xs
xsm
sm
md
lg

นายจ้างขอเวลา3ปี ขึ้นค่าแรง300

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายจ้างรวมตัวเสวนาค่าแรง 300 บาท "ขอเวลา 2-3 ปี" บริหารต้นทุน อ้างขึ้นทันทีกระทบลูกจ้างนอกระบบ 24 ล้าน-ข้าวของแพงขึ้น ขณะที่นักวิชาการทีดีอาร์ไอ-ลูกจ้างประสานเสียงบอกรอบ 10 ปี แรงงานได้ปรับค่าจ้างไม่พอเลี้ยงครอบครัวหนุนรัฐปรับพร้อมกันทั่วประเทศ ด้าน สภาอุตฯ แนะปรับขึ้นค่าจ้างแบบขั้นบันไดผ่านระบบไตรภาคี

วานนี้ (4 ก.ย.) ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ ได้มีงานเสวนาเรื่อง “คิดอย่างไร...กับรายได้ 300 บาทต่อวัน” จัดโดย คณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคมร่วมกับคณะทำงานอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในกรุงเทพฯและปริมณฑลเข้าร่วมประมาณ 1,000 คน โดย

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาพบว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับโดยเฉลี่ย 2.84% ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 3.25% และมีช่วงห่างระหว่างรายได้กับค่าครองชีพถึง 60% ทั้งนี้ปัจจุบันค่าจ่างขั้นต่ำอยู่ที่ 159-221 บ.ต่อวัน ซึ่งที่ผ่านมาการปรับค่าจ้างไม่เพียงพอที่จะปกป้องแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตให้พ้นจากความยากจนตามหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยแรงงานหนึ่งคนต้องมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัว 2-3 คน จึงเห็นว่าควรจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บ. ไปพร้อมกันทีเดียวทั่วประเทศ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างไม่ได้มีการปรับให้สอดคล้องกับค่าครองชีพมานาน 5-6 ปีแล้ว

“ฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างต้องมาหารือร่วมกัน เพื่อวางมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บ. โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ถึง 66% ของธุรกิจทั้งประเทศ โดยหากปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บ. ผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ ที่มีธุรกิจขนาดใหญ่จะมีต้นทุนเพิ่ม 39-40% ซึ่งสามารถแบกรับต้นทุนได้ แต่จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่กระจุกตัวอยู่มากในภาคเหนือและภาคอีสานจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 60-70% เชื่อว่าเอสเอ็มอีจะปรับตัวไม่ทันและไม่สามารแบกรับต้นทุนการผลิตและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้ทำให้ต้องปิดกิจการหรือย้ายฐานการผลิตและจ้างงานแบบเหมาช่วงมากขึ้น จึงขอเสนอทฤษฎี 3 สูงคือแรงงานต้องผลิตชิ้นงานให้สูงกว่าค่าจ้าง ปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นและเพิ่มค่าจ้างให้แก่แรงงาน” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

นางอำมร ชวลิต ที่ปรึกษาวิชาการ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจากการสำรวจของกระทรวงแรงงานพบว่าราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 28.2% เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2.82% ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25.7% เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 2.57% ซึ่งจะพบว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมาไม่เพียงพอที่จะทำให้แรงงานอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังสำรวจค่าครองชีพและความต้องการพัฒนาฝีมือแรงงานของแรงงานในจังหวัดต่างๆ ใช้กลุ่มตัวอย่างจังหวัดละ 200 ตัวอย่าง จะเสนอผลสำรวจต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลางในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อใช้พิจารณาประกอบการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ควรมีคณะกรรมการไตรภาคี ทั้งฝ่ายรัฐ ลูกจ้าง นายจ้างดูแล ตนเชื่อว่านายจ้างกับลูกจ้างไม่ใช่ศัตรูกัน ซึ่งตนเห็นว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บ.ใน 4 ปี เป็นไปได้ โดยสภาอุตฯอยากให้ปรับแบบขั้นบันได ซึ่งภาครัฐต้องมีการชดเชยต้นทุนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นให้แก่สถานประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีอยู่ 90% ขณะนี้สภาอุตฯเตรียมการรองรับหากธุรกิจในภาคอุตฯไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้เพราะใช้แรงงานแบบเข้มข้นก็จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชาค่าจ้างอยู่ที่กว่า 2,000 บาทต่อเดือน จากการสอบถามผู้ว่าฯจังหวัดศรีโสพล พบว่ามีธุรกิจอุตฯของไทยไปติดต่อไว้จำนวนมาก

นายวัลลภ กิ่งชาญศิลป์ ผู้แทนคณะกรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ฝ่ายนายจ้างไม่ได้คัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน แต่อยากให้ดำเนินการผ่านระบบไตรภาคี ไม่เห็นด้วยหากตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและลูกจ้างจับมือกันโหวตให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท เพราะฝ่ายนายจ้างต้องมาคำนวณต้นทุนของตัวเองว่าจะรับต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งต้นทุนภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ภาคบริการเพิ่มขึ้น 70-80% จึงอยากให้ทุกฝ่ายมาหารือในรายละเอียดก่อนจะปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท

“อยากให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มีระยะเวลาดำเนินการ ประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้หายใจบ้างไม่ใช่ทำทันที เพราะเมื่อปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท จะมีผู้รับอานิสงส์เป็นแรงงานในระบบกว่า 10 ล้านคน แต่แรงงานนอกระบบอีก 24 ล้านคนได้รับผลกระทบต้องซื้อสินค้าราคาแพง ส่วนผลกระทบที่ห่วงว่าจะเกิดขึ้นคือการที่แรงงานย้ายกลับถิ่นฐานจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาในส่วนกลางที่ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว ทำให้ต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งแรงงานต่างด้าวสามารถตั้งสหภาพได้ตามกฎเกณฑ์ของไอแอลโอ เพื่อเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆ” นายวัลลภ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น