xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ย้ำอย่าแตะคลังหลวง อยากตั้งกองทุนมั่งคั่งให้ระดมเงินเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” ย้ำทุนสำรองระหว่างประเทศสำคัญมาก “บรรพบุรุษ-บุรพกษัตริย์” ตั้งขึ้นมาช่วยให้ไทยอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ ลั่นรัฐบาลต้องไม่แตะเงินคลังหลวงเพื่อเก็บไว้เป็นหลักประกันซึ่งไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ด้าน “อัมรินทร์” แนะตั้งเป็นบริษัทระดมเงินจากคนที่สนใจ เพื่อเอาเงินไปลงทุนโดยไม่ต้องยุ่งกับเงินของคนทั้งประเทศ

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนเคาะข่าว” 

เมื่อเวลา 20.30 น. ของวันที่ 23 ส.ค. นายอัมรินทร์ คอมันตร์ นักธุรกิจระหว่างประเทศ และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง ASTV โดยนายปานเทพ กล่าวว่า วันนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศมีมูลค่าประมาณ 6 ล้านล้านบาท พลังงานในอ่าวไทยมีมูลค่าประมาณ 5 ล้านล้านบาท ทั้ง 2 กลุ่มนี้มันคือทรัพยากรที่มีมูลค่ามากถึง 11 ล้านล้านบาทเป็นอย่างน้อย มันเป็นผลประโยชน์มหาศาล เพียงแค่คิดว่าจะไม่โปร่งใส กินค่านายหน้า ก็รวยมหาศาลอย่างทันที

นายปานเทพกล่าวอีกว่า ต้องทำความเข้าใจระหว่างทุนสำรองระหว่างประเทศและเงินคงคลัง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ใช่เงินคงคลัง เงินคงคลังเป็นเรื่องของรัฐบาล ได้จากการเก็บจากภาษี หักลบรายจ่าย เงินที่เหลือก็เอามาไว้ในเงินคงคลัง ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นเรื่องของแบงก์ชาติ เป็นเรื่องของปริวัตรเงินตรา หมายถึงว่าเวลาคนต่างชาติเข้ามาไทย เขาก็เอาดอลลาร์ไปที่แบงก์ชาติ แบงก์ชาติก็หาเงินบาทให้เขาไปลงทุนในประเทศไทย แบงก์ชาติก็เก็บรักษาดอลลาร์นี้ไว้ เช่นเดียวกัน ถ้ามีผู้ส่งออกก็ต้องเอาเงินบาทมาแลกดอลลาร์ เพื่อเอาดอลลาร์ไปจ่ายให้คนต่างประเทศ ถ้าเรามีรายได้มากกว่ารายจ่าย เราก็จะมีเงินดอลาร์เพิ่มมากขึ้น และทันทีที่มีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นเราก็จะมั่นใจว่าถ้าใครมาแลกเปลี่ยนเงิน บาทออกไป ก็มีเพียงพอที่จะมีเงินตราต่างประเทศไปชำระหนี้เขา

โดยหลักการนี้ เมื่อถามว่าเงินนี้เป็นของใคร ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 มีการค้าขายระหว่างประเทศ ท่านก็เก็บเงินบางส่วนให้แยกออกไป เรียกว่าเงินถุงแดง เพื่อเป็นหลักประกันว่าเรามีทรัพย์สินสำหรับประเทศชาติ เป็นความมั่นคง และรักษาต่อไปจนรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 ใครจะเชื่อว่าตอนนั้นฝรั่งเศสล่าอาณานิคม บังคับให้ไทยยกดินแดนส่วนนั้นส่วนนี้ให้ และจะเอาเงินตราต่างประเทศ เพื่อเป็นการไถ่ถอนให้ประเทศสยามมีเอกราชต่อไป ตอนนั้นฝรั่งเศสเรียก 5 ล้านฟรังก์ ให้วางทันทีก่อนเวลา 18.00 น. ของเย็นวันที่ 22 ก.ค. 2436 มิเช่นนั้นกระสุนจากปืนใหญ่บนเรือรบ 3 ลำ ที่ทันสมัยที่สุดจะระดมยิงไปยังพระที่นั่งจักรีฯ นั่นคือเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ปรากฏว่าระดมเงินจากพระบรมวงศานุวงศ์ แล้วไม่พอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็นำเงินถุงแดงเอาออกมารวมกัน จึงเพียงพอต่อการรักษาเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้ ทุนสำรองก็คือสำรองเอาไว้โดยเราไม่รู้ความเสี่ยงล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น

จากนั้นใช้เงินนี้หมดแล้วล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ก็ตั้งขึ้นมาอีก เริ่มต้นด้วยการพิมพ์แบงค์ โดยให้พระบรมวงศานุวงศ์ ใส่เงินจริงลงไปเก็บเอาไว้ ให้รู้ว่าธนบัตรที่เป็นกระดาษนั้นมูลค่าเท่ากับสินทรัพย์ที่หนุนหลังเอาไว้ ทั้งเงินและทองคำ ต่อมาการค้าขายดีขึ้นก็เอาเงินพระคลังข้างที่มาเติมในทุนสำรองระหว่างประเทศ และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์อีก 12 ล้านบาท ทำให้มั่นใจว่าใครเอาเงินมาแลกเงินบาทก็จะมั่นใจในเงินบาทเพราะมีทองคำหนุน หลังอยู่ เพราะฉะนั้นแปลว่าทุนสำรองเริ่มต้นมันไม่ใช่ทรัพย์สินของแบงก์ชาติ แต่เป็นทรัพย์สินที่บรรพพบุรุษ บูรพกษัตริย์ ที่ได้ปกป้องชาติเอาไว้ ส่วนนี้ก็ไม่มีใครแตะจนกระทั่งปี 2548 และ 2501

ปี 2501 ก็มี พ.ร.บ.เงินตรา ระบุว่าเงินส่วนนี้จะเก็บไว้เพื่อหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตร โดยจะเรียกว่าทุนสำรองเงินตรา โดยกฎหมายเขียนว่าทุนสำรองเงินตราต้องมีอย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ของธนบัตรที่พิมพ์เอาไว้

ต่อมาก็มีการแยกอีกฝ่าย เรียกว่าฝ่ายธนาคารของแบงก์ชาติ ฝ่ายนี้ก็เห็นว่าเงินตราไหลเข้าประเทศมาก ตราบใดที่ยังไม่ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม แบงก์ชาติก็ดูแลรักษาเอาไว้ จะเห็นว่าตอนนี้เรามี 2 บัญชีแล้ว บัญชีแรกเรียกว่าทุนสำรองทั่วไป กับทุนสำรองเงินตรา

ปรากฏว่าต่อมาประเทศไทย บาทแข็งขึ้น เกิดการเสียดุลการค้า เงินไหลออก ตอนนั้นไม่กระทบทุนสำรองเพราะว่าเปิด BIBF เพื่อให้เงินกู้ต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศโดยปราศจากการควบคุม ทุกคนก็เห็นเลยว่าเรามีหนี้ท่วมแล้ว ในที่สุดก็โดนโจมตีค่าเงินบาท โดยการเร่งทวงคืนหนี้ให้เงินไหลออกเร็วที่สุด พร้อมๆกับการโจมตีค่าเงินผ่านตลาดหุ้น ปรากฎว่าประเทศไทยโดยฝ่ายธนาคารที่ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เงินเกือบหมดทุนสำรองระหว่างประเทศ แล้วทำไมธนบัตรของไทยยังไม่เป็นแบงค์กงเต๊ก เพราะยังเห็นว่าโอ่งใบแรก หรือเงินคลังหลวงที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังคงรักษามูลค่าแบงค์เงินบาทเราอยู่ จึงทำให้ธนบัตรยังมีค่า

หลวงตามหาบัวก็เห็นว่าจะรักษาเอาไว้ ต้องเอาทองมาหนุนหลังใส่ในทุนสำรองเงินตรา เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองเอาไปใช้ จะเห็นว่าวิกฤติปี 40 ประเทศไทยอยู่รอดได้เป็นครั้งที่ 2 จากครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ช่วยปกป้องเอกราชของสยาม

หลวงตามหาบัวไม่ต้องการให้เอาเงินนี้ไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉก หรือรองรับการขาดทุนของแบงก์ชาติ ก็เลยต่อต้านการรวมบัญชี โดยใช้กุศโลบายให้บริจาคเข้าคลังหลวง เพื่อไม่ให้ใครแอบเอาไปใช้ เพราะก็ไม่รู้ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีก อย่างน้อยไว้เป็นหลักประกันจริงๆ

ท่านยังบอกใบ้ไว้ในพินัยกรรมอีกว่าให้แปลงทุกอย่างเป็นทองคำ ใครจะเชื่อปี 2543 หลวงตาบอกเอาไว้ จนถึงวันนี้ทองคำขึ้นไป 6.5 เท่าตัว ปัจจุบันทองคำที่หลวงตาที่รับบริจาคแปลงเป็นทองคำได้ 13 ตัน และแบงก์ชาติเพิ่งมาเพิ่มในไม่กี่ปีนี้เป็น 130 ตัน

นายปานเทพกล่าวอีกว่า เงินคลังหลวงปัจจุบันมีประมาณ 2 ล้านล้านบาท ส่วนนี้เอาไว้หนุนหลังพิมพ์ธนบัตร ส่วนอีก 4 ล้านล้านบาท ก็อยู่ที่ธนาคารกลาง ยังไม่ได้เอาไว้พิมพ์ธนบัตร แต่เอาไว้สำรองเงินไหลเข้าไหลออก ทีนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่าดอลลาร์ด้อยค่าลง เลยจะเอาไปลงทุนในทองคำ พันธบัตร เงินหยวน และแหล่งพลังงานในอ่าวไทย ซึ่งตรงนี้ต้องพิจารณาให้ดีเนื่องจาก จะแตะเงินคลังหลวงไม่ได้ ลูกศิษย์หลวงตาจำนวนนับแสนๆ คน ไม่ยอม ใครแตะอันตราย ถึงแม้มีนักวิชาการบอกว่าวันนี้ค่าบาทลอยตัวไม่จำเป็นต้องตรึงกับเงินคลังหลวง แต่ใครจะเชื่อว่าอนาคตอาจขาดดุลการค้าอีกก็ได้

ส่วน 4 ล้านล้านบาท ไม่ได้เอาไว้พิมพ์ธนบัตร ส่วนใหญ่เก็บไว้เป็นดอลลาร์ แต่ถ้ารัฐบาลเลือกลงทุนในกองทุนน้ำมัน ต้องดูพรบ.เงินตรา และพรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งระบุว่าแบงก์ชาติไม่ได้มีหน้าที่ในการลงทุนในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรม หรือบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

ตนเห็นด้วยที่ควรบริหารเงินตราเก็บเป็นมูลค่าไว้ ไม่ควรเก็บเป็นดอลลาร์เยอะๆ แต่ต้องมีการบริหารจัดการภายใต้กฎหมายที่กำหนด ไม่ใช่ไปลงทุนอะไรก็ได้สุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่สนใจกฎหมาย

แล้วเราจะพิมพ์ธนบัตรเพิ่มได้หรือไม่ เงินคลังหลวงมี 3 บัญชี 1.บัญชีทุนสำรองเงินตราไว้หนุนหลังพิมพ์ธนบัตร 100 เปอร์เซ็นต์ 2.บัญชีผลประโยชน์ประจำปี 3.บัญชีสำรองพิเศษ บัญชีนี้ที่หลวงตาฝากทองคำเอาไว้ ในกรณีที่บัญชีทุนสำรองเงินตรามีมูลค่าลดลง ธนบัตรที่พิมพ์ไปด้อยค่าลง ก็สามารถเพิ่มเงินจากบัญชีสำรองพิเศษลงไปได้ หรือสามารถให้แบงก์ชาติยืมเพื่อพิมพ์ธนบัตรได้ มันจะเชื่อมโยงกัน

นายอัมรินทร์กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลพยายามเทียบกับประเทศอื่นว่าก็มีการตั้งกองทุนแบบนี้ เช่นกันว่า มีการเทียบกับประเทศสิงคโปร์ ตนขอถามหน่อยนักการเมือง ข้าราชการ ประชาชน ก็ต่างกัน สถิติการคอร์รัปชั่นของไทยก็เยอะมาก แต่สิงคโปร์โปร่งใส ฉะนั้นเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้

การเอารูปแบบมามันไม่จำเป็น ต้องดูสิ่งประกอบอื่นๆด้วย ทำไมเราต้องไปเอาเงินกองทุนของทั้งประเทศมา ถ้าอยากทำ คนไทยมีเงินฝากเยอะลองเปิดบริษัทเป็น Public Company ให้คนไทยร่วมถือหุ้น แบบนี้ก็ทำได้ แต่อย่าแตะเงินสำรองระหว่างประเทศ เราก็รู้อยู่นักการเมืองไทยไม่มีความซื่อสัตย์ จะเชื่อได้แค่ไหน สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง กองทุนมั่งคั่งจะสร้างความมั่งคั่งให้ชาติ ขอเสนอว่าสร้างให้คนในชาติมั่งคั่งดีกว่า ให้ยืนอยู่บนขาตัวเองให้ได้

นายปานเทพกล่าวว่า ถ้าทำกองทุนมั่งคั่งเพื่อแสวงหาแหล่งน้ำมันที่อื่น ตนไม่ได้ไม่สนับสุน แต่ต้องตั้งคำถาม 1.ตกลงเรามี ปตท. และ ปตท.สผ.ทำไม ในเมื่อ ปตท.สผ.ก็ขุดเจาะพลังงานในต่างประเทศอยู่แล้ว คำตอบไม่ใช่เงินไม่พอ หรือถ้าเงินไม่พอ ให้คนไทยระดมเงินมาทันที หรือรัฐบาลจะซื้อหุ้นปตท.คืนก็ยิ่งยินดี แต่ประการที่ 2 เราอาจคิดในเรื่องลงทุนเพื่อแสวงหาประโยชน์พลังงานเพื่อยุทธศาสตร์ของชาติ แต่แบงก์ชาติไม่ได้มีความชำนาญในเรื่องพลังงาน

แบงก์ชาติสามารถลงทุนได้แต่ไม่ใช่ลงทุนในสิ่งที่ความเสี่ยงสูง ถ้ากระทรวงพลังงานต้องการตั้งกองทุนจริง เห็นด้วยกับนายอัมรินทร์ คือ การตั้งกองทุนขึ้นมาเอง ออกพันธบัตร ถ้าแบงก์ชาติสนใจก็มาซื้อพันธบัตร เพื่อให้กองทุนนี้เอาไปลงทุนพลังงานที่อื่น แต่ขอย้ำกองทุนนี้ต้องไม่แตะคลังหลวง และจะไปรุกเฉยๆ ไม่ได้เพราะแบงก์ชาติไม่ได้มีหน้าที่ในการเสี่ยง รัฐบาลต้องคืนเขาเมื่อถึงเวลา แบบนี้ทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย





กำลังโหลดความคิดเห็น