xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-20 ส.ค.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “ปชป.” แจ้งความเอาผิด “สุรพงษ์” แล้ว ฐานช่วย “ทักษิณ” ได้วีซ่าเข้าญี่ปุ่น เตรียมยื่นถอดถอนต่อ 22 ส.ค.นี้ ด้าน “พท.” ขู่ฟ้องกลับพร้อมยื่นยุบ “ปชป.”!
นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป.แจ้งความดำเนินคดีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ โดย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 มารับหนังสือด้วยตัวเอง
ความคืบหน้ากรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาเผยตั้งแต่ยังไม่ทันได้เข้าทำงานในกระทรวงฯ ว่า ได้หารือกับทูตญี่ปุ่นเรื่องการขอวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ พร้อมย้ำกับทูตญี่ปุ่นว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายสั่งห้าม พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางเข้าประเทศใด ขณะที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ออกมายอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณกำลังรอวีซ่าอยู่ หากญี่ปุ่นออกวีซ่าอนุญาตให้เข้าประเทศ พ.ต.ท.ทักษิณจะไปบรรยายให้ความรู้ตามคำเชิญของชุมนุมวิชาการของสถาบันการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 22 ส.ค. พร้อมยืนยัน กำหนดการบรรยายดังกล่าวมีการติดต่อกันไว้นานแล้ว ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาเผยว่า จากการตรวจสอบกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น พบว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศเป็นกรณีพิเศษแล้ว แต่ไม่ทราบว่าเป็นวีซ่าประเภทเดินทางได้ครั้งเดียวหรือมากกว่านั้น

ด้านนายยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็ออกมายอมรับเช่นกันว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติวีซ่าเข้าประเทศให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ประสงค์จะเดินหน้าเข้าประเทศญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้าแล้ว และว่า การอนุญาตให้เข้าญี่ปุ่นเป็นกรณีพิเศษนี้มีขึ้นหลังรัฐบาลชุดใหม่ของไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้เป็นน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณได้ร้องขอให้ทางการญี่ปุ่นอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ “รัฐบาลไทยที่ไม่ได้มีนโยบายห้าม พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางเข้าประเทศใด และได้ร้องขอมาทางญี่ปุ่นเพื่อออกวีซ่าให้ ตามคำร้องขอดังกล่าวของรัฐบาลไทยและการพิจารณาในหลายๆ ด้านแล้ว เราจึงได้ตัดสินใจที่จะออกวีซ่าให้”

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ชี้ว่า แม้จะเป็นเรื่องของทางการญี่ปุ่นที่สามารถให้วีซ่าแก่บุคคลใดเดินทางเข้าประเทศก็ได้ แต่กรณีให้วีซ่าแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์คงต้องตรวจสอบดูว่ามีเจ้าหน้าที่ของไทยเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีที่มีรายงานว่านายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเพื่อขอความร่วมมือให้อำนวยความสะดวกแก่ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังมีปัญหาเรื่องหลบหนีคดีอยู่

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พูดถึงกรณีที่ญี่ปุ่นให้วีซ่าแก่ พ.ต.ท.ทักษิณว่า เป็นอำนาจของกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นที่จะพิจารณาให้วีซ่า พร้อมยอมรับว่าทางญี่ปุ่นได้มาสอบถามนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนายสุรพงษ์ได้แจ้งไปว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะห้ามใครเดินทางเข้าประเทศใด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังสำทับอีกครั้งว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายใดใดเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ “ดิฉันเองไม่มีนโยบาย ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน และในทางปฏิบัติไม่มีใครไปสั่งการต่างประเทศได้อยู่แล้ว เป็นเรื่องรัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาเอง”

ด้านนายอภิสิทธิ์ ได้ออกมาย้ำว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณสามารถเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ แสดงว่าทางการไทยเข้าไปมีส่วนดำเนินการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและมีความผิด เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ในการปกป้องกฎหมายของไทย เมื่อศาลไทยได้วินิจฉัยตัดสินแล้ว ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่ก็ตาม คนที่เป็นฝ่ายบริหารมีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลัก ซึ่งเรื่องนี้ได้ให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ไปพิจารณาว่าสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

ซึ่งต่อมา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรค ได้เปิดแถลง(18 ส.ค.)ว่า จากการรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ถือว่านายสุรพงษ์ทำผิดอย่างน้อย 2 กรณี คือกรณีที่นายสุรพงษ์พูดว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายห้าม พ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการพูดและดำเนินการก่อนที่รัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ถือว่าผิดขั้นตอนรัฐธรรมนูญ พรรคจึงจะยื่นถอดถอนนายสุรพงษ์ต่อประธานวุฒิสภาในวันที่ 22 ส.ค.นี้ นอกจากนี้ยังจะดำเนินคดีอาญากับนายสุรพงษ์ เนื่องจากหลักฐานชัดเจนว่านายสุรพงษ์ทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 189 และ 192 ที่ระบุห้ามช่วยผู้ที่หลบหนีการคุมตัวตามอำนาจศาล เพื่อไม่ให้บุคคลนั้นถูกจับ ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายนิพิฏฐ์ ยังเชื่อด้วยว่า นายสุรพงษ์ต้องได้รับคำสั่งจากใครบางคนในการช่วย พ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ไม่น่าจะกล้าทำโดยลำพัง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะพยายามหาหลักฐานต่อไป

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.พญาไท ให้ดำเนินคดีนายสุรพงษ์แล้ว โดย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้เดินทางมารับหนังสือแจ้งความร้องทุกข์ของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยตัวเอง

ด้านนายสุรพงษ์ ได้ออกมาสวนกลับพรรคประชาธิปัตย์ว่าอย่าเล่นการเมืองมากเกินไป “กราบขอร้องฝ่ายค้านว่าอย่าเล่นการเมืองมากเกินไปจนประชาชนเบื่อหน่าย และขอฝากไปยังผู้นำฝ่ายค้านว่าเพลาๆ หน่อยก็ได้" ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย(พท.) ต่างออกมาตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมปกป้องนายสุรพงษ์ รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าไม่ได้ช่วยเหลือให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้วีซ่าเข้าญี่ปุ่น โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีคุมตำรวจ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาขู่ว่า หากพรรคประชาธิปัตย์แจ้งความด้วยข้อมูลเท็จ ระวังจะเจอข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ไม่เท่านั้น นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยังได้ขู่ซ้ำอีกว่า พรรคจะยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ ฐานเล่นเกมการเมืองใส่ร้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายสุรพงษ์ด้วยความเท็จเพื่อประโยชน์ทางการเมือง นอกจากนี้พรรคยังจะตั้งคณะทำงานตรวจสอบเรื่องที่ส่อทุจริตยุคพรรคประชาธิปัตย์ 149 เรื่อง เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากข้าราชการและประชาชนจำนวนมาก โดยจะถือเป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นวาระแห่งชาติ นายพร้อมพงศ์ ยังบอกด้วยว่า นายสุรพงษ์จะเข้าแจ้งความต่อกองปราบปรามให้ดำเนินคดีแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ฐานใส่ร้ายด้วยความเท็จในวันที่ 22 ส.ค.นี้

2. ส.ส.เพื่อไทย เดินสายใช้ตำแหน่งขอประกันตัว นปช.มือเผาศาลากลางแต่ละจังหวัด ด้านศาลอาญาไม่ให้ประกันตัวมือวางเพลิงเซ็นทรัลเวิลด์ รวมทั้ง “สุรชัย-สมยศ”คดีหมิ่นเบื้องสูง!
ศาลอาญา ให้ประกันตัวนายธวัชชัย เอี่ยมนาค แนวร่วมคนเสื้อแดง(เสื้อขาว) ที่เคยพกระเบิดเตรียมก่อเหตุที่ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้ว
สัปดาห์ที่ผ่านมา ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้พร้อมใจกันใช้ตำแหน่ง ส.ส.ยื่นขอประกันตัวแนวร่วมคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นจำเลยในคดีเผาศาลากลางจังหวัดและมีอาวุธปืนหรือระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยประเดิมที่ จ.อุดรธานีเป็นจังหวัดแรก โดยเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ส.ส.บัญชีรายชื่อและ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย รวม 10 คน ได้ใช้ตำแหน่งขอประกันตัวแนวร่วมคนเสื้อแดง ที่ถูกคุมขังทั้งหมด 22 คน ซึ่งในที่สุด ศาล จ.อุดรธานี ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 22 คน หลังพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยไม่มีพฤติกรรมที่จะไปยุ่งเหยิงข่มขู่พยาน ประกอบกับนายประกันเป็น ส.ส.มีความน่าเชื่อถือว่าจำเลยทั้ง 22 คนจะไม่หลบหนี อย่างไรก็ตาม ศาลมีเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว โดยห้ามจำเลยไปก่อเหตุวุ่นวายและห้ามเดินทางไปต่างประเทศ จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากศาล พร้อมให้เพิ่มหลักทรัพย์ในการประกันตัว อีกคนละ 5 แสนบาท เป็นคนละ 1 ล้านบาท รวม 11 ล้านบาท

ซึ่งต่อมา ได้มีนักธุรกิจโรงโม่หินใน จ.อุดรธานี คือนายสุวิทย์ พิพัฒน์วิสัยกุล หรือเสี่ยต้อยติ่ง เข้าพบนายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร เพื่อเสนอตัวช่วยในเรื่องเงินประกันตัว 11 ล้านบาทดังกล่าว ซึ่งภายหลัง นายสุวิทย์ได้รับแต่งตั้งจากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้เป็น 1 ในที่ปรึกษาของประธานสภาฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากยื่นขอประกันตัวแนวร่วมคนเสื้อแดงที่ จ.อุดรธานีประสบผลสำเร็จ ทนาย นปช.และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็เริ่มเดินหน้าใช้ตำแหน่ง ส.ส.ขอประกันตัวแนวร่วมคนเสื้อแดงอีก 100 กว่าคนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดอื่นๆ ต่อไป โดยเริ่มที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ส.ส.พรรคเพื่อไทย 14 คน ได้ใช้ตำแหน่งพร้อมเงินสดคนละ 1 ล้านบาท ยื่นขอประกันตัวแนวร่วมคนเสื้อแดง 4 คนที่ถูกคุมขังในคดีเผาศาลากลางจังหวัดและเผาสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที จ.ขอนแก่น ทั้งนี้ ระหว่างยื่นขอประกัน ได้มีคนเสื้อแดงไปชุมนุมที่หน้าศาล เพื่อรอมอบดอกไม้ให้จำเลยทั้ง 4 คนด้วย เพราะเชื่อว่าศาลขอนแก่นจะให้ประกันเช่นเดียวกับศาลอุดรธานี อย่างไรก็ตาม ได้มีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง ใช้ชื่อว่า เครือข่ายส่งเสริมคุณธรรมเพื่อความสงบสุขสังคม ได้เดินทางมามอบดอกไม้ให้กำลังใจผู้พิพากษาศาล จ.ขอนแก่น พร้อมยื่นจดหมายเปิดผนึกขอให้ผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักนิติรัฐและใช้ดุลพินิจตามโทษในข้อกฎหมาย เพราะกรณีเผาศาลากลางจังหวัดและสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีขอนแก่นเป็นการทำร้ายจิตใจคนไทยทั้งประเทศ ด้านศาล จ.ขอนแก่น ยังไม่ได้มีคำสั่งว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 4 คนหรือไม่ โดยนัดตัดสินวันที่ 22 ส.ค.นี้

ส่วนการขอประกันตัวแนวร่วมคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังใน กทม.และปริมณฑลนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งที่เป็นแกนนำ นปช. และไม่ได้เป็นจำนวน 20 คน ได้กระจายกันใช้ตำแหน่ง ส.ส.ยื่นขอประกันตัวแนวร่วมคนเสื้อแดง 29 คนเมื่อวันที่ 19 ส.ค. โดยแบ่งเป็นยื่นขอประกันตัวต่อศาลอาญา 9 คน ,ศาลอาญากรุงเทพใต้ 8 คน ,ศาลจังหวัดมีนบุรี 4 คน ฯลฯ ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ได้ออกมาคุยโวว่า หาก ส.ส.ของพรรคใช้ตำแหน่งไม่พอที่จะประกันตัวแนวร่วมคนเสื้อแดง ก็มีภาคธุรกิจร่วมลงขันช่วยประกันแล้วนับ 100 ล้านบาท

ด้านศาลอาญา หลังพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยแล้ว ได้มีคำสั่งปล่อยตัวแนวร่วมคนเสื้อแดงเพียง 1 คน คือ นายธวัชชัย เอี่ยมนาค จำเลยในคดีมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง โดยตีราคาประกัน 300,000 บาท ทั้งนี้ นายธวัชชัยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมกรณีพกระเบิดแสวงเครื่องเตรียมก่อเหตุลอบวางระเบิดที่ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนจำเลยอีก 6 คนที่ถูกคุมขังข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ นั้น ศาลอาญาเห็นควรให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

สำหรับคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือแซ่ด่าน และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยในคดีหมิ่นเบื้องสูงนั้น ศาลอาญาได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่านายสุรชัยถูกคุมขังในคดีหมิ่นเบื้องสูงสำนวนอื่นอีก ขณะที่นายสมยศนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว

ด้านศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายสายชล แพบัว และนายพินิจ จันทร์ณรงค์ และแนวร่วม นปช.อีก 6 คนที่ถูกฟ้องข้อหาวางเพลิงห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เนื่องจากเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย หากปล่อยตัวไปเกรงว่าจะหลบหนี

ขณะที่ศาลจังหวัดมีนบุรีได้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวแนวร่วม นปช. 4 คนตามที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยใช้ตำแหน่งขอประกันตัว โดยทั้ง 4 คนเป็นจำเลยในคดีมีวัตถุระเบิดและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดใดในการปล่อยตัว โดยตีราคาประกันคนละ 250,000 บาท

ส่วนการขอประกันตัวแนวร่วม นปช.ในจังหวัดอื่นๆ นั้น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. บอกว่า ได้เลื่อนการขอประกันตัวแนวร่วม นปช.20 คนในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีออกไป เพราะศาลจะมีคำพิพากษาในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ดังนั้นรอให้ศาลพิพากษาก่อนแล้วค่อยขอประกันตัว ส่วนที่ จ.มหาสารคามนั้น นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช. เผยว่า จะไปยื่นขอประกันตัวแนวร่วม นปช.9 คนในวันที่ 22 ส.ค.นี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเดินสายใช้ตำแหน่ง ส.ส.ยื่นขอประกันตัวแนวร่วมคนเสื้อแดงในคดีเผาศาลากลางจังหวัดต่างๆ แล้ว ยังมีกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ประกาศเดินหน้าให้รัฐบาลเยียวยาญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 จำนวน 91 ศพ ศพละ 10 ล้านบาท ซึ่งนายจตุพร บอกว่า ได้หารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแล้ว โดยเห็นชอบในหลักการเรื่องตั้งคณะกรรมการพิจารณากรอบการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งผู้เสียชีวิต 91 ศพอาจได้รับเงินเยียวยา 10 ล้านบาท ส่วนผู้ได้รับกระทบอื่นๆ ก็อาจได้รับเงินลดหลั่นลงไป นายจตุพร ยังสวนกลับกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า 10 ล้านบาทเป็นตัวเลขที่สูงเกินไปด้วยว่า “หากใครบอกว่าเงิน 10 ล้านบาทมากเกินไป ถ้าอยากได้ก็ไปตายสิ จะได้ได้เงิน ยืนยันว่าตัวเลข 10 ล้านบาทไม่มาก หากเทียบกับงบประมาณที่สั่งฆ่าประชาชน 6 พันล้านบาท” ไม่เท่านั้น นายจตุพร ยังยืนยันด้วยว่า เรื่องการเยียวยา 10 ล้านบาทนี้ จะอยู่ในนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมแถลงต่อรัฐสภาวันที่ 23-24 ส.ค.นี้แน่นอน เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำ

3. ศาลปกครอง นัดพิพากษาคดีสรรหา กสทช. 22 ส.ค.นี้ ขณะที่ตุลาการเจ้าของคดี ชี้ กระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย!
นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ผู้สมัคร กสทช.ที่ร้องศาลปกครองว่าการสรรหา กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ความคืบหน้าเกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) จำนวน 11 คน เพื่อทำหน้าที่ควบคุม จัดสรรคลื่นความถี่ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งมีการแบ่งผู้สมัครเป็น 2 บัญชี บัญชี 1 มาจากการคัดเลือกกันเองจากสถาบันการศึกษาและสมาคมด้านวิทยุโทรทัศน์โทรคมนาคม จำนวน 22 คน และบัญชี 2 มาจากการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหา จำนวน 22 คน ก่อนเสนอให้วุฒิสภาคัดเลือกเหลือเพียง 11 คน ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภากำหนดพิจารณาคัดเลือกให้แล้วเสร็จในวันที่ 5 ก.ย.นี้

แต่ได้เกิดปัญหาขึ้นกับการสรรหาในบัญชีที่ 2 เมื่อนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร 1 ในผู้สมัคร กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) รวมทั้งฟ้องต่อศาลปกครองว่า นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา กสทช.และกรรมการสรรหา กสทช.ทั้งคณะรวม 15 คน ดำเนินการสรรหา กสทช.โดยไม่โปร่งใส ไม่เสนอชื่อนายสุรนันท์ให้เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก 1 ใน 4 หลังจากที่พบว่าการสรรหาเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2554 นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท ซึ่งได้รับคะแนนเป็นอันดับ 3 เป็นกรรมการบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ซึ่งถือว่าขาดคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งที่ในทางปฏิบัติ ควรต้องเลื่อนผู้ที่ได้รับคะแนนถัดไปขึ้นมาในบัญชีรายชื่อแทน ซึ่งก็คือนายสุรนันท์ เพราะได้คะแนนเป็นอันดับ 5 แต่คณะกรรมการสรรหาฯ กลับใช้ดุลพินิจให้ลงคะแนนคัดเลือกใหม่แทนในการประชุมเมื่อวันที่ 29 เม.ย.2554 แล้วลงคะแนนเลือกนายยุทธ์ ชัยประวิตร ซึ่งเป็นผู้ที่ได้คะแนนอันดับ 7 มาแทนนายอรรถชัย ทั้งที่กฎหมายระบุว่า การคัดเลือกใหม่จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้สมัครมีคะแนนเท่ากันเท่านั้น นายสุรนันท์จึงขอให้ศาลเพิกถอนการกระทำที่ไม่ชอบดังกล่าว และให้คณะกรรมการสรรหาฯ ร่วมกันเสนอชื่อนายสุรนันท์ที่ได้รับเลือกเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2554 ไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกเป็น กสทช.ตามขั้นตอนต่อไปนั้น

ปรากฏว่า ศาลปกครองได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่นายสุรนันท์ฟ้องในวันที่ 22 ส.ค.นี้ เวลา 10.00น. อย่างไรก็ตาม โดยขั้นตอนแล้ว ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษา จะมีการให้ตุลาการเจ้าของคดี ได้แถลงความเห็นส่วนตัวต่อคดีดังกล่าว ซึ่งจะไม่ผูกพันต่อองค์คณะผู้พิพากษาโดยรวมที่จะพิพากษาในภายหลัง ซึ่งคดีนี้ ตุลาการเจ้าของคดี ได้แถลงความเห็นส่วนตัวต่อคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ว่า คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การคัดเลือกผู้สมัคร กสทช.เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2554 ถือเป็นที่สุดหรือไม่ เพราะหลังจากพบข้อผิดพลาดในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร กสทช. ทำให้ผู้ผ่านการสรรหาไม่ครบตามจำนวน ซึ่งในระเบียบไม่ได้กำหนดวิธีแก้ไขข้อผิดพลาดเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ได้รับการสรรหาไว้ แต่ถ้าพิจารณาเจตนาของการจัดลำดับคะแนน เพื่อให้เห็นว่าผู้ที่ได้รับคะแนนมากกว่ามีความเหมาะสม ย่อมสะท้อนว่าการลงคะแนนทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น เว้นแต่รายที่มีคะแนนเท่ากัน หากลงคะแนนหลายครั้งจะเป็นการเปิดช่องให้เกิดความไม่เป็นธรรม

“จึงเห็นว่าคณะกรรมการสรรหาไม่อาจใช้ดุลพินิจเรียกประชุมเพื่อลงคะแนนใหม่ในวันที่ 29 เม.ย. การสรรหาใหม่ถือเป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบ ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสรรหาอ้างว่า หากแจ้งให้กรรมการรับทราบว่านายอรรถชัยที่ได้รับเลือก เป็นบอร์ด อสมท อาจไม่เป็นธรรมต่อนายอรรถชัย เพราะขณะนั้นยังไม่จดทะเบียนบอร์ด อสมท และนายอรรถชัยอาจลาออก ถือเป็นการใช้ดุลพินิจที่มีสภาพร้ายแรง ทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรม และการปกปิดข้อเท็จจริงเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ทำให้มีการลงมติให้ผู้ที่ขาดคุณสมบัติ การที่ประธานคณะกรรมการสรรหาไม่เปิดเผยคุณสมบัติของนายอรรถชัย เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ ทำให้กรรมการที่เหลือลงคะแนนโดยไม่มีข้อมูลเพียงพอ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบตั้งแต่ต้น เป็นการรักษาประโยชน์ให้กับนายอรรถชัยมากกว่าผลประโยชน์ของผู้อื่น ขัดกับหลักปกครอง นอกจากนี้นายอรรถชัยยังเคยอยู่ในบอร์ด อสมท และลาออกยังไม่ถึง 1 ปี จึงถือว่าขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าควรที่จะเลื่อนลำดับของผู้ฟ้องคดีขึ้นมาเป็นผู้ได้รับเลือก”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าที่ตุลาการผู้แถลงคดีของศาลปกครองจะมีความเห็นว่าการสรรหา กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางด้านดีเอสไอก็ได้สรุปผลการตรวจสอบเกี่ยวกับการสรรหา กสทช.ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน โดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ได้นำทีมแถลงผลสอบเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น พบว่า กระบวนการสรรหา กสทช.เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ นอกจากนี้การกระทำของคณะกรรมการสรรหาฯ อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียแก่ผู้อื่น

สำหรับพฤติกรรมที่พบว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มี 3 ส่วน คือ องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาฯ ที่เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ,วิธีการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาฯ ที่เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรรมการสรรหาฯ มีความสัมพันธ์กับผู้ที่ได้รับเลือกเป็น กสทช.

4. คณะอนุ กก.สภาการหนังสือพิมพ์ฯ สรุปผลสอบ เชื่อ “อีเมล์ซื้อสื่อ” ของจริง - พท.จัดการสื่ออย่างเป็นระบบ ด้าน “เครือมติชน” ลั่น ไม่รับผลสอบ!

นายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ถูกระบุว่าเป็นเจ้าของอีเมล์ฉาวซื้อสื่อ
ความคืบหน้ากรณีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการส่งอีเมล์ของนักการเมือง(นายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย)ระบุการให้เงินและผลประโยชน์แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ,รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ ,ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ นั้น ปรากฏว่า ล่าสุด คณะอนุกรรมการได้สรุปผลสอบแล้ว และเสนอให้ที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์ฯ รับทราบแล้วเมื่อวันที่ 17 ส.ค.

จากนั้นคณะอนุกรรมการได้เปิดแถลงผลสรุปดังกล่าวว่า หลังจากได้ตรวจสอบและเชิญผู้ที่ถูกพาดพิงทั้งหมดมาให้ถ้อยคำ รวมทั้งตรวจสอบการนำเสนอข่าวและสิ่งที่ปรากฏทางหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มิ.ย.-ต้นเดือน ก.ค.2554 และนำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบแล้ว คณะอนุกรรมการเชื่อว่า อีเมล์ทั้ง 2 ฉบับน่าจะถูกส่งมาจากบัญชีและรหัสผ่านของนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทยจริง และเชื่อได้ว่านายวิมน่าจะเป็นผู้เขียนข้อความในอีเมล์ดังกล่าวเองด้วยเหตุผลหลายประการ

ส่วนผู้ที่ถูกพาดพิงทั้งหมด ไม่สามารถสรุปได้ว่าเอนเอียง เข้าข้างพรรคเพื่อไทย แต่พบว่า ในช่วงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยน่าจะมีการบริหารจัดการสื่อมวลชนทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคลอย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการประสานประเด็นข่าวกับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในระดับต่างๆ ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่มีความสัมพันธ์ด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า พรรคเพื่อไทยอาจมีการดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ทำข่าวของพรรคบางรายด้วย ซึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ถูกพาดพิงได้นำเสนอข่าวในช่วงเลือกตั้ง โดยมีความเอนเอียงในทางที่เป็นประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างค่อนข้างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การบรรยายประกอบภาพ รวมทั้งการนำเสนอข่าวและบทความต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการให้สินบนผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ตามเนื้อหาอีเมล์ดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่เชื่อว่าผู้ที่ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมรับสินบน แม้จะมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายก็ตาม ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการมีข้อเสนอต่อสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ในฐานะองค์กรกำกับดูแลจริยธรรม 5 ข้อ เช่น ตักเตือนให้หนังสือพิมพ์ที่เป็นองค์กรสมาชิก ยึดถือและปฏิบัติตามข้อบังคับด้านจริยธรรมของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ โดยเคร่งครัด ฯลฯ

ด้านนายสุนทร จันทร์รังสี รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ บอกว่า ผลสอบอีเมล์อื้อฉาวนั้น ยอมรับว่ามีจริง และมีการบริหารจัดการสื่อมวลชนของพรรคเพื่อไทยจริง และว่า รายงานผลสอบของคณะอนุกรรมการจะเป็นมาตรฐานทำให้นักหนังสือพิมพ์รักษาระยะห่างของสื่อกับแหล่งข่าวได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลสอบของคณะอนุกรรมการได้สร้างความไม่พอใจให้ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเป็นอันมาก โดยนายปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการมติชน ได้ออกมาตั้งข้อสงสัยผลสอบของคณะอนุกรรมการว่า การที่ผลสอบระบุว่าบุคคลที่ถูกพาดพิงในอีเมล์ไม่ได้กระทำผิดและข้อหารับสินบนตามอีเมล์นั้นตกไป เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ซึ่งมติชนได้ยืนยันความบริสุทธิ์มาตั้งแต่ต้น แต่การตั้งประเด็นตรวจสอบการเสนอข่าวของสื่อ มีข้อน่าสงสัยในวิธีการและเจตนาหลายประการ โดยเฉพาะการสรุปว่า สื่อในเครือมติชน ได้แก่ ข่าวสด มติชน เสนอข่าวเอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทย โดยนำภาพข่าวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ลงในสื่อ มาเปรียบเทียบจำนวนและตำแหน่งในการวางภาพ

นอกจากนี้หนังสือพิมพ์เครือมติชน ยังได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ด้วยว่า มติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ รวมถึงสื่ออื่นๆ ทั้งหมดในเครือ ไม่สามารถรับผลการสอบสวนและข้อสรุปที่ปราศจากข้อเท็จจริงและเป็นไปโดยอคติของอนุกรรมการตรวจสอบชุดดังกล่าวได้

ด้านนายสุนทร จันทร์รังสี รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รีบบอกว่า สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยังไม่ได้วินิจฉัยความถูกผิดของผู้ถูกกล่าวหาว่าผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ เพียงแต่ดำเนินการตามธรรมนูญของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ โดยเมื่อคณะอนุกรรมการรายงานผลสอบแล้ว ต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหารวมทั้งต้นสังกัดทั้ง 5 ฉบับรับทราบภายใน 30 วัน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิยื่นคำคัดค้านภายใน 20 วัน หากยื่นคัดค้าน สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ต้องตั้งคณะอนุกรรมการรับอุทธรณ์ เพื่อหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ต่อไป โดยสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะประชุมครั้งหน้าในวันที่ 13 ก.ย.

ด้านนายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ก็ได้ออกมาโต้ผลสอบของคณะอนุกรรมการของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เช่นกัน โดยบอกว่า ไม่เข้าใจว่าที่ผลสอบระบุว่า พรรคเพื่อไทยมีการจัดการสื่ออย่างเป็นระบบนั้นหมายถึงอย่างไร พร้อมยืนยันว่า ตนและพรรคเพื่อไทยไม่เคยให้สินบนสื่อ สาบานต่อหน้าวัดพระแก้วได้ว่าไม่เคยให้เงินสื่อเพื่อลงข่าว หากเคยซื้อสื่อจริงขอให้รถชนตาย

ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำผลสอบของคณะอนุกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เป็นหลักฐานเพิ่มเติมยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อประกอบกรณีที่ ส.ส.ของพรรคเคยยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบกรณีอีเมล์นายวิม รุ่งวัฒนะจินดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมขอให้ กกต.พิจารณาเรื่องนี้โดยด่วน “ขอเรียกร้องไปยัง กกต.ให้หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาโดยด่วน เพราะสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้วินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วว่า เป็นการใช้สื่อในทางไม่ถูกต้อง...และนายวิมเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เมื่อทำผิดจริง...เมื่อสอบสวนเสร็จแล้ว กกต.จะได้ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคเพื่อไทยและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยต่อไป”
กำลังโหลดความคิดเห็น