xs
xsm
sm
md
lg

ภูฏาน...เรื่องเล่าในบางมุมมอง (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

การปรองดองสมานฉันท์ในภูฏานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการหลอมรวมระบอบเก่าเมื่อเกือบ 400 ปีก่อนกับระบอบใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อไม่ถึง 100 ปีในขณะนั้นคือช่วงปี ค.ศ. 1979 และ 1988 เข้าด้วยกัน โดยพระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุก สมเด็จพระราชบิดาในพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันจิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุกที่คนไทยรู้จักดี

ในภูฏานนั้นมีผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตที่คุณจะต้องรู้จักอยู่ 2 ชื่อ

กูรู ริมโปชิ (Guru Rimpoche) หรือท่านกูรู หรือท่านคุรุปัทมะสัมภวะ (Guru Padmasambhava)

ซับดรุง งาวัง นัมเกล (Zhabdrung Ngawang Namgyel) หรือท่านซับดรุง

ไปที่ไหนๆ ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประเภทอาราม สถูป หรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะพิเศษในภูฏานที่เรียกว่าซอง หรือซ่ง (dzong) ต่างๆ ก็จะมีรูปเคารพของท่านทั้งสองประดิษฐานอยู่เคียงข้างพระพุทธรูปแบบนิกายวัชรยาน หรือที่คนไทยรู้จักดีในนามตันตระ

กูรู ริมโปชินั้นเปรียบเสมือนเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 ท่านเป็นพระอริยสงฆ์จากทิเบตที่เดินทางมาภูฏานในปี ค.ศ. 747 ตามตำนานมีปาฏิหาริย์มากมาย โดยเฉพาะสถานที่ที่ท่านขี่เสือบินมานั่งสมาธิในถ้ำบนหุบเขาสูงชานเมืองพาโรที่เดียวนี้กลายเป็นมหาวิหารตั๊กซัง (Taksank) หรือรู้จักกันในนาม Tiger Nest ภาพสัญลักษณ์ของประเทศภูฏานที่เราพบเห็นได้ทั่วไป

ท่านซับดรุงเป็นทั้งสงฆ์ในระดับอริยะและเป็นทั้งผู้นำทางการเมืองการปกครองที่สมารถก่อตั้งระบอบการเมืองของภูฏานขึ้นมาได้ในประมาณปี ค.ศ. 1651 ในด้านศาสนาพุทธท่านซับดรุงวางรากฐานของนิกายดรุ๊กปะ การยุป (Drukpa Kargyupa) ขึ้นมาเป็นศาสนาประจำชาติของภูฏาน เล่ากันย่อๆ เสียหน่อย ณ ที่นี้ว่า นิกายนี้พระอริยสงฆ์ชาวทิเบตนามซังปา กาเร เยเช โดร์จี (ค.ศ. 1161-1211) เป็นผู้ก่อตั้ง โดยในขณะที่ท่านกำลังทำพิธีฉลองอารามใหม่ ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ท่านถือว่าเป็นเสียงของมังกร หรือภาษาท้องถิ่นคือ ดรุ๊ก (Druk) ที่ประกาศความยิ่งใหญ่ในสัจธรรมของพระพุทธองค์ ท่านจึงขนานนามอารามใหม่แห่งนั้นว่าดรุ๊ก และขนานนามนิกายพุทธศาสนาของท่านว่าดรุ๊กปะ การยุป ในภูฏานดรุ๊กหรือมังกรจึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ สายการบินแห่งชาติ คือดรุ๊ก แอร์ และมีอีกชื่อหนึ่งที่คุณควรรู้จักเป็นชื่อที่สามต่อจากท่านกูรูและท่านซับดรุง คือ...

ดรุ๊ก กัลโป (Druk Gyalpo) ก็คือ King หรือพระมหากษัตริย์ ตำแหน่งประมุขสูงสุดแห่งรัฐที่เพิ่งสถาปนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1907

ก่อนสมัยท่านซับดรุง ภูฏานไม่มีความปึกแผ่น เป็นเพียงสถานที่ลี้ภัยจากชาวทิเบตที่หนีราชภัยจากกษัตริย์ที่ไม่นับถือพุทธศาสนาเข้ามาพักพิง แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็ขัดแย้งกันเองระหว่างนิกายพุทธศาสนาต่างๆ ที่แตกแยกกันมาจากทิเบตแล้ว นอกจากนั้นก็มีทหารทิเบตตามเข้ามาโจมตีอยู่เนืองๆ

ท่านซับดรุงวางรากฐานการเมืองการปกครองภูฏานเป็นแบบคู่ขนาน โดยตัวท่านเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณสูงสุดของแผ่นดิน จากตัวท่านแบ่งสายงานการบริหารสูงสุดออกเป็น 2 สาย สายทางธรรมมีประมุขสูงสุดที่เปรียบเสมือนตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชของเรา เรียกว่าตำแหน่งเจ เค็ม หรือเจ เค็มโปะ (Je Khempo) สายทางโลกหรือสายการเมืองการปกครองตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดเรียกว่า เดสิ (Desi) ผู้ปกครองสูงสุดของทั้ง 2 สายขึ้นตรงต่อท่านซับดรุง

ท่านซับดรุงบริหารจัดการแผ่นดินผ่านกลุ่มซอง หรือซ่ง ซึ่งสร้างขึ้นทั่วประเทศ ซองหรือซ่งมีลักษณะเป็นป้อมปราการ ใช้เป็นฐานที่มั่นป้องกันศัตรู ภายในเป็นศูนย์รวมการบริหารทั้งทางการเมืองและทางศาสนา พูดง่ายๆ คือเป็นทั้งป้อมปราการ ทั้งวัด ทั้งวัง ไปเที่ยวภูฏานก็คือไปเที่ยวซองหรือซ่งเหล่านี้แหละ เดินขึ้นบันไดสูงไปดูศูนย์กลางราชการซึ่งหลายแห่งก็ยังใช้ทำการอยู่ เสร็จแล้วเดินผ่านลานกว้างไปกราบพระในศูนย์กลางศาสนาซึ่งแทบทุกซองหรือซ่งยังมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ท่านก็จะให้พรเรา และเทน้ำมนต์จากกาเล็กๆ ใส่อุ้งมือเรา ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะนำน้ำมนต์นั้นขึ้นมาลูบศีรษะเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่จริงๆ แล้วต้องจิบน้ำมนต์นั้นเข้าปากลงท้องไปจึงจะถูกต้องตามธรรมเนียม

ผู้ปกครองแต่ละซองหรือซ่ง เรียกชื่อตำแหน่งลดหลั่นลงไปตามความสำคัญของแต่ละซองหรือซ่งนั้น ที่ควรรู้ไว้คื อ ซองหรือซ่งใหญ่ 3 แห่งในภูฏาน ตำแหน่งผู้ปกครองมีฐานันดรศักดิ์เรียกว่า เป็นลป (Penlop) ซองหรือซ่งใหญ่ 3 แห่งนี้ คือ ที่ปาโร, ตงซา และดากะ มกุฎราชกุมารแห่งภูฏานทุกพระองค์จะธำรงฐานันดรศักดิ์เป็น เป็นลปแห่งตงซาเสมอ

เปรียบเทียบกับการปกครองยุคศักดินาของยุโรป หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของอยุธยาบ้านเราก็ไม่ต่างกันเท่าไรนัก ที่มีบางยุคสมัยที่องค์รัชทายาทจะต้องไปครองหัวเมืองสำคัญ อาทิ พิษณุโลก

หรือจะเปรียบกับจีน - เดสิก็ละม้ายคล้ายฮ่องเต้ ส่วนเป็นลปก็ประมาณๆ ท่านอ๋อง

นี่คือ 70-80% ของสิ่งที่ผมเรียกว่า “ระบอบเก่า” ที่ท่านซับดรุง งาวัง นัมเกลก่อตั้งขึ้นเกือบ 400 ปีก่อน

ระบอบนี้นำความสงบสุขมาให้แผ่นดินภูฏานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ท่านซับดรุง งาวัง นัมเกลจึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งรัฐภูฏาน ถือเป็นผู้ก่อตั้งรัฐ ก่อตั้งประเทศ

ปัญหาใหญ่ของ “ระบอบเก่า” นี้ประการหนึ่งคือผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของประเทศจะต้องเป็นปราชญ์ที่มีความเข้มแข็ง

อีกประการหนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าก็คือระบบสืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณนี้

ถึงตรงนี้ผมอยากให้ท่านผู้อ่านหาหนังเก่าเรื่องหนึ่งมาดูครับ Little Buddha ของผู้สร้างและผู้กำกับชาวอิตาเลียนเบอร์นาโด เบอร์โตลุคชี่ สร้างมาเกือบๆ 20 ปีแล้วกระมัง เป็นเรื่องราวของการกลับชาติมาเกิด ขององค์ทะไลลามะในร่างของเด็กน้อยถึง 3 คน ต่างเพศ ต่างเชื้อชาติ สลับกับพระพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติจนถึงช่วงตรัสรู้ เพราะจะทำให้เข้าใจระบบสืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณของภูฏานตามหลักที่ท่านซับดรุงวางไว้

จิตวิญญาณสูงสุดของประเทศที่อยู่ในตัวท่านซับดรุง งาวัง นัมเกลจะยังคงเป็นผู้นำสูงสุดของภูฏานต่อไปและตลอดไปแม้ว่ากายมนุษย์ของท่านจะเสื่อมสลายสิ้นสภาพไปแล้ว พูดง่ายๆ คือต่อให้ท่านตายไปแล้ว จิตวิญญาณของท่านก็จะยังคงดำรงอยู่ปกครองแผ่นดินต่อไป โดยผ่านระบบการเกิดใหม่ในร่างของมนุษย์รุ่นหลังที่จะรู้ได้ตั้งแต่มนุษย์ผู้นั้นยังเด็กยังอายุน้อยอยู่

พุทธศาสนาแนวนิกายวัชรญาณของทิเบต รวมถึงนิกายดรุ๊กปะ การยุปของภูฏาน ยังคงยึดถือเรื่องการกลับมาเกิดใหม่ของพระอริยะหรือบุคคลสำคัญอยู่จนทุกวันนี้ มีระบบการตรวจสอบเข้มงวดกว่าจะยอมรับเด็กคนใดว่าเป็นที่สถิตแห่งจิตวิญญาณของพระอริยะหรือบุคคลสำคัญท่านใด กลับไปดูหนัง Little Buddha เถอะครับ

แม้จะมีระบบการตรวจสอบอย่างเข้มงวดว่าเด็กคนใดเป็นร่างที่สถิตจิตวิญญาณของพระอริยะหรือบุคคลสำคัญท่านใด แม่มนุษย์ก็คือมนุษย์ มีการแอบอ้างกันเสมอมา และประชาชนก็เชื่อถือศรัทธาต่างๆ กันไป แถมเมื่อเด็กคนใดได้รับการประกาศเป็นร่างที่สถิตแห่งจิตวิญญาณของท่านซับดรุง เด็กก็ยังคงเป็นเด็กในบางด้าน ก็ต้องมีผู้ใหญ่เป็นคนช่วยเหลือ

การต่อสู้ช่วงชิงและการแอบอ้างก่อให้เกิดความไม่เป็นเอกภาพในบ้านเมือง เกิดสงครามใหญ่ สงครามย่อย และการลอบสังหาร ต่อเนื่องมายาวนานนับตั้งแต่พ้น 40 ปีหลังสิ้นท่านซับดรุง

จวบจนกระทั่ง “ระบอบใหม่” ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1907 ความสงบสุขในระดับหนึ่งจึงคืนสู่แผ่นดินแห่งมังกรสายฟ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น