xs
xsm
sm
md
lg

ภูฏานเรื่องเล่าในบางมุมมอง (ตอนที่ 8)

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ประติมากรรมทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเริ่มต้นถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุก ก่อนจะมาสานต่ออย่างสมบูรณ์ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุก

ประเด็นที่เป็นข้อสังเกตคือแม้จะมีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างระบอบใหม่กับระบอบเก่าจนก่อให้เกิดวิกฤตของประเทศจากการลอบสังหารท่านซับดรุง จิกมี โดร์จีร่างที่สถิตแห่งจิตวิญญาณที่กลับชาติมาเกิดใหม่ของท่านซับดรุง งาวัง นัมเกลในปีค.ศ. 1931 แล้วตามมาด้วยครอบครัวและเครือญาติของท่านต้องทิ้งทรัพย์สมบัติหลบลี้ราชภัยออกนอกประเทศ โดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 จิกมี นัมเกลทรงเยียวยาขั้นต้นด้วยการมีพระราชกระแสให้ขบวนคาราวานคนทุกข์กลับมาตุภูมิพร้อมได้ทรัพย์สินเดิมคืนในปีค.ศ. 1947 ก่อนสิ้นรัชสมัยเพียง 5 ปีนั้น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุกทรงขึ้นครองราชย์ในปีค.ศ. 1952 พระองค์ท่านไม่ได้ทรงดับวิกฤตความขัดแย้งและวิกฤตของแผ่นดินต่อจากพระราชบิดาในเชิงตัวบุคคล

หากแต่ทรงดับวิกฤตต่อทันทีในเชิงโครงสร้างโดยการเริ่มต้นปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่เพื่อขับเคลื่อนภูฏานออกจากความเป็นรัฐศักดินาโบราณในยุคกลางเข้าสู่รัฐยุคศตวรรษที่ 20

ก้าวแรกสุดในปีที่ทรงขึ้นครองราชย์คือการปฏิรูปการเมือง!


พระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุกทรงตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ (The National Assemble หรือ Tshogdu) ขึ้นในปีค.ศ. 1952

สมัชชาแห่งชาติที่เป็นรากฐานของสภาผู้แทนราษฎรในอีกกว่า 50 ปีต่อมานี้ประกอบด้วยสมาชิก 150 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม และกลุ่มที่มาจากการแต่งตั้ง กลุ่มที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมนั้นมี 100 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของหัวหน้าครอบครัวในแต่ละครัวเรือนมีวาระคราวละ 3 ปี ส่วนกลุ่มที่มาจากการแต่งตั้งนั้นมี 50 คนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประเภทหนึ่งศาสนจักรแต่งตั้งเข้ามา 10 คน อีกประเภทหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยตรง 34 คน และประเภทสุดท้ายมาจากสภาที่ปรึกษาราชการในพระองค์หรือพอจะเปรียบเทียบได้กับคณะองคมนตรีในบ้านเราอีก 6 คน

สมัชชาแห่งชาตินี้มีอำนาจหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ

อีก 13 ปีต่อมาคือในปีค.ศ. 1965 ทรงตราพระราชกฤษฎีกาวางรากฐานสภาที่ปรึกษาราชการในพระองค์ (The Royal Advisory Council หรือ Lodoi Tsokde) เสียใหม่ให้มีลักษณะเชื่อมโยงกับสมัชชาแห่งชาติ

สภาที่ปรึกษาราชการในพระองค์ ซึ่งมีหน้าที่ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ประกอบพระบรมราชวินิจฉัยในการบริหารราชการแผ่นดินในฐานะฝ่ายบริหาร มีสมาชิกเพียง 9 คน โดย 6 คนมาจากการคัดเลือกของสมัชชาแห่งชาติอยู่ในวาระคราวละ 3 ปีเท่าวาระของสมัชชาแห่งชาติ อีก 3 คนพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย เช่นเดียวกับตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาราชการในพระองค์

ใน 15 ปีแรกแห่งรัชสมัยของพระองค์ พระมหากษัตริย์ภูฏานยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นฝ่ายบริหารเต็มรูปแบบ

และก็ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเช่นนี้ตลอด 20 ปีแห่งรัชสมัยของพระองค์ เพียงแต่ในปีค.ศ. 1968 ได้ทรงวางรากฐานระบบคณะรัฐมนตรีขึ้นเป็นครั้งแรก

ปีค.ศ. 1968 พระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุกทรงตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสภาคณะมนตรี (The Council of Minister หรือ Lhengye Zhungtsho) ขึ้น!

สภาคณะมนตรีประกอบด้วยสมาชิกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 10 กระทรวง มีวาระคราวละ 5 ปี ในแต่ละปีจะคัดเลือกสมาชิกคนหนึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสภาคณะมนตรี (Chairman of The Council of Minister) ซึ่งเปรียบเสมือนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยปัจจุบันนั่นเอง

แต่สภาคณะมนตรีในระยะแรกจัดตั้งไม่ได้ทำหน้าที่เป็นคณะรัฐมนตรีจริงๆ จังๆ เพราะอำนาจบริหารสูงสุดยังอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับสมัชชาแห่งชาติก็ไม่ได้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติเต็มรูปแบบนัก คงเป็นการทำหน้าที่สนองพระราชกระแสของพระมหากษัตริย์เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันได้ว่านับแต่ปีค.ศ. 1952 และ 1968 หรือเทียบกับพ.ศ.ของเราก็คือพ.ศ. 2495 และ 2511 เป็นก้าวที่ 1 และ 2 ของการเริ่มต้นวางรากฐานโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาขึ้นมา ที่ผมเทียบกับพ.ศ.ที่เราคุ้นชินก็เพื่อให้เทียบเคียงว่า หากเปรียบเทียบกับระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาของบ้านเราแล้วถือว่าภูฏานเริ่มต้นช้ากว่ามาก เพราะบ้านเราเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. 2475 และก่อนหน้านั้นก็ได้มีการเตรียมการในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 บ้างแล้ว

แต่มาถึงวันนี้ต้องตั้งคำถามเป็นข้อสังเกตว่าเหตุใดภูฏานจึงก้าวได้เร็วกว่า?

20 ปีในรัชสมัยพระเจ้าจิกมี โดร์จี วังชุกพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นพระราชบิดาแห่งภูฏานยุคใหม่พระองค์นี้ไม่ได้ทรงแค่ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศในมุมของการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ จัดระบบความสัมพันธ์กับนานาอารยประเทศ หากแต่ทรงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการเมืองซึ่งโดยเนื้อแท้ก็คือจุดเริ่มต้นของการลดพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ลงในอนาคตด้วย

พระราชปณิธานในด้านการปฏิรูปการเมืองนี้มาสัมฤทธิผลเป็นรูปธรรมใหญ่หลวงในอีก 26 ปีหลังเสด็จสู่สวรรคาลัยคือในปีค.ศ. 1998 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุก

พระราชกฤษฎีกาโอนอำนาจบริหารและให้อำนาจสมัชชาแห่งชาติวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 สร้างความตกตะลึงพรึงเพริดแก่ชาวภูฏานทั้งประเทศ

ทางหนึ่งพระองค์ทรงลดทอนพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ลง โดยโอนอำนาจการบริหารประเทศให้กับสภาคณะมนตรี

อีกทางหนึ่งพระองค์ทรงเพิ่มอำนาจให้สมัชชาแห่งชาติในประเด็นที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

นั่นคือการให้อำนาจสมัชชาแห่งชาติสามารถลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ให้พระมหากษัตริย์ต้องสละราชสมบัติได้

ประเด็นนี้ยังเป็นมรดกตกทอดมาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรภูฏานฉบับแรก และฉบับปัจจุบันที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 2008 ด้วย

ข้อสังเกตของผมคือในปีค.ศ. 1998 อันเป็นปีที่พระองค์ทรงตราพระราชกฤษฎีกาลดทอนอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ลงและเพิ่มอำนาจถอดถอนพระมหากษัตริย์ให้สมัชชาแห่งชาตินั้น เป็น 10 ปีหลังจากที่พระองค์ได้ทรงดับวิกฤตระหว่างระบอบใหม่กับระบอบเก่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีก่อตั้งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1907 และปะทุสูงสุดในเหตุการณ์ลอบสังหารค.ศ. 1931 ได้มอดลงโดยเกือบจะสิ้นเชิงในส่วนของบุคคล ผ่านการอภิเษกสมรสในปีค.ศ. 1979 และการเสด็จฯ เยือนตาโลซ่งสถานที่เกิดเหตุลอบสังหารในปีค.ศ. 1988

ใช่หรือไม่ว่า 10 ปีหลังเสด็จเยือนตาโลซ่งทำให้พระองค์ทรงมั่นพระทัยได้แล้วตามสมควรว่าระบอบใหม่มีเสถียรภาพมั่นคงเพียงพอ?

พระองค์จะทรงพอพระทัยเต็มที่และหยุดอยู่แค่นั้นก็ได้

แต่นั่นไม่ใช่พระองค์!

พระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุกกลับทรงเดินหน้าปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ต่อเนื่อง ด้วยการสถาปนาระบอบการเมืองที่ใหม่กว่าขึ้นมาทดแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เดิม

ใช่หรือไม่ว่าในสายพระเนตรของพระองค์การดับวิกฤตที่แท้จริงและ/หรือการปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากการปฏิรูปประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการเมืองที่มีลักษณะเป็นการสละอำนาจในเชิงโครงสร้างของชนชั้นนำเดิม?
กำลังโหลดความคิดเห็น