xs
xsm
sm
md
lg

สรรหากสทช.ส่อพลิก ตุลาการฯชี้ปธ.สรรหากระทำมิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 19 ส.ค.) องค์คณะตุลาการศาลปกครองที่มีนายอนุวัฒน์ ธาราแสวง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน มีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ผู้เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ฟ้องคณะกรรมการสรรหา กสทช. และเลขาธิการวุฒิสภา กรณีขอให้ศาลฯ สั่งให้คณะกรรมการสรรหาส่งรายชื่อของตนเองเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการกสทช. สายผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ ให้วุฒิสภาในวันจันทร์ที่ 22 ส.ค. เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้ ก่อนนัดฟังคำพิพากษาองค์คณะตุลาการซึ่งได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีครั้งแรก ก็ได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีแถลงด้วยวาจาเพิ่มเติม และได้ให้นายกฤตยชญ์ ศิริเขต ตุลาการผู้แถลงคดีแถลงความเห็นส่วนตัวต่อคดีที่ไม่มีผลผูกพันองค์คณะ โดยนายกฤตยชญ์ เห็นว่า กระบวนการสรรหาในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ในการลงคะแนนครั้งแรก เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบวิธีการสรรหาที่เลขาธิการวุฒิสภาได้ประกาศไว้ จึงส่งผลให้ผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ได้รับการสรรหาโดยถูกต้องทั้ง 4 ราย คือ นางจันทิมา สิริแสงทักษิณ นายพิษณุ เหรียญมหาสาร นายวิชัย โถสุวรรณจินดา และนายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท เป็นผู้ได้รับการสรรหาเพื่อส่งชื่อให้วุฒิสภาคัดเลือกต่อไป
แต่ต่อมาพบข้อเท็จจริงว่า นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ประธานกรรมการสรรหา มีความสัมพันธ์กับนายอรรถชัย ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกซึ่งถือว่ามีสภาพร้ายแรงในเรื่องของการจะให้ความเป็นธรรม
นอกจากนี้ยังพบว่านายอรรถชัย เป็น กรรมการ บจม. อ.ส.ม.ท. ก่อนที่คณะกรรมการสรรหาจะลงคะแนนสรรหา รวมทั้งพ้นจากตำแหน่งกรรมการ บจม.อ.ส.ม.ท. มาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งนายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ประธานกรรมการสรรหา รู้แต่ปกปิดข้อเท็จจริงโดยอ้างว่าเพื่อให้ความเป็นธรรมกับนายอรรถชัย เนื่องจากยังไม่มีการจดทะเบียนความเป็นกรรมการ อ.ส.ม.ท. และนายอรรถชัย อาจถอนตัวภายหลัง
การปกปิดดังกล่าวของนายจตุรงค์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่นายจตุรงค์ ยังคงปล่อยให้มีการสรรหานายอรรถชัย จนได้รับการคัดเลือก จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบ ซึ่งในที่สุดนายอรรถชัย ก็ขาดคุณสมบัติไป แต่คณะกรรมการสรรหากลับมีมติให้มีการลงคะแนนใหม่ เป็นผลให้นายยุทธ์ ซึ่งได้ 7 คะแนนได้รับเลือกเข้ามาแทนนายอรรถชัย ขณะที่นายสุรนันท์ ซึ่งเดิมมีคะแนนอยู่ในลำดับที่ 5 ต่อจากนายอรรถชัย ได้คะแนนในการสรรหาใหม่เพียง 2 คะแนน จึงไม่ได้รับเลือก
" กรณีที่ต้องมีการเลือกแทนผู้ที่ขาดคุณสมบัตินั้น ในระเบียบการสรรหาไม่มีการกำหนด ระบุเพียงว่า ให้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหา แต่กรณีนี้เป็นการสรรหากรรมการ กสทช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ซึ่งมีส่วนกระทบต่อผลประโยชน์ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องดูเจตนาของการสรรหาที่ใช้หลักเสียงข้างมากมาแต่ต้น โดยการลงคะแนนใหม่ในรอบที่สองนั้น ผลคะแนนในรอบแรกอาจมีผลต่อการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการในรอบที่สอง ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้สมัคร ประกอบกับประธานกรรมการสรรหา ได้ปกป้องผลประโยชน์ของนายอรรถชัย มากกว่าประโยชน์ของผู้สมัครรายอื่น ส่งผลให้การสรรหากรณีนายอรรถชัย มิชอบมาแต่ต้น จึงสมควรต้องเลื่อนนายสุรนันท์ ซึ่งมีคะแนนอยู่ในละดับที่ 5 ในรอบแรกขึ้นมาแทน โดยถือว่าผู้ได้รับคะแนนลำดับที่ 3 เป็นโมฆะ"
นายกฤตยชญ์ ย้ำว่าการที่คณะกรรมการสรรหาลงคะแนนเลือกใหม่ เป็นการละเมิดนายสุรนันท์ จึงเห็นว่ามติของคณะกรรมการสรรหา ครั้งที่ 13 ลงวันที่ 29 เม.ย. ที่เลือก นายยุทธ์ ชัยประวิตร เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกแทนนายอรรถชัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรที่ศาลจะสั่งเพิกถอน และสั่งให้คณะกรรมการสรรหา ส่งชื่อนายสุรนันท์ ให้กับวุฒิสภาพิจารณา
นายสุรนันท์ ยอมรับว่า รู้สึกใจชื้นขึ้นบ้างหลังฟังความเห็นส่วนตัวของตุลาการผู้แถลงคดี แต่ขอที่จะรอฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 ส.ค.ก่อน ซึ่งตนขอให้เปลี่ยนแปลงรายชื่อของผู้ที่ได้รับการสรรหาในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้น ไม่ได้ร้องขอให้ล้มกระบวนการสรรหาทั้งหมดตามที่เป็นข่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีผู้สมัครรายอื่นที่ร้องขอให้ล้มกระบวนการสรรหาทั้งหมดนั้น หากศาลปกครองสั่งให้ล้ม และเริ่มกระบวนการใหม่ ตนก็จะมาลงสมัครอีกครั้ง สำหรับคดีที่เกี่ยวกับการสรรหากรรมการ กสทช. นั้นยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองอีก 3 คดี ประกอบด้วย 1. กรณีนายรัชทรัพย์ นิชิด้า 2. กรณีนายณัฐศิลป์ จึงสงวน ฟ้องเพิกถอนกระบวนการสรรหาทั้งหมด โดยอ้างว่าที่มาของกรรมการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรรมการสรรหา มีความสัมพันธ์กับผู้ได้รับการสรรหา 3. กรณีนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ฟ้องขอให้ศาลสั่งให้ตนเองเป็นผู้มีคุณสมบัติในการเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกสทช. ด้านโทรคมนาคม และให้เพิกถอนรายชื่อผู้ผ่านการสรรหาด้านโทรคมนาคม 4 คน ที่มีลักษณะต้องห้าม
ส่วนกระบวนการสรรหาในวุฒิสภานั้น ล่าสุดคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาได้รับฟังวิสัยทัศน์ของผู้ได้รับการสรรหาทั้ง 44 คนแล้ว กำลังรอรวบรวมผลการตรวจสอบเบื้องลึกจากหน่วยงานต่างๆ ก่อนจะรวบรวมส่งให้วุฒิสภาคัดเลือกให้เหลือ 11 คน ซึ่งคาดว่าจะมีการลงมติลับ เพื่อคัดเลือกในวันที่ 5 ก.ย. โดยวันที่ 11 ก.ย. จะครบกำหนด 60 วัน ที่วุฒิสภาต้องทำหน้าที่คัดเลือก หากเกินกว่านั้นจะตกเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในการคัดเลือกแต่งตั้งแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น