xs
xsm
sm
md
lg

“เพิ่มเงินเดือน ขึ้นค่าแรง” อย่าลืม “หยุดขี้โกง หยุดผูกขาด!?”

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

หลายคนกำลังรอคอยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้ในการหาเสียงเอาไว้บนแผ่นป้ายโฆษณาของพรรคเพื่อไทยว่า:

“เพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน”

จากเดิมที่ประชาชนได้เห็นการโฆษณาด้วยข้อความเช่นนี้โดยปราศจากเงื่อนไข ก็ย่อมเข้าใจว่าถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเมื่อไหร่ คนที่จบปริญญาตรีใหม่ก็จะได้เงินเดือน 15,000 บาททุกคน และแรงงานทุกคนในประเทศไทยคงจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน

เพราะในความเป็นจริง “ความหวัง” และ “ความใฝ่ฝัน” ของแรงงานไทย และมนุษย์เงินเดือนที่ได้การโฆษณาหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้หวังเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น แต่หวังว่าแรงงานที่มีฝีมือและมีประสบการณ์จะต้องถูกปรับขึ้นค่าแรงเป็นลูกโซ่ทั้งระบบตามไปด้วย เช่นเดียวกับเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท คนที่มีประสบการณ์และทำงานมามากกว่าเด็กจบใหม่ก็ต้องคาดหวังที่จะต้องมีการปรับฐานเงินเดือนใหม่หมด เลยย่อมหวังว่าจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นถ้วนหน้า

เอาเข้าจริงในวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจน เพราะเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายว่าที่ประชาชนเข้าใจเอาไว้ในตอนหาเสียงนั้น แท้ที่จริงแล้วจะทำกันมากน้อยแค่ไหน? เพราะดูเหมือนว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน อาจจะจำกัดเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และอาจรวมถึงภูเก็ตเป็นเบื้องต้นก่อน ในขณะที่เงินเดือนผู้ที่จบปริญญาตรีก็อาจจะจำกัดอยู่เฉพาะข้าราชการเท่านั้น

คำถามจึงเกิดขึ้นว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน จะทำได้จริงหรือไม่ แท้ที่จริงแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจากันในคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี คือ ตัวแทนลูกจ้าง ตัวแทนนายจ้าง และตัวแทนข้าราชการ อันเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งหลังจากได้ข้อยุติแล้วก็ให้คณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือโดยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เพราะความจริงแล้วถ้าค่าแรงที่ไม่เพียงพอต่อลูกจ้างก็ย่อมทำให้ลูกจ้างถูกเอาเปรียบจนใช้จ่ายไม่เพียงพอในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ถ้าค่าแรงที่มากเกินไปจนนายจ้างดำเนินธุรกิจต่อไปไม่ไหวก็อาจต้องมีการปิดตัวลงจนต้องมีการเลิกจ้างงาน ดังนั้นตัวแทนภาครัฐก็ต้องวางตัวเป็นคนกลางที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยอาศัยฐานข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในการเจรจาต่อทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

ตัวอย่างเช่น ราคาสินค้าที่แพงขึ้นในแต่ละปี ก็จะต้องถูกนำมาพิจารณาในการขึ้นค่าแรงด้วยในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้การขึ้นค่าแรงก็จะต้องพิจารณาในเรื่องอัตราเงินเฟ้อควบคู่กันไปด้วย

ตัวอย่างเช่นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปี 2554 ดัชนีอัตราเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคทั่วไป 84.90 ปี 2554 คาดการณ์ว่าอยู่ที่ 111.15 หรือเพิ่มขึ้นมาประมาณร้อยละ 30.91 ในรอบ 10 ปี (เฉลี่ยปีละ 3%) ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 165 บาท/วัน ปี 2554 ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มมาเป็น 215 บาท/วัน ค่าแรงเพิ่มขึ้นในรอบ 10 ปีประมาณร้อยละ 30.30 (เฉลี่ยปีละ 3%) แสดงให้เห็นว่าการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีที่ผ่านนั้น จะต้องสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในสภาพที่เป็นจริงด้วย

ยกเว้นในปี 2554 นี้ ดูเหมือนว่ารัฐบาล “มีธงทางการเมือง” ชัดเจนว่าต้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน คือ เพิ่มขึ้นรวดเดียวในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 85 บาท/วัน หรือร้อยละ 39.5 ในปีเดียว โดยตัวแทนส่วนราชการอาจยืนอยู่กับตัวแทนลูกจ้างทำให้ตัวแทนนายจ้างยกมืออย่างไรก็จะพ่ายแพ้ในคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มต้นทุนการผลิต โดยมีความเชื่อว่าการที่คนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้นก็จะเร่งจับจ่ายใช้สอยให้เร็วขึ้น และทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศหมุนเวียนและเติบโตขึ้น และคาดหวังว่าเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนให้แคบลง

แต่ในความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากก็คงจะผลักภาระของตัวเองไปให้กับผู้บริโภค ซึ่งก็จะเป็นผลทำให้ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคสูงขึ้น สุดท้ายการขึ้นค่าแรงอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการอาจสูงขึ้นมากกว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เคยทำการสำรวจจากผู้ประกอบการแล้วพบว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาท จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12% -16% และจะส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวไปที่ราคาสินค้าแน่นอน เนื่องจากธุรกิจในกลุ่มขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) 70%-80% ที่ไม่ได้มีกำไรมากพอในการแบกรับภาระเพิ่มได้

นอกจากนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เคยสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกพบว่ามีผู้ประกอบการยืนยันว่าจะได้รับผลกระทบมากระหว่าง 42.7%- 68.5% และคิดว่าจะมีถึงขั้นปิดกิจการระหว่าง 6.7%-16.9% โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศและใช้แรงงานมากนั้นจะสูญเสียตลาดให้กับประเทศอื่นมากขึ้น เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ฯลฯ

และคงมองข้ามไปไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างซึ่งต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมากและต่างก็มีสัญญากับภาคเอกชนจำนวนมากที่มีระยะเวลาสัญญาก่อสร้างข้ามปีซึ่งเซ็นสัญญาไปหมดแล้ว ย่อมไม่สามารถผลักภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไปให้คู่สัญญาได้ ปัญหาคือใครจะเยียวยาความเสียหายให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างเหล่านี้ได้?

หลังจากขึ้นค่าแรงแล้ว หากดำเนินการไม่รัดกุมรอบคอบ คงเป็นโอกาสของแรงงานต่างด้าวที่จะลักลอบไหลทะลักเข้าประเทศไทยแบบผิดกฎหมายจำนวนมหาศาลด้วยข้อเสนอค่าแรงที่ต่ำสมประโยชน์ผู้ประกอบการที่พร้อมจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง สุดท้ายแรงงานไร้ฝีมือคนไทยคงต้องตกงานอีกจำนวนมาก

การจัดการเงินเดือนข้าราชการปริญญาตรีที่จบการศึกษามาใหม่ให้เริ่มต้นที่ 15,000 บาท เอาเข้าจริงก็ต้องประสบปัญหาอีกจำนวนมากเพราะข้าราชการในทุกวันนี้จบปริญญาตรีเริ่มต้นเงินเดือนที่ 9 พันกว่าบาท ต้องใช้เวลาถึง 9 ปีกว่าจะได้เงินเดือน 15,000 บาท

ดังนั้น หากรัฐบาลเลือกจะใช้วิธีเลี่ยงบาลี เลี่ยงการปรับฐานและโครงสร้างเงินเดือนใหม่หมด โดยใช้ “ค่าสวัสดิการ” สำหรับคนที่จบใหม่ให้มีรายได้รวม 15,000 บาท ซึ่งจะทำให้ดูพิลึกพิลั่นมาก เพราะคนที่ทำงานมาก่อนหน้าโดยเฉพาะคนที่ทำงานมาก่อนถึง 9 ปี กลับมีรายได้เท่ากับคนที่จบการศึกษาใหม่ที่ได้รับปริญญาตรี (ซึ่งย่อมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา) ลองคิดดูว่าระบบราชการจะถูกทำลายขวัญกำลังใจและปั่นป่วนมากขนาดไหน เพียงเพื่อสนองตอบความต้องการทางการเมืองที่คิดกันมาไม่สมบูรณ์แบบนี้?

ปัจจุบันข้าราชการมีหนี้สินเมื่อเทียบกับรายได้สูงกว่าหนี้สินในครัวเรือนทั่วไป โดยปี 2553 หนี้สินครัวเรือนทั้งประเทศอยู่ที่ 134,699 บาท ในขณะที่หนี้สินของครัวเรือนข้าราชการสูงถึง 872,388 บาท

หนี้สินครัวเรือนไทยสูงกว่ารายได้ 6.4 เท่า แต่หนี้สินครัวเรือนของข้าราชการสูงกว่ารายได้อยู่ถึง 19.9 เท่า!!!

ดังนั้น การเพิ่มเงินเดือน ขึ้นค่าแรง ใครๆ ก็ชอบ และถ้าขึ้นต้นทุนค่าแรงและเงินเดือนแล้วประเทศไม่ประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้อทะยาน ส่งออกไม่ทรุด หรือภาคธุรกิจไม่ต้องปลดลดคนงานออก หรือไม่ต้องปิดกิจการก็คงจะดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลอาจจะต้องคิดไปไกลให้ครบวงจรมากกว่าการเพิ่มเงินเดือนและขึ้นค่าแรง ดังนี้

1. หยุดการคอร์รัปชันงบประมาณจากงบลงทุนสูงถึงปีละ 2 แสนล้านบาท เป็นวาระแห่งชาติ หากนับเป็นเม็ดเงินก็เท่ากับปริมาณเงินที่จะสามารถปรับโครงสร้างการขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบ และให้เงินเดือนคนจบปริญญาตรีได้ที่ 15,000 บาท เป็นผลทำให้ผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้น และมีศักยภาพในการเพิ่มเงินเดือนและขึ้นค่าแรงได้มากขึ้น

2. ลดต้นทุนพลังงานและการฉ้อฉลทางพลังงานทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ จนทำให้ ปตท.และบริษัทพลังงานในประเทศไทยเอากำไรเกินกว่าเหตุ ที่มาสร้างปัญหาข้าวยากหมากแพง สร้างภาระให้กับคนไทยทั้งประเทศ สร้างความร่ำรวยให้กับคนไทยเพียงไม่กี่คน ถือเป็นต้นทุนที่เอาเปรียบผู้ประกอบการและประชาชนทั้งประเทศ ลดส่วนนี้ได้ก็จะมีศักยภาพในการเพิ่มค่าแรงได้ เพิ่มเงินเดือนได้

3. เร่งแก้ไขอัตราเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง โดยเร่งเข้าตรวจสอบและควบคุมสินค้าผูกขาดและหรือมีอำนาจเหนือตลาด ที่สามารถขึ้นราคาได้โดยไม่คำนึงถึงคู่แข่ง โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารสดที่ถือเป็นสินค้าจำเป็น เช่น ไก่ ไข่ไก่ หมู ปุ๋ย ฯลฯ

4. กำหนดทิศทางและเป้าหมายค่าเงินบาทให้อ่อนค่าในระดับที่สามารถอยู่ในสถานภาพที่สามารถแข็งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ กำหนดมาตรการสร้างเสถียรภาพค่าเงินบาทเพื่อลดต้นทุนความผันผวนทางการเงินในการค้าระหว่างประเทศ โดยอาจต้องมีมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท

5. กำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลให้ต่ำ ในระดับสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เพื่อทำให้เกิดการกระตุ้นสร้างงานและสร้างรายได้

6. กำหนดนโยบายส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แคบลง ควบคู่ไปกับการเปิดใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจในหลายประเภทให้มากขึ้น เพื่อสร้างการแข่งขันทางการเงินอย่างสมบูรณ์ ให้ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วไปสามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ได้จริงในทางปฏิบัติมากขึ้น

7. ควบคุมและจัดระบบแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบมิให้มาแย่งตลาดที่ซ้ำซ้อนกับแรงงานไทย กำหนดประเภทงานและโควตาสำหรับแรงงานต่างด้าว หยุดสร้างกฎเกณฑ์ในเรื่องแรงงานต่างด้าวที่ยุ่งยากทำไม่ได้จริงในทางปฏิบัติเพื่อเปิดช่องว่างที่ทำให้เกิดการรีดไถและจ่ายส่วย

8. สร้างวัฒนธรรมการออม สร้างค่านิยมให้ใช้จ่ายอย่างพอเพียง ใช้สินค้าไทย หยุดความฟุ้งเฟ้อและการใช้จ่ายเกินตัว

รัฐบาลชุดนี้คนคุมเศรษฐกิจอยู่ในแวดวงตลาดทุน และตลาดหุ้น การสัมภาษณ์จึงถูกสวนกลับจากภาคธุรกิจจริงหลายครั้ง จึงมีความน่าเป็นห่วงว่าถ้าทำครบตามที่รัฐบาลประกาศเอาไว้ทั้งหมดโดยปราศจากการคิดให้รอบด้านดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เชื่อว่าจะมีผู้ส่งออก ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมจำนวนไม่น้อยคงจะต้องมีการลดจำนวนพนักงานหรือปิดกิจการ ซึ่งแม้เงินเดือนขึ้น แรงงานขึ้น ก็ไม่น่าจะมีความสุขเพราะมีประชาชนอีกมุมหนึ่งต้องเดือดร้อนจากข้าวยากหมากแพงและตกงานเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น