ดีเอสไอเห็นแย้งอัยการ ระบุ เห็นควรฟ้อง “ฟิลลิป มอร์ริส” เลี่ยงภาษี 6.8 หมื่นล้านบาท โยนให้อัยการสูงสุดชี้ขาด เผย พฤติการณ์น่าเชื่อราคาที่สำแดงไม่ใช่ราคาซื้อขายจริง ชี้ เป็นคดีสำคัญเกี่ยวพันต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ
วันนี้ (17 ส.ค.) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ดีเอสไอมีความเห็นแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการที่สั่งไม่ฟ้อง บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ประเทศไทย จำกัด กรณีที่กรมศุลกากรได้มีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอให้ดำเนินคดีกับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ประเทศไทย จำกัด โดยกล่าวหาว่า ร่วมกันสำแดงราคาอันเป็นเท็จในการนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และ แอลแอนด์เอ็ม เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเสียหายกว่า 68,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากระหว่างวันที่ 28 ก.ค.2546-20 ก.พ.2550 บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ประเทศไทย จำกัด ได้นำเข้าบุหรี่จากประเทศฟิลิปปินส์ ตามที่สำแดงไว้ในการขนสินค้าจำนวน 292 ฉบับ ซึ่งพบว่ามีการสำแดงราคาสินค้าบุหรี่ต่ำกว่าความเป็นจริง และทำให้ค่าภาษีอากรต่างๆ ซึ่งพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องนายจรณชัย ศัลยพงษ์ ผู้ต้องหากับพวกรวม 14 ราย และส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงานอัยการพิเศษ เพื่อพิจารณาตามข้อกฎหมาย
ต่อมา นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นต่าง คือ สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 14 ราย ทุกข้อกล่าวหา และส่งสำนวนกลับมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวหรือไม่
จากนั้น อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานในการนำเข้าสินค้าบุหรี่ของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ประเทศไทย จำกัด โดยการสำแดงราคาสินค้าบุหรี่เป็นเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐในราคาคงที่ ที่เป็นราคาตายตัวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ทั้งที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรามีการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวกับต้นทุนราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบถึงความสัมพันธ์กันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายมีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งพฤติการณ์ต่างๆ เป็นเหตุสนับสุนให้น่าเชื่อว่าราคาที่สำแดงไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายกันจริง
อีกทั้งคดีดังกล่าวเป็นคดีสำคัญที่มีผลเกี่ยวพันต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลไทย ซึ่งองค์กรการค้าโลก (WTO) ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทขององค์กรการค้าโลก ได้วินิจฉัยว่าไทยปฏิบัติไม่สอดคล้องตามข้อตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร (GATT) ซึ่งคดีนี้หากมีความเห็นไม่แย้งกับคำสั่งของพนักงานอัยการ อาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ดังนั้น เมื่อพิจารณาแล้วจึงเห็นควรยืนยันความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป