอีกว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณาแล้ว เห็นว่า กระบวนการสรรหา กสทช.ดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำขอคณะกรรมการสรรหา กสทช.ในการสรรหา กสทช.อาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ อันทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตามมาตรา 123/1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งกรมสอบสวน คดีพิเศษจะได้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดตามกฎหมายต่อไป

ขณะที่ นายธาริต กล่าวว่า การตรวจสอบของดีเอสไอ พบว่า กระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งดีเอสไอจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อทำการสอบสวนนำตัว ผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ซึ่งเรื่องนี้ที่สังคมให้ความสนใจมากเพราะคณะกรรมการ กสทช. เป็นกรรมการชุดสำคัญของประเทศชาติ ที่จะจัดสรรทรัพยากรในเรื่องกิจการโทรคมนาคมและวิทยุกระจายเสียง โดย ดีเอสไอ เห็นควรที่จะต้องส่งผลการสืบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.ประธานวุฒิสภา 2.เลขาธิการวุฒิสภา 3. ประธาน คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ วุฒิสภา 4.นายกรัฐมนตรี 5. เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ 6.เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง

นายธาริต กล่าวอีกว่า เมื่อดีเอสไอมีความเห็นว่ากระบวนการสรรหา ไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้วุฒิสภาจะเลือกไปแล้วก็ไม่สมควรที่จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีว่าจะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้หากดีเอสไอสืบสวนสอบสวนแล้วเห็นว่ามีข้าราชการกระทำความผิด ก็จะส่งเรื่องไปยังสำนักคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งภาครัฐ (ป.ป.ช.) ต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากวุฒิสภาดำเนินการสรรหากรรมการ กสทช.ต่อจะผิดกฎหมายหรือไม่ นาย ธาริต ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวว่า เป็นเรื่องระหว่างองค์กรและเรื่องนี้ต้องไปถามวุฒิสภาโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น