xs
xsm
sm
md
lg

ภูฏาน เรื่องเล่าในบางมุมมอง (ตอนที่ 4)

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

พระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุก พระราชบิดาของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ทรงดับวิกฤตความขัดแย้งระหว่าง “ระบอบเก่า” ที่ก่อตั้งโดยท่านซับดรุง งาวัง นัมเกลในปีค.ศ. 1651 กับ “ระบอบใหม่” ที่ก่อตั้งโดยฉันทมติของชนชั้นนำภูฏานเมื่อปีค.ศ. 1907 ได้มอดลงในปีค.ศ. 1979 และ 1988 อย่างไร จะต้องเข้าใจเหตุวิกฤตใหญ่ในปีค.ศ. 1931 อย่างละเอียดพอสมควร

วิกฤตใหญ่ในปีค.ศ. 1931 เดือนพฤศจิกายน อาจเรียกได้ตรงไปตรงมาว่า...

เหตุลอบสังหารที่ตาโลซ่ง!

แม้ข้อสรุปของทางการจะไม่ใช่การฆาตกรรมหรือลอบสังหาร แต่ในความรู้สึกและความเชื่อของคนทั่วไปเป็นเช่นนั้น เพราะสภาพของการเสียชีวิต และบรรยากาศทางการเมืองในขณะนั้น ชวนให้คิดให้เชื่อเช่นนั้น ที่เป็นวิกฤตใหญ่ก็เพราะผู้เสียชีวิตไม่ใช่บุคคลธรรมดา ไม่ใช่แม้แต่ชนชั้นนำของภูฏานโดยทั่วไป หากแต่เป็นถึงจิตวิญญาณของระบอบเก่า

ผู้เสียชีวิตคือร่างที่สถิตแห่งจิตวิญญาณของท่านซับดรุง งาวัง นัมเกลที่กลับชาติมาเกิดใหม่รุ่นที่ 6 !

เป็นร่างที่กลับชาติมาเกิดใหม่ฝ่ายมโนซึ่งทรงสิทธิในการปกครองสูงสุด!!


ปีค.ศ. 1931 ที่เกิดเหตุอยู่ในรัชสมัยของพระเจ้ายู่หัวจิกมี นัมเกล พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์วังชุก ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปีค.ศ. 1926 หลังจากพระราชบิดาคือพระเจ้าอยู่หัวอูเก็น วังชุกปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์วังชุกเสด็จสวรรคต โดยระยะเวลาแล้วจะเห็นได้ว่าระบอบใหม่เพิ่งถือกำเนิดได้ไม่นาน แม้พระเจ้าอยู่หัวอูเก็น วังชุกจะรับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าทรงเป็นธรรมราชาที่นำความร่มเย็นผาสุกมาสู่แผ่นดินมังกรสายฟ้าแห่งนี้ได้แต่ก็เชื่อว่ารากฐานของระบอบเก่ายังคงดำรงอยู่คู่ขนานไป เพราะเป็นระบอบที่ก่อตั้งโดยปูชนียบุคคลผู้ก่อตั้งประเทศมามากกว่า 200 ปีเกือบๆ จะ 300 ปี

สมควรกล่าวถึงบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่แม้จะไม่ใช่ผู้ก่อตั้งระบอบใหม่โดยตรง แต่ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญยิ่ง ปราศจากท่านก็ปราศจากระบอบใหม่

จิกมี นัมเกล (ค.ศ. 1825 – 1882) เป็นลปแห่งตงซา!

จำได้นะครับว่าตำแหน่งเป็นลปก็เสมือนอ๋องของจีน เป็นลปใหญ่ๆ ของภูฏานยุคโน้นมีอยู่ 3 เป็นลป เป็นลปแห่งตงซาเป็นหนึ่งในนั้น ท่านจิกมี นัมเกลเป็นบิดาของพระเจ้าอยู่หัวอูเก็น วังชุก ระหว่างยุคสมัยของท่าน ท่านเป็นนักรบผู้แกร่งกล้าสามารถปกป้องเอกราชของภูฏานให้รอดพ้นจากนักล่าอาณานิคมอย่างอังกฤษที่กลืนกินทั้งอินเดียและรัฐเล็กๆ ใกล้เคียงภูฏานไปหมด ท่านนำกองทัพเข้าสู้รบกับอังกฤษหลายครั้ง และสามารถสงบศึกได้ในประมาณปีค.ศ. 1865 โดยก่อนหน้านั้นท่านก็ปราบผู้นำกลุ่มกองกำลังต่างๆ ในภูฏานที่ไร้เอกภาพมายาวนานได้เป็นผลสำเร็จในระดับสำคัญ

จากตำแหน่งเป็นลปแห่งตงซา ท่านจิกมี นัมเกลขึ้นครองอำนาจในตำแหน่งเดสิอีก 3 ปี

แม้จะครองตำแหน่งเดสิ คือผู้ปกครองสูงสุดฝ่ายการเมืองการปกครองรองจากจิตวิญญาณสูงสุดของท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล อยู่เพียง 3 ปี แต่จากข้อเขียนของสมเด็จพระราชินีอาชิ โดร์จี วังโม วังชุกในพระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุกทำให้เรารู้ว่าท่านยังคงปกครองอยู่เบื้องหลังเดสิคนต่อๆ มาอีก

จริงๆ ตำแหน่งเดสิ ณ เวลานั้นก็คงไม่ค่อยมีความหมายในทางปฏิบัติเสียแล้ว อำนาจที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่เป็นลปที่เข้มแข็งเสียมากกว่า เปรียบเสมือนฮ่องเต้ที่อ่อนแอของจีนในช่วงสามก๊กนั่นแหละ หามีอำนาจที่แท้จริงในทางปฏิบัติไม่

พระเจ้าอยู่หัวอูเก็น วังชุกสืบทอดภารกิจจากบิดาได้อย่างทัดเทียม ทรงครองตำแหน่งเป็นลปแห่งตงซาควบกับเป็นลปแห่งปาโร และสามารถปราบปรปักษ์กลุ่มกองกำลังต่างๆ ได้หมดสิ้น จนถือได้ว่าท่านเป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในทางปฏิบัติของแผ่นดิน

เมื่อตำแหน่งเดสิแทบไร้ความหมายในทางปฏิบัติเสียแล้ว ณ นาทีนั้นจึงเกิดฉันทมติของชนชั้นนำและตัวแทนประชาชนเปลี่ยนระบอบการเมืองให้เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1907 ซึ่งก็คือวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าอยู่หัวอูเก็น วังชุกองค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์วังชุก

วันที่ 17 ธันวาคมจึงถือเป็นวันชาติภูฏานมาจนทุกวันนี้!

กลับมาสู่เหตุลอบสังหารในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1931 ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวจิกมี นัมเกล รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์วังชุก

ข้อเขียนของสมเด็จพระราชินีอาชิ โดร์จี วังโม วังชุกในพระเจ้าอยู่หัวจิกมี ซิงเกะ วังชุกรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุกระบุว่าผู้ตายคือท่านซับดรุง จิกมี โดร์จี ร่างที่สถิตแห่งจิตวิญญาณของท่านซับดรุง งาวัง นัมเกลที่กลับชาติมาเกิดใหม่ซึ่งถือว่าทรงสิทธิสูงสุดในการปกครองแผ่นดินตามธรรมนูญของระบอบเก่า ถูกพบเป็นศพอยู่ในตาล่งซ่งที่พำนัก ในสภาพที่ขาดอากาศหายใจ โดยมีผ้าพันคอไหมถูกยัดเข้าไปในลำคอ ในขณะที่ท่านมีอายุเพียง 26 ปี ศพของท่านได้รับการฌาปนกิจอย่างรวดเร็ว ข่าวที่ทางการประกาศต่อสาธารณะคือท่านเสียชีวิตขณะนอนหลับ ผู้คนทั้งประเทศตกตะลึงและตกอยู่ในความเศร้าโศกแสนสาหัส เพราะแม้จะจงรักภักดีในระบอบใหม่และพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ที่สืบราชสันตติวงศ์มาจากองค์ปฐมบรมกษัตริย์ แต่ท่านซับดรุง จิกมี โดร์จีก็ถือเป็นที่สถิตแห่งจิตวิญญาณของปูชนียบุคคลผู้ก่อตั้งประเทศเมื่อเกือบ 300 ปีที่ผ่านมา

บรรยากาศทางการเมืองก่อนหน้านั้นก็คือความขัดแย้งระหว่างระบอบใหม่กับระบอบเก่าอย่างหนัก

ตัวท่านซับดรุง จิกมี โดร์จีอาจจะไม่เท่าไร สมเด็จพระราชินีอาชิ โดร์จี วังโม วังชุกเขียนเล่าว่าท่านเป็นคนเคร่งศาสนา ไม่มีความทะเยอทะยานทางโลก แต่มีข้าราชสำนักระดับสูงบางท่านบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งเป็นลปแห่งปาโรซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์วังชุก เกรงว่าท่านจะบำเพ็ญตนเป็นปฏิปักษ์ต่อพระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัว จึงเพ็ดทูลให้พระเจ้าอยู่หัวทางเข้าใจท่านอย่างผิดๆ ประกอบกับข้าราชการของท่านซับดรุง จิกมี โดร์จีเองไม่ว่าจะโดยเจตนาใดก็ได้กระทำการในบางลักษณะที่แสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ในการท้าทายพระราชอำนาจ บรรยากาศแห่งการยุแยงตะแคงรั่วและการกระทำที่เป็นการท้าทายพระราชอำนาจเช่นนี้น่าจะดำรงอยู่มาตั้งแต่ต้นรัชกาล

ถ้าจะถามว่าเหตุวิกฤตในภูฏานที่กระทบกระเทือนจิตใจสร้างความเศร้าสลดให้ประชาชนบนแผ่นดินมังกรสายฟ้าสวรรค์บนดินแห่งนี้มีอยู่กี่ครั้งเท่าที่จะจดจำได้ ก็ต้องตอบว่ามีอยู่ 2 เหตุการณ์

หนึ่งคือเหตุอัคคีภัยเผาผลาญมหาวิหารตั๊กซังในปีค.ศ. 1998

และอีกหนึ่งคือเหตุลอบสังหารท่านซับดรุง จิกมี โดร์จีที่ตาโลซ่งในปีค.ศ. 1931

มหาวิหารที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศถูกเผาผลาญ ใช้เวลาสร้างใหม่เพียง 7 ปี แต่เหตุลอบสังหารร่างที่สถิตแห่งจิตวิญญาณผู้ก่อตั้งประเทศยังคงมีผลข้างเคียงตามมาอีกเกือบ 50 ปีจึงจะเริ่มคลี่คลาย

การคลี่คลายวิกฤตแม้จะเกิดขึ้นเป็นจริงเป็นจังในปีค.ศ. 1979 และเสร็จสมบูรณ์ในปีค.ศ. 1988 ในรัชสมัยพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4

แต่ก็ถือว่าการเริ่มต้นคลี่คลายวิกฤตมีมาตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลอดรัชกาลที่ 3 แล้ว

กล่าวได้ว่าการแก้วิกฤตใหญ่ปีค.ศ. 1931 กินเวลา 3 รัชกาลทีเดียว!

กำลังโหลดความคิดเห็น