ปชป.ถล่มระบบจำนำข้าวของรัฐบาล เอื้อประโยชน์เอกชนรายใหญ่ รัฐบาลขาดทุนมหาศาล ซ้ำรอยรัฐบาลสมชาย “ไตรรงค์” ชี้เป็นต้นเหตุเกษตรกรไม่รู้จักลดต้นทุน จนถูกเวีดยนามแย่งตลาดข้าวในเอเชียไปแล้วกว่า 70% “รสนา” แนะดึงตลาดต่างประเทศกลับมาเป็นของคนไทยเต็มร้อย พร้อมเปิดตัวเลขคนถือหุ้นต่อสาธารณชนตามแบบธรรมาภิบาล ขวางดึงกองทุนสำรองฯ ทำกองทุนมั่งคั่ง เตือนอย่าขี้ตามช้าง อาจจะกลายเป็นกองทุนหมดคลัง
การประชุมรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 176 ของรัฐธรรมนูญเป็นวันที่สอง วันนี้ (24 ส.ค.)ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 08.00 น. โดยสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญในการสอบถามถึงความเป็นไปได้ของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายในแต่ละด้าน
นายเกียรติ สิทธีอมร สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายการรับจำนำราคาข้าวเป็นนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลรับปากไว้ว่าจะทำให้ 3 ประการ คือ 1.รัฐบาลจะรับจำนำข้าวทุกเม็ด 32 ล้านต้น 2.เริ่มดำเนินการในฤดูเกี่ยวข้าว พ.ย.นี้ 3.ประเทศไทยสามารถทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นได้ในฐานะเป็นผู้ส่งออกรายใหญของโลก แนวทางเหล่านี้มีถ้ารัฐบาลจะดำเนินการดีก็ดีไปแต่ถ้าไม่เป็นไปตามนั้นรัฐบาลก็จะดับทันที ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่เชื่อว่าทำได้เพราะถ้ามองย้อนหลัง 30 ปี ไม่เคยมีประเทศไหนไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนา มีมาตรการภายในประเทศให้ราคาข้าวขยับขึ้นได้ ทั้งนี้ ราคาข้าวจะขยับหรือไม่ขยับอยู่ที่สต๊อกข้าวเท่านั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐบาล
นายเกียรติกล่าวว่า ในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551 รับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าตลาดร้อยละ 20 ใช้เงินเข้าไปแทรกแซงราคามากกว่า 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลต้องรับภาระการเก็บสต๊อกข้าวมากขึ้นถึง 5 ล้านตันจาก 2.7 ล้านตัน ต่อมาได้มีการขายข้าว 2 ล็อตใหญ่ๆ ขาดทุนึถึง 1.6 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญยังได้เกิดระบบโควต้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับเฉพาะผู้ส่งออกรายใหญ่เท่านั้น นอกจากนี้ มีงานวิจัยจากสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุชัดว่าระบบจำนำช่วยเหลือเกษตรกรเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นและมีการสวมสิทธิ์ข้าวของประเทศเพื่อนบ้านถึง 5-6 แสนต้นด้วย
นายเกียรติกล่าวว่า อีกประเด็นที่รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญ คือ ข้อตกลงขององค์กรการค้าโลก (WTO) ซึ่งไทยเป็นประเทศภาคีสมาชิก โดยระเบียบขององค์กรนี้กำหนดเอาไว้ห้ามไม่ให้รัฐบาลมีการเข้าไปแทรกแซงกลไกแต่มีข้อยกเว้นว่ากระทำได้ไม่เกินร้อยละ 10 จึงอยากสอบถามว่าการรัฐบาลบอกว่าจะทำนโยบายจำนำข้าวโดยใช้เงิน ทั้งสิ้น 4.72 แสนล้านบาท รัฐบาลต้องขายขาดทุนทันที 1.5 แสนล้านบาท จะเข้าข่ายละเมิดระเบียบขององค์กรการค้าโลกหรือไม่
“ปัญหาที่ตามมา คือ ถ้าผิดจนนำมาสู่การฟ้องร้องระหว่างประเทศ รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร เพราะประเทศคู่แข่งก็จะตอบโต้ไทย ด้วยมาตรการกีดกันทางการค้า ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาการส่งออก เสี่ยงต่อการตกงานและคนไทยต้องกินข้าวแพงกว่าตลาดโลก และต้องหันไปกินข้าวเวียดนามก็ได้ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลกล้าทำ กล้าคิด ก็ต้องรับผิดชอบด้วย” นายเกียรติกล่าว
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. อภิปรายในส่วนนโยบายด้านพลังงานว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะยกเลิกกองทุนน้ำมัน แต่ควรจะเอา ปตท.กลับมาเป็นของคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะมีความเป็นธรรม และปัจจุบันประชาชนไม่สามารถรู้ว่ามีใครมีสัดส่วนถือหุ้นอยู่ใน ปตท.บ้าง ดังนั้น ควรจะมีการเปิดต่อสาธารณชนซึ่งจะเป็นการสนับสนุนธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง ส่วนนโยบายกองทุนมั่งคั่งนั้นไม่ควรทำเพราะแต่ละประเทศจะอาศัยจากรายได้น้ำมัน แต่ประเทศไทยจะดึงเงินสำรองระหว่างประเทศมาทำเป็นการไม่สมควร มีเพียงประเทศเดียวในโลก คือ ประเทศจีน แต่เขามีรายได้สำรองประเทศจำนวนมากถึง 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยมี 1.8 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งอาจจะสร้างภาระให้แก่ประเทศได้
“รัฐบาลควรยึดคำพูดของท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เคยกล่าวว่ารัฐบาลต้องดำเนินนโยบายตามอัตภาพ ไม่ควรเห็นช้างขี้แล้วขี้ตามช้าง หากรัฐบาลบริหารกองทุนมั่งคั่งไม่ดีอาจจะกลายเป็นกองทุนหมดคลังก็ได้”
น.ส.รสนากล่าวว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา มาเลเซีย รัฐบาลได้ส่วนแบ่งจากรายได้ด้านพลังงานสูงถึงร้อยละ 60-85 แต่ของไทยกลับได้เพียงร้อยละ 12 ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ เพิ่มสัมปทานด้านพลังงานที่รัฐควรได้ให้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้มีการประมาณการจากรายรับภาคหลวงด้านพลังงานในปี 54 จำนวน 3.7 หมื่นล้านบาท จากส่วนแบ่งที่ได้ร้อยละ12 หากรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จะมีเงินถึง 1.4 แสนล้านบาท และสามารถนำเงินนี้มาทำกองทุนสำรองน้ำมันได้ หรือกองทุนมั่งคั่ง จะดีกว่าเอาเงินกองทุนสำรองของประเทศมาใช้และขอให้รัฐบาลบริหารแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และตรวจสอบได้
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายจำนำข้าวที่ผ่านมาของรัฐบาล มีชาวนาได้ประโยชน์เพียงแค่ 15% หรือ 5.7 แสนคน จากทั้งหมด 3.7 ล้านคน และกระจุกอยู่แค่ภาคกลาง ส่วนพื้นที่ไกลออกไปทั้งภาคอีสานและเหนือไม่สามารถเข้าถึงโครงการนี้ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลทำโครงการนี้อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ การจำนำข้าวจะต้องมีปัญหาเรื่องการเก็บสต๊อกข้าว ซึ่งรัฐบาลไม่มีโกดังของตัวเองต้องเสียค่าเช่าและที่ผ่านมาและบางล็อตก็ขายไม่ออก จนสมัยที่ตนมารับตำแหน่งรองนายกฯ พบว่ามีข่้าวสะสมอยู่ในสต็อกมาตั้งแต่หลายรัฐบาลก่อนๆ รวมแล้ว 5.6 ล้านตัน ซึ่งต้องเสียค่าเช่าโกดังรวมกับค่าดอกเบี้ยเป็นเงินปีละ 1 หมื่นล้านบาท และข้าวบางล็อตอยู่ในสต็อกมานานกว่า 8 ปี ยังไม่สามารถขายออก
นายไตรรงค์กล่าวว่า การรับจำนำของประเทศไทยที่ดึงข้าวมาเก็บไว้ในสต๊อกอีกด้านหนึ่งยังทำให้ข้าวไม่ออกสู่ตลาดโลกทำให้ข้าวจากต่างประเทศราคาดีขึ้น อีกทั้งการตั้งราคาประกันไว้สูงจะทำให้ไม่มีการสนใจลดตุ้นทุนการผลิต ต่างจากประเทศเวียตนามที่พัฒนาทั้งเรื่องชลประทาน ปุ๋ย พันธุ์ข้าวเพื่อลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เรื่องการตลาดขณะนี้เริ่มจะเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเพราะ ไทยขายออกในราคาตันละ 625 เหรียญสหรัฐ ขณะที่เวียตนามขาย 570 เหรียญสหรัฐ คนส่วนใหญ่จึงหันไปซื้อเวียตนามหมด ประเทศไทยจะมาทะนงตนว่าเป็นข่้าวพรีเมียมไม่ได้อีกต่อไปเพราะทุกวันนี้คุณภาพข้าวหอมมะลิเวียดนามก็ไกล้เคียงกับข้าวไทยมาก