xs
xsm
sm
md
lg

ธาริตปัดล้มสรรหากสทช. ศาลปค.นัดพิพากษาวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และโฆษกคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็น กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงปัญหาการร้องเรียนถึงกระบวนการสรรหา กสทช.ไม่ชอบ ว่า คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ มีมติไม่รับเรื่องที่ผู้สมัคร กสทช. บางรายฟ้องร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ ) ว่า กระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากได้พิจารณาแล้วว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา ไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ และผู้ที่ให้ข้อมูลดังกล่าวกับทางดีเอสไอหลายคน ก็ได้ดำเนินการร้องเรียนต่อศาลปกครองแล้ว
ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ จึงไม่อาจก้าวล่วงอำนาจศาลได้ จึงไม่รับเรื่องพิจารณาแต่ส่งเรื่องให้เลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะหน่วยธุรการคณะกรรมการสรรหาฯ ไปพิจารณาเอง
ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่มีตุลาการบางส่วนระบุว่า กระบวนการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงแห่งชาติ(กสทช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า เป็นเพียงความเห็นของตุลาการนอกองค์คณะ ซึ่งต้องรอฟังคำวินิจฉัยของตุลาการศาลปกครองในวันนี้ ( 22 ส.ค. ) ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนของวุฒิสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา(วิปวุฒิสภา) ควรนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกัน เพื่อระดมความเห็นในเบื้องต้นว่า วุฒิสภาจะเดินกันต่อไปอย่างไร เพื่อไม่ให้กระบวนการทั้งหลายมีปัญหาโดยวุฒิสภาเอง แต่ตอนนี้ตนเป็นอดีตประธานวิปวุฒิแล้ว ก็คงเป็นเรื่องของ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ซึ่งท่านขอนั่งเป็นประธานวิปวุฒิเอง ที่จะต้องตัดสินใจต่อไป
นพ.วิรัช พานิชพงษ์ ส.ว.สรรหา กรรมาธิการสามัญฯ กล่าวว่า กระบวนการสรรหาฯในส่วนของวุฒิสภา ยังต้องเดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายระบุว่า กระบวนการสรรหาฯไม่ชอบ เพราะได้คุยกับส.ว.หลายคนก็เห็นว่า ควรทำให้เสร็จสิ้นในกระบวนการของวุฒิสภา เพราะถ้าไม่เสร็จทุกอย่างจะอยู่ที่อำนาจของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ขณะนี้เริ่มมีกระบวนการขัดขวางที่จะทำให้ไม่เกิด กสทช. แต่ถ้าจะมีปัญหาอะไร ก็เป็นอำนาจของศาลที่จะตัดสิน

**"ธาริต"ยันไม่มีเจตนาล้มกระดาน

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงขั้นตอนการสอบสวน คดีสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่า ดีเอสไอ จะรอให้การแถลงนโยบายรัฐบาลเสร็จสิ้นก่อน หลังจากนั้นจะทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ โดยนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธาน กคพ. ด้วยตนเอง หรือมอบให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก็ได้ หากกำหนดชัดเจนแล้ว ดีเอสไอจะได้ตั้งเรื่องเสนอให้ กคพ.ประชุม และมีมติรับคดี กสทช. เป็นคดีพิเศษ เพื่อเริ่มกระบวนการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด
นายธาริต กล่าวด้วยว่า หลังการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่า คดีมีมูลความผิด ดีเอสไอ ก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา และการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อ ทั้ง วุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ส่วนหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงจะดำเนินการอย่างไร เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจของ ดีเอสไอ เพราะดีเอสไอ มีหน้าที่แค่เสนอรายงานให้รับทราบ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา
" ดีเอสไอไม่มีเจตนาหรือวัตถุประสงค์ล้มกระบวนการสรรหา กสทช. แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ร้อง พบว่า รายละเอียดไม่มีอะไรซับซ้อน ในชั้นกรรมการสรรหา โดยมีการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และมีข้อพิรุธเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนจริง อย่างไรก็ตาม หากยังต้องการให้เลือกผู้สมัครคนเดิมกลับเข้ามา มีสิทธิรับการสรรหาเป็น กสทช. ก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ให้ถูกต้องด้วย" อธิบดีดีเอสไอ กล่าว
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ดีเอสไอถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อให้นายกฯ มีอำนาจตั้ง กสทช. ใหม่ กรณีวุฒิสภาไม่สามารถเลือกกสทช.ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด นายธาริต กล่าวว่า ดีเอสไอ ไม่ขอแสดงความเห็นเรื่องนี้ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ แต่เชื่อว่าจะมีการตรวจสอบและดำเนินการตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันก็ไม่ขอแสดงความเห็นต่อท่าทีของวุฒิสภา ที่ยืนยันจะเดินหน้าสรรหากสทช. ต่อไป แม้จะมีหลายหน่วยงานตรวจพบความผิดปกติ โดย ดีเอสไอไม่มีความจำเป็นต้องทำหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบซ้ำ เพื่อยับยั้งหรือให้ทบทวนการตัดสินใจใหม่ เพราะเชื่อว่าวุฒิสภาคงพิจารณาทั้งหมดแล้ว

** รวบรวมหลักฐานส่ง ป.ป.ช.ใน 30 วัน
พ.ต.ท.พะเยาว์ ทองเสน รักษาการ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ดีเอสไอ กล่าวว่า วันนี้ (22 ส.ค.) จะหารือร่วมกับสำนักบริหารคดี เพื่อตรวจสอบประเด็นข้อกฎหมายว่า ดีเอสไอต้องรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนเสนอคดีให้ กคพ. พิจารณาหรือไม่ เพราะอาจติดขัดข้อกฎหมายที่ระบุว่า อำนาจการสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับเจ้าพนักงานของรัฐเป็นของ ป.ป.ช.และต้องส่งสำนวนให้ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน เมื่อตรวจสอบพบความผิด

**ศาลปค.พิพากษาคดีกสทช.วันนี้

นายอนุวัฒน์ ธาราแสวง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางเป็นตุลาการเจ้าของสำนวน มีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษา ในคดีที่นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ผู้เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ฟ้องคณะกรรมการสรรหา กสทช. และเลขาธิการวุฒิสภา กรณีขอให้ศาลฯสั่งให้คณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อของตนเองเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการกสทช. สายผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ให้ วุฒิสภา ในวันจันทร์ที่ 22 ส.ค. เวลา 10.00 น.

** เครือข่ายฯหนุนวุฒิฯเลือกกสทช.ต่อ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน, สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ร่วมในนามองค์กรภาคีเครือข่ายติดตามเฝ้าระวังการล้มกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช.
แถลงการณ์ดังกล่าว มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่มีกระแสข่าวการเคลื่อนไหวโดยบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการสรรหา กสทช. ออกมาอย่างต่อเนื่องนับจากหลังการเลือกส.ส.เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จนอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในสาระสำคัญของเรื่องนี้นั้น
ภาคีเครือข่ายติดตามเฝ้าระวังการล้มกระบวนการสรรหา กสทช. ซึ่งประกอบด้วยองค์กรสื่อ และองค์กรภาคประชาสังคม มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนทุกคนซึ่งต้องถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อความสำเร็จในการจัดตั้งคณะกรรมการ กสทช. กล่าวคือ
กสทช. เป็นคณะกรรมการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บัญญัติให้มีขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นและออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประชาชนทุกคนมีสิทธิได้ใช้ประโยชน์ในทรัพยากรนี้อย่างเท่าเทียมกัน ได้แก่ การออกใบอนุญาตให้แก่สถานีวิทยุคลื่นหลัก สถานีวิทยุชุมชน สถานีวิทยุธุรกิจทุกกลุ่ม การออกใบอนุญาตให้แก่สถานีโทรทัศน์ช่องหลักที่รับชมกันอยู่ในปัจจุบัน เคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียม รวมไปถึงการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G/4G ซึ่งเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและเฝ้าติดตามกันมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่สำคัญของชาติดังกล่าวที่ กสทช.ต้องจะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสรรและกำกับดูแลให้การใช้ประโยชน์เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว จะมีมูลค่าสูงนับเป็นหลายแสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าของใบอนุญาตในระบบการให้สัมปทานที่มีมาในอดีต
จากการสังเกตและเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในทุกภาคส่วน องค์กรภาคีเครือข่ายฯพบว่า มีความพยายามที่จะทำให้กระบวนการสรรหา กสทช. สะดุดหยุดลงด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยตามกฎหมาย ตั้งแต่การรับเรื่องราวจากบุคคลที่ทำงานให้แก่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการสรรหา เพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือทำการสืบสวนให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความเกรงกลัว, การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาต่อองค์กรสื่อและองค์กรภาคประชาสังคมว่าเป็นองค์กรเถื่อนที่ไม่มีสถานภาพรับรองทางกฎหมาย, การข่มขู่คุกคามผู้แทนองค์กรสื่อให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะมีการดำเนินการให้ได้รับโทษทางอาญา, การให้ข้อมูลเท็จโดยมีเจตนาทำลายความเชื่อมั่นเชื่อถือที่สังคมมีต่อองค์กรภาคประชาสังคมและต่อสภาวิชาชีพสื่อ โดยมุ่งหวังทำลายองค์กรสื่อที่ตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันเพื่อสร้างมาตรฐานจริยธรรมของวิชาชีพสื่อมวลชนให้เกิดขึ้นในสังคม ไปจนกระทั่งถึงการให้ข้อมูลในทางเปิดเผยและในทางลับทั้งที่ไม่มีหน้าที่ไปยังหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ วุฒิสภา นายกรัฐมนตรี และศาลปกครอง โดยมีเจตนาที่จะชี้นำหรือจูงใจให้เกิดการระงับยับยั้งไม่ให้กระบวนการสรรหาเดินหน้าต่อไปตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น และส่อเจตนาไปถึงเพื่อล้มกระบวนการสรรหาทั้งหมดให้ได้ ซึ่งจะส่งผลให้อำนาจในการคัดเลือก กสทช. ตกไปอยู่แก่คณะรัฐมนตรีในที่สุด
ภาคีองค์กรเครือข่ายขอเรียนว่า กสทช.ที่ได้มาตามขั้นตอนและกระบวนการที่กำหนดไว้ในกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกอย่างโปร่งใสจากวุฒิสภาเท่านั้นจึงจะเป็น กสทช.ที่สง่างาม สมควรได้รับการยกย่องให้เกียรติในฐานะบุคคลสำคัญที่ได้รับมอบหมายมาอย่างถูกต้องให้ดูแลรักษาทรัพย์สมบัติสำคัญของประเทศชาติ และขอเรียกร้อง ดังนี้
1.ขอให้วุฒิสภาดำเนินการเลือกคณะกรรมการ กสทช.ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป และ
2.ขอให้ประชาชนทำความเข้าใจ ติดตาม ตรวจสอบ กระบวนการคัดเลือก กสทช.ในทุกขั้นตอน
กำลังโหลดความคิดเห็น