xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯค้านช่วยชาติพัฒนาน้อย ฉุดเจรจารอบโดฮาส่อล่มซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน-การเจรจารอบโดฮา WTO ส่อล่มอีก หลังข้อตกลงเดือนธันวาคม ที่เสนอให้ประโยชน์แก่ประเทศที่พัฒนาน้อย ไม่ได้รับการตอบรับ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ออกโรงคัดค้าน ขณะที่จีน บราซิล อินเดีย ยกมือหนุน ส่วนไทยผนึกอาเซียนต้องการให้ได้ข้อสรุป เพื่อให้ระบบการค้าโลกเดินหน้าได้ต่อไป

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ความพยายามในการผลักดันข้อตกลงเดือนธันวาคม (December Package) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สมาชิก WTO จะหาข้อยุติบางประเด็นที่เป็นประโยชน์กับประเทศยากจนที่มีการพัฒนาน้อย เช่น การยกเลิกภาษีและโควตา การให้สิทธิพิเศษด้านธุรกิจบริการ และการยกเลิกการอุดหนุนฝ้ายเพื่อจะนำเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีการค้า WTO ครั้งที่ 8 ที่จะมีขึ้นในเดือนธ.ค.2554 ให้ความเห็นชอบนั้น กำลังเดินไปสู่ทางตัน เนื่องจากสมาชิก WTO สำคัญๆ ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับประโยชน์ที่จะให้กับประเทศยากจนที่มีการพัฒนาน้อย เพราะอุตสาหกรรมภายในของตนจะได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ และยืนยันว่าต้องพิจารณาในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนตอบแทน เช่น เรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า การยกเลิกการอุดหนุนการส่งออก การจำกัดการอุดหนุนประมง เป็นต้น ส่วนจีน บราซิล และอินเดียเห็นว่า ควรพิจารณาเฉพาะประเด็นที่เป็นประโยชน์กับประเทศยากจนที่มีการพัฒนาน้อย ไม่ควรไปพิจารณาในเรื่องเพิ่มเติมที่สหรัฐฯ เสนอมา

สำหรับไทย มีท่าทีไปในทิศทางเดียวกับอาเซียนที่ต้องการให้สามารถหาข้อสรุปในข้อเสนอ December Package รวมทั้งเรื่องการหาข้อสรุปในประเด็นการอำนวยความทางการค้า เนื่องจากเห็นว่าสมาชิกตกลงกันได้เกือบหมดแล้ว และจะเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลดีต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และการค้าของโลก นางศรีรัตน์กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการการเจรจาการค้าของ WTO (Trade Negotiation Committee)

นายปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ได้กล่าวยอมรับว่า ข้อคิดเห็นต่อ December Package ที่ตนได้รับจากสมาชิก WTO นั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับการเจรจารอบโดฮาในตอนนี้ คือ การกำหนดแผนการดำเนินงานสำหรับช่วง 1-2 ปีข้างหน้าสำหรับการเจรจาการค้ารอบโดฮา โดยยังไม่พยายามหาข้อยุติการเจรจาในปีนี้ และนอกเหนือจากแผนการดำเนินงาน อาจมีการนำประเด็นใหม่ๆ มาหารือ อาทิ ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นโยบายการแข่งขัน การลงทุน อัตราแลกเปลี่ยน

“การปิดรอบการเจรจารอบโดฮามีความสำคัญทั้งต่อภาพรวมการค้าโลก และประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ แต่จากการประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ขณะนี้ สมาชิกหันมาให้ความสำคัญกับการกำหนดแผนการดำเนินงานสำหรับช่วง 1-2 ปีข้างหน้าสำหรับการเจรจารอบโดฮา โดยแผนการดำเนินการดังกล่าวต้องเป็นแผนการที่สามารถปฏิบัติได้จริง ส่งเสริมให้การเจรจามีความคืบหน้า และหาจุดสมดุลในข้อเรียกร้องของประเทศสมาชิก WTO ต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้”นางศรีรัตน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น