xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” แจงขึ้นค่าแรงทำสินค้าราคาสูงรอบเดียว ต่างกับเงินเฟ้อจาก ศก.ร้อนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความในเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala”
“ธีระชัย” ยันรักษาวินัยการคลัง รับแม้ไม่ได้มีส่วนร่างนโยบายเพื่อไทย แต่เห็นด้วยกับแนวคิดช่วยคนรายได้น้อย แจงขึ้นค่าแรงมีผลต่อเงินเฟ้อในลักษณะเพิ่มต้นทุน ทำราคาสินค้าสูงขึ้นเพียงรอบเดียว ไม่มีผลต่อเนื่องซ้ำๆ เหมือนกรณีเงินเฟ้อจากเศรษฐกิจโดยรวมร้อนแรงเกินไป แต่พาณิชย์ก็ต้องดูแลให้การขึ้นราคาเป็นไปอย่างเหมาะสม



วันนี้ (10 ส.ค.) เมื่อเวลา 06.54 น. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เผยแพร่บทความผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala ชื่อเรื่อง “ตอบคำถามบางเรื่อง” ความว่า

มีสื่อมวลชนที่ถามคำถามไว้ที่ซ้ำๆ กัน ผมขอรวบรวมตอบดังนี้

1. ผมจะยึดหลักวินัยทางการคลังหรือไม่

ผมจะให้ความสำคัญเรื่องวินัยทางการคลังเป็นอย่างมาก ผมเองยอมรับว่าไม่ได้มีส่วนในการร่างนโยบายของพรรคเพื่อไทย แต่ผมก็เห็นด้วยกับแนวความคิดเหล่านี้ เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ต้องการจะปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ผมจึงจะให้การสนับสนุนเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ก็จำเป็นต้องมีการพิจารณาเรื่องความยั่งยืนทางฐานะการคลังควบคู่ไปด้วย เพื่อประสานความใฝ่ฝันทางการเมืองให้พอดีกับความเป็นไปได้ทางวิชาการ ผมจึงจะขอทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างข้าราชการและนโยบายของพรรค ให้มีความกลมกลืนกันให้มากที่สุด

2. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ไม่ว่าจะขึ้นมากน้อยเท่าใดและขึ้นเป็นขั้นบันไดหรือขึ้นครั้งเดียว จะมีข้อกังวลเรื่องเงินเฟ้อหรือไม่

การขึ้นค่าแรงงานนั้น จะมีผลต่อเงินเฟ้อในลักษณะเพิ่มต้นทุน (cost push) จึงจะมีผลทำให้ระดับราคาสูงขึ้นไปเพียงรอบเดียวในปีที่มีการขึ้นค่าแรง ไม่ใช่มีผลต่อเนื่องซ้ำๆ ทุกปีเหมือนกรณีที่เกิดเงินเฟ้อจากเศรษฐกิจโดยรวมร้อนแรงเกินไป (demand pull) ดังนั้น จึงเป็นที่น่ากังวลน้อยกว่ากรณีเศรษฐกิจร้อนแรง

อย่างไรก็ดี รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องดูแลให้การปรับขึ้นราคาสินค้านั้นเป็นไปอย่างเหมาะสมเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น และคาดว่าผู้ประกอบการส่วนหนึ่งจะสามารถรับภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากกำไรที่ลดลงไปบ้างโดยไม่ปรับขึ้นราคาขายสินค้า

แต่ทั้งนี้ ผมเห็นว่าวิธีปรับตัวที่ดีที่สุดก็คือให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (productivity) โดยผมจะดูตัวอย่างเช่นประเทศบราซิลที่มีการเก็บเงินจากรายได้ที่ได้จากการขุดน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินำไปตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วย SME ในการฝึกอบรมคนงาน เพิ่มทักษะในการผลิต วิจัยพัฒนาขั้นตอนการผลิตให้เร็วขึ้นและให้ต้นทุนต่ำลง รวมทั้งพัฒนารูปแบบหรือลักษณะของสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม (value add) ที่สูงขึ้น ซึ่งผมจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการทำนองนี้

ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ผลิตสินค้าแบบเดิมๆ ซึ่งใช้แรงงานสัดส่วนสูงนั้น ย่อมจะถูกกระทบมากกว่ารายอื่น แต่ก็ควรถือโอกาสนี้ช่วยกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาทั้งรูปแบบสินค้าและวิธีการทำงานให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งผมจะหารือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องนี้ให้เต็มที่

3. ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปจะกระทบต่อไทยอย่างไร จะทำให้ต้องคิดอ่่านนำเอามาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้ามาใช้หรือไม่

เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปที่อ่อนตัวแสดงว่าในอนาคตประเทศในเอเชียจำเป็นจะต้องหันมาพึ่งความต้องการภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งขบวนการปรับค่าแรงขั้นต่ำและระบบสวัสดิการนั้นเป็นนโยบายที่เหมาะสำหรับเอเชียอยู่แล้วหากดำเนินการในระดับที่เหมาะสม จึงหวังว่าประเทศเอเชียอื่นๆ จะคิดดำเนินการในลักษณะนี้ด้วย ทั้งนี้ ในอนาคตเอเชียต้องพึ่งการค้าขายภายในประเทศมากขึ้นและการค้าขายระหว่างเอเชียด้วยกันมากขึ้น เอเชียควรจะลงทุนในประเทศเอเชียกันเองมากขึ้น

สำหรับปัญหาด้านเงินทนไหลเข้านั้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มน่าสนใจน้อยกว่าเอเชีย ย่อมจะมีผลทำให้นักลงทุนสากลให้ความสนใจลงทุนในเอเชียมากขึ้น ดังนั้น แบงก์ชาติของประเทศต่างๆ ในเอเชียจึงจำเป็นจะต้องติดตามวิเคราะห์สถานการณ์อย่างไกล้ชิด แต่ในชั้นนี้ ผมไม่มีความคิดที่จะมีมาตรการใดๆ เป็นการเฉพาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น