xs
xsm
sm
md
lg

DSI อ้าแขน! รอรับแจ้งข้อหาล้มเจ้า 19 โจกแดงวันนี้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ) แกนนำ นปช. ที่ต้องเข้ารับข้อกล่าวหาคดีล้มเจ้า
ดีเอสไอยังเดินหน้าแจ้งข้อหาคดีล้มเจ้าต่อ 19 แกนนำ นปช.วันนี้ พร้อมจับตาดีเอสไอพลิกขั้วหัก ปชป. “ธาริต” เตรียมแถลงเห็นแย้งอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ระบุควรฟ้อง “ฟิลลิป มอร์ริส” เลี่ยงภาษี 6.8 หมื่นล้านบาท โยนอัยการสูงสุดชี้ขาด พร้อมคว่ำ กสทช. หลังพบกระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

วันนี้ (17 ส.ค.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า วันนี้ เวลา 15.00 น. แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทั้ง 19 คนจะเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาคดีล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ (คดีล้มเจ้า) ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 8 อาคารรัฐประศาสนภักดี (ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคาร B) ซึ่งได้รับการติดต่อจากทนายความ นปช.ว่า แกนนำ นปช.จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกัน และไม่ขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งตนจะร่วมสอบปากคำผู้ต้องหาด้วย จากนั้นจะแถลงผลให้ทราบ ส่วนในเรื่องการให้ประกันตัวนั้นจะพิจารณาเป็นรายบุคคล หากใครที่มีพฤติกรรมยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือหลบหนี ก็จะนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง

โดยแกนนำ นปช.ที่ถูกดีเอสไอออกหมายเรียกดำเนินคดีล้มเจ้าทั้ง 19 คน ประกอบด้วย
1.นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย 2.นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย 3.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย
4.นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย 5.นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ 6.นายการุณ โหสกุล ส.ส.ระบบเขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย 7.นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก 8.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

9.นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ 10.นายชินวัฒน์ หาบุญพาด 11.นายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย 12.นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน 13.นายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา 14.นายนิสิต สินธุไพร 15.จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ 16.นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ 17.นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ 18.นายสมชาย หรือพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ 19.นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย

นอกจากนี้ นายธาริตจะเปิดแถลงข่าวในวันนี้ เวลา 14.00 น. รวม 2 ประเด็น โดยประเด็นแรกเป็นกรณีการพิจารณาสำนวนคดีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ผู้นำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโรและแอลแอนด์เอ็ม ซึ่งกลุ่มงานความเห็นแย้งของดีเอสไอ มีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง ฐานสำแดงราคาอันเป็นเท็จ ทำรัฐเสียหายจากการจัดเก็บภาษี 68,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายธาริตจะทำความเห็นแย้งความเห็นสั่งไม่ฟ้องของนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เพื่อเสนอให้นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เป็นผู้พิจารณาตัดสินว่า สมควรสั่งฟ้องหรือไม่ โดยความเห็นของอัยการสูงสุดจะถือเป็นที่สุด

สำหรับคดีภาษีบุหรี่มีการสอบสวนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ตั้งแต่สมัยที่ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดีดีเอสไอ และเมื่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ขึ้นเป็นอธิบดีดีเอสไอ ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีและส่งสำนวนคดีให้อัยการฝ่ายคดีพิเศษพิจารณา

ต่อมา นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ มีความสั่งไม่ฟ้อง จนพรรคฝ่ายค้านนำไปเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อย่างไรก็ดี การมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องส่วนหนึ่ง อาจมีสาเหตุจากเอกสารหลักฐานที่เป็นหนังสือของกรมสรรพสามิตที่ กค 0603/653 วันที่ 28 ส.ค. 2552 เรื่องแจ้งผลการดำเนินการเกี่ยวกับราคา ซี.ไอ.เอฟ.ของบุหรี่นำเข้า ซึ่งไม่พบการสำแดงราคาสินค้าบุหรี่มาร์ลโบโรและแอลแอนด์เอ็มเป็นเท็จ กับหนังสือของกรมศุลกากร ที่กค 0519/ล131 ลงวันที่ 8 ต.ค. 2552 เรื่องขอให้ทบทวนการตรวจสอบราคาซี.ไอ.เอฟ. และส่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งตรวจสอบไม่พบการสำแดงราคาสินค้าบุหรี่ทั้ง 2 ยี่ห้อเป็นเท็จเช่นกัน

ส่วนการแถลงข่าวประเด็นที่ 2 เป็นการเปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรณีการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งดีเอสไอพบพิรุธที่มีมูลความผิดอาญาของข้าราชการระดับสูงใน 7 ประเด็น ซึ่งจำเป็นต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณา โดยเฉพาะกรณีการสุ่มเสี่ยงต่อการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งดีเอสไอตรวจสอบพบว่า ปลัดสำนักนายกฯ ที่เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นรองประธานบอร์ด อสมท โดยในวันที่ 22 เม.ย. ก่อนหน้าการลงคะแนนเลือกกสทช.เพียง 3 วัน ปลัดสำนักนายกฯ ได้ร่วมประชุมบอร์ด อสมท เพื่อเลือกผู้สมัครเป็นกสทช.รายหนึ่งเป็นบอร์ด อสมท

ต่อมาวันที่ 25 เม.ย. ปลัดสำนักนายกฯ จึงได้ไปนั่งเป็นประธานสรรหา กสทช. แต่กลับไม่ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช.รายหนึ่งได้รับเลือกเป็นบอร์ด อสมท ซึ่งทำให้ขาดคุณสมบัติ และกลับปล่อยให้มีการลงคะแนนจนบุคคลที่ขาดคุณสมบัติผ่านการสรรหาจนมีการประกาศรายชื่อ และทำให้มีผู้ร้องเรียนให้ล้มการสรรหา กสทช. จึงน่าจะเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ อีกทั้ง ในขั้นตอนการลงคะแนนเลือก กสทช. คณะกรรมการสรรหา ได้มีมติเป็นการภายในให้เผาทำลายบัตรลงคะแนน เพื่อความโปร่งใส โดยถือว่ากรรมการมีอิสระในการลงคะแนนเลือกผู้สมัคร หลังจากนี้จะไม่ต้องระแวงว่าจะถูกตรวจสอบได้ว่า กรรมการท่านใดลงคะแนนให้ผู้สมัครรายใดบ้าง

อย่างไรก็ตาม ตามหลักกฎหมายบัตรลงคะแนน ถือเป็นเอกสารราชการต้องเก็บรักษาไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ก่อนทำลายเอกสารต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบ ดังนั้นข้ออ้างถึงความเป็นอิสระจึงฟังไม่ขึ้น

สำหรับ 7 ประเด็นที่ดีเอสไอได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในการสรรหา กสทช.และพบพิรุธที่ผิดปกติทั้ง 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1.กรณีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงระหว่างกรรมการสรรหา กสทช. กับผู้ที่ได้รับเลือกเป็น กสทช. ในกลุ่มที่ใช้วิธีการสรรหา ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน 2.กรณีกรรมการสรรหา กสทช.ในส่วนที่เป็นผู้แทนองค์กรภาคประชาชนตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ยังไม่มีสถานะเป็นองค์กรที่ชัดเจน 3.กรณีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรองค์กรคลื่นความถี่ได้เข้ามามีส่วนสัมพันธ์ในการสมัครเข้ารับคัดเลือกเป็น กสทช.

4.กรณีที่ผู้สมัครบางคนได้เข้ารับการคัดเลือกหลายด้าน 5.กรณีที่ผู้สมัครบางรายมีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ผ่านการสมัครและได้รับการคัดเลือก 6.กรณีให้ผู้ได้รับการคัดเลือกไปทำหน้าที่ในส่วนที่ไม่ตรงกับคุณสมบัติ เช่น จบวิศวะแต่ได้รับคัดเลือกให้เป็นกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ และ 7.กรณีคณะกรรมการสรรหาลงมติให้ทำลายบัตรลงคะแนน
กำลังโหลดความคิดเห็น