ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
“กองทุนมั่งคั่ง” หรือ Sovereign Wealth Funds เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 48 กองทุนทั่วโลก โดยเป็นกองทุนประเทศนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ จนเริ่มกลายเป็นเครื่องมือทางการเงินที่เป็นแฟชั่นไปแล้วในหลายประเทศ
ทั้งนี้เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศ เดิมมีวัตถุประสงค์เอาไว้เพื่อเป็นการสำรองเงินตราและทรัพย์สินต่างประเทศ ไม่ได้มาจากการจัดเก็บภาษีในประเทศ แต่เป็นเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาทั้งมาจากดุลบัญชีเดินสะพัด เงินทุนไหลเข้า หรือแม้แต่หนี้ต่างประเทศที่มากองอยู่ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
ด้วยการบริหารจัดการเป็นเม็ดเงินอย่างมหาศาลแต่บริหารคล่องตัวในรูปของ “กองทุน” ทำให้กองทุนประเภทนี้หลุดออกจากกรอบการพิจารณางบประมาณประจำปีในแต่ละประเทศ มีทั้งความคล่องตัวสูง แต่สำหรับในบางประเทศ การตั้งกองทุนประเภทนี้ก็ง่ายต่อการทุจริตเช่นกัน
เพราะเงินจำนวนมหาศาลเหล่านี้ผู้ที่ตัดสินใจในการลงทุนไม่ใช่เจ้าของเงินโดยตรง ดังนั้นย่อมมีโอกาสสูงที่จะเกิดผลประโยชน์ส่วนตนที่ได้รับทั้งค่าหัวคิวนายหน้าในการลงทุน ยังไม่นับการลงทุนที่ในสินทรัพย์ที่แพงเกินมูลค่าความเป็นจริงเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งในทางปฏิบัติก็ยากแก่การตรวจสอบเพราะการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ
กรณี “กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ” ที่จะจัดตั้งขึ้นในประเทศไทยนั้น ประเด็นจึงไม่ได้เกี่ยวกับว่าลงทุนแล้วถ้ากำไรจะแบ่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือถ้าขาดทุนกองทุนจะรับผิดชอบเอง เพราะแม้มีกำไรแต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น และในความเป็นจริงหากความเสียหายจากเงินนับหลายแสนล้านบาท คงไม่มีใครที่อ้างว่าจะรับผิดชอบนั้น จะชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติได้อย่างไร?
แต่ด้วยความนิยมและกลายแฟชั่นในการจัดตั้งกองทุนประเภทนี้ ทำให้กองทุนนี้มีการจัดตั้งกันเพิ่มอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ โดยเมื่อมิถุนายน พ.ศ.2551 ตัวเลขกองทุนมั่งคั่งทั่วโลกรวมกันอยู่ที่ประมาณ 3.84 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐแต่มิถุนายน พ.ศ. 2554 พบว่าตัวเลขกองทุนมั่งคั่งทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 4.66 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศจีนซึ่งมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลก 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันจีนจึงกลายเป็นแชมป์ในการมีกองทุนมั่งคั่งแบ่งเป็น 4 กองทุนรวมกันประมาณ 8.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาอันดับสองคือสหรัฐอาหรับเอมริเรตส์มี 8 กองทุนรวม 7.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับที่สามคือ นอร์เวย์มีขนาดกองทุนรวม 5.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับที่สี่คือสาอุดิอาระเบียมี 2 กองทุนรวมกัน 4.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับที่ห้าคือสิงค์โปร์มี 2 กองทุนรวมกัน 3.92 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้วยความอิสระในการเลือกตัดสินใจของผู้บริหารกองทุน ทำให้สถาบันกองทุนความมั่งคั่งต้องจัดดัชนีความโปร่งใสเข้ามาประเมินศักยภาพและความสามารถของแต่ละกองทุนด้วยที่เรียกว่า “Linaburg-Maduell Transparency Index” ซึ่งมีระดับคะแนนจาก 0 – 10 โดยดัชนีถ้ามีคะแนน 10 เต็มถือว่าโปร่งใสที่สุด
ปรากฏว่ากองทุนที่มีขนาดใหญ่ระดับโลกและมีความโปร่งใสได้คะแนนเต็ม 10 มีประมาณ 10 กองทุน (จาก 48 กองทุน) เอาเฉพาะ 3 อันดับแรกที่โปร่งใสเต็มสิบและมีกองทุนใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่
1.กองทุนบำนาญของรัฐบาลนอร์เวย์ (ขนาดกองทุน 5.71 แสนดอลลาร์สหรัฐ)
2.กองทุนเทมาเส็กของสิงค์โปร์ (ขนาดกองทุน 1.57 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
3.กองทุนฟิวเจอร์ออสเตรเลียน ของออสเตรเลีย (ขนาดกองทุน 7.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ซึ่งหากมาพิจารณาจากอีกองค์กรหนึ่งที่วัดความโปร่งใสที่ชื่อว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ก็ได้ประเมินจัดอันดับความโปร่งใสของแต่ละชาติทั่วโลกรวม 178 ประเทศ โดยภาพรวมก็มีความสอดคล้องกับความโปร่งใสของกองทุนเช่นกัน คือ สิงคโปร์ ได้คะแนนความโปร่งใส 9.3 อยู่ในลำดับที่ 1 ของโลก ออสเตรเลียมีคะแนนความโปร่งใส 8.7 อยู่ในลำดับที่ 8 ของโลก นอร์เวย์ได้คะแนนความโปร่งใส 8.6 อยู่ในลำดับที่ 10 ของโลก
ในทางตรงกันข้ามกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติถึง 21 กองทุนมีความโปร่งใสในระดับที่ต่ำกว่า 5 คะแนน (จาก 48 กองทุน) หรือภาษาชาวบ้านเมื่อคะแนนต่ำกว่าครึ่งหนึ่งก็คือ สอบตกเรื่องความโปร่งใส เรียงจากกองทุนที่มีคะแนนความโปร่งใสต่ำกว่า 5 คะแนนและมีขนาดกองทุนใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่
1.สำนักงานการลงทุนอาบูดาบี ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขนาดกองทุน 6.27แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้คะแนนดัชนีความโปร่งใสของกองทุนนี้ 3 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 (คะแนนดัชนีความโปร่งใสของประเทศได้ 6.3 อยู่ในอันดับ 28 ของโลก)
2.บรรษัทลงทุน SAFE ของจีน ขนาดของกองทุน 5.68 แสนล้านดอลาร์สหรัฐ ได้คะแนนดัชนีความโปร่งใสของกองทุนนี้ 2 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 (คะแนนดัชนีความโปร่งใสของประเทศได้ 3.5 อยู่ในอันดับที่ 78 ของโลก)
3.กองทุน SAMA ฟอร์เรน โฮลดิ้ง ของซาอุดิอาระเบีย มีขนาดของกองทุน 4.72 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีความโปร่งใสของกองทุนนี้ได้ 2 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 (คะแนนดัชนีความโปร่งใสของประเทศได้ 4.7 อยู่ในอันดับที่ 50 ของโลก)
4.สำนักงานการลงทุนลิเบีย ของประเทศลิเบีย มีขนาดกองทุน 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้คะแนนดัชนีความโปร่งใสของกองทุนนี้ได้ 2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 (คะแนนดัชนีความโปร่งใสของประเทศได้ 2.2 อยู่ในอันดับที่ 146 ของโลก)
5.กองทุนเรเฟนิว เรกกูเรชั่น ของประเทศแอลจิเรีย ขนาดกองทุน 5.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คะแนนดัชนีความโปร่งใสของกองทุนนี้ได้ 1 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 (คะแนนดัชนีความโปร่งใสของประเทศได้ 2.9 อยู่ในอันดับที่ 105 ของโลก)
และเนื่องจากกองทุนเหล่านี้มีความคล่องตัวสูง เพราะหลุดออกจากกลไกของรัฐโดยปรกติ จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าโดยส่วนใหญ่ประเทศที่มีดัชนีความโปร่งใสอยู่ในระดับสูงอยู่แล้วเมื่อตั้งกองทุนประเภทนี้ขึ้นมากลับมีดัชนีความโปร่งใสในส่วนของกองทุนสูงตามไปด้วย
ในทางตรงกันข้ามเช่นกัน ส่วนใหญ่ประเทศที่มีดัชนีความโปร่งใสของประเทศอยู่ในระดับที่ไม่แข็งแรงมากนัก หรืออยู่ในระดับต่ำเราก็จะเห็นดัชนีความโปร่งใสของกองทุนความมั่งคั่งอยู่ในระดับต่ำมากเช่นกัน หรืออาจจะแย่งลงหนักกว่าเดิมเสียอีก
สำหรับประเทศไทยได้คะแนนดัชนีความโปร่งใสนานาชาติ 3.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 อยู่ในอันดับที่ 78 ของโลก ถือได้ว่าประเทศไทยยังสอบตก แต่สำหรับประชาชนอาจจะจินตนาการได้ยากว่า คะแนนที่ได้ 3.5 จาก 10 แล้วสอบตกนั้นมันเป็นอย่างไร?
19 พฤษภาคม 2554 นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ได้ออกมาแถลงร่วมกับภาคีเครือข่าย 21 องค์กรเอกชน น่าจะเป็นคำตอบว่าประเทศไทยโปร่งใสหรือทุจริตกันขนาดไหน? โดยคำสัมภาษณ์ปรากฏความตอนหนึ่งว่า:
“สถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบันเลวร้ายมากขึ้น มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับผู้มีอำนาจเพื่อให้ได้งานหรือสิทธิประโยชน์มากถึง 50% เพิ่มจากอดีตในช่วง 20-30 ปีที่มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ 2-3% และเพิ่มมาเป็น 30-40% ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา”
แต่ที่แน่ๆก็คือทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 6.21 ล้านล้านบาทนั้น มีเงินทุนสำรองเงินตราหรือที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนเรียกว่า “เงินคลังหลวง”ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท “เงินคลังหลวงนี้ไม่ใช่ส่วนเกินของทุนสำรองระหว่างประเทศ” แต่เป็นเงินที่สะสมกันมาตั้งแต่บูรพมหากษัตริย์พระบรมวงศานุวงศ์มาจนถึงเงินและทองคำที่ได้รับบริจาคของประชาชนผ่านการรณรงค์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เพื่อค้ำจุนหนุนหลังมูลค่าธนบัตรเงินบาทของประเทศและเพื่อใช้ในยามจำเป็นเมื่อเกิดวิกฤติของชาติ
ดังนั้นหากรัฐบาลเลือกที่จะล้วงเงินคลังหลวงนี้ไปตั้งกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติรับรองว่า รัฐบาลจะต้องเผชิญหน้ากับลูกศิษย์ลูกหาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ทั่วประเทศอย่างแน่นอน !?
แต่หากรัฐบาลจะหาเงินจากส่วนอื่นที่ไม่ใช่เงินคลังหลวงเพื่อไปตั้งกองทุนโดยอ้างว่าจะไปบริหารสินทรัพย์ของชาติให้เป็นประโยชน์ เช่น กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองแห่งชาติ และกองทุนความมั่นคงทางอาหาร นั้นฟังดูอาจเหมือนดี แต่ก็ควรทำให้เกิดความกระจ่างว่าใครจะได้ประโยชน์จากกองทุนเหล่านี้ และจะทำให้เกิดความโปร่งใสได้อย่างไร?
คนไทยก็น่าจะได้มีสิทธิ์ล่วงรู้ว่ากองทุนเหล่านี้ จะทำให้ ปตท. และปตท.สผ. ซึ่งทุกวันนี้ก็เอาเปรียบประชาชนอยู่แล้วยังมีญาติพี่น้องของนักการเมืองถือหุ้นอยู่จำนวนมากนั้นจะได้รวยขึ้น ใช่หรือไม่? หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยซึ่งเป็นนายทุนของนักการเมืองกำลังจะได้พื้นที่เพาะปลูกในต่างประเทศด้วยการลงทุนจากเงินเหล่านี้ไปด้วยหรือไม่?
คนไทยก็อยากรู้เหมือนกันว่า สุดท้ายแล้ว “กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ”นั้น จะสร้างความมั่งคั่งให้กับใคร แล้วคนไทยส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ตรงไหน ช่วยชี้แจงที?