วุฒิสภาเดินหน้สรรหาบอร์ด กสทช.ให้เสร็จในวันที่ 11 ก.ย.นี้ ตามที่กฎหมายกำหนด ระบุหากพบเลือกแล้วภายหลังพบขาดคุณสมบัติศาลสามารถสั่งให้พ้นตำแหน่งได้ แต่พร้อมรับฟังคำตัดสินของศาลปกครอง วันที่ 22 ส.ค.นี้
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่มีตุลาการศาลปกครองบางส่วนระบุว่ากระบวนการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงแห่งชาติ (กสทช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า เป็นเพียงความเห็นของตุลาการนอกองค์คณะ ซึ่งต้องรอฟังคำวินิจฉัยของตุลาการศาลปกครองในวันที่ 22 ส.ค.เป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนของวุฒิสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ควรนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกันเพื่อระดมความเห็นในเบื้องต้นว่าวุฒิสภาจะเดินกันต่อไปอย่างไร เพื่อไม่ให้กระบวนการทั้งหลายมีปัญหาโดยวุฒิสภาเอง แต่ตอนนี้ตนเป็นอดีตประธานวิปวุฒิแล้ว ก็คงเป็นเรื่องของ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ซึ่งท่านขอนั่งเป็นประธานวิปวุฒิเอง ที่จะต้องตัดสินใจต่อไป
ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา โฆษกคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็น กสทช.กล่าวว่า เราเคารพในการตัดสินของศาล ไม่ว่าจะมีผลอย่างไรพร้อมปฏิบัติตาม แต่เท่าที่สอบถามเลขาธิการวุฒิสภาในฐานะหน่วยธุรการฯ แม้จะเป็นเรื่องใหม่และเป็นครั้งแรกของวุฒิสภาก็ยังไม่พบความไม่โปร่งใส ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่วุฒิสภาประกาศไว้
ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกย่อมมีความสงสัยเป็นเรื่องธรรมดา เหตุผลไม่ใช่เรื่องความโปร่งใสแต่เป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ที่น้อยเกินไป เชื่อว่ากฎหมายได้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ดีพอสมควร เพราะมีการเยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องศาลปกครองได้ และป้องกันไม่ให้หยุดกระบวนการสรรหา เหมือนที่มีการล้มกระบวนการสรรหา กสช.ในอดีตไว้ถึง 10 ปี หากทูลเกล้าฯ เป็น กสทช.แล้วพบว่าบางคนหรือทั้งหมดขาดคุณสมบัติภายหลัง ให้ศาลสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้
ดังนั้น วุฒิสภาต้องเดินหน้าสรรหาโดยเลือกทั้งหมดให้เสร็จภายในกำหนดคือวันที่ 11 ก.ย.นี้ เมื่อเลือกไปแล้วให้สบายใจได้ เพราะวุฒิสภามีมาตรการติดตามตรวจสอบกสทช.ทั้ง 11 คนโดยที่ประชุมมีการตั้งคณะกรรมการควบคุมและตรวจสอบ 5 คน หากพบว่ามีการทุจริตสามารถยื่นวุฒิสภา เพื่อถอดถอนได้เลย
นพ.วิรัช พานิชพงษ์ ส.ว.สรรหา กรรมาธิการสามัญฯ กล่าวว่า กระบวนการสรรหาฯ ในส่วนของวุฒิสภายังต้องเดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายระบุว่ากระบวนการสรรหาฯ ไม่ชอบ เพราะได้คุยกับ ส.ว.หลายคนก็เห็นว่าควรทำให้เสร็จสิ้นในกระบวนการของวุฒิสภา เพราะถ้าไม่เสร็จทุกอย่างจะอยู่ที่อำนาจของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ขณะนี้เริ่มมีกระบวนการขัดขวางที่จะทำให้ไม่เกิด กสทช. แต่ถ้าจะมีปัญหาอะไรก็เป็นอำนาจของศาลที่จะตัดสิน