xs
xsm
sm
md
lg

ภูฏานเรื่องเล่าในบางมุมมอง (ตอนที่ 6)

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ราชวงศ์วังชุกแห่งภูฏานมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถมีพระอัจฉริยภาพเลิศล้ำมีสายพระเนตรยาวไกล และทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักปฏิรูปต่อเนื่องกันถึง 2 พระองค์ คือ พระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุก รัชกาลที่ 3 และแน่นอนพระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุก รัชกาลที่ 4 ที่เพิ่งสละราชสมบัติเมื่อปีค.ศ. 2008 ขณะมีพระชนมายุเพียง 52 พรรษา

ทั้ง 2 พระองค์ทรงสานต่อพระราชปณิธานของพระเจ้าอยู่หัวจิกมี นัมเกล รัชกาลที่ 2 ที่ทรงมีรับสั่งให้ขบวนคาราวานคนทุกข์ครอบครัวและเครือญาติของท่านซับดรุง จิกมี โดร์จี ร่างที่สถิตแห่งจิตวิญญาณที่กลับชาติมาเกิดใหม่ของท่านซับดรุง งาวัง นัมเกลบิดาของประเทศภูฏานและผู้ก่อตั้งระบอบเก่าเมื่อเกือบ 300 ปีก่อน ถูกลอบสังหารที่ตาโลซ่งเมื่อปีค.ศ. 1931 กลับมาตุภูมิภูฏานและคืนทรัพย์สินให้เมื่อปีค.ศ. 1947

แต่การสานต่อพระราชปณิธานที่สำคัญที่สุดของทั้ง 2 พระองค์คือการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่

ซึ่งรวมถึงการเสียสละอย่างใหญ่หลวงของพระองค์!

โดยความเห็นส่วนตัว ผมไม่เชื่อว่าการแก้ไขวิกฤตใหญ่หลวงของชาติคือความขัดแย้งระหว่าง “ระบอบใหม่” กับ “ระบอบเก่า” จะสำเร็จลงได้หากพิจารณาแต่เพียงเฉพาะจุด เฉพาะส่วน กล่าวคือหากทำเฉพาะคืนความเป็นธรรมให้กับครอบครัวและเครือญาติของท่านซับดรุง จิกมี โดร์จี ผ่านการคืนทรัพย์สิน และการอภิเษกสมรสกับสตรีสูงศักดิ์ผู้มีศักดิ์หลานปู่ของท่าน ความสมานฉันท์ปรองดองที่แท้จริงและความสงบสุขสันติที่แท้จริงจะไม่มีวันบังเกิดขึ้น

มองในแง่ระบอบ ผมเห็นว่าระบอบใหม่คือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1907 ยังไม่ยิ่ง ยังไม่มีเสถียรภาพเต็มร้อย โดยเฉพาะหลังเหตุลอบสังหารที่ตาโลซ่งปีค.ศ. 1931 ระบอบใหม่น่าจะคลอนแคลนพอสมควร แม้จะไม่มีรูปธรรมของแรงกระเพื่อมบันทึกปรากฏให้เห็นภายนอกก็ตาม

การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ที่เริ่มต้นขึ้นโดยพระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุกคือการสร้างเสถียรภาพที่แท้จริงให้กับระบอบใหม่

พระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุกทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระราชบิดาแห่งภูฏานยุคใหม่

ในช่วง 20 ปีตลอดรัชสมัยของพระองค์ จากปีค.ศ. 1952 - 1972 พระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุกทรงนำราชอาณาจักรภูฏานเปลี่ยนแปรสถานภาพจากประเทศในยุคกลางเข้าประตูสู่จุดเริ่มต้นก้าวแรกของความเป็นประเทศในยุคศตวรรษที่ 21 ได้สำเร็จ พระองค์ทรงเริ่มต้นแผนพัฒนาประเทศแผนละ 5 ปี ทรงสร้างถนนสายแรกขึ้นโดยความช่วยเหลือของอินเดียในปีค.ศ. 1961 จากเมืองหลวงทิมพูสู่พุนโซลิงเมืองชายแดนภูฏานกับเบงกอลตะวันออกของอินเดียระยะทาง 184 กิโลเมตซึ่งเป็นถนนแบบภูฏานแท้ๆ คือเลียบเขาสูงชั้นตั้งแต่ระดับ 150 - 2,300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเต็มไปด้วยโค้งใหญ่โค้งน้อยโค้งหักข้อศอกเต็มไปหมด การเดินทางโดยถนนสายแรกแม้จะยังยากลำบากเพราะมีดินโคลนถล่มอยู่เนืองๆ แต่เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ไม่มีถนนก็ถือได้ว่าถนนสายนี้ทำให้ชีวิตของชาวภูฏานเปลี่ยนไป เพราะพร้อมๆ ไปกับถนนพระองค์ทรงนำระบบการศึกษาสมัยใหม่มาสู่ภูฏาน และเริ่มส่งเสริมให้ชาวภูฏานที่พอมีฐานะส่งบุตรหลานไปเรียนต่อต่างประเทศซึ่งขณะนั้นก็คืออินเดีย นอกจากนั้นยังเริ่มเปิดประเทศรับความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคจากอินเดียและประเทศอื่นๆ เพื่อพัฒนาเกษตรกรรม ไฟฟ้าพลังน้ำ และระบบบริหารสมัยใหม่ เริ่มก่อตั้งระบบธนาคารและไปรษณีย์ และนำประเทศเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติในปีค.ศ. 1971

ที่สำคัญที่สุดในพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุกคือทรงเริ่มต้นปฏิรูปการเมือง!

พระองค์และราชสำนักไม่ได้บริหารจัดการประเทศโดยลำพังแต่ประการใด ทรงจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ (The National Assembly) ประกอบด้วยตัวแทนประชาชนจากทุกภาคส่วน ข้าราชการ และคณะสงฆ์ ทรงจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และศาลสูง ขึ้นในทันทีที่ทรงขึ้นครองราชย์ในปีค.ศ. 1952 และจัดตั้งสภารัฐมนตรี (The Council of Minister) ขึ้นในอีก 16 ปีต่อมาคือในค.ศ. 1968

การปฏิรูปประเทศกับการปฏิรูปการเมืองในมุมมองของผมเป็น 2 ด้านของเหรียญที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เป็น 2 ด้านของเหรียญที่ทำให้ผู้นำและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวระบอบมีเสถียรภาพ การปฏิรูปประเทศโดยสารัตถะแล้วคือการทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความสุข ประเทศมีทิศทางมีรายได้มีการเจริญเติบโตอย่างมีจังหวะก้าว ขณะที่การปฏิรูปการเมืองทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นศรัทธาในผู้นำ ไม่ใช่เพียงแค่ยำเกรงเพราะอำนาจเด็ดขาดตามหลักการของระบอบนั้นๆ หากแต่เพราะมั่นใจว่าผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาดนั้นจะไม่หักเหไปจากหลักแห่งธรรม ไม่ว่าจะเปลี่ยนตัวผู้นำไปเป็นใครก็ตาม

ระบอบเก่าเริ่มต้นโดยบิดาของประเทศผู้เป็นเสมือนเทพเจ้าอย่างท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล ระบบการสืบทอดอำนาจนั้นแม้ท่านจะสิ้นแล้วก็ยังมีจิตวิญญาณกลับมาเกิดใหม่ต่อเนื่องกันมามากกว่า 200 ปี

ระบอบใหม่เริ่มต้นเสมือนด้วยการปราบดาภิเษก ระบบสืบทอดอำนาจใช้ตามสายโลหิต

โจทย์ใหญ่ของระบอบใหม่นั้นแม้ในทางความเป็นจริงจะแก้ปัญหาความไร้เสถียรภาพของระบอบเก่าได้ แต่ในทางความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่นับถือพุทธศาสนาแนววัชรยานหรือตันตระ จะให้พวกเขาทิ้งความศรัทธาในจิตวิญญาณของท่านซับดรุง งาวัง นัมเกลมาทั้งหมดได้อย่างไร โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ที่อาจจะไม่ได้ทรงมีพระอัจฉริยภาพโดดเด่นเหมือนบรรพกษัตริย์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความผิดของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นๆ ที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต แต่สถานการณ์บ้านเมืองและสถานการณ์โลกในแต่ละยุคสมัยหาเหมือนกันไม่ หากช่วงเวลานั้นจิตวิญญาณของท่านซับดรุง งาวัง นัมเกลที่กลับมาเกิดใหม่บังเอิญเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้มากกว่าไม่ว่าจะเพราะสาเหตุใดก็ตามเล่า ระบอบใหม่จะดำรงคงเสถียรภาพอยู่ได้อย่างไร หรือจะต้องเกิดกรณีแบบปีค.ศ. 1931 อีก

พระเจ้าอยู่หัวจิกมี โดร์จี วังชุกอาจจะไม่ได้ทรงตอบโจทย์ใหญ่เหล่านี้ได้ทั้งหมด อาจจะเพราะพระองค์ทรงมีพระชนมชีพสั้นเกินไป ระยะเวลาครองราชย์ก็สั้นเพียง 20 ปี

แม้จะไม่ได้ทรงตอบโจทย์ใหญ่ได้ทั้งหมด แต่ชาวภูฏานก็รักพระองค์อย่างยิ่ง ใครไปเยือนภูฏาน หนึ่งในโปรแกรมเยี่ยมเยือนคือมหาสถูปแห่งทิมพู หรือ National Memorial Chorten กลางเมืองทิมพูนครหลวงของภูฏาน สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1974 เพื่อระลึกถึงพระองค์หลังพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย 2 ปี

พระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุก พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก คือพระผู้ตอบโจทย์ข้อนี้ได้อย่างหมดจดสมบูรณ์

พระองค์ทรงตีโจทย์แตกและทรงฟันธงกระจุยกระจายได้อย่างน่าทึ่ง!

จะเรียกว่าฟ้าส่งพระองค์มาจุติยังแผ่นดินภูฏานก็ไม่น่าจะเวอร์ไปนัก หรือพูดภาษาภูฏานก็ต้องบอกว่ามังกรสายฟ้าส่งพระองค์ลงมาจุติละกระมัง เพราะไม่เพียงแต่ทรงพระปรีชาสามารถในระดับเป็นผู้ริเริ่มประกาศพระราชปรัชญาการพัฒนาประเทศโดยยึด GNH (Gross National Happiness) เป็นหลักเท่านั้น ยังทรงพระเยาว์ขณะขึ้นครองราชย์เมื่อปีค.ศ. 1974 โดยมีพระชนมายุเพียง 16 พรรษา และทรงมีพระสิริโฉมงามประทับใจชาวโลกอีกต่างหาก เรียกภาษาผมว่าพระองค์ทรงมี “เสน่ห์สาธารณะ” เปี่ยมล้น และเป็นเสน่ห์สาธารณะที่ไม่ใช่ “ดีแต่พูด” เท่านั้น

หากแต่นอกจากทรงลงมือประกอบพระราชกรณียกิจให้เห็นประจักษ์แล้ว

ยังเป็นพระราชกรณียกิจในเชิงปฏิรูปประเทศและปฏิรูปการเมืองในระดับปฏิวัติโดยสันติที่หน้าสุดท้ายจบลงด้วยการตัดสินพระทัยเสียสละอย่างใหญ่หลวง
กำลังโหลดความคิดเห็น