xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ห่วงรัฐตั้งกองทุนความมั่งคั่ง ชี้ต้องชัดเจนห่วงดึงเงินหลวงมาใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน (แฟ้มภาพ)
“ส.ว.คำนูณ” อภิปรายสภา ติงรัฐตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ชี้ต้องชัดเจนในรูปแบบ หากจะทำจริงต้องรับฟังความเห็นประชาชนทุกฝ่าย แนะตั้งกรรมการอิสระคอยแนะหารือกัมพูชาดึงทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อนมาใช้



 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายคำนูณ สิทธิสมาน กล่าวแถลง  

วันนี้ (24 ส.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายนโยบายรัฐบาลตนขอตั้งข้อสังเกต 3 ประการ หรือ “3 ห่วง” ในนโยบายรัฐบาล คือ ห่วงที่ 1 กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ ห่วงที่ 2 การเร่งนำทรัพยากรพลังงานในเขตพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยขึ้นมาใช้  ห่วงที่ 3 การไม่มีนโยบายปฏิรูปประเทศมีแต่นโยบายร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่เวลามีจำกัดจึงจอพูดถึงเฉพาะ 2 ห่วงแรก ซึ่งเป็นประเด็นอันตรายจากกรอบความคิดใหม่ ๆ แม้ว่าเรื่องกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ หรือ Sovereign Wealth Fund จะไปบรรจุอยู่ในนโยบายที่จะดำเนินการภายในช่วงเวลา 4 ปีของวาระรัฐบาล แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับนโยบายเร่งด่วนที่เป็นการเพิ่มการใช้จ่ายเงิน คำถามคือ รัฐบาลจะหาเงินมาจากไหน เพราะกู้ได้อีกไม่มาก และไม่มีแหล่งเงินที่ไหนจะมีมากและเร็วเท่ากับดึง “สมบัติเก่า” มาทำมาหากินให้เกิดดอกออกผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผมเชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นใหญ่ในอนาคต เพราะหลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้ใหญ่ของแบงก์ชาติออกมาให้ข่าวคัดค้านกันทุกระดับ ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนักกับหน่วยงานนี้

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าทุนสำรองเงินตราที่มีอยู่ 3 บัญชี คือ บัญชีทุนสำรองเงินตรา, บัญชีผลประโยชน์ประจำปี และบัญชีสำรองพิเศษ ที่อยู่ในความดูแลของฝ่ายออกบัตร ธปท. ก็คือ “เงินคลังหลวง” ในความหมายที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนท่านกล่าวไว้หลายครั้ง กรอบแนวคิดของกองทุนมั่งคั่งแห่งชาตินี้โดยหลักคือนำสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราส่วนที่มี “มากเกินความจำเป็น” มาลงทุนให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ทุนสำรองเงินตรานี้ตามพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 มีข้อจำกัดอยู่ว่าจะลงทุนได้แค่จากดอกผลที่ฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และลงทุนในหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันโดยรัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันการเงินที่ไทยเป็นสมาชิกและมีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งเป็นไปเพื่อเป็นหลักประกันว่าทุนสำรองเงินตราจะไม่มีความเสี่ยง แม้จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าการไปลงทุนในนวัตกรรมทางการเงินและทางด้านอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ในภาคเอกชน

"หลวงตาท่านต้องการปกป้องเงินใน “คลังหลวง” ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะในส่วนที่ท่านรณรงค์ให้ประชาชนบริจาคตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งอยู่ในบัญชีสำรองพิเศษเท่านั้น ท่านต้องการให้บริหารเงินใน “คลังหลวง” ตามหลักพอเพียง ไม่เสี่ยง ไม่ใช่บริหารเพื่อ “ผลตอบแทนสูงสุด” สถานเดียว หลวงตาท่านต้องการให้บริหารเงินใน “คลังหลวง” อย่างคำนึงถึงลักษณะพิเศษของประเทศไทย ไม่ใช่เอาอย่างตามเยี่ยงประเทศอื่น ๆ แล้วก็อ้าง “โลกาภิวัตน์” ว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันโลกทันประเทศอื่น สินทรัพย์ใน “คลังหลวง” นั้นสมควรเข้าใจว่า เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่บรรพ บุรุษ บุรพกษัตริย์ของสยามประเทศทรงมีพระมหากรุณาธิคุณจะมอบไว้ให้ชั่วลูกชั่วหลาน" นายคำนูณ ระบุ

โดยเมื่อปี 2452 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเงินจากท้องพระคลัง 12 ล้านบาท ให้มาตั้งเป็นทุนสำรองสำหรับรักษาอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง “เงินตราสยาม” กับ “เงินตราต่างประเทศ” ให้มั่นคง ไม่ให้ปะปนกับเงินในท้องพระคลัง เนื่องจากให้เป็นหลักประกันในการหนุนค่าเงินบาท และค้ำประกันชาติไทย จึงไม่เคยมีการนำออกมาทำธุรกรรมอื่นใดทั้งสิ้น สินทรัพย์ในคลังหลวงจึงเพิ่มพูนขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการแตะเงินในคลังหลวง จึงต้องรอบคอบอย่างถึงที่สุด อีกทั้งต้องให้สภารับรู้ ต้องให้สาธารณชนรับรู้และร่วมแสดงความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องชี้แจงให้ชัดเจน และถ้ารัฐบาลพิจารณาเห็นว่ามีประโยชน์มากกว่า และจะต้องเดินหน้าจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ โดยแก้ไขพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 ก็ขอให้เดินตามช่องพ.ร.บ.ที่ต้องผ่าน 2 สภา อย่าได้เลือกทางพ.ร.ก.ที่เป็นอำนาจของรัฐบาลทำไปก่อนแล้วมาขออนุมัติ 2 สภาภายหลัง ตนอยากฝากท่านนายกฯ ว่าให้สัญญาต่อสภาได้ไหมว่าจะไม่ทำในรูปพ.ร.ก.

ส่วนในห่วงที่ 2 นั้น นายคำนูณ ระบุว่า การหาเงินได้มาก ๆ ภายในเวลารวดเร็วอีกวิธีหนึ่ง คือ การเร่งขุดทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในอ่าวไทยในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นมาใช้ แม้เรื่องนี้จะไม่ปรากฏชัดเจนในนโยบายรัฐบาล แต่พิจารณาจากนโยบายเร่งด่วนด้านต่างประเทศ ประกอบกับคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้วก็ชัดเจนว่าการเร่งขุดทรัพยากรในอ่าวไทยจะโยงไปถึงความสัมพันธ์กับกัมพูชาในประเด็นข้อขัดแย้งเขตแดนทางบก ซึ่งจริง ๆ ถ้าเราไม่เร่งขุด แต่รู้อยู่ว่ากัมพูชาเร่งขุด เราก็จะมีข้อต่อรองที่ดีกว่าในกรณีที่ทั้งเราทั้งกัมพูชาต่างเร่งทั้งคู่ ในกรณีหลังนี้มีอัตราเสี่ยงสูงมากต่อการไปเข้ากับหลักขัดกันแห่งประโยชน์ระหว่างผลประโยชน์ของชาติกับผลประ โยชน์ของนักการเมืองและกลุ่มทุน และมีอัตราเสี่ยงสูงมากต่อการสูญเสียอธิปไตยทั้งทางบกและทางทะเลในทางปฏิบัติในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ถ้าทุกอย่างมีธรรมาภิบาล ทุกบาททุกสตางค์ที่มาจากทรัพยากรของส่วนรวมตกถึงมือประชาชน จะเดินไปข้างหน้าก็ยังพอพูดกันได้ แต่นี่ก็มีข้อกังวลข้อสงสัยว่าประชาชนอาจจะได้เพิ่มเพียงเพื่อให้เกิดมายาภาพลวงตาสะกดจิตตัวเองว่าได้เพิ่ม แต่กลุ่มทุนที่ลงทุนทางการเมืองนั้นได้มากกว่ามหาศาล

ทั้งนี้ กล่าวสรุปโดยหลักการเป็นเรื่องที่ดี ไม่มีใครขัด แต่จะต้องทำไปภายใต้เงื่อนไข 3 ประการ คือ ไม่กระทบอธิปไตยของชาติ สองต้องไม่เกิดการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ระหว่างผลประโยชน์ของชาติ กับผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและกลุ่มทุน และสาม ต้องอยู่บนพื้นฐานของธรรมาภิบาลในกระบวนการกำหนดนโยบายพลังงานของชาติ ดังที่ส.ว.รสนา โตสิตระกูลอภิปรายไว้ ทั้งนี้ ประเด็นพลังงานในอ่าวไทยนี้ รวมไปถึงความขัดแย้งไทย-กัมพูชาทั้งระบบ รัฐบาลเปิดรัฐสภารับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 และถ้าจะให้ดีกว่านั้น ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อระดมพลังทางปัญญาจากภาคประ ชาชนภาควิชาการด้วย ก็จะเป็นหลักประกันสร้างความมั่นใจประชาชน

"กรอบความคิดใหม่ในการหาเงินทั้งจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ และขุมพลังงานในอ่าวไทยในเขตพื้นที่ทับซ้อน เป็น 2 ประเด็นใหญ่ที่น่าอภิปรายถกกัน แต่จะต้องมีความชัดเจนกว่านี้ เพราะกรอบความคิดใหม่อาจเป็นเพียงการเอาสมบัติเก่าที่ปู่ย่าตาทวดบรรพชนในอดีตสะสมไว้ออกมาหาผลประโยชน์ให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด บวกกับการเร่งขุดมรดกที่จะตกทอดไปสู่ลูกหลานในอนาคตออกมาใช้โดยเร็ว ซึ่งทำได้ครับ แต่ต้องด้วยความระมัดระวังสูงสุด มิเช่นนั้นจะเป็นการทำลายสิ่งที่ท่านนายกฯกล่าวไว้ในอารัมภบทที่เขียนได้หมดจดงดงามว่า “ต้นทุนทางสังคมและวัฒนาธรรมที่เราได้สะสมมาตั้งแต่ในอดีต” เสียหมดสิ้น " นายคำนูณ กล่าวทิ้งท้าย       


กำลังโหลดความคิดเห็น