xs
xsm
sm
md
lg

ภูฏานเรื่องเล่าในบางมุมมอง(ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

บุญพาวาสนาส่งได้มีโอกาสไปเยือนภูฏานเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 9 เดือน โดยครั้งแรกไปกับคณะท่านอดีตประธานวุฒิสภาเป็นแขกรับเชิญอย่างเป็นทางการของท่านเลียนโป นัมเก เพนโจ ประธานสภาแห่งชาติ (คล้ายๆ วุฒิสภาบ้านเรา) เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน ครั้งหลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เองไปดูงานร่วมกับคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ทำให้อยากจะนำบางมุมมองต่อภูฏานมาเล่าสู่กันฟัง

ย้ำว่าเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังนะครับ ไม่ใช่บทวิเคราะห์ และไม่ใช่งานวิชาการอย่างแน่นอน

ที่อยากเล่าก็เพราะภูฏานมีอะไรที่มากกว่าพระมหากษัตริย์ทรงพระสิริโฉมงดงามอย่างที่ประจักษ์แก่สายตาคนไทยมาตั้งแต่ปี 2549 สมัยยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร เฉพาะเรื่องพระมหากษัตริย์ก็มีเรื่องให้เล่าได้หลายมุม ถือเป็นโชคดีของประเทศนี้ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงพระปรีชาสามารถโดดเด่นต่อเนื่องกันมาอย่างน้อย 2 รัชกาลก่อนถึงพระองค์ปัจจุบันซึ่งเป็นรัชกาลที่ 5 ที่คนไทยรู้จักดี แต่ผมเชื่อว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน จิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก ก็จะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถโดดเด่นไม่แพ้พระราชบิดาและพระอัยกาแน่นอน สังเกตแค่พระบรมราชโองการที่ติดไว้คู่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ในโถงโรงแรมศิวาลิงค์ เมืองพาโร ก็เพียงพอให้สันนิษฐานได้

“Throughout my reign I will never rule you as a King. I will protect you as a parent, care for you as a brother and serve you as a son. I shall give you everything and keep nothing ; I shall live such a life as a good human being that you may find it worthy to serve as an example for your children.”

หากวัดกันตามตำรารัฐศาสตร์ว่าด้วยรัฐชาติสมัยใหม่แล้ว ภูฏานก็เพิ่งก่อตั้งราชอาณาจักรขึ้นมาเมื่อยังไม่เต็ม 104 ปีมานี่เอง คือเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1907 มีพระมหากษัตริย์ปกครองโดยระบบสืบราชสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันเพียง 5 พระองค์ โดยระยะเวลา 35 ปีอยู่ในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 จิกมี ซิงเกะ วังชุก พระราชบิดาของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ที่มีการปฏิรูปประเทศวางรากฐานการเมืองการปกครองและเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองครบเครื่องในรัชสมัยของพระองค์ที่สิ้นสุดลง ณ ปีค.ศ. 2007 ครบ 100 ปีแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของภูฏานพอดี

เมื่อขี้นปีที่ 101 ของราชอาณาจักร นอกจากจะเปลี่ยนระบอบการเมืองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยหรือพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งครั้งแรกแล้ว พระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุกยังทรงสละราชสมบัติขณะมีพระชนมายุเพียง 52 พรรษาท่ามกลางความรักความศรัทธาของประชาชน โดยทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าต้องการให้ประชาชนภูฏานได้รับของใหม่ให้ครบ ระบอบใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ และพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

พระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุกทรงมีพระสิริโฉมงดงามไม่แพ้พระราชโอรส สมัยที่พระองค์ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี ค.ศ. 1974 ตามราชประเพณีที่พูนาคา ซอง เมืองปูนาคา ภาพข่าวยุวกษัตริย์ทรงพระสิริโฉมงดงามของประเทศที่มีมนต์เสน่ห์ของเทือกเขาหิมาลัยในฉลองพระองค์สีสดงดงามมีเอกลักษณ์เฉพาะทำให้ชาวโลกหันมาสนใจภูฏานมากขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณ คล้ายๆ ช่วงเดือนมิถุนายน 2549 ที่มกุฎราชกุมาร (ในขณะนั้น) จิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุกเสด็จฯ แทนพระองค์มาถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัวของเราเนื่องในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีทำให้คนไทยหันไปสนใจภูฏานมากขึ้นนั่นแหละครับ

พระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุกทรงริเริ่มปรัชญานำทางประเทศที่ลื่อลั่นไปทั่วโลก คือ GNH (Gross National Happiness) ทรงตรากฎหมายที่ทำให้ภูฏานเป็นภูฏานอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ คือแผ่นดินที่ผสานทั้งพุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตในอดีตอันอุดมไปด้วยวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ให้เข้ากับโลกสมัยใหม่

ที่นั่นประชาชนจะสร้างบ้านสร้างตึกให้หรูหราภายในอย่างไรก็ได้ตามสถานะ แต่ภายนอกต้องคงรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นเมืองของภูฏานไว้

ที่นั่นมีข้อกำหนดให้ต้องแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองภูฏานขณะไปติดต่อราชการ

ที่นั่นเคารพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งยวดถึงขนาดเป็นข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ที่นั่นพุทธศาสนามหายานนิกายดรุ๊กปะ กัรยุปยังคงผสมผสานอยู่กับชีวิตประจำวัน แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในบทคำปรารภก็ขึ้นต้อนด้วยคำบูชาพระรัตนตรัยให้คุ้มครองปกปักรักษาประเทศ
ฯลฯ

ที่นั่นเป็นประเทศเดียวในโลกที่การซื้อและขายบุหรี่เป็นข้อห้ามตามกฎหมาย ความผิดต่อมาตรานี้มีโทษถึงจำคุก 3 เดือน

จะสูบบุหรี่ในที่ที่ไม่ห้ามสูบก็พอได้ครับ แต่คุณต้องนำบุหรี่เข้ามาจากภายนอกประเทศ และในจำนวนที่ไม่มากเกินไปด้วย คณะกรรมาธิการฯ ที่เดินทางไปพร้อมกับผมเที่ยวหลังนี้มีสมาชิกวุฒิสภาท่านหนึ่งที่ติดบุหรี่ ท่านพกติดกระเป๋าเสื้อไป 1 ซอง เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบก็ถามว่ายังมีพกมาอีกไหม ท่านก็ตอบไปตามตรงว่าพกมาในกระเป๋าเดินทางอีก 4 ซอง เจ้าหน้าที่ก็ไม่ว่าอะไร ไม่ยึด แต่เขียนใบสั่งให้ไปจ่ายค่าปรับหรือค่าภาษีนำเข้าคิดเป็นเงินไทยประมาณ 300 บาท

แต่พระราชภารกิจของพระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในมุมมองของผมยังไม่ใช่เรื่องเหล่านี้

หากแต่เป็นการสร้างความปรองดองสมานฉันท์และการสร้างระบอบการเมืองใหม่ผ่านรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นการเสียสละอย่างใหญ่หลวงของพระองค์และสถาบันพระมหากษัตริย์

ถึงพระองค์จะไม่ทรงสละราชสมบัติเมื่อ 3 ปีที่แล้ว รัฐธรรมนูญภูฏานฉบับปัจจุบันที่พระองค์ทรงพระราชทานและประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 2008 ก็กำหนดไว้ใน section 6 ของ Article 2 The Institution of Monarchy แล้วให้พระมหากษัตริย์ต้องสละราชสมบัติเมื่อพระชนมายุครบ 65 พรรษา

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ก่อตั้งมาแต่ปี ค.ศ. 1907 หาใช่มีแต่ด้านมั่นคงไม่

ยังมีด้านที่ขัดแย้งกับระบอบเก่าที่ดำรงอยู่คู่ขนานมานับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 จนเกิดเหตุวิกฤตใหญ่ขึ้นในปี ค.ศ. 1931 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวจิกมี นัมเกล พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 คือกรณีการเสียชีวิตของท่านซับดรุง จิกมี โดร์จิ ผู้สืบเชื้อสายทางจิตวิญญาณมาจากท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล ผู้ก่อตั้งระบอบเก่าเมื่อปี ค.ศ. 1611 - 1651 เป็นการเสียชีวิตอย่างน่ากังขาว่าจะเป็นการถูกลอบสังหาร

พระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุกทรงคลี่คลายวิกฤตใหญ่นี้ในปี ค.ศ. 1979 และค.ศ. 1988 ก่อให้เกิดไม่เพียงแต่การปรองดองสมานฉันท์เท่านั้นยังเป็นการหลอมรวมระบอบเก่าเมื่อเกือบ 400 ปีก่อนกับระบอบใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อไม่ถึง 100 ปีในขณะนั้นเข้าด้วยกัน ด้วยวิธีการที่ผมจะต้องเล่าในตอนต่อๆ ไป แต่แทนที่จะหยุดอยู่แค่นั้น พระองค์ยังให้กำเนิดระบอบใหม่ล่าสุดพร้อมพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้วอีกด้วย

เสมือนว่า... การดับวิกฤต การปรองดองสมานฉันท์ การหลอมรวม ที่ยั่งยืนถาวร ในมุมมองของพระองค์นั้น...

ไม่ใช่เพียงแค่ต้องหลังจากมีชัยเด็ดขาด หากแต่ต้องตามมาด้วยการเสียสละอย่างใหญ่หลวง
กำลังโหลดความคิดเห็น