ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ในยามที่ผู้กำหนดนโยบายวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ความมั่นคงของชาติ และปัญหาอื่นๆและกำหนดเป้าประสงค์หรือจุดมุ่งหมายที่ต้องการบรรลุ โลกทัศน์และความเชื่อพื้นฐานของพวกเขามีอิทธิพลในการชี้นำว่าอะไรคือประเด็นปัญหาที่เขาสนใจ ปัญหานั้นมีสาเหตุจากปัจจัยใดบ้าง อะไรคือเป้าหมายที่เขาต้องการไปให้ถึง และอะไรคือทางเลือกและมาตรการที่พวกเขาจะหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน
โลกทัศน์พื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ดูจะเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าการกระจายความมั่งคั่งและลดความเหลื่อมล้ำ ดังเอกสารการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งมีตอนหนึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า “ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียงเฉลี่ยร้อยละ 3.6 ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น” ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์มองว่าเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตและขยายตัวได้มากกว่านี้
ความต้องการในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพที่ควรจะเป็น ผนวกกับการวิเคราะห์ปัญหาทางเศรษฐกิจว่า การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงและเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้มแข็ง ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ข้อสรุปและเชื่อว่า แนวทางการบริหารแบบเดิมไม่เพียงพอต่อการรับมือกับความสับสนอลหม่านของสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจในระดับโลกและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทย ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องใช้กรอบแนวคิดในการบริหารบ้านเมืองแบบใหม่ ดังข้อความตอนหนึ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ได้ระบุในรัฐสภาว่า “แนวคิดในการบริหารบ้านเมืองจึงไม่สามารถใช้กรอบแนวคิดแบบเดิมที่เคยเป็นมาในอดีตได้ ดังนั้นกรอบแนวคิดใหม่ ๆ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้เพิ่มเติมร่วมกับต้นทุนดั้งเดิมของประเทศที่เรามี”
อะไรคือกรอบแนวคิดใหม่ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะนำมาใช้ในการบริหารประเทศ
หากเราตรวจตราเอกสารการแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่เป็นนโยบายเร่งด่วน เราจะเห็นร่องรอยของกรอบแนวคิดในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ อันได้แก่การทำให้ประชาชนเพิ่มรายได้ การลดภาระค่าใช้จ่าย และการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยหรือการบริโภค ในกรอบทั้งสามประการนี้ มีมาตรการหลายประการที่วิจิตรพิสดาร อันอาจทำให้นักเศรษฐศาสตร์ที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยมหรือเน้นการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ต้องประสบกับภาวะหัวใจวายได้
เราลองมาดูตัวอย่างว่ารัฐบาลนี้จะทำให้ประชาชนเพิ่มรายได้อย่างไร
ที่เห็นชัดเจนที่สุดในระหว่างการหาเสียงคือ มาตรการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน การให้เงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน และการเพิ่มเบี้ยยังชีพแก่ผู้ชรา เป็นต้น ต่อมาเมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ความแข็งขันในการยืนยันมาตรการเหล่านี้ก็ดูอ่อนลงไปโดยใช้คำว่า “มีรายได้” แทน คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” และ “เงินเดือน” คำเหล่านี้มีความหมายในเชิงปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมหาศาล คำว่า “มีรายได้” มีนัยว่า แหล่งของเงินหรือรายได้จะมาจากไหนก็ได้ อาจเป็นการทำงานพิเศษ ทำงานล่วงเวลา หรือ ค่ายังชีพ หรืออื่นๆ แต่คำว่า “ค้าจ้างขั้นต่ำ” หรือ “เงินเดือน” เป็นเงินที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างในการทำงานตามชั่วโมงปกติ/วันปกติ ที่ต้องได้รับเป็นประจำ
วิธีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่ส่งผลเชิงปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมหาศาล ระหว่างช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง กับการช่วงการบริหารจริง น่าจะเป็นกรอบการบริหารแบบใหม่ประการหนึ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยกระมัง
สำหรับนโยบายที่ลดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน เช่น การพักหนี้แก่ผู้มีหนี้ต่ำกว่า 500,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งหมายความว่าผู้เป็นหนี้ไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาตามที่รัฐบาลกำหนด ส่งผลให้ลูกหนี้มีเงินที่จะนำไปจับจ่ายใช้สอยในเรื่องการบริโภคมากขึ้น แต่ใครและองค์การใดที่เป็นผู้รับภาระแทนลูกหนี้เหล่านั้น รัฐบาลดูเหมือนไม่ได้ระบุให้สาธารณชนทราบ
หรือตัวอย่างอีกประการคือ การยุบกองทุนน้ำมัน (วลีที่ใช้ในตอนหาเสียง) กับการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทชั่วคราว (ประโยคที่แถลงในรัฐสภา) นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่การเปลี่ยนแปลงวลีหรือถ้อยคำแล้วส่งผลต่อความแตกต่างในเชิงการปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง การยุบกองทุนน้ำมันแปลว่ารัฐบาลอาจยกเลิกการเก็บภาษีน้ำมันทุกประเภทตลอดระยะเวลาที่เป็นรัฐบาล ส่วนการชะลอการเก็บเงินหมายความว่า อาจไม่เก็บภาษีน้ำมันบางประเภทชั่วคราว อาจจะไม่เก็บ 1 วัน หรือ 1 เดือน หรือ 1 ปี ก็ได้ ตามความต้องการของรัฐบาล และจะหวนกลับมาเก็บอีกเมื่อไรก็ได้
แน่นอนว่ามาตรการนี้ทำให้ราคาน้ำมันบางประเภทซึ่งในที่นี้คือ น้ำมันเบนซินราคาลดลงจนใกล้เคียงกับก๊าซโซฮอล์ กลุ่มคนที่มีจักรยานยนต์และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินก็คงจะมีค่าใช้จ่ายลดลง ผลสืบเนื่องที่อาจเกิดขึ้นคือ ผู้ใช้รถยนต์จำนวนหนึ่งที่ใช้ก๊าซโซฮอล์อาจเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเบนซินเพราะมีราคาใกล้เคียงกัน เมื่อมีการลดการใช้ก๊าซโซฮอล์ก็อาจส่งผลให้เกษตรที่ปลูกอ้อยหรือมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซโซฮอล์อาจได้รับผลกระทบ เพราะพวกเขาจะขายสินพืชผลของตนเองได้น้อยลง และคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้แบกรับผลเสียที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล
หรือว่า การลดรายจ่ายให้คนกลุ่มหนึ่งที่เป็นฐานเสียงของตนเอง ขณะเดียวกันก็สร้างความเดือดร้อนแก่กลุ่มอื่นที่อาจเห็นไม่ชัดเจนนักว่าเป็นฐานเสียงหรือไม่ จะเป็นวิธีการบริหารแบบใหม่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกประการหนึ่ง
การลดรายจ่ายอีกประการคือ การลดภาษีนิติบุคคล หรือ พูดง่ายๆประสาชาวบ้านว่าลดภาษีให้กับบริษัทเอกชน หรือลดภาษีให้เจ้าของบริษัทที่เป็นนายทุนนั่นเอง ซึ่งก็จะทำให้นายทุนจ่ายเงินแก่รัฐบาลน้อยลง ใครจะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ ประชาชนทั่วไปที่ติดตามข้อมูลข่าวสารของบ้านเมืองอย่างไม่มีอคติต่างก็ทราบเป็นอย่างดีว่า ครอบครัวของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีชุดนี้หลายคนมีบริษัทเอกชนใหญ่โตมาก และพวกเขาก็คงจะได้รับประโยชน์จากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลไปเต็มๆ
การเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หากผู้คนมีเงินในกระเป๋ามากก็ย่อมจ่ายมากขึ้นเป็นธรรมดา ดังนั้นเมื่อรัฐบาลทำให้เงินเขาเพิ่มด้วยการแจกเงินผ่านหลายช่องทางและหลายมาตรการ แม้ว่าอาจจะไม่มากเท่ากับที่เคยสัญญาไว้ในช่วงหาเสียง แต่ก็คงทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยมีเงินเพิ่มขึ้นบ้าง บวกกับมตรการลดรายจ่าย และมาตรการเอื้อความสะดวกในการนำเงินในอนาคตมาใช้ในรูปแบบบัตรเครดิต ประชาชนก็คงจะจับจ่ายใช้สอยอย่างสนุกสนานเมามันเป็นแน่แท้
ทั้งนี้ความรื่นเริงในการจับจ่ายใช้สอย ยังได้รับการหนุนเสริมด้วยการลดภาษีเป็นหลักแสนบาทสำหรับผู้ที่ซื้อรถคันแรกและซื้อบ้านหลังแรก บริษัทขายรถยนต์และบริษัทขายบ้านคงจะขายสินค้าของตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล คนกลุ่มเหล่านี้ซึ่งรวมถึงนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจำนวนไม่น้อยที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทเหล่านี้คงอิ่มเอมกับตัวเลขที่ลอยมาในอนาคต
ผลกระทบจากมาตรการลดภาษีรถยนต์ คือจะทำให้สถานการณ์รถติดในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองใหญ่ๆ เดินหน้าไปสู่ความเลวร้ายยิ่งขึ้น ความเครียดและความสิ้นเปลืองของผู้คนในเมืองใหญ่ๆก็คงเพิ่มขึ้นตามมา รวมทั้งมลพิษทางอากาศก็คงเพิ่มขึ้นจนไปถึงจุดที่อาจเกินมาตรฐานความปลอดภัยต่อชีวิตก็เป็นได้
การทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในแวดวงของตนเองได้ประโยชน์ ขณะที่เพิ่มความเครียดในการดำรงชีวิต สร้างปัญหาต่อสุขภาพ อันเป็นการทำลายคุณภาพชีวิตของผู้คน ก็คงเป็นกรอบในการบริหารประเทศแนวใหม่ของรัฐบาลอีกเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างนโยบายที่ผู้เขียนหยิบยกมากล่าวข้างต้น เป็นนโยบายเศรษฐกิจที่เร่งด่วนบางส่วนเท่านั้น ซึ่งก็ทำให้เห็นภาพร่างทางความคิดและโลกทัศน์ของผู้ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายอยู่บ้าง มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลนี้เร่งรีบดำเนินการล้วนแต่สะท้อนไปถึงโลกทัศน์ที่บูชาการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจ การปลูกฝังค่านิยมการบริโภคนิยม โดยไม่ให้ความสนใจกับการกระจายรายได้ที่ยั่งยืนและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างจริงจังแต่ประการใด มิหนำซ้ำมาตรการหลายมาตรการกลับมีแนวโน้มทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้นเช่น การลดภาษีนิติบุคคล การไม่เก็บภาษีในการซื้อรถยนต์คันแรก เป็นต้น
มาตรการต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ล้วนแล้วแต่ทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลงทั้งสิ้น คำถามคือรัฐบาลจะหาเงินมาจากไหน ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้น มีเสียงจากพรรคเพื่อไทยว่า จะใช้โครงการถมทะเลสร้างเกาะเป็นวิธีการหาเงิน โดยระบุว่าจะได้กำไรมหาศาล ครั้นมีผู้คัดค้านจำนวนมาก ก็ปรากฏว่ารัฐบาลไม่ได้แถลงนโยบายนี้ในรัฐสภา คงจะยุติและเก็บพับไปก่อน ไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้งใหม่ค่อยหยิบมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความฝันอันเลื่อนลอยแก่ประชาชนที่เชื่อพวกเขาอีกที
ร่องรอยของความพยายามในการหาเงินจากเอกสารนโยบายคือ การจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติซึ่งมีวิธีคิดในการนำเงินสำรองของประเทศออกมาบริหาร ใช้ในการลงทุนหลากหลายรูปแบบตามกระแสโลก และรัฐบาลมีความคาดหวังในแง่ดีว่าจะได้กำไรจากการบริหาร อันนี้คงเป็นวิธีคิดใหม่ในการบริหารของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่จริงวิธีคิดแบบนี้มีรัฐบาลหลายประเทศใช้อยู่แล้ว บางแห่งก็กำไร บางแห่งก็ขาดทุน เพราะเช่นเดียวกับการลงทุนทั่วไปคือมีความเสี่ยง ยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมากเท่าไร ความเสี่ยงก็มากขึ้นเท่านั้น
ส่วนการหาเงินอีกประการของรัฐบาลคือ การเร่งนำทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุอื่นๆ ออกมาใช้ การมีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการนำแหล่งพลังงานเหล่านี้มาใช้จะทำให้เกิดเแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการลงทุน อันหมายถึงการมีเงินจำนวนมหาศาลที่เข้ามาเกี่ยวข้องและการมูลค่าหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องทะยานตัวสูงขึ้น
โดยสรุป โลกทัศน์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในทางเศรษฐกิจ จึงเป็นโลกทัศน์ที่อยู่ภายใต้กระบวนทัศน์แบบเดิมที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคนิยม ภายใต้นโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่มีพื้นที่สำหรับเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนกรอบการบริหารแบบใหม่ก็คือ การบริหารอย่างแยบยลแนบเนียน ใช้วิธีการยักย้ายถ่ายเท นำเงินงบประมาณ เงินสะสมของชาติ และขุดทรัพยากรออกมาใช้ เพื่อจะได้มีเงินกระจายไปสู่ฐานเสียง ผู้สนับสนุน พรรคพวกและเครือญาติอย่างถ้วนหน้า
สำหรับโลกทัศน์และกรอบการบริหารใหม่ทางการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผู้เขียนจะนำเสนอเป็นตอนต่อไป