xs
xsm
sm
md
lg

ปมเอื้อบริษัทบุหรี่เลี่ยงภาษี6.8หมื่นล้านเขย่าเก้าอี้ “มาร์ค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอยทรราช ทักษิณ หรือไม่ อีกไม่นานก็รู้เพราะเรื่องฉาวๆ ที่นายกฯและบริวารทำไว้กำลังถูกตีแผ่ต่อสังคมไม่เว้นแต่ละวัน
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ออกอาการโดดหนีข้อกล่าวหาพัลวัลหลังฝ่ายค้านเปิดประเด็นพร้อมหลักฐานถล่ม “อภิสิทธิ์” และบริวารแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เอื้อประโยชน์บริษัทบุหรี่ต่างชาติเลี่ยงภาษี 6.8 หมื่นล้าน ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ทรราชทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็ก กระทั่งสุดท้ายต้องหนีคดีอยู่อย่างไม่เป็นสุขจนทุกวันนี้

บทโหมโรงของฝ่ายค้านที่เตรียมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ นับจากเรื่องสวาปาล์มไล่มาถึงเรื่องเอื้อประโยชน์ให้บริษัทบุหรี่ต่างชาติเลี่ยงภาษี 6.8 หมื่นล้าน เริ่มทำให้ชาวบ้านหูตาสว่างมากขึ้น และมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้ที่สร้างภาพมือขาวสะอาด แต่บริวารแวดล้อมกลับมีแต่เสือ สิงห์ กระทิง แรด

เรื่องสวาปาล์มแม้จะซาลงไปแต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทุกวันนี้ยังไม่มีสินค้าวางขายทั่วไปในราคาควบคุม แถมสินค้าหลายตัวจ่อขยับตามไม่ว่าจะเป็นนม น้ำตาล ซีอี๊ว ปลากระป๋อง ฯลฯ ซึ่งกรณีน้ำตาลเริ่มมีการซื้อกักตุนกันแล้ว คาดว่าหากฝีมือการบริหารจัดการของรัฐบาลทำได้แค่อย่างเห็นกันอยู่ คาดว่าอีกไม่นานวิกฤตขาดแคลนน้ำตาลก็จะตามมา ทั้งที่จริงๆ แล้วปริมาณน้ำตาลมีเพียงพอใช้บริโภคภายในประเทศ

ประเด็นข้าวยากหมากแพงที่จะถูกฝ่ายค้านหยิบขึ้นมาอภิปราย จึงโดนใจชาวบ้านเข้าอย่างจัง ทั้งที่การเตรียมการอภิปรายของฝ่ายค้านก่อนนี้จะดูอ่อนปวกเปียก กระทั่ง สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จะหลงลำพองเย้ยให้โอกาสฝ่ายค้านเปิดให้อภิปราย 10 วัน 10 คืน

ความวัวยังไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก ข้าวยากหมากแพงยังแก้ไม่ตก ฝ่ายค้านได้ทีเปิดประเด็นนายกฯอภิสิทธิ์ และคนใกล้ชิดแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทบุหรี่ต่างชาติ ไม่ต้องเสียภาษีเป็นเม็ดเงินมหาศาล

โดยสรุปคดีนี้ตามสำนวนการสอบสวนและมีความเห็นสั่งฟ้องของกรมสอบสวนคดีพิเศษในสมัยที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นอธิบดี เรื่องมีอยู่ว่า ระหว่างปี 2546 - 2550 บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าว จดทะเบียนที่มลรัฐเดลลาแวร์ สหรัฐอเมริกา มีนายจรณชัย ศัลยพงษ์ เป็นผู้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้จัดการสาขาในประเทศไทย เป็นผู้นำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และแอลแอนด์เอ็ม (L&M) ผู้ต้องหา จาก ประเทศฟิลิปปินส์ ได้แสดงราคานำเข้า หรือ ซีไอเอฟ (CIF = Cost Insurance Freights) ที่ต่ำว่าความเป็นจริง ทำให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้ต่ำกว่าปกติ

ทั้งนี้ ผู้ต้องหา แสดงว่ามีค่าซีไอเอฟของบุหรี่ L&M แค่ 5.88 บาทต่อ 1 ซอง ทั้งที่ค่าซีไอเอฟขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่แสดงราคา บุหรี่ L&M จะอยู่ที่ 16.81 ต่อ 1 ซอง ซึ่งการสำแดงราคาบุหรี่ที่ต่ำไป 1 บาท จะต้องเสียภาษีอากรประมาณ 4 บาท และค่าซีไอเอฟของบุหรี่มาร์ลโบโร แค่ 7.76 บาทต่อ 1 ซอง แต่บริษัทอื่นแสดงราคาที่ 27.46 บาท

การกระทำของบริษัทเป็นการแสดงค่าซีไอเอฟ แตกต่างจากข้อเท็จจริงเป็นเวลายาวนาน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องตามอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจากการตรวจสอบพิจารณาได้ว่า เป็นการตั้งราคาลวงขึ้นเพื่อมาใช้แสดงเท็จต่อเจ้าพนักงาน ทำให้ภาษีที่จัดเก็บต่ำไปกว่าความเป็นจริงประมาณ 68,881,394,278.69 บาท

การสืบสวนสอบสวนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 4 ปี กระทั่งถึงวันที่ 2 ก.ย. 2552 พนักงานสอบสวนของดีเอสไอและพนักงานอัยการ ได้สรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้อง โดยอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะหัวหน้าหนักงานสืบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งฟ้องคดีพิเศษที่ 79/2549 คดีระหว่าง นายสมชัย อภิวัฒนพร รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ผู้กล่าวหา บริษัทฟิลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์ ลิมิเต็ด) โดยนายจรณชัย ศัลยพงษ์ กับพวกรวม 14 คนเป็นผู้ต้องหาฐานความผิดพ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 และพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โดยราคาทรัพย์ที่ถูกประประทุษร้าย ค่าภาษีอากรต่างๆ ต่ำไปประมาณ 68,881,394,278.69 บาท

สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 14 คน ประกอบด้วย 1.บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ยูไนเต็ด โดย นายจรรณชัย ศัลยพงศ์ 2.นายพอล ริชาร์ด ดิลแมน จูเนียร์ (Mr. Paul richard dillman Jr.) 3.นายศิราเอก สุนทราภัย 4.นายอุมศักดิ์ เรียวสงวนวงษ์ 5.นางดารัด วารณะวัฒน์ 6.น.ส.เสาวลักษณ์ อาภาเบิกบาน 7.น.ส.จรรยานี วิสุทธิ์กุลพาณิชย์ 8.น.ส.สุจินดา ไตรรัตน์เกยูร 9.นางทรรศสม ลาภประเสริฐ 10.น.ส.วราภรณ์ อภิเสถียรสุข 11.นางปิยาภรณ์ บรรจงกิจ 12.นางแอน มารี คากโซโรว์ สกี้ (Mrs.Ann Marie Kaczorow Ski) 13.นายเฮอร์มันน์ วาลเดอร์แมร์ (Mr.Hermann Waldermer) 14.นายแมทเทโอ ลอเลนโซ เพลเลกรินี (Mr.Matteo Lorenzo Pellegrini)

ขณะที่กระบวนการยุติธรรมกำลังเดินหน้าเอาผิดผู้หลบเลี่ยงภาษี คล้อยหลังจากนั้น สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ทำหนังสือ ถึงหน่วยงานราชการต่างๆ 7 หน่วย คือ กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต สำนักงานอัยการสูงสุด กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานผู้แทนการค้าไทย เพื่อหารือและทบทวนกรณีดีเอสไอสั่งฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ

ตามสำเนาหนังสือ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขที่นร. 0412/ ว 9267 ลงวันที่ 6 ก.ย. 53 ลงนามโดยนายพงษ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่มีถึงหน่วยงานต่างๆ ข้างต้นนั้น ระบุว่า ตามที่ฟิลิปปินส์ ได้ฟ้องไทยภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก ( WTO Dispute Settlement Body :DSB ) ช่วงเดือนส.ค.53 คณะผู้พิจารณาคดีได้รายงานผลการพิจารณาเบื้องต้นแล้วนั้น เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างต้นศึกษาและทบทวนความถูกต้องของทุกประเด็นโดยละเอียดถี่ถ้วน ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไทย และเสนอแนวทางที่จะดำเนินการต่อไปและขอให้สรุปให้ประธานผู้แทนการค้าไทยทราบโดยเร็ว

จะเป็นเพราะผลหลังจากมีการปรึกษาหารือ การวิ่งเต้น การล็อบบี้ ผ่านคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีดังฝ่ายค้านกล่าวหา หรือไม่ หลังจากนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2554 อัยการฝ่ายคดีพิเศษ ได้พิจารณาสำนวนคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งฟ้องบริษัทฟิลลิป มอร์ริสฯ แล้ว มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องบริษัทฯกับพวก เนื่องจากเมื่อพิจารณาข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานแล้วยังฟังไม่ได้ว่าพวกผู้ถูกกล่าวหาสำแดงเท็จ (ทั้งที่ในสำนวนสั่งฟ้องคดีที่ดีเอสไอและอัยการผู้ทำคดีซึ่งมีผู้แทนจากฝ่ายอัยการคดีพิเศษร่วมด้วยก่อนนั้นปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีการเลี่ยงภาษีอย่างไร)

หลังมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง อัยการฝ่ายคดีพิเศษ ได้ส่งสำนวนและความเห็นกลับไปให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แล้ว ถ้าหากดีเอสไอเห็นด้วยกับอัยการ คดีถือเป็นอันยุติ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยอัยการต้องทำความเห็นแย้งมาให้อัยการสูงสุดพิจารณา

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ยุค ธาริต เพ็งดิษฐ์ ซึ่งถูกถากถางว่าเป็นกรมผงซักฟอกให้กับรัฐบาลนั้น ได้เก็บเรื่องนี้เงียบไว้กระทั่งฝ่ายค้านเปิดประเด็นขึ้นมา เจ้ากรมดีเอสไอ จึงรีบออกมาแก้ต่างว่า ไม่ได้เตะถ่วงเรื่องเอาไว้ แต่กำลังให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ว่าจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกับอัยการพิเศษหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 - 3 เดือน ก่อนทำความเห็นแย้ง ซึ่งหากว่าเห็นควรสั่งฟ้องก็จะต้องส่งความเห็นแย้งไปให้นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด เป็นผู้พิจารณาและถือเป็นที่ยุติ

ถึงแม้ว่า เจ้ากรมดีเอสไอ จะออกมาปัดว่าเรื่องนี้ไม่มีใบสั่งจากฝ่ายการเมือง แต่ความระหว่างบรรทัดที่ นายธาริต ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า “มีเพียงการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายเกียรติ สิทธิอมร (ผู้แทนการค้าไทย) เป็นผู้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงกรณีที่ประเทศไทยถูกบริษัท ฟิลลิป มอริสฯ ฟ้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO) ซึ่งคดีดังกล่าวมีแนวโน้มที่ประเทศไทยเป็นฝ่ายแพ้คดี” นั้น เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่าผู้แทนการค้าของไทย ทำหน้าที่เป็นผู้แทนการค้าของใครกันแน่

ประเด็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทบุหรี่ต่างชาติที่ทำให้ประเทศชาติสูญรายได้กว่า 6.8 หมื่นล้าน ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ กำลังตกอยู่ในสภาพเหมือนรัฐบาลทักษิณ ที่อดีตนายกฯ ขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็ก กระทั่งสุดท้ายต้องหนีคดีอยู่อย่างไม่เป็นสุขจนทุกวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น